ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 02:41:07 pm »


เรื่องพระติสสเถระผู้มีปกติอยู่ในนิคม

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภพระติสสเถระผู้มีปกติอยู่ในนิคม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาทรโต เป็นต้น

พระติสสเถะ เกิดและเติบโตในตลาดเล็กๆ ซึ่งไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี หลังจากที่ได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ก็ได้ดำเนินชีวิตง่ายๆด้วยความสันโดษตามมีตามได้ สำหรับอาหารบิณฑบาตนั้นท่านจะไปบิณฑบาตเฉพาะในหมู่บ้านของญาติๆและจะฉันทุกอย่างที่เขาถวาย ท่านจะหลีกเลี่ยงมางานนิมนต์ใหญ่ๆ แม้แต่เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีกระทำมหาทาน และพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงบำเพ็ญอสทิสทาน พระติสสเถระก็ไม่มากรุงสาวัตถี

พวกภิกษุจึงสนทนากันว่า “พระนิคมติสสะนี้ เอาแต่อยู่ใกล้ชิดกับหมู่ญาติ และไม่สนใจที่จะมางานสำคัญๆ เช่น เมื่อตอนที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีถวายมหาทาน และพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำอสทิสทาน ท่านก็ไม่มา” พระศาสดาทรงทราบความที่สนทนากันนั้น ได้ตรัสเรียกพระติสสเถระมาเฝ้าและได้ทรงสอบถามถึงเรื่องนี้ พระเถระได้กราบทูลว่า เป็นความจริงที่ท่านไปที่หมู่บ้านของญาติๆของท่านเป็นนิตย์ แต่ก็เป็นการไปเพื่อบิณฑบาตเท่านั้น และเมื่อท่านได้อาหารบิณฑบาตพอพียงแล้ว ท่านก็ไม่เดินไปไหนอีก ท่านไม่ได้สนใจเลยว่าอาหารที่ได้มาอร่อยหรือไม่อร่อย เมื่อพระศาสดาได้สดับเช่นนี้แล้ว แทนที่จะตำหนิพระติสสเถระพระองค์กลับตรัสยกย่องพฤติกรรมของท่านต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลายด้วยว่า การอยู่ด้วยความมักน้อยสันโดษนั้น สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของพระพุทธเจ้าและพระอริยะเจ้าทั้งหลาย และว่า ภิกษุทั้งปวงก็ควรเอาอย่างพระติสสเถระนี้ จากนั้นพระศาสดาได้ทรงนำเรื่องพระยานกแขกเต้ามาเล่าว่า

ในอดีตกาล พระยานกแขกเต้าอาศัยอยู่ในป่าไม้มะเดื่อแห่งหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในป่าหิมพานต์ พร้อมด้วยนกแขกเต้าที่เป็นบริวารอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อผลมะเดื่อที่ตนอาศัยกินวายแล้ว บรรดานกแขกเต้าทั้งปวงพากันออกจากป่านั้นไป ยกเว้นพระยานกแขกเต้าเท่านั้นที่ไม่ยอมไปไหน ได้จิกกินหน่อใบหรือเปลือกของตนมะเดื่อซึ่งยังเหลืออยู่ ท้าวสักกะทรงทราบเรื่องนี้และมีพระประสงค์จะทดสอบคุณธรรมของพระยานกแขกเต้านี้ พระองค์จึงได้ใช้เทวฤทธิ์บันดาลให้ต้นไม้นั้นเหี่ยวแห้งและผุ จากนั้นพระองค์ได้แปลงร่างเป็นหงส์บินมาพร้อมกับนางสุชาดาที่แปลงร่างเป็นนางหงส์มาจับที่กิ่งไม้ใกล้ๆกับพระยานกแขกเต้า แล้วสอบถามว่าทำไมพระยานกแขกเต้าจึงไม่หนีไปจากต้นไม้ผุต้นนี้เหมือนอย่างที่นกแขกเต้าตัวอื่นๆกระทำกัน และทำไมพระยานกแขกเต้าถึงไม่ไปยังต้นไม้ต้นอื่นที่มีผลดก พระยานกแขกเต้าตอบว่า “เพราะว่ามีความกตัญญูต่อต้นไม้ต้นนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่จากไปไหน และตราบเท่าที่ข้าพเจ้าสามารถมีอาหารพอยังชีพได้ก็จะไม่ทิ้งต้นไม้นี้ไปไหน มันจะเป็นการอกตัญญูสำหรับข้าพเจ้าหากจะต้องทิ้งต้นไม้นี้ไป”

ท้าวสักกะทรงประทับใจในคำตอบนี้มาก จึงทรงได้เปิดเผยพระองค์ และได้เสด็จไปทรงนำน้ำในแม่น้ำคงคามารดต้นมะเดื่อผุ ทำให้ต้นมะเดื่อกลับฟื้นคืนชีพ มีกิ่งก้านสาขาและผลิดอกออกผล อีกครั้งหนึ่ง จากนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้แต่พวกสัตว์ก็ยังไม่ละโมบ พวกมันสันโดษในสิ่งต่างๆที่มีอยู่

จากชาดกเรื่องนี้ พระยานกแขกเต้าคือพระศาสดา ส่วนเท้าสักกะคือพระอนุรุทธะ

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 32 ว่า
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ
ปมาเท ภยทสฺสี วา
อภพฺโพ ปริหานาย
นิพฺพานสฺเสว สันติเกฯ

(อ่านว่า)
อับปะมาทะระโต พิกขุ
ปะมาเท พะยะทัดสี วา
อะพับโพ ปะริหานายะ
นิบพานัดสะ สันติเก.

(แปลว่า)
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
เห็นโทษในความประมาท
จะไม่มีวันเสื่อม

มีแต่จะอยู่ใกล้พระนิพพานทุกที
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระติสสเถระก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ต่างได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีผลมากแก่มหาชน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 02:25:44 pm »


เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ เป็นต้น

มีภิกษุรูปหนึ่ง หลังจากรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้เข้าไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในป่า แม้ว่าท่านจะได้ทำความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ก็มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีความเก็บกดอยู่ภายใน ท่านมีความคิดว่าควรที่ท่านจะกลับไปขอคำแนะนำพิเศษมากยิ่งขึ้นจากพระศาสดา จึงได้ออกเดินทางจะไปพระเชตวัน ในระหว่างทางท่านเห็นไฟป่าลุกไหม้อยู่ ก็ได้วิ่งขึ้นบนภูเขามองลงมาดูไฟป่านั้นจากที่สูง ขณะที่ไฟฟ้ากำลังไหม้ลุกลามอยู่นั้น ท่านก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า “ไฟป่านี้ไหม้เชื้อเพลิงทุกสิ่งทุกอย่างทั้งใหญ่และน้อยฉันใด อริยมรรคญาณก็จะไหม้สังโยชน์ทุกอย่างทั้งใหญ่และน้อย ฉันนั้น

พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎีที่วัดพระเชตวัน ทรงทราบความคิดของพระภิกษุรูปนั้น จึงแผ่พระรัศมีไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าของท่าน “ดูก่อนภิกษุ” พระศาสดาตรัส “เธอคิดถูกต้องแล้ว จงคิดเช่นนั้นต่อไปเถิด สัตว์ทั้งหลายพึงเผาสังโยชน์เหล่านั้นด้วยไฟคือมรรคญาณ

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 31 ว่า
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ
ปมาเท ภยทสฺสี วา
สญฺโญชนํ อณํ ถูลํ
ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ.

(อ่านว่า)
อับปะมาทะระโต พิกขุ
ปะมาเท พะยะสัดสี วา
สันโยชะนัง อะนุง ถูลัง
ดะหัง อักคีวะ คัดฉะติ.

(แปลว่า)
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
เห็นโทษในความประมาท
จะเผาสังโยชน์(กิเลส) ทั้งหยาบและละเอียดทั้งหมด

เหมือนไฟเผาเชื้อเพลิงมากและน้อยไป.

เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา ภิกษุรูปนั้นได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ได้เหาะมาทางอากาศมา มาชมเชยพระสรีระของพระตถาคต ซึ่งมีพรรณดุจทองคำ ถวายบังคม แล้วหลีกไป.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 02:12:16 pm »


เรื่องท้าวสักกะ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดกูฎาคารศาลา ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาเทน มฆวา เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง เจ้าลิจฉวีพระนามว่า มหาลิ ได้เสด็จมาฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา พระศาสดาได้ทรงแสดง สักกปัณหสูตร โดยที่พระศาสดาทรงกล่าวถึงท้าวสักกะอย่างกระจ่างชัดมาก ดังนั้นเจ้ามหาลิจึงดำริว่าพระศาสดาจะต้องเคยพบกับท้าวสักกะด้วยพระองค์เองมาแน่ๆ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจเจ้ามหาลิจึงได้ทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา ซึ่งพระศาสดาได้ตรัสตอบว่า “มหาลิ อาตมภาพรู้จักท้าวสักกะ อาตมภาพยังรู้ด้วยว่าธรรมะอะไรทำให้ท้าวเธอเป็นท้าวสักกะ” จากนั้นพระศาสดาได้ทรงเล่าว่าท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลายนี้ในอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มีชื่อว่า มฆมาณพ อยู่ในหมู่บ้านชื่ออจาละในแคว้นมคธ มฆมาณพนี้กับสหายอีก 32 คนได้ช่วยกันก่อสร้างถนนหนทาง ที่พักริมทาง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆอีกมาก สำหรับตัวมฆมาณพเองนั้นได้ปฏิบัติวัตรบท 7 ประการ ตลอดชีวิต คือ 1. เลี้ยงดูบิดามารดา (มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ)2. ให้ความเคารพผู้ใหญ่ในตระกูล (กุเล เชฏฺฐาปจายิกกมฺมํ)3. พูดคำคำสัตย์(สจฺจวาจํ) 4. ไม่พูดคำหยาบ(อผรสุวาจํ) 5.ไม่พูดส่อเสียด(อปิสุณวาจํ) 6. ชอบเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ตระหนี่(มจฺเฉรวินยํ) 7. ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้(อกฺโกธนํ)

พระศาสดา ตรัสกับเจ้ามหาลิว่า เพราะกระทำคุณงามความดีและปฏิบัติอยู่ในความไม่ประมาท ทำให้มฆมาณพได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะ เจ้าแห่งเทวดาทั้งหลาย ความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญ อาศัยความประมาท นี้เอง ก็จะเข้าถึงคุณวิเศษทั้งหลาย ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระทั้งปวงได้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 30 ว่า
อปฺปมาเทน มฆวา
เทวานํ เสฏฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ
อปฺปมาทํ ครหิโต สทาฯ

(อ่านว่า)
อับปะมาเทนะ มะคะวา
เทวานัง เสดถะตัง คะโต
อับปะมาทัง ปะสังสันติ
อับปะมาทัง คะระหิโต สะทา.

(แปลว่า)
ท้าวมัฆวานถึงความเป็นใหญ่แห่งหมู่เทพ
เพราะความไม่ประมาท(ในการทำความดี)
บัณฑิตจึงสรรเสริญความไม่ประมาท

และติเตียนความประมาททุกเมื่อ
.

เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ส่วนบริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 02:01:24 pm »


เรื่องภิกษุ 2 สหาย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ 2 สหาย ตรัสพระธรรมพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ เป็นต้น

ภิกษุ 2 รูปหลังจากรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วก็ไปอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในป่า รูปหนึ่งมัวแต่ประมาทใช้เวลาให้หมดไปด้วยการผิงไฟและพูดคุยกับสามเณรหนุ่มๆตลอดยามหนึ่ง พอถึงยามที่สองก็เอาแต่นอนหลับ ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งกระทำหน้าที่ของพระภิกษุอย่างแข็งขัน พระภิกษุรูปนี้กระทำกัมมัฏฐานในยามแรก พักผ่อนในยามที่สอง และลุกขึ้นมากระทำกัมมัฏฐานอีกในยามสุดท้าย ด้วยเหตุที่ภิกษุรูปที่สองนี้มีความขยันขันแข็งและไม่ประมาทจึงสามารถบรรลุพระอรหัตตผลได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้เดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดา และพระศาสดาได้ทรงสอบถามว่าในระหว่างพรรษาท่านทั้งสองรูปใช้เวลาให้หมดไปด้วยการทำอะไรบ้าง พระภิกษุรูปที่เกียจคร้านและประมาทนั้นตอบว่า ภิกษุสหายของตนมีแต่เกียจคร้านเอาแต่นอนหลับ เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า “แล้วตัวเธอเล่า ?” ก็ได้กราบทูลว่า ปกติแล้วตนจะนั่งผิงไฟในยามต้นและต่อจากนั้นก็จะลุกขึ้นมานั่งไม่นอน แต่พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีว่าภิกษุทั้งสองรูปใช้เวลาในแต่ละวันให้หมดไปกันอย่างไรบ้าง ดังนั้นพระศาสดาจึงตรัสกับพระรูปที่เกียจคร้านว่า “แม้ว่าเธอเกียจคร้านและประมาทแต่เธอก็ยังมาอ้างว่าตัวเองขยันไม่ประมาท และเธอมาใส่ความภิกษุอีกรูปหนึ่งว่าเกียจคร้านและประมาททั้งๆที่เขามีความขยันและไม่ประมาท เธอนั่นแหละเป็นเหมือนม้าอ่อนแอวิ่งช้าเมื่อเทียบกับบุตรของเราที่เหมือนกับม้าแข็งแรงวิ่งเร็ว

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 29 ว่า
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ
สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส
หิตวา ยาติ สุเมธโสฯ

(อ่านว่า)
อับปะมัดโต ปะมัดเตสุ
สุดเตสุ พะหุชาคะโร
อะพะลัสสังวะ สีคัดโส
หิตตะวา ยาติ สุเมทะโสฯ

(แปลว่า)
ผู้มีปัญญาดี ไม่ประมาท
เมื่อคนอื่นหลับก็จะตื่น
เขาจึงทิ้งคนอื่นไป

เหมือนม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าวิ่งช้าไว้เบื้องหลัง.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 01:51:46 pm »


เรื่องพระมหากัสสปเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปมาทํ อปฺปมาเทน เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระมหากัสสปเถระพำนักอยู่ในถ้ำปิปผลิ ท่านได้ใช้เวลาให้หมดไปโดยการพัฒนาอาโลกกสิณ(มโนภาพแสงสว่าง) และพยายามใช้จักษุทิพย์ตรวจดูว่าสัตว์เหล่าใดไม่ประมาทและสัตว์เหล่าใดประมาท ตลอดจนตรวจสอบว่าผู้ใดใกล้ตายและผู้ใดใกล้จะมาเกิดบ้าง

พระศาสดาแม้ว่าจะประทับอยู่ที่วัดพระเชตะวัน สามารถทอดพระเนตรเห็นพระมหากัสสปเถระด้วยพระญาณวิเศษ ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ และทรงต้องการจะตักเตือนมิให้ท่านเสียเวลาไปกับการกระทำดังกล่าว ดังนั้นพระองค์จึงฉายพระรัศมีไปประทับนั่งอยู่เบื้องหน้าพระเถระแล้วตรัสว่า “ดูกรกัสสปะ จำนวนของคนเกิดและคนตายนับไม่ถ้วน และไม่สามารถนับได้ ไม่ใช่วิสัยของเธอที่จะกระทำ เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 28 ว่า
ปมาทํ อปฺปมาเทน
ยทา นุทติ ปณฺฑิโต
ปญฺญาปาสารทมารุยฺห
อโสโก โสกินึ ปชํ
ปพฺพโตฏฺโฐว ภุมฺมฏฺเฐ
ธีโร พาเล อเวกขติฯ

(อ่านว่า)
ปะมาทัง อับปะมาเทนะ
ยะทา นุทะติ ปันดิโต
ปันยาปาสาทะมารุยหะ
อะโสโก โสกินิง ปะชัง
ปับพะโตดโถวะ มุมมัดเถ
ทีโร พาเล อะเวกขะติ.

(แปลว่า)
บัณฑิตย่อมขจัดความประมาทด้วยความไม่ประมาท
เขาย่อมเหมือนกับขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญา
เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก สามารถมองเห็นคนผู้โง่เขลา
ที่เศร้าโศกอยู่ เหมือนคนยืนอยู่บนยอดเขา
มองลงมายังคนที่ยืนบนพื้นดินข้างล่าง.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 01:43:05 pm »


เรื่องพาลนักษัตร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนักษัตรของคนพาล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปมาทมนุยุญฺชนฺติ เป็นต้น

ครั้งหนึ่งได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองพาลนักษัตรในกรุงสาวัตถี ในระหว่างที่จัดงานเทศกาลครั้งนี้พวกชายหนุ่มที่โง่ๆทั้งหลายเอาขี้เถ้าและมูลโคทาตามตัว แล้วเที่ยวตระเวนร้องตะโกนเสียงอึกทึกตามที่สาธารณะต่างๆ พวกเขาจะไปหยุดอยู่ที่หน้าประตูบ้านของผู้คนทั้งหลาย และเมื่อเจ้าของบ้านนำเงินมาให้ถึงจะออกเดินทางไปที่บ้านหลังอื่นต่อไป

ในระหว่างนั้นมีพวกอุบาสกอุบาสิกอยู่ในกรุงสาวัตถีเป็นจำนวนมาก พวกอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้ เห็นว่าในช่วงเทศกาลนี้เต็มไปด้วยพวกวัยรุ่นที่ส่งเสียงเอะอะโวยวาย จึงได้ส่งข่าวไปทูลพระศาสดาขอให้พระองค์ประทับอยู่แต่ในวัดและอย่าได้เสด็จเข้ามาในตัวเมืองเป็นเวลา 7 วัน พวกเขาได้จัดส่งภัตตาหารไปถวายที่วัดและพวกเขาเองก็เก็บตัวเงียบอยู่แต่ในเรือนไม่ออกมาข้างนอกเหมือนกัน พอถึงวันที่ 8 เมื่อเทศกาลพาลนักษัตรนี้เลิกแล้ว พระศาสดาและพระสาวกก็ได้รับนิมนต์ให้ไปรับอาหารบิณฑบาตในตัวเมือง เมื่ออุบาสกอุบาสิกากราบทูลเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวและน่าละอายของพวกเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น พระศาสดาได้ตรัสว่าเป็นธรรมชาติของพวกคนโง่ที่มีพฤติกรรมไร้ยางอาย


จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 26 และพระคาถาที่ 27 ดังนี้
ปมาทมนุยุญฺชนฺติ
พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา
อปฺปมาทญจ เมธาวี
ธนํ เสฏฺฐํ ว รกฺขติฯ

(อ่านว่า)
ปะมาทะมะนุยุนชันติ
พาลา ทุมเมทิโน ชะนา
อับปะมาทันจะ เมทาวี
ทะนัง เสดถังวะ รักขะติ.

(แปลว่า)
คนพาล ปัญญาทราม
มักมัวแต่ประมาท
ส่วนบัณฑิต ย่อมรักษาความไม่ประมาท

เหมือนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ.


มา ปมาทมนุยุญฺเชถ
มา กามรติสนฺถวํ
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโน
ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํฯ

(อ่านว่า)
มา ปะมาทะมะนุยุนเชถะ
มา กามะระติสันถะวัง
อับปะมัดโต หิ ชายันโต
ปับโปติ วิปุลัง สุขัง.

(แปลว่า)
พวกเธออย่ามัวแต่ประมาท
อย่ามัวแต่จะลุ่มหลงในกามคุณ
ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่เท่านั้น

ถึงจะบรรลุสุขอันไพบูลย์(คือบรรลุนิพพาน)ได้.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 01:32:05 pm »


เรื่องพระจูฬปันถกเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อจูฬปันถก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน เป็นต้น

เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้หนึ่ง มีหลานชาย 2 คน คนหนึ่งชื่อ มหาปันถก และอีกคนหนึ่งชื่อ จูฬปันถก คนที่ชื่อมหาปันถกเป็นพี่ชาย เคยติดตามท่านเศรษฐีผู้เป็นตาไปฟังพระธรรมเทศนาอยู่บ่อยๆและ ต่อมาคนที่ชื่อมหาปันถกนี้ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุและไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนคนที่ชื่อจูฬปันถกผู้น้องนั้นก็ตามมาบวชเหมือนกัน แต่เนื่องจากในอดีตชาติเมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าเคยล้อเลียนภิกษุรูปหนึ่งที่ปัญญาทึบ จึงเกิดมาเป็นคนปัญญาทึบในชาตินี้ จูฬปันถกไม่สามารถจดจำพระคาถาได้แม้แต่พระคาถาเดียวแม้จะใช้เวลาเพียรพยายามมจดจำอยู่ถึง 4 เดือน พระมหาปันถกผู้พี่ชายเกิดความผิดหวังกับน้องชายเป็นอย่างมาก ถึงกับบอกว่าไม่คู่ควรที่จะบวชเป็นพระอยู่ต่อไป

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง หมอชีวกโกมารภัจได้มาที่วัดเวฬุวันเพื่อนิมนต์พระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน พระมหาปันถกซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เป็นพระภัตตุเทศก์ คือทำหน้าที่มอบหมายพระไปฉันตามแหล่งที่นิมนต์ไว้ นั้นได้ขีดฆ่าชื่อของพระจูฬปันถกออกจากบัญชีพระที่จะไปฉันภัตตาหาร เมื่อพระจูฬปันถกทราบเรื่องนี้ก็รู้สึกเสียใจมาก และได้ตัดสินใจจะลาเพศไปครองตัวเป็นฆราวาสดังเดิม พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ด้วยญาณพิเศษจึงเสด็จมาพาพระจูฬปันถกไปนั่งอยู่ที่หน้าพระคันธกุฎี จากนั้นพระองค์ได้ประทานผ้าขาวชิ้นหนึ่งให้แก่พระจูฬปันถกแล้วตรัสบอกให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วใช้มือถูผ้าชิ้นนั้นอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่เอามือถูผ้าชิ่นนั้นก็ให้ภาวนาว่า “รโชหรณํ ๆๆ” ซึ่งแปลว่า ผ้าเช็ดธุลี ๆๆ จากนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จไปยังเรือนของหมอชีวกโกมารภัจ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

ในขณะเดียวกันนั้น พระจูฬปันถกก็ได้เอามือถูผ้าขาวชิ่นนั้นๆ แล้วภาวนาว่า “รโชหรณํ ๆๆๆ” ในไม่ช้าผ้าขาวชิ้นนั้นก็เกิดความสกปรก เมื่อพระจูฬปันถกเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับผ้า ก็รู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยง พระศาสดาทั้งที่ประทับอยู่ที่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจทรงทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของพระจุลปันถกโดยพระญาณพิเศษ จึงได้แผ่รัศมีไปปรากฏพระองค์อยู่เบื้องหน้าพระจุลปันถกตรัสว่า

“มิใช่ว่าจะมีเพียงชิ้นผ้านี้เท่านั้นที่ทำให้สกปรกได้ด้วยฝุ่นธุลี แต่ภายในของคนเราก็ยังมีฝุ่นธุลีคือ ราคะ โทสะ และโมหะ กล่าวคือ ความไม่รู้ในอริยสัจ 4 โดยการขจัดราคะ โทสะ และโมหะเหล่านี้ ก็จะทำให้บุคคลบรรลุเป้าหมายและบรรลุพระอรหัตตผลได้” พระจุลปันถกฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้วนำมาเพ่งพินิจ ต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยเหตุนี้พระจุลปันถกจึงยุติความเป็นคนปัญญาทึบตั้งแต่นั้น

ส่วนที่เรือนของหมอชีวก เป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายกำลังจะรินน้ำทักษิโณทกเป็นสัญญาณการถวายทานอยู่พอดี แต่พระศาสดาได้เอาพระหัตถ์มาปิดบาตรเอาไว้ และตรัสถามว่าที่วัดยังมีพระตกค้างอยู่หรือไม่ เมื่อได้รับคำทูลตอบว่าไม่มีพระอยู่ที่นั่น พระศาสดาตรัสว่ายังมีพระอยู่รูปหนึ่ง จึงได้ตรัสบอกคนไปพาพระจุลปันถกมาจากวัด เมื่อคนคนนั้นออกเดินทางจากเรือนของหมอชีวกโกมารภัจไปถึงที่วัดก็ได้พบพระภิกษุที่รูปร่างเหมือนๆกันอยู่จำนวน 1000 รูป ภาพนิมิตของพระเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยอานุภาพฤทธิ์ของพระจุลปันถก คนที่ส่งไปนั้นเกิดความสับสนและได้กลับมารายงานเรื่องนี้ให้หมอชีวกโกมารภัจได้ทราบ หมอชีวกโกมารภัจได้ส่งคนคนนี้ไปอีกเป็นครั้งที่สอง โดยให้ไปบอกว่าพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุที่ชื่อว่าจุลปันถก เมื่อคนคนนี้ไปพูดตามที่บอก พระทั้งพันรูปนั้นก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อาตมาคือพระจูฬปันถก ๆๆๆ” คนไปตามพระเกิดความสับสนขึ้นอีกและได้กลับมารายงานอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้หมอชีวกโกมารภัจได้ส่งคนไปตามพระนั้นกลับไปที่วัดเป็นครั้งที่สามและได้บอกผู้ไปตามพระว่าให้จับแขนพระรูปที่พูดเป็นรูปแรกว่า “อาตมาคือพระจูฬปันถก” เอาไว้ให้ดี ทันทีที่เขาไปจับแขนของพระรูปที่พูดเป็นรูปแรกเอาไว้รูปนิมิตอื่นก็หายไปทั้งหมด และพระจุลปันถกก็ได้เดินตามคนไปตามพระนั้นมาที่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจ หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระจูฬปันถกซึ่งได้รับบัญชาจากพระศาสดาได้แสดงธรรมอย่างมั่นใจและองอาจเสียงดังฟังชัดดุจราชสีห์หนุ่มบันลือสีหนาท
.
ต่อมาเมื่อภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้มาสนทนากัน พระศาสดาได้ตรัสว่า
บุคคลที่ขยัน มีความบากบั่น ไม่ท้อถอย ย่อมจะบรรลุพระอรหัตตผล

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 25 ว่า
อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน
สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี
ยํ โอโฆ นาภิกีรติฯ

(อ่านว่า)
อุดถาเนนับปะมาเทนะ
สันยะเมนะ ทะเมนะ จะ
ทีปัง กะยิราถะ เมทาวี
ยัง โอโค นาพิกีระติ.

(แปลว่า)
โดยความขยัน ไม่ประมาท
สำรวมระวัง(มีศีล) และข่มใจตนเอง
ผู้มีปัญญาพึงสร้างเกาะ(ที่พึ่ง)

ที่ห้วงน้ำ(กิเลส) ท่วมไม่ถึง.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 01:14:47 pm »


เรื่องกุมภโฆสก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่อกุมภโฆสก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อุฏฺฐานวโต เป็นต้น

ครั้งหนึ่งได้เกิดโรคระบาดชนิดหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ในบ้านของเศรษฐีประจำเมืองนี้ผู้หนึ่ง พวกคนใช้ตายด้วยโรคนี้ทั้งหมด เศรษฐีและภรรยาก็ติดเชื้อของโรคนี้เช่นกัน เมื่อทั้งสองคนเห็นว่าจะไม่รอดชีวิตแน่ ก็จึงได้บอกนายกุมภโกสกบุตรชายให้หนีออกจากบ้านไป แล้วค่อยกลับมาเมื่อโรคระบาดนี้สงบลงแล้ว ทั้งสองสามีภรรยาได้บอกกับบุตรชายถึงสถานที่ที่พวกตนได้ฝังทรัพย์จำนวน 40 โกฏิเอาไว้ด้วย เมื่อบุตรชายของเศรษฐีออกจากเมืองราชคฤห์ไปแล้วก็ได้เข้าไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปีแล้วกลับมาที่กรุงราชคฤห์อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อตอนกลับมาคราวนี้บุตรชายเศรษฐีเป็นหนุ่มใหญ่และไม่มีผู้ใดในเมืองจดจำเขาได้ เขาได้ไปยังสถานที่ที่บิดามารดาบอกว่าได้ฝังทรัพย์เอาไว้นั้นและก็ได้พบว่าทรัพย์เหล่านั้นยังคงมีอยู่ แต่เขามีความคิดว่าเมื่อไม่มีใครจำเขาได้เช่นนี้แล้ว หากเขาไปขุดทรัพย์ที่ฝังเอาไว้นั้นขึ้นมาและใช้สอยทรัพย์นั้น ผู้คนก็จะพากันคิดว่าเขาเป็นคนยากจนแต่ไปพบขุมทรัพย์โดยความบังเอิญและก็จะรายงานให้พระราชาทรงทราบ ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาทรัพย์ของเขาก็จะถูกยึดเป็นของหลวง และตัวเขาเองก็ถูกจองจำไว้ในคุกด้วย ดังนั้นเขาจึงตกลงใจว่ายังไม่ถึงเวลาที่เขาจะไปขุดเอาทรัพย์นั้นขึ้นมาใช้สอย แต่เขาจะไปรับจ้างหาเงินมาเลี้ยงชีวิตไปพลางๆก่อน เขาจึงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าปอนๆ ไปเที่ยวรับจ้างขายแรงงานกินตามอัตภาพ โดยเขาได้ไปรับจ้างเป็นยามคอยปลุกคนให้ลุกขึ้นในตอนเช้า และคอยเดินไปประกาศให้คนทั้งหลายได้รู้ว่าเวลานั้นเวลานี้เป็นเวลาจัดเตรียมอาหาร เวลาเตรียมเกวียน เวลาเอาโคมาเทียมเกวียน เป็นต้น

เช้าวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับเสียงประกาศของนายกุมภโฆสก เนื่องจากพระองค์ทรงมีความรู้ในเรื่องเสียงของคน จึงตรัสว่า " นั่นเป็นเสียงของคนที่มีทรัพย์มาก” หญิงรับใช้ของพระราชาคนหนึ่งเมื่อได้ฟังพระราชาตรัสเช่นนั้น จึงได้ส่งคนคนหนึ่งไปทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในทางลับ ชายคนนั้นกลับมารายงานว่าชายหนุ่มเจ้าของเสียงเป็นเพียงผู้ขายแรงงานธรรมดาๆคนหนึ่งเท่านั้นเอง แม้ว่าจะทรงได้รับรายงานเช่นนี้แต่พระราชาก็ยังทรงย้ำพระดำรัสเดิมสองวันติดต่อกัน และก็ได้มีการส่งคนไปเสาะหาความจริงแต่ก็ได้รับรายงานเช่นเดิมอีก พอถึงคราวนี้หญิงรับใช้ของพระราชาคิดว่าเรื่องนี้แปลกประหลาดมาก นางจึงรับอาสาพระราชาไปทำการสืบข่าวด้วยตนเอง ซึ่งพระราชาก็ทรงยินยอมให้กระทำได้

นางคนใช้ของพระราชาได้ปลอมตัวเป็นคนบ้านนอกพร้อมกับบุตรสาวเดินทางไปที่ย่านที่พำนักของพวกขายแรงงาน เมื่อไปถึงก็ได้บอกว่าพวกตนเป็นคนเดินทางมาจากบ้านนอกไม่มีที่พักแรมอยากจะขอพักแรมในบ้านของนายกุมภโกสกสักคืนหนึ่ง แต่พอพักคืนหนึ่งแล้วก็หาเลศนัยพักอยู่ต่อไปอีกหลายคืน ในระหว่างนั้นหญิงรับใช้ของพระราชาได้วางแผนทูลพระราชาให้ทรงประกาศให้มีการจัดพิธีกรรมอย่างหนึ่งขึ้นในย่านของผู้ใช้แรงงานนั้น ซึ่งผู้ใช้แรงงานทุกบ้านจะต้องบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานครั้งนี้ ข้างนายกุมภโฆสกหาเงินสดมาบริจาคไม่ได้ สถานการณ์บังคับทำให้เขาต้องไปนำเงินเหรียญกหาปณะส่วนหนึ่งจากขุมทรัพย์ที่ฝังไว้นั้นมาบริจาค เมื่อเขาเอาเหรียญกหาปณะเหล่านี้มายื่นให้หญิงรับใช้ของพระราชา นางจึงกันเอาเหรียญเหล่านั้นแยกไว้ต่างหากแล้วเอาเงินของนางใส่ไปไว้แทน จากนั้นได้นำเหรียญเหล่านั้นส่งไปถวายพระราชา หลังจากนั้นไม่นานนางก็ทูลให้พระราชาส่งเจ้าหน้าที่ราชบุรุษมาคุมตัวของนายกุมภโฆสกเข้าไปสอบสวนในพระราชวัง นายกุมภโฆสกติดตามเจ้าหน้าที่ไปโดยไม่เต็มใจ ทั้งนี้โดยที่นางหญิงคนใช้ กับบุตรสาวได้เดินทางเข้าไปในพระราชวังล่วงหน้าเพื่อเป็นพยานเรียบร้อยแล้ว
.
ที่พระราชวังพระราชาได้ตรัสบอกนายกุมภโฆสกให้พูดความจริงออกมาทั้งหมด โดยที่พระองค์ได้ทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีโทษใดๆเกิดขึ้นในเรื่องนี้ นายกุมภโฆสกเมื่อจนด้วยประจักษ์พยานจึงได้รับสารภาพว่าทรัพย์เหล่านั้นเป็นของตน และว่าตนเป็นบุตรของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ที่ได้เสียชีวิตจากโรคระบาดเมื่อ 12 ปีก่อน เขาได้ทูลพระราชาได้ทราบถึงที่ซ่อนทรัพย์เหล่านั้นด้วย ต่อมาทรัพย์ที่ฝังไว้เหล่านั้นก็ได้ถูกขุดค้นแล้วขนไปไว้ที่พระราชวัง พระราชาได้แต่งตั้งให้นายกุมภโฆสกเป็นเศรษฐีและได้พระราชทานพระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์แก่นายกุมโฆสกด้วย

ต่อมาพระราชาได้ทรงพานายกุมภโฆสกไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเวฬุวัน และได้กราบทูลว่านายกุมภโฆสกนี้แม้ว่าจะยังหนุ่มแน่นและร่ำรวยก็ยังหาเงินหาทองเลี้ยงชีวิตด้วยการรับจ้างขายแรงงงาน และได้กราบทูลด้วยว่าพระองค์ได้ทรงสถาปนาเขาไว้ในตำแหน่งเศรษฐีแล้ว

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 24 ว่า
อุฏฺฐานวโต สติมโต
สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน
อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติฯ

(อ่านว่า)
อุดถานะวะโต สะติมะโต
สุจิกัมมัดสะ นิสัมมะการิโน
สันยัดตัดสะ จะ ทำมะชีวิโน
อับปะมัดตัดสะ ยะโสพิวัดทะติ.

(แปลว่า)
ยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ
มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ
สำรวมระวัง ดำเนินชีวิตโดยชอบ

และไม่ประมาท.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง กุมภโฆสกเศรษฐีก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 12:45:13 pm »


เรื่องย่อในพระธรรมบท (อัปปมาทวรรค)
เรื่องพระนางสามาวดี

พระศาสดา เมื่ออาศัยกรุงโกสัมพี ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ทรงปรารภความวอดวายคือมรณะ ของหญิง 500 มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน และของญาติ 500 ของพระนางมาคันทิยานั้น ซึ่งมีนางมาคันทิยาเป็นประธาน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ เป็นต้น

พระนางสามาวดีมีหญิงข้าราชบริพารจำนวน 500 คน และพระนางมีหญิงรับใช้นางหนึ่งชื่อ ขุชชุตตรา นางขุชชุตตราต้องไปซื้อดอกไม้มาถวายพระนางสามาวดีจากนายสุมนมาลาการทุกวัน ครั้งหนึ่งนางขุชชุตตรามีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดาที่บ้านของนายสุมนมาลาการจนนางได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน นางขุชชุตตราได้นำความในพระธรรมเทศนาของพระศาสดานั้นกลับไปแสดงให้พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารฟัง ทำให้พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารทั้งหมดได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันไปด้วย จากวันนั้นมานางขุชชุตตราก็เลยไม่ต้องทำงานที่ต้องใช้แรงกายใดๆ แต่ได้รับหน้าที่เป็นมารดาและเป็นอาจารย์ของนางสามาวดี เมื่อนางขุชชุตตราไปฟังธรรมเทศนาจากพระศาดาแล้วก็กลับมาแสดงให้นางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารทั้งหลายฟัง เมื่อกาลเวลาผ่าไปนานเข้านางขุชชุตตราก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก

พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ไปเฝ้าและไปถวายบังคมพระพระศาสดา แต่ก็มีความหวั่นเกรงว่าพระราชาจะไม่ทรงพอพระทัย จึงได้ใช้วิธีเจาะรูกำแพงพระราชวังเอาไว้แอบมองและถวายความเคารพพระศาสดาทุกวัน เมื่อพระองค์เสด็จไปที่บ้านของเศรษฐี 3 คน คือ โฆสกเศรษฐี กุกกุตเศรษฐี และปาวาริยศรษฐี

ในขณะนั้น พระเจ้าอุเทนมีมเหสีเอกอีกองค์หนึ่งพระนามว่าพระนางมาคันทิยา พระนางมาคันทิยานี้เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อมาคันทิยะ วันหนึ่งพราหมณ์ผู้นี้พบพระศาสดาแล้วมีความคิดว่าพระองค์เป็นบุคคลเหมาะที่จะแต่งงานกับธิดาโฉมงามของตน จึงรีบวิ่งกลับไปพาภรรยาและธิดาของตนมาแล้วออกปากยกธิดาของตนให้แต่งงานกับพระศาสดา แต่พระศาสดาทรงปฏิเสธข้อเสนอของพราหมณ์นั้นโดยตรัสว่า “ขนาดที่เราตถาคตได้เห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา สามธิดาของมาร เราตถาคตยังไม่มีความรู้สึกต้องการทางกามารมณ์เลย เพราะว่าเป็นร่างกายที่เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งตถาคตไม่ต้องการสัมผัสถูกต้องแม้แต่ด้วยเท้า

เมื่อได้ยินพระดำรัสของพระศาสดานี้ พราหมณ์มาคันทิยะและนางพราหมณีก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ทั้งสองคนจึงได้มอบหมายให้นางมาคันทิยาอยู่ในความดูแลของลุงของนาง แล้วทั้งสองออกบวชและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด พระศาสดาทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าพราหมณ์มาคันทิยะและนางพราหมณีจะได้บรรลุเป็นพระอนาคามีในวันนั้น พระองค์จึงได้ตรัสตอบพราหมณ์มาคันทิยะด้วยพระดำรัสข้างต้น แต่ทว่าคำตอบของพระศาสดาได้สร้างความรู้สึกขมขื่นและเจ็บปวดรวดร้าวใจให้แก่นางมาคันทิยามาก และนางได้สาบานว่าจะต้องหาทางแก้แค้นเมื่อโอกาสอำนวย

ต่อมาลุงของนางมาคันทิยาได้นำนางมาคันทิยามาถวายตัวแก่พระเจ้าอุเทน และนางได้ตำแหน่งเป็นมเหสีเอกองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน พระนางมาคันทิยาทรงทราบว่าพระศาสดาเสด็จมาที่กรุงโกสัมพีและทรงทราบด้วยว่าพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารเจาะรูกำแพงพระราชวังไว้มองดูและไว้ถวายบังคมพระศาสดา ดังนั้นพระนางจึงวางแผนแก้แค้นพระศาสดาและแผนทำร้ายพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารที่มีความศรัทธาในพระศาสดา พระนางมาคันทิยาได้กราบทูลฟ้องพระเจ้าอุเทนว่า พระนางสามาวดีและและหญิงข้าราชบริพารเจาะรูกำแพงพระราชวังเอาไว้สำหรับติดต่อกับภายนอก และไม่มีความภักดีต่อพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุทานได้เสด็จไปทอดพระเนตรรูกำแพงและเมื่อพระนางสามาวดีได้กราบทูลว่าเจาะไว้สำหรับมองและถวายความเคารพแด่พระศาสดาพระเจ้าอุเทนจึงไม่ทรงพิโรธ

แต่พระนางมาคันทิยาก็ยังคงพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อทำให้พระเจ้าอุเทนมีความเชื่อว่าพระนางสามาวดีไม่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์และกำลังวางแผนจะปลงพระชนม์พระองค์ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อพระนางมาคันทิยาทรงทราบว่าพระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปหาพระนางสามาวดีภายในวันสองวันนี้และพระเจ้าอุเทนจะทรงถือพิณไปด้วย พระนางมาคันทิยาจึงลอบนำงูตัวหนึ่งไปใส่ไว้ในพิณนั้นแล้วเอาช่อดอกไม้อุดรูของพิณเอาไว้ พระนางมาคันทิยาได้ตามเสด็จพระเจ้าอุเทนไปยังที่ประทับของพระนางสามาวดี หลังจากที่พระนางทำทีคัดค้านไม่อยากให้พระองค์เสด็จไปเพราะพระนางสังหรณ์ใจว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยกับพระองค์ เมื่อเดินทางไปถึงที่ประทับของพระนางสามาวดีแล้ว พระนางมาคันทิยาก็เอาช่อดอกไม้ที่ใช้อุดรูพิณนั้นออก งูก็ได้เลื้อยออกมาขดอยู่บนเตียงนอน

เมื่อพระเจ้าอุเทนทอดพระเนตรเห็นงูก็ทรงเชื่อคำของพระนางมาคันทิยาว่าพระนางสามาวดีกำลังวางแผนปลงพระชนม์พระองค์ ทรงพิโรธมากรับสั่งให้จับพระนางสามาวดีไปยืนอยู่ที่หลักประหารและให้จับหญิงข้าราชบริพารทั้งหมดไปยืนอยู่ข้างหลัง จากนั้นพระองค์ทรงโก่งคันศรและสอดลูกศรที่กำซาบยาพิษแล้วยิงไปที่พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพาร ขณะนั้นพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริหารมิได้มีความพยาบาทอาฆาตพระเจ้าอุเทนแต่ได้แผ่เมตตาจิตให้แก่พระองค์ เพราะอานุภาพของเมตตาจิตนั้นมีอันทำให้ลูกศรที่ยิงออกไปวิ่งกลับเข้าหาตัวของพระเจ้าอุเทน ซึ่งปกติแล้วฝีมือยิงศรของพระเจ้าอุเทนป็นเลิศมากสามารถยิงทะลุศิลาได้อย่างสบายๆ พอถึงตอนนี้พระเจ้าอุเทนเริ่มตระหนักว่า ว่าพระนางสามาวดีเป็นผู้บริสุทธิ์และได้ทรงอนุญาตให้พระนางสามาวดีกับหญิงข้าราชบริพารไปนิมนต์พระศาสดาและภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตและแสดงธรรมเทศนาในพระราชวังได้

พระนางมาคันทิยาเมื่อรู้ว่าแผนการต่างๆของพระนางไม่บรรลุวัตถุประสงค์จึงได้วางแผนการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขั้นสุดท้าย โดยพระนางได้ส่งข่าวไปแจ้งแก่ลุงของพระนางให้มาที่พระราชวังของพระนางสามาวดีแล้วให้จัดการใช้ไฟเผาพระราชวังพร้อมหญิงทุกคนที่อยู่ในนั้น ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้พระราชวังที่ประทับอยู่นั้น พระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิงข้าราชบริพารจำนวน 500 นางมิได้ตื่นตระหนกตกใจและยังคงนั่งสมาธิเป็นปกติ ทำให้บางนางได้บรรลุพระสกทาคามิผล ขณะบางนางได้บรรลุพระอนาคามิผลก่อนที่จะถูกไฟครอกเสียชีวิตทุกคน

เมื่อข่าวไฟไหม้พระราชวังกระจายไปทั่ว พระเจ้าอุเทนได้เสด็จมาทอดพระเนตรยังที่เกิดเหตุ แต่ก็สายไปเสียแล้วพระองค์จึงไม่ทรงสามารถช่วยเหลืออะไรได้ พระองค์ทรงสงสัยว่างานลอบวางเพลิงในครั้งนี้เป็นฝีมือของพระนางมาคันทิยาแน่ๆ แต่พระองค์มิได้แสดงว่าพระองค์สงสัยพระนาง ทว่าได้ตรัสว่า “เมื่อพระนางมาคันทิยายังมีชีวิตอยู่เรามีแต่หวั่นเกรงและเฝ้าคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะถูกพระนางทำร้าย พอถึงตอนนี้แล้วจิตใจของเรามีความสงบ ใครนะที่ลอบวางเพลิงในครั้งนี้ ? คนที่ทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องเป็นคนที่รักเรามากแน่” เมื่อพระนางมาคันทิยาได้ยินดำรัสของพระเจ้าอุเทนเช่นนี้ก็หลงกลรีบยอมรับว่าพระนางเป็นผู้อยู่เบื้องหลังลอบส่งข่าวให้ลุงมาลอบวางเพลิงในครั้งนี้ เมื่อพระเจ้าอุเทนสดับก็ทรงทำทีว่าแสดงความยินดีที่พระนางกระทำเช่นนี้และตรัสว่าจะพระราชทานรางวัลอันยิ่งใหญ่ให้แก่พระนางและเครือญาติของพระนางทุกคน ดังนั้นพระนางมาคันทิยาจึงได้ส่งข่าวไปแจ้งให้ญาติๆทุกคนของพระนางเดินทางมาที่พระราชวัง แต่พอญาติทุกคนเดินทางมาถึง ทุกคนรวมทั้งพระนางมาคันทิยาก็ได้ถูกจับกุมตัวนำไปเผาที่หน้าพระลานหลวงตามพระราชโองการของพระเจ้าอุเทน

เมื่อพระศาสดาทรงทราบข่าวของสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แล้ว พระองค์ได้ตรัสว่า
ผู้ที่ไม่ประมาทคือผู้ที่ไม่ตาย ส่วนผู้ที่ประมาทคือผู้ที่เสมือนตายแล้ว แม้ว่าจะยังคงมีชีวิตอยู่ก็ตาม

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท
พระคาถาที่ 21 พระคาถาที่ 22 และพระคาถาที่ 23 ว่า
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ
ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ
เย ปมตฺตา ยถา มตาฯ

(อ่านว่า)
อับปะมาโท อะมะตัง ปะทัง
ปะมาโท มัดจุโน ปะทัง
อับปะมัดตา นะ มียันติ
เย ปะมัดตา ยะถา มะตา.

(แปลว่า)
ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
ความประมา ทเป็นทางตาย
ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย
ผู้ประมาทเหมือนกับผู้ตายแล้ว.

เอตํ วิเสสโต ญตฺวา
อปฺปมาทมฺหิ ปณฑิตา
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ
อริยานํ โคจเร รตาฯ

(อ่านว่า)
เอตัง วิเสสะโต ยัตตะวา
อับปะมาทัมหิ ปันดิตา
อับปะมาเทนะ ปะโมทันติ
อะริยานัง โคจะเร ระตา.

(แปลว่า)
บัณฑิตรู้ข้อแตกต่างระหว่าง
ความประมาทกับความไม่ประมาทนี้แล้ว
ยินดีในความไม่ประมาท
อันเป็นทางของพระอริยะ.

เต ฌายิโน สาตฺติกา
นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพพานํ
โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํฯ

(อ่านว่า)
เต ชายิโน สาดติกา
นิดจัง ทันหะปะรักกะมา
ผุดสันติ ทีรา นิบพานัง
โยคักเขมัง อะนุดตะรัง.

(แปลว่า)
ผู้ฉลาด เจริญฌาน
มีความบากบั่นอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
ย่อมบรรลุพระนิพพาน
ที่ปลอดพ้นจากเครื่องร้อยรัด และที่ล้ำเลิศ.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.