ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 07:18:26 pm »ข้อ ๔ ไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่ามรรค ไม่รู้ในข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติไปในทางที่ผิดคือในทางก่อทุกข์ แทนที่จะเป็นทางดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้นคือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (สองข้อนี้ย่อลงใน ปัญญาสิกขา)
สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (สามข้อนี้ย่อลงใน ศีลสิกขา)
สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ
สัมมาสติ ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ (สามข้อนี้ย่อลงใน จิตตสิกขา)
เมื่อปฏิบัติในทางแห่งตัณหา ซึ่งเป็นทางแห่งทุกข์ แม้จะปรารถนาความสิ้นทุกข์หรือความดับทุกข์ก็ไม่อาจถึงได้ คนที่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนต้องประพฤติทุจริตต่างๆ แม้จะมีอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น มากมาย และแทนที่จะมี ในทางที่เป็นประโยชน์กลับมีในทางที่เป็นโทษ เพราะปฏิบัติไปในทางแห่งตัณหา เป็นผู้ลุอำนาจแห่งตัณหาหรือเป็นทาสแห่งตัณหา นับว่าเป็นอวิชชา ในข้อนี้ซึ่งคู่กับข้อที่ ๓ คือ ข้อที่ ๓ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๔ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายดับทุกข์
ข้อ ๕ ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
ข้อ ๖ ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
ข้อ ๗ ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย หรือทั้งอดีตและอนาคต
ข้อ ๘ ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น
ทั้ง ๔ ข้อนี้อธิบายรวมกันว่า เหตุและผลทั้งสองสายดังกล่าวใน ๔ ข้อข้างต้นที่เกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในทุกๆ คน ย่อมมีเงื่อนที่จะจับขึ้นมาพิจารณาให้รู้ได้ เมื่อจับเงื่อนไขได้ถูกก็จะรู้เหตุและผลได้ถูกต้อง เงื่อนนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อก็มี ๒ คือเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย ถ้าจะชี้ว่าอะไรเป็นเงื่อนเหล่านี้ ก็อาจชี้ได้ว่าในสายทุกข์ ตัณหาเป็นเงื่อนต้นแห่งทุกข์ ส่วนทุกข์ที่เป็นผลเป็นเงื่อนปลาย และถ้าผลนั้นก่อตัณหาให้เกิดขึ้นอีก ผลนั้นก็เป็นเงื่อนต้นขึ้นอีก เช่น ทรัพย์ที่ได้มาในทางที่ผิดด้วยตัณหา ได้มาแล้วก็เป็นเครื่องยั่วเพิ่มตัณหามากขึ้น ก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งตัณหาขึ้นอีกได้ ในสายดับทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ เป็นเงื่อนต้น ความดับทุกข์เป็นเงื่อนปลาย และความดับทุกข์อย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องส่งเสริมให้ปฏิบัติในทางดับทุกข์ยิ่งขึ้นไป ก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งมรรคที่ยิ่งขึ้นไปได้อีกเหมือนกัน หรือจะยกกาลเวลาขึ้นมาพิจารณา โดยกำหนดปัจจุบันเป็นหลักก็ได้ คือ จับเงื่อนต้นแต่อดีตสืบไปถึงเงื่อนปลายในอนาคต เหมือนกำลังเดินอยู่ในทางสายยาว ย่อมจะมีข้างหลังที่เดินมาแล้ว มีข้างหน้าที่จะเดินต่อไป ตกว่ามีทั้งข้างหลังข้างหน้าต่อไปกัน ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ตามข้อ ๕, ๖, ๗ ก็จับเหตุจับผลจับหน้าจับหลังไม่ได้
อีกอย่างหนึ่ง เหตุผลดังกล่าวย่อมเกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนดังทางสายยาวดังกล่าว ทั้งเป็นทางวนเป็นวงกลมเพราะสิ่งที่เป็นผลย่อมกลับเป็นเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุก็กลับเป็นผล เวียนวนกันไปดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น นี้เรียกว่าธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ยกตัวอย่างโดยสรุปอีกข้อหนึ่งคือ วัฏฏะ ที่แปลว่า วน ๓ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก (คือผล) กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก และวิบากก็กลับเป็นเหตุแห่งกิเลสอีก วนไปดังนี้ ถ้าไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ก็จับเหตุผลที่เกิดเนื่องกันไปไม่ได้สิ่งที่ปรากฏขึ้นทุกๆ อย่าง กล่าวได้ว่าเป็นเหตุผลที่เกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย
เช่นสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่เรียกว่าธรรมชาติ เช่น ฝนตก ซึ่งเป็นผลอย่างหนึ่ง ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเหตุให้ฝนตก ก็จะพบเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่างเป็นสายต่อเนื่องกัน เหตุผลเหล่านี้ถ้าไม่ต่อเนื่องกัน ขาดตอนกันเสีย ก็จะไม่เกิดผลที่นับว่าเป็นเงื่อนปลายคือฝนตก สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่ธรรมชาติและกรรมของคนประกอบกัน เช่น ความยากจนของคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่กรรมของคนโดยตรง เช่น โจรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ทุจริตต่างๆ การยกพวกตีกันของคนกลุ่มน้อย จนถึงสงครามระหว่างคนกลุ่มใหญ่ ย่อมมีเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่าง ถ้าจับเหตุผลหน้าหลังเงื่อนต้นปลายแต่ละเงื่อนโดยเฉพาะ และที่รวมกันทั้งสองเงื่อน และที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสายได้ตลอดสาย ทั้งสายเกิดสายดับ ย่อมสามารถจะแก้ไขได้ถูกต้อง ถ้าจับเงื่อนทั้งปวงไม่ถูกเพราะไม่รู้ตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ ก็เป็นอันไม่รู้เหตุผลทั้งสายเกิดทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ดังกล่าวในข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ จะสับสนวุ่นวาย จับต้นชนปลายไม่ถูก จะมืดหน้ามืดหลัง จะมืดตลอดสาย จึงไม่อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงได้
สัจจะ คือสภาพที่จริงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมลงใน ๘ ข้อนั้น ได้มีอยู่ในทุกๆ คนนี้เอง เพราะทางแห่งชีวิตที่ทุกๆ คนดำเนินอยู่ทุกเวลา ถ้าไม่ดำเนินไปในทางทุกข์ก็ดำเนินไปในทางดับทุกข์ หรืออาจดำเนินไปในทางนี้บ้าง ทางนั้นบ้าง เป็นสัจจะที่มีอยู่ในตัวบุคคลเอง ถึงตนเองจะไม่รู้ว่าดำเนินไปในทางทุกข์ มีความร่าเริงสนุกสนานไปในทางนั้น ด้วยเข้าใจว่าเป็นทางสุข ก็คงเป็นทางทุกข์อยู่นั่นเอง เป็นที่น่ากรุณาของผู้รู้ที่ดูอยู่ แต่แม้จะมีผู้กรุณาชี้บอกอยู่สักเท่าไร ดังเช่นพระพุทธเจ้าตรัสบอกทาง เหมือนดังทรงชูดวงประทีปในที่มืด เพื่อผู้มีจักษุจะได้มองเห็นรูปทั้งหลาย ถ้าตนเองไม่ยอมดูให้รู้สัจจะในตนเอง เหมือนอย่างที่จักษุก็ไม่ยอมลืมจักษุขึ้นดู ประทีปที่ท่านผู้มีเมตตาชูขึ้นให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในความมืด ก็ไร้ประโยชน์สำหรับผู้นั้น นี่แหละเรียกว่า “อันธพาล” ที่แปลว่าผู้เขลาเหมือนอย่างบอด เป็นผู้มืดหน้ามืดหลัง มืดมามืดไป บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่รู้จักตนเอง ต้องการสมภาพในทางที่ผิด แสดงออกในทางที่ผิด มีความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น เป็นต้น แม้จะรักตนก็ทำตนเหมือนอย่างศัตรูของตนเองไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่น เป็นอันตรายแก่ส่วนรวม
ส่วนผู้ที่ยอมดูเข้ามาให้รู้สัจจะในตัวเองคือ พยายามอบรมปัญญาในตนเองให้มากขึ้น
ตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ คือศึกษาในวิชชาที่ตรงกันข้าม คือ
๑ ความรู้ในทุกข์
๒ ความรู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓ ความรู้ในความดับทุกข์
๔ ความรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้นว่า มรรค
๕ ความรู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖ ความรู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗ ความรู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือทั้งอดีตและอนาคต
๘ ความรู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ที่มีอยู่ในตนนี้แหละ ก็ชื่อว่าได้ศึกษาเพื่อละอวิชชาในตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง จะไม่ต้องการสมภาพในทางที่ผิด จะไม่แสดงออกในทางที่ผิด จะไม่ริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น จะบรรเทาความเมา ความหลง จะมีความเห็นชอบตามคลองธรรมและตามสัจจะ ดำรงตนอยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่ง ที่เรียกว่าต่ำหรือสูงในทางโลกก็ตาม จะเป็นผู้ที่ถือเอาและดำเนินทางถูกทางสว่างเสมอ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสว่างหน้าสว่างหลัง สว่างมาสว่างไป กระทั่งถึงสว่างตลอดสาย
อันวิชชา คือ ความรู้สัจจะในตนเองนี้ ควรศึกษาอย่างยิ่งตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แม้ดังที่ยกมาอธิบายข้างต้น เมื่อศึกษาจะได้ความรู้ที่สูงขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสัจจะในภายนอก เช่น ความรู้ตามที่ตามองเห็น ก็เห็นดวงอาทิตย์โคจรทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก (เรียกอาทิตย์โคจรรอบโลก) ส่วนความรู้ที่เกิดจากการศึกษา แสดงว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ กลับตรงกันข้าม สัจจะในภายในก็เช่นเดียวกัน ความรู้ตามที่รู้อย่างผิวเผินว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อศึกษาในวิชชาของพระพุทธเจ้า จะได้ ความรู้อีกอย่างหนึ่งที่กลับตรงกันข้าม และจักรู้ว่า ความรู้เดิมเป็นอวิชชา คือรู้ผิดเป็นความหลงเข้าใจผิดเห็นผิด
“โลกอันอวิชชา คือ ความไม่รู้จริงปิดบังไว้แล้วจึงหลงดุจอยู่ในที่มืด เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ จะมัวร่าเริง จะมัวบันเทิงอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสนี้ถูกไฟกิเลสเผาให้ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกอวิชชาอันทำให้มืดบอดปกคลุมแล้ว เหตุไฉนจึงไม่แสวงหาดวงประทีปเล่า”
(พระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาและธรรมบท)
คัดลอกจาก หนังสือรวมธรรมะ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เป็นมุทิตาสักการะ
เนื่องในศุภวาระฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา
ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๐
พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
ที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=25-01-2010&group=7&gblog=4
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
คัดลอกจาก หนังสือรวมธรรมะ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เป็นมุทิตาสักการะ
เนื่องในศุภวาระฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา
ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๐
พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
ที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=25-01-2010&group=7&gblog=4
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ