ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 03:52:30 pm »


เรื่องครหทินน์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภสาวกของนิครนถ์ชื่อครหทินน์ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถา สงฺการธานสฺมึ เป็นต้น

ที่กรุงสาวัตถี มีชายเป็นสหายกันอยู่ 2 คน คนหนึ่งชื่อสิริคุตต์ และอีกคนหนึ่งชื่อครหทินน์ คนที่ชื่อสิริคุตต์เป็นสาวกของพระศาสดา ส่วนคนที่ชื่อครหทินน์เป็นสาวกของพวกนิครนถ์ ซึ่งเป็นศัตรูกับชาวพุทธ ครหทินน์เคยพูดกับสิริคุตต์ว่า “มันจะมีประโยชน์ที่คุณจะไปเป็นสาวกของพระศาสดา มาเถิดเพื่อน จงไปเป็นสาวกของครูทั้งหลายของเรา” เมื่อถูกชักชวนจากครหทินน์เช่นนั้นหลายครั้งเข้า สิริคุตต์จึงกล่าวกับครหทินน์ว่า “ไหนเพื่อนบอกหน่อยสิ ว่าครูทั้งหลายของคุณรู้อะไรบ้าง” ครหทินน์ตอบว่า “ครูของเรารู้ทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขามีอานุภาพมาก สามารถรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน ตลอดจนรู้ความนึกคิดของผู้อื่นด้วย” ดังนั้นสิริคุตต์จึงได้เชิญพวกนิครนถ์มารับประทานอาหารบิณฑบาตที่บ้านของเขา

สิริคุตต์ต้องการค้นหาความจริงเกี่ยวกับพวกนิครนถ์ ว่าพวกเขาจะมีอานุภาพรู้จิตของคนอื่นเป็นต้น อย่างที่ครหทินน์ได้คุยเอาไว้หรือไม่ ดังนั้นเขาจึงได้ให้คนขุดหลุมลึกแล้วขนอุจจาระเหลวมาใส่ไว้ในหลุมจนเต็มแล้วใช้ผ้าปูปิดไว้ข้างบน ส่วนที่นั่งสำหรับพวกนิครนถ์ก็ได้ไปวางไว้ข้างบนหลุมอุจจาระนั้น และได้นำตุ่มเปล่าๆมาวางเรียงรายโดยยัดผ้าและใบตองไว้ข้างในทำเป็นว่าเป็นตุ่มใส่ข้าวและแกงสำหรับถวายพวกนิครนถ์ เมื่อพวกนิครนถ์เดินทางมาถึงที่บ้าน ก็ถูกขอร้องให้เดินเข้าไปประจำที่นั่งที่ละคนๆ โดยให้ไปยืนคอยอยู่ที่ใกล้ๆกับที่นั่งของตนๆ และเมื่อพร้อมทุกคนแล้วก็ขอให้นั่งลงพร้อมกัน เมื่อพวกนิครนถ์นั่งลงพร้อมกัน เชือกที่ขึงรองที่นั่งก็ขาด พวกนิครนถ์ศีรษะคะมำตกลงไปในหลุมอุจจาระ จากนั้นสิริคุตต์ได้เยาะเย้ยนิครนถ์เหล่านั้นว่า “ทำไมพวกท่านถึงไม่รู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเล่า ? ทำไมพวกท่านถึงไม่รู้ความคิดของคนอื่นเล่า ?” พวกนิครนถ์ต่างวิ่งหนีด้วยความตื่นตระหนก

ครหทินน์โกรธสิริคุตต์มาก ไม่ยอมพูดจาด้วยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ได้ตัดสินใจที่จะแก้แค้นสิริคุตต์บ้าง จึงทำทีว่าเลิกโกรธ และวันหนึ่งก็ได้ไปขอให้สิริคุตต์ไปนิมนต์พระศาสดาแทนตัวเขาให้ไปฉันอาหารที่บ้าน ดังนั้นสิริคุตต์จึงไปทูลนิมนต์พระศาสดาให้ไปฉันที่บ้านของครหทินน์ ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ทูลพระศาสดาในสิ่งที่เขาเคยทำไว้กับครหทินน์ และเขาได้แสดงความวิตกกังวลว่าที่ครหทินน์นิมนต์พระศาสดาไปในครั้งนี้อาจจะเพื่อทำการแก้แค้นก็ได้ ดังนั้นจึงขอให้พระศาสดาทรงพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรจะรับนิมนต์ครหทินน์หรือไม่

พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณพิเศษของพระองค์ว่า จะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ทั้งสองสหายนี้ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล หากพระองค์รับคำนิมนต์ของครหทินน์ ข้างครหทินน์ก็ได้ทำการขุดหลุมขนาดใหญ่ นำฟืนมาจุดไฟเผาอยู่เต็มหลุม แล้วปิดไว้ด้วยสื่อลำแพน และเขาก็ได้นำตุ่มเปล่ามาวางเรียงรายโดยเอาผ้าและใบกล้วยมายัดเข้าไว้ข้างในทำเป็นว่าเป็นตุ่มบรรจุข้าวและแกงของถวายพระสงฆ์ พอถึงวันรุ่งขึ้น พระศาสดาได้เสด็จมาพร้อมกับภิกษุ 500รูป เมื่อพระศาสดาก้าวเหยียบไปบนสื่อลำแพนที่ปูอยู่หนือหลุมถ่านเพลิง ก็ได้เกิดปาฏิหาริย์ เสื่อและฟืนถ่านที่ลุกไหม้อยู่นั้นได้หายไป และมีดอกบัวขนาดใหญ่มากขนาดกงล้อเกวียน 500 ดอก ผุดขึ้นมาเป็นอาสนะที่ประทับของพระศาสดาและที่นั่งของภิกษุทั้งหลาย

เมื่อครหทินน์ได้เห็นปาฏิหาริย์เช่นนี้ก็เกิดความตื่นตระหนก รีบเข้าไปหาสิริคุตต์กล่าวว่า “เพื่อนรัก เพื่อนต้องช่วยฉันนะ ฉันต้องการจะแก้แค้นคุณ ก็เลยได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในครั้งนี้ แผนการร้ายนี้ไม่อาจมีผลใดๆต่อพระศาสดาของคุณได้เลย ตุ่มต่างๆที่ตั้งเรียงรายอยู่ในครัวนั้นล้วนเป็นตุ่มเปล่า ช่วยฉันทีเถอะนะ” สิริคุตต์ได้บอกกับครหทินน์ให้เดินกลับไปมองดูที่ตุ่มเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครหทินน์ปฏิบัติตามก็ได้พบว่าตุ่มเหล่านั้นมีอาหารอยู่เต็มทุกตุ่ม ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจ ความโล่งใจ และความสุขให้แก่ครหทินน์เป็นอันมาก ครหทินน์ได้นำภัตตาอาหารมาถวายพระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลาย หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระศาสดาได้แสดงทีท่าว่าจะกระทำอนุโมทนาทาน และได้ตรัสว่า “พวกคนพาล ขาดปัญญา ไม่รู้คุณของสาวกของเรา และแห่งพระพุทธศาสนา เพราะความไม่มีปัญญาจักษุนั่นเอง ผู้เว้นปัญญาจักษุ ชื่อว่าผู้ตาบอด ส่วนผู้มีปัญญา ชื่อว่ามีจักษุ

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 58 และพระคาถาที่ 59 ว่า
ยถา สงฺการธานสฺมึ
อุชฌิตสฺมึ มหาปเถ
ปทุมํ ตตฺถ ชาเยถ
สุจิคนฺธํ มโนรมํฯ

(อ่านว่า)
ยะถา สังการะทานัดสะหมิง
อุดชิตัดสะหมิง มะหาปะเถ
ปะทุมัง ตัดถะ ชาเยถะ
สุจิคันทัง มะโนระมัง.

(แปลว่า)
ดอกปทุม เกิดที่กองขยะ
ที่ถูกทิ้งไว้ตรงทางหลวง
มีกลิ่นหอม

เป็นที่รื่นรมย์ใจ ฉันใด ฯ


เอวํ สังการภูเตสุ
อนฺธภูเต ปุถุชฺชเน
อติโรจติ ปญญาย
สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโกฯ

(อ่านว่า)
เอวัง สังการะพูเตสุ
อันทะพูเต ปุถุดชะเน
อะติโรจะติ ปันยายะ
สำมาสำพุดทะสาวะโก.

(แปลว่า)
ในหมู่ปุถุชน ผู้มืดบอด
ที่เปรียบเหมือนกองขยะนั้น
พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยปัญญาเหนือกว่า ฉันนั้น.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ความตรัสรู้ธรรม ได้บังเกิดแล้ว แก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน ส่วนครหทินน์และสิริคุตต์ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 03:40:12 pm »


เรื่องปรินิพพานของพระโคธิกเถระ

พระศาสดา เมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน ทรงปรารภการนิพพานของพระโคธิกเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง พระโคธิกเถระ มีความมุ่งมั่นปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไปอยู่ใกล้ถ้ำกาลสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิในแคว้นมคธ พอพระเถระได้เอกัคคตาจิต(ฌาน) ก็เกิดอาพาธ(ป่วยหนัก)ด้วยโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง ทำให้ท่านไม่สามารถปฏิบัติธรรมต่อไปได้อย่างมีประสิทธิผลจนบรรลุพระอรหัตตผลได้ แต่แม้ว่าท่านจะป่วยหนักอย่างไรท่านก็ยังมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติต่อไป แต่ทุกครั้งที่ทำความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนั้นก็มีอันต้องอาพาธเข้ามาขัดขวางทุกครั้งไป เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่ถึง 6 ครั้ง พอถึงครั้งสุดท้ายท่านพระโคธิกเถระได้ตัดสินใจที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ และจะต้องบรรลุพระอรหัตตผลให้ได้แม้ว่าจะต้องตายก็ตาม ดังนั้นท่านจึงยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดท่านก็ได้ตัดสินใจสละชีวิตด้วยการนำมีดโกนมาเฉือนคอของตนเอง ในช่วงที่ท่านจะมรณภาพนั่นเอง ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

เมื่อมารทราบว่าพระโคธิกเถระมรณภาพแล้ว ก็ได้พยายามค้นหาที่เกิดของพระเถระแต่ก็หาไม่พบ มารจึงได้แปลงร่างเป็นชายหนุ่มไปเฝ้าพระศาสดา และได้ทูลถามถึงที่เกิดของพระเถระ พระศาสดาตรัสว่า “มันไม่เป็นประโยชน์สำหรับท่านที่จะมาถามถึงชะตาชีวิตของพระโคธิกเถระ เพราะพระโคธิกเถระหลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ดูก่อนมาร บุคคลเช่นท่านแม้จะมีจำวนตั้งร้อยตั้งพัน ก็ไม่สามารถจะค้นหาสถานที่ไปเกิดของพระโคธิกะนั้นได้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 57 ว่า
เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ
อปฺปมาทวิหารินํ
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตานํ
มาโร มคฺคํ น วินทติฯ

(อ่านว่า)
เตสัง สัมปันนะสีลานัง
อับปะมาทะวิหารินัง
สำมะทันยา วิมุดตานัง
มาโร มักคัง นะ วินทะติ.

(แปลว่า)
ท่านผู้มีศีลสมบูรณ์
อยู่ด้วยความไม่ประมาท
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ

มารจะไม่พบทางไป.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 03:33:04 pm »


เรื่องถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ เป็นต้น

เมื่อพระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในย่านที่อยู่อาศัยของคนยากจนในกรุงราชคฤห์ วัตถุประสงค์ของท่านก็คือต้องการจะเปิดโอกาสให้คนยากจนได้ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่จากการถวายบิณฑบาตแก่บุคคลที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ท้าวสักกะจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย มีพระประสงค์จะได้โอกาสนี้ถวายทานแด่พระมหากัสสปเถระ จึงได้ทรงแปลงร่างเป็นช่างหูกชราเสด็จมาที่กรุงราชคฤห์พร้อมด้วยนางเทพธิดาสุชาดาซึ่งก็ได้แปลงร่างเป็นหญิงชรามาครั้งนี้ด้วย พระมหากัสสปเถระได้มายืนอยู่ที่หน้าประตูบ้านของนายช่างหูกชราปลอม ข้างนายช่างหูกชราปลอมได้ไปรับบาตรของพระเถระแล้วนำข้าวและกับข้าวบรรจุลงไป ปรากฏว่ากลิ่นอาหารที่ใส่ลงไปในบาตรหอมฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วกรุง พระเถระจึงคิดว่าบุคคลผู้นี้จะต้องไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาแน่ๆ และท่านก็รู้ได้ด้วยญาณพิเศษว่าจะต้องเป็นท้าวสักกะ เมื่อท่านสอบถามท้าวสักกะได้ยอมรับความจริง และได้ประกาศว่าพระองค์ก็มีความยากจนมาก เพราะว่าพระองค์ไม่มีโอกาสได้ถวายสิ่งใดๆให้แก่ใครๆในสมัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทำให้มีเดชานุภาพไม่เท่ากับจูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร และอเนกวัณณเทพบุตร เมื่อตรัสดังนี้แล้วท้าวสักกะพร้อมกับนางเทพธิดาสุชาดาได้ถวายนมัสการลาพระเถระแล้วเสด็จกลับคืนสู่เทวโลก

พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีในวัดพระเวฬุวัน สามารถทอดพระเนตรเห็นท้าวสักกะและนางสุชาดาที่จะเสด็จลากลับคืนสู่เทวโลกนั้น จึงได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ท้าวสักกะเสด็จลงมาถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ พระภิกษุทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า ท้าวสักกะทรงทราบอย่างไรว่า พระมหากัสสปะเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะถวายบิณฑบาตแก่พระเถระ พระศาสดาตรัสตอบคำถามนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์ ย่อมพอใจภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อย่างเช่นบุตรของเรา” และได้ตรัสด้วยว่า “ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพเจ้าทั้งหลาย ได้เสด็จมาถวายบิณฑบาต แก่บุตรของเรา เพราะกลิ่นศีล

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 56 ว่า
อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ
ยฺวายํ ตครจนฺทนี
โย จ สีลวตํ คนฺโธ
วาติ เทเวสุ อุตฺตโมฯ

(อ่านว่า)
อับปะมัดโต อะยัง คันโท
ยะวายัง ตะคะระจันทนี
โย จะ สีละวะตัง คันโท
วาติ เทเวสุ อุดตะโม.

(แปลว่า)
กลิ่นกฤษณา กลิ่นจันทน์
ยังหอมน้อย
ส่วนกลิ่นของผู้มีศีล เป็นยอดกลิ่น

ฟุ้งไปถึงเทวโลกทั้งหลายได้.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 03:23:19 pm »


เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่อจะแก้ปัญหาของพระอานนทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ เป็นต้น

ขณะที่พระอานนทเถระกำลังปลีกวิเวกนั่งอยู่ตามลำพังในตอนเย็นวันหนึ่ง ท่านก็ได้คิดถึงกลิ่นและของหอมต่างๆ ท่านจึงความสงสัยขึ้นในใจว่า “กลิ่นเกิดจากราก กลิ่นเกิดจากแก่น กลิ่นเกิดจากดอก กลิ่นทุกอย่างมีแต่หอมตามลม หอมทวนลมไม่ได้ จะมีกลิ่นอะไรไหม ที่สามารถฟุ้งกระจายไปได้ ทั้งตามลมและทวนลม” ท่านพระอานนทเถระไม่ต้องการหาคำตอบเอง จึงได้ไปทูลถามพระศาสดา และพระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ คนที่ยึดพระรัตนตรัย(คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) เป็นที่พึ่ง เป็นผู้รักษาศีล 5 มีใจโอบอ้อมอารี มีความไม่ตระหนี่ บุคคลผู้เช่นนี้ย่อมชื่อว่า ผู้มีคุณธรรมความดี และเป็นผู้สมควรได้รับการยกย่อง เกียรติภูมิของผู้เช่นนี้ย่อมขจรไปได้ไกล และสมณะ พราหมณ์ อุบาสกอุบาสิกา ย่อมกล่าวสรรเสริญเขา ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ใด

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 54 และพระคาถาที่ 55 ว่า
น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ
น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา
สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ
สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติฯ

(อ่านว่า)
นะ ปุบผะคันโท ปะติวาตะเมติ
นะ จันทะนัง ตะคะระมันลิกา
สะตันจะ คันโท ปะติวาตะเมติ
สับพา ทิสา สับปุริโส ปะวายะติ.

(แปลว่า)
กลิ่นดอกไม้ ฟุ้งทวนลมไม่ได้
กลิ่นจันทน์ กฤษณา หรือมะลิ
ก็ฟุ้งทวนลมไม่ได้

ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษหอมฟุ้งไปได้ทั่วทุกทิศฯ


จนฺทนํ ตครํ วาปิ
อุปฺปลํ อถ วสฺสิกี
เอเตสํ คนฺธชาตานํ
สีลคนฺโธ อนุตฺตโรฯ

(อ่านว่า)
จันทะนัง ตะคะรัง วาปิ
อุบปะลัง อะถะ วัดสิกี
เอเตสัง คันทะชาตานัง
สีละคันโท อะนุดตะโร.

(แปลว่า)
จันทน์ กฤษณา
ดอกอุบล หรือดอกมะลิ
กลิ่นศีลยอดเยี่ยม

กว่ากลิ่นของสิ่งหอมเหล่านั้น.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 03:11:12 pm »


เรื่องนางวิสาขา

พระศาสดา เมื่อทรงเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ที่วัดบุพพาราม ทรงปรารภนางวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหิ เป็นต้น

นางวิสาขา เป็นธิดาของมหาเศรษฐีแห่งภัททิยนคร ชื่อธนัญชัย และ นางสุมนาเทวี นางเป็นหลานสาวของเมณฑกเศรษฐี หนึ่งในห้ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมากในอาณาจักรของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อตอนที่นางวิสาขาอายุได้ 7 ขวบ พระศาสดาได้เสด็จจาริกมาที่ภัททิยนคร ในครั้งนั้นมหาเศรษฐีเมณฑกะได้พานางวิสาขากับหญิงบริวาร 500 นางไปถวายบังคมพระศาสดา หลังจากที่ได้ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว นางวิสาขา พร้อมกับเมณฑกมหาเศรษฐีและหญิงบริวาร 500 นางก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

ต่อมานางวิสาขาเจริญวัยได้แต่งงานกับนายปุณณวัฒนะ บุตรชายของมิคารเศรษฐีชาวกรุงสาวัตถี วันหนึ่งขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่นั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาตไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าบ้านของ มิคารเศรษฐี แต่มิคารเศรษฐีทำทีมองไม่เห็นพระภิกษุรูปนั้น เมื่อนางวิสาขาซึ่งใช้พัดก้านตาลพัดพ่อสามีอยู่นั้น เห็นเข้าจึงกล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า พ่อสามีของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า” เมื่อมิคารเศรษฐีได้ยินเช่นนี้ก็โกรธมาก และได้ออกปากขับไล่นางวิสาขาออกจากบ้าน ข้างนางวิสาขาไม่ยอมและก็ได้ให้คนไปเชิญเศรษฐีอาวุโสจำนวน 8 คนที่บิดาของนางวิสาขาส่งมาคอยดูแลและให้คำปรึกษาหารือนางมาพบ เพื่อให้ช่วยตัดสินว่านางมีความผิดหรือไม่ เมื่อเศรษฐี 8 คนมาพร้อมหน้ากันแล้ว มิคารเศรษฐีได้กล่าวว่า “ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังรับประทานข้าวปายาส(ข้าวผสมนม) ในถาดทองคำอยู่นั้น นางวิสาขาพูดว่า ข้าพเจ้ากำลังรับประทานของสกปรกโสโครก เพราะความคิดข้อนี้ ข้าพเจ้าจึงออกปากไล่นางออกจากบ้าน” นางวิสาขาได้อธิบายข้อกล่าวหานี้ว่า “เมื่อดิฉันเห็นพ่อของสามีทำทีไม่สนใจพระภิกษุที่ท่านมาบิณฑบาตยืนอยู่ที่ประตูบ้าน ดิฉันมีความคิดว่าบิดาสามีไม่ยอมทำบุญทำกุศลในชาตินี้ เอาแต่รับประทานผลของกรรมดีในอดีตชาติ ดังนั้นดิฉันจึงกล่าวว่า บิดาสามีของดิฉันบริโภคของเก่า ท่านทั้งหลายคะ พวกท่านคิดว่าดิฉันมีความผิดหรือไม่”

ข้างเศรษฐีอาวุโสทั้ง 8 คนได้ตัดสินว่านางวิสาขาไม่มีความผิด จากนั้นนางวิสาขาได้กล่าวว่า นางเป็นผู้มีศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธศาสนา และนางจะไม่ขออยู่ที่บ้านของมาคารเศรษฐีนี้ซึ่งไม่ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ หากนางไม่ได้รับอนุญาตให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาถวายอาหารบิณฑบาตและทานอื่นๆในบ้านนี้ นางก็จะออกจากบ้านนี้ไป และในที่สุดนางจึงได้รับอนุญาตจากมิคารเศรษฐีให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาที่บ้านนี้ได้

ในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ก็ได้รับนิมนต์ไปที่บ้านของนางวิสาขา เมื่อจะถวายภัตตาหาร นางวิสาขาก็ส่งข่าวไปถึงพ่อสามีให้ไปร่วมถวายด้วยแต่พ่อสามีไม่ไป เมื่อพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาก็ได้ส่งข่าวไปบอกบิดาสามีอีก โดยในครั้งนี้ได้แจ้งไปขอให้บิดาสามีมาร่วมฟังธรรมของพระศาสดาโดยด่วน บิดาสามีมีความรู้สึกว่าคราวนี้ตนคงจะปฏิเสธนางวิสาขาในครั้งที่สองไม่ได้เสียแล้ว จึงต้องการจะไป แต่พวกนิครนถ์ที่เป็นอาจารย์เดิมของเศรษฐีไม่ยอมให้ไปฟังพระธรรมเทศนาตรงเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา แต่ยอมให้ไปนั่งฟังอยู่ข้างหลังม่าน หลังจากได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มิคารเศรษฐีก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล เศรษฐีรู้สึกขอบคุณลูกสะใภ้ของตนที่ทำให้ได้มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระศาสดา จึงได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นางวิสาขาจะอยู่ในฐานะเป็นมารดาของท่านเศรษฐี และด้วยเหตุนี้นางวิสาขาจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า มิคารมาตา(แปลว่า มารดาของมิคาระ)

นางวิสาขามีบุตรชาย 10 คน และบุตรสาว 10 และบุตรชายและบุตรสาวเหล่านี้แต่ละคนได้ให้กำเนิดแก่ หลานย่าและหลานยายอีกเป็นจำนวนมาก นางวิสาขามีเครื่องประดับที่มีค่ามากชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่บิดาของนางทำให้เป็นของขวัญในวันแต่งงาน วันหนึ่งนางวิสาขาไปที่วัดพระเชตวันพร้อมกับหญิงรับใช้เมื่อไปถึงที่วัดนางเห็นว่าเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์หนักมาก จึงถอดออกใส่ห่อให้หญิงรับใช้เก็บรักษาไว้ แต่พอออกมาจากวัดหญิงรับใช้เกิดลืมห่อเครื่องประดับนั้นไว้ที่วัด ปกติเมื่อมีสิ่งของที่อุบาสกและอุบาสิกาหลงลืมไว้ในวัด พระศาสดาจะทรงมอบหมายให้พระอานนท์ดูแลรักษาไว้ นางวิสาขาส่งคนรับใช้นั้นกลับไปที่วัดโดยบอกไปว่า “กลับไปดูเครื่องประดับที่ลืมไว้นั้น หากพระอานนท์ไปพบและเก็บไว้ ก็จงอย่านำเครื่องประดับนั้นกลับมา เราจะบริจาคให้แก่พระอานนท์” แต่พระอานนท์ไม่ยอมรับของบริจาคชิ้นนี้ ดังนั้นนางวิสาขาจึงได้ตัดสินใจจะขายเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นั้น และให้ดำเนินการนำเครื่องประดับขึ้นรถออกไปป่าวประกาศขาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีเงินพอที่จะซื้อเครื่องประดับนั้นได้ นางวิสาขาก็จึงซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเอง
ในราคา ๙ โกฏิ 1 แสนกหาปณะ จากนั้นก็นำเงินจำนวนนี้ไปก่อสร้างวัดแห่งหนึ่งที่ด้านตะวันออกของตัวเมือง วัดนี้จึงมีชื่อว่าวัดบุพพาราม(วัดอยู่ทางทิศตะวันออก)

หลังจากที่ได้กระทำพิธีฉลองวัดบุพพารามเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาก็ได้คนในครอบครัวของนางมาประชุมกันทุกคนแล้วได้บอกกับคนเหล่านี้ว่า ความปรารถนาทุกอย่างของนางได้บรรลุถึงแล้ว และนางไม่มีความประสงค์ในสิ่งใดอีก แล้วนางก็ได้เปล่งอุทานเป็นคาถาร้อยกรองแสดงความปลื้มปีติขณะเดินไปรอบๆวัดบุพพาราม เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงพูดขับร้องพรรณนาความสำเร็จของนาง ก็ได้ไปกราบทูลพระศาสดาว่า นางวิสาขาไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว นางได้เดินร้องเพลงไปรอบๆวัด “พระเจ้าข้า นางคงเป็นบ้าไปแล้วกระมัง” พระภิกษุทูลถามพระศาสดา เมื่อพระศาสดาได้สดับคำทูลถามนี้แล้วก็ได้ตรัสว่า วันนี้นางวิสาขาบรรลุความปรารถนาทุกอย่างทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็เพราะประสบความสำเร็จในความปรารถนานี้แหละ นางจึงมีความรู้สึกพึงพอใจ นางได้เดินเปล่งอุทานแสดงถึงความปีติปราโมทย์ นางมิได้เสียจริต พระศาสดาได้ทรงนำเรื่องในอดีตชาติที่ผ่านมาของนางวิสาขามาทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลาย และได้ตรัสสรุปว่า นางวิสาขามีปกติถวายทานและให้การสนับสนุนการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าในอดีตมาตลอด นางมุ่งมั่นกระทำแต่กรรมดี และได้ทำกรรมดีนี้ไว้ในอดีตชาติ เช่นเดียวกับนายช่างดอกไม้ผู้ฉลาดทำพวงดอกไม้จากกองดอกไม้กองโต ฉะนั้น

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 53 ว่า
ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา
กยิรา มาลาคุเณ พหู
เอวํ ชาเตน มจฺเจน
กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ ปุบผะราสิมหิ
กะยิรา มาลาคุเน พะหู
เอวัง ชาเตนะ มัดเจนะ
กัดตับพัง กุสะลัง พะหุง.

(แปลว่า)
นายมาลาการเลือกสรรดอกไม้
มากมายจากกองดอกไม้
มาร้อยเป็นพวงมาลัย ฉันใด
คนเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ควรทำแต่กุศลกรรม

ไว้ให้มาก ฉันนั้น.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้หลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 02:49:01 pm »


เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอุบาสกชื่อฉัตตปาณิ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ เป็นต้น

อุบาสกคนหนึ่งชื่อฉัตตปาณิ เป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎก และเป็นผู้บรรลุพระอนาคามี อยู่ในกรุงสาวัตถี ครั้งหนึ่ง ขณะที่ฉัตตปาณิอุบาสกไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตะวัน และได้ตั้งใจฟังธรรมของพระศาสดาโดยเคารพอยู่นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมาเฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน ฉัตตปาณิอุบาสกไม่ยอมลุกขึ้นถวายความต้อนรับเพราะคิดว่าการลุกขึ้นต้อนรับพระราชานั้นก็เท่ากับว่าทำความเคารพพระราชานั่นเอง ซึ่งก็จะเป็นการไม่ถวายความเคารพในพระศาสดา พระเจ้าปัสเสนทิโกศลถือว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติยศและทรงพิโรธมาก พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีถึงความรู้สึกของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงได้ตรัสยกย่องฉัตตปาณิอุบาสกว่ามีความรู้ในเรื่องธรรมะดีมากและเป็นผู้บรรลุพระอนาคามิผล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลสดับเช่นนี้แล้วก็ทรงมีความประทับใจและทรงแสดงความชื่นชมในตัวของฉัตตปาณิอุบาสก

ต่อมา พระเจ้าปัสเสนทิโกศลได้ทรงพบกับฉัตตปาณิอุบาสกอีกครั้งหนึ่ง จึงตรัสว่า “ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน อยากจะขอให้ท่านมาสอนธรรมให้แก่พระราชเทวีทั้งสองพระองค์จะได้หรือไม่” ฉัตตปาณิอุบาสกได้ปฏิเสธที่จะมาเอง แต่ก็ได้ทูลแนะนำว่าควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะได้กราบทูลพระศาสดา เพื่อทรงมอบหมายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาถวายความรู้แด่พระราชเทวีทั้งสองพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จไปทูลพระศาสดาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพระศาสดาได้ทรงมอบหมายให้พระอานนนทเถระไปถวายความรู้ในพระราชวังแก่พระนางมัลลิกาและพระนางวาสภขัตติยาสองพระราชเทวี หลังจากนั้นต่อมาพระศาสดาก็ได้ตรัสถามพระอานนท์เกี่ยวกับความคืบหน้าในการศึกษาธรรมะของทั้งสองราชเทวี พระอานนท์กราบทูลว่า พระนางมัลลิกาทรงสนพระทัยในการศึกษาเล่าเรียนธรรมะดีมาก แต่พระนางวาสภขัตติยาไม่สนพระทัยศึกษาเล่าเรียน เมื่อสดับคำกราบทูลนี้แล้วพระศาสดาตรัสว่า ธรรมะจะมีผลกับผู้ที่สนใจศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพและนำสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนนั้นไปปฏิบัติเท่านั้น

จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 51 และพระคาถาที่ 52 ว่า
ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ
วณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตา วาจา
อผลา โหติ อกุพฺพโตฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ รุจิรัง ปุบผัง
วันนะวันตัง อะคันธะกัง
เอวัง สุพาสิตา วาจา
อะผะลา โหติ อะกุบพะโต.

(แปลว่า)
วาจาสุภาษิต ไม่มีผล
แก่คนที่ประพฤติตามสุภาษิตนั้น
เหมือนดอกไม้งาม

มีสีสันสวย แต่ไร้กลิ่นฯ


ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ
วณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตา วาจา
สผลา โหติ สุกุพฺพโตฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ รุจิรัง ปุบผัง
วันนะวันตัง สะคันทะกัง
เอวัง สุพาสิตา วาจา
สะผะลา โหตุ สุกุบพะโต.

(แปลว่า)
วาจาสุภาษิต มีผล
แก่คนที่ประพฤติตามสุภาษิตนั้น
เหมือนดอกไม้งาม

มีสีสันสวย และมีกลิ่นหอม.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 02:39:17 pm »


เรื่องปาฏิกาชีวก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอาชีวกชื่อปาฏิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ปเรสํ วิโลมานิ เป็นต้น

เศรษฐินีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี รับอาชีวก(นักบวชในศาสดาเชน)คนหนึ่งชื่อปาฏิกะมาเป็นบุตรบุญธรรม และคอยเอาใจใส่ดูแลในเรื่องความต้องการทั้งหลายของอาชีวกนี้ เมื่อนางเศรษฐินีได้ยินพวกคนบ้านใกล้เรือนเคียงกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า นางก็อยากไปนิมนต์พระองค์มาถวายทานที่บ้านของนางบ้าง ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาและได้มีการถวายภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พระศาสดาจะทรงอนุโมทนาอยู่นั้น ปาฏิกาชีวกซึ่งอยู่ในห้องถัดไป ได้แสดงความโกรธออกมาอย่างรุนแรง ออกมาด่าว่าและสาปแช่งนางเศรษฐินีที่หันมานับถือพระพุทธเจ้า เมื่อนางเศรษฐินีได้ฟังคำด่าและคำสาปแช่งนั้นก็มีความรู้สึกละอายใจมากจนไม่อาจจะส่งจิตไปตามกระแสแห่งเทศนาได้ พระศาสดาตรัสกะนางไม่ให้สนใจในคำแช่งด่าและคำคุกคามนั้นแต่ให้สนใจเฉพาะเรื่องที่ทำดีหรือไม่ดีของตนเองเท่านั้น ดังสำนวนในบาลีว่า “ไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำที่ชนไม่เสมอภาคกันเห็นปานนี้กล่าว การไม่คำนึงถึงถ้อยคำเห็นปานนี้แล้ว ตรวจดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้นจึงควร”

จากนั้น พระศาสดา ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 50 ว่า
น ปเรสํ วิโลมานิ
น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตนาว อเวกฺเขยฺย
กตานิ อกตานิ จฯ

(อ่านว่า)
นะ ปะเรสัง วิโลมานิ
นะ ปะเรสัง กะตากะตัง
อัดตะนาวะ อะเวกเขยยะ
กะตานิ อะกะตานิ จะ.

(แปลว่า)
ไม่ควรให้ความสนใจในความผิดของผู้อื่น
หรือในสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ทำของคนอื่น
ให้ตรวจดูเฉพาะสิ่งที่ตนทำแล้วละยังไม่ได้ทำเท่านั้น
.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง อุบาสิกาได้บรรลุพระโสดาปัตติผล พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 01:07:53 pm »


เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภเศรษฐีชื่อโกสิยะผู้มีความตระหนี่ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ เป็นต้น

ในหมู่บ้านสักกระ ใกล้กรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีตระหนี่ผู้หนึ่งชื่อโกสิยะ โกสิยเศรษฐีแม้จะมีสมบัติมากถึง 80 โกฏิ แต่ก็ไม่เคยให้สิ่งใดของตนแก่ใครๆเลย วันหนึ่งเศรษฐีหิวขนมเบื้องมาก แต่ไม่ต้องการจะแบ่งปันขนมเบื้องนี้ให้แก่ใคร จึงชวนภรรยาขึ้นไปทำขนมเบื้องนี้อยู่บนชั้นบนสุดของปราสาท 7 ชั้น ที่ซึ่งไม่มีผู้ใดจะสามารถไปเห็นได้

เช้าในวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์ที่จะได้รับการทรงโปรดด้วยพระญาณพิเศษ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีและภรรยามาปรากฏอยู่ในข่ายคือพระญาณของพระองค์ และทรงทราบว่าทั้งสองคนจะได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงส่งพระมหาโมคคัลลานเถระไปยังบ้านของเศรษฐี ด้วยพระดำรัสสั่งว่า ให้ทรมานคนทั้งสองให้หายตระหนี่ แล้วพาคนทั้งสองมายังวัดพระเชตวัน ให้ทันเวลาฉันภัตตาหารกลางวัน พระมหาโมคคัลลานะได้ไปที่นั่นด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ เมื่อไปถึงแล้วก็ได้ไปยืนอยู่ที่ข้างหน้าต่างปราสาท เศรษฐีเมื่อเห็นพระเถระก็ได้ขอร้องให้ท่านกลับไปเสีย แต่พระเถระได้ยืนนิ่งอยู่ที่นั่นโดยไม่พูดไม่จาอะไร

ในที่สุด เศรษฐีได้บอกกับภรรยาว่า “เธอจงทำขมเบื้องชิ้นเล็กๆ ถวายท่านไป” ดังนั้นภรรยาเศรษฐีจึงเอาทัพพีตักแป้งแค่นิดเดียวทอดลงไปในกระทะ แต่ขนมกลับขยายตัวจากชิ้นเล็กๆเป็นแผ่นใหญ่จนเต็มกระทะ เศรษฐีคิดว่าภรรยาคงใส่แป้งไปทอดมากขึ้นชิ้นจึงใหญ่ขนาดนั้น เศรษฐีจึงเอาทัพพีตักแป้งเพียงนิดเดียวทอดลงไปในกระทะ แต่ขนมเบื้องนั้นก็ยังมีขนาดใหญ่เหมือนเดิม แม้ว่าคนทั้งสองจะพยายามทำให้ขนมเบื้องให้เล็กลงอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ

ในที่สุด เศรษฐีได้ให้ภรรยานำขนมเบื้องชิ้นหนึ่งจากตะกร้าถวายพระเถระ แต่ก็ไม่สามารถดึงออกมาได้เพราะขนมเบื้องทุกชิ้นติดกันหมด ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พอถึงช่วงนี้เศรษฐีหมดความหิวจึงได้ยกขนมเบื้องทั้งตะกร้าถวายพระเถระ พระเถระจึงได้แสดงธรรมแก่คนทั้งสอง โดยกล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัยและอานิสงส์ของทาน

จากนั้นก็ได้บอกกับคนทั้งสองด้วยว่า พระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน 500 รูปกำลังรออยู่ที่วัดพระเชตวัน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ถึง 45 โยชน์ แต่พระเถระได้ใช้กำลังฤทธิ์พาเศรษฐีและภรรยาที่ในมือถือตะกร้าขนมเบื้องมาเฝ้าพระศาสดา คนทั้งสองได้นำตะกร้าขนมเบื้องทูลถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้ง 500 รูป เมื่อทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระศาสดาได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยอานิสงส์ของทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาทั้งเศรษฐีและภรรยาก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

ในเวลาเย็นวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุประชุมกันในโรงธรรม นั่งกล่าวยกย่องพระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ พระศาสดาได้เสด็จมา เมื่อได้สดับคำสนทนานั้นแล้วได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็เช่นเดียวกัน จงเที่ยวไปในหมู่บ้านเหมือนกับโมคคลัลลานะ คือรับทานจากชาวบ้าน โดยไม่กระทบกระทั่งศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะ ไม่ให้สกุลชอกช้ำ ไม่เบียดเบียนสกุล เป็นดุจแมลงภู่เคล้าละอองจากดอกไม้โดยไม่ให้ดอกไม้ชอกช้ำ ฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 49ว่า
ยถาปิ ภมโร บุปฺผํ
วณฺณคนฺธํ อเหฐยํ
ปเลติ รสมาทาย
เอวํ คาเม มุนี จเรฯ

(อ่านว่า)
ยะถาปิ พะมะโร ปุบผัง
วันนะคันทัง อะเหถะยัง
ปะเลติ ระสะมาทายะ
เอวัง คาเม มุนี จะเร.

(แปลว่า)
แมลงผึ้งไม่ทำลายดอกไม้
สีและกลิ่นให้ชอกช้ำ
นำเอารสหวานแล้วโบยบินไป ฉันใด

มุนี(พระ) ก็พึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 12:59:25 pm »


เรื่องนางปติปูชิกา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภหญิงชื่อปติปูชิกา ตรัสพระธรรมธรรมเทศนานี้ว่า ปุปฺผานิ เหว เป็นต้น

นางปติปูชิกา(แปลว่า หญิงผู้บูชาสามี) อยู่ที่กรุงสาวัตถี นางแต่งงานเมื่ออายุ 16 ปี และมีบุตร 4 คน นางเป็นหญิงที่มีคุณธรรมและใจบุญใจกุศล ชอบถวายภัตตาหารและปัจจัยอย่างอื่นๆแก่พระภิกษุสงฆ์ นางมักจะเข้าไปในวัดและช่วยทำความสะอาดบริเวณวัด ตักน้ำใส่ตุ่ม และทำหน้าที่ให้บริการแก่พระภิกษุสงฆ์ นางปติปูชิกาสามารถระลึกชาติได้ว่าในชาติก่อนนางเคยเป็นนางเทพธิดาเป็นภรรยาคนหนึ่งของมาลาภารีเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางระลึกได้ว่านางจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อนางเทพธิดาผู้เป็นบริวารของเทพองค์ดังกล่าวมาอยู่ในสวน สนุกสนานอยู่กับการหักกิ่งไม้และเด็ดดอกไม้ เป็นต้น ดังนั้นทุกครั้งที่นางถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์นางก็ได้แต่อธิษฐานจิตขอให้ไปเกิดเป็นนางเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นภรรยาของมาลาภารีเทพบุตรอดีตสามีของนางอีกครั้งหนึ่ง

วันหนึ่ง นางปติปูชิกาเจ็บหนักและได้เสียชีวิตในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง เพราะเหตุที่นางได้ตั้งความปรารถนาไว้อย่างมั่นคง นางจึงได้ไปเกิดเป็นนางเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในฐานะเป็นภรรยาของเทพบุตรมาลาเภรี ด้วยเหตุที่เวลาหนึ่งร้อยปีในโลกมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งของโลกสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นมาลาภารีเทพบุตรและนางเทพธิดาผู้เป็นภรรยาทั้งหลายจึงยังคงสนุกสนานกันอยู่ในสวนแห่งเดิมนั้นเอง และนางปติปูชิกาจึงหายไปจากสวนสวรรค์เพียงชั่วครู่เท่านั้นเอง ดังนั้นเมื่อนางกลับไปเกิดอีกครั้งหนึ่ง มาลาภารีเทพบุตรจึงถามนางว่านางหายไปไหนมาตั้งแต่เมื่อเช้านี้ นางได้บอกกับมาลาภารีเทพบุตรว่า นางจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปถือกำเนิดในโลกมนุษย์ ได้แต่งงานกับชายผู้หนึ่ง นางให้กำเนิดบุตรจำนวน 4 คน และได้ตายจากโลกมนุษย์กลับมาเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของนางปติปูชิกา มีความอาลัยอาวรณ์ในคุณความดีของนาง ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า นางปติปูชิกาซึ่งเคยถวายภัตตาหารแก่พวกท่านในตอนเช้าๆได้เสียชีวิตไปเมื่อตอนเย็นวันนี้เอง พระศาสดาได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายสั้นยิ่งนัก พวกเขายังไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกามของพวกตน ก็จะตกอยู่ในอำนาจของพระยามัจจุราชเสียแล้ว

จากนั้น พระศาสดา ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 48 ว่า
ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ
พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
อติตฺตํ เยว กาเมสุ
อนฺตโก กุรุเต วสํฯ

(อ่านว่า)
ปุบผานิ เหวะ ปะจินันตัง
พะยาสัดตมะนะสัง นะรัง
อะติดตังเยวะ กาเมสุ
อันตะโก กุรุเต วะสัง.

(แปลว่า)
คนที่มัวเลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ
มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ
แม้จะยังไม่อิ่มเอมในสิ่งที่ปรารถนา
พระยามัจจุราชจะพาเอาตัวเขาไป

ให้อยู่ในอำนาจเสียก่อน.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 12:38:36 pm »


เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ทรงปรารภพระเจ้าวิฑูฑภะ พร้อมทั้งข้าราชบริพาร ซึ่งถูกน้ำท่วมจนเสด็จสวรรคตและเสียชีวิต ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปุปผานิ เหว ปจินนฺตํ เป็นต้น

พระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระประสงค์จะอภิเษกสมรสกับคนในราชสกุลศากยะของพระศาสดา จึงได้ทรงส่งคณะทูตไปที่กรุงกบิลพัสดุ์เพื่อสู่ขอเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ศากยะมาสักพระองค์หนึ่ง พวกเจ้าศากยะไม่มีความต้องการจะขัดพระทัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตอบตกลงไปตามพระประสงค์ แต่แทนที่จะประทานเจ้าหญิงศากยะบริสุทธิ์จริงๆ กลับส่งหญิงงามมากนางหนึ่งชื่อ วาสภขัตติยา ที่เกิดจากเจ้ามหานามะกับนางทาสไปประทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงทราบเรื่องนี้ได้ทรงแต่งตั้งให้นางเป็นหนึ่งในมเหสีเอกของพระองค์ และต่อมานางก็ได้ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงขนานนามพระโอรสพระองค์นี้ว่า วิฑูฑภะ เมื่อเจ้าชายวิฑูฑภะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จไปเยือนพระเจ้ามหานามะและเจ้าชายในศากยวงศ์ทั้งหลาย เมื่อเสด็จไปถึงเจ้าชายวิฑูฑภะทรงได้รับการต้อนรับด้วยดี แต่บรรดาราชกุมารทั้งหลายที่พระชนมายุอ่อนกว่าเจ้าชายวิฑูฑภะถูกส่งไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นพวกราชกุมารเหล่านี้จึงไม่ต้องทำความเคารพเจ้าชายวิฑูฑภะ หลังจากประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์อยู่ 2-3 วันเจ้าชายวิฑูฑภะและคณะผู้ติดตามก็ได้เสด็จกลับแคว้นโกศล หลังจากที่พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จออกจากพระราชวังไปแล้วนั้น ทาสหญิงคนหนึ่งก็ได้นำน้ำนมมาล้างพระแท่นที่ประทับนั่งของเจ้าชายวิฑูฑภะ พลางปากก็ร้องสาปแช่งว่า “ที่นี่เป็นที่ที่บุตรชายของนางทาสมานั่ง” ในขณะนั้นเองคนในคณะผู้ติดตามของเจ้าชายวิฑูฑภะกลับมาเอาสิ่งของที่ตนลืมไว้ที่ตรงนั้น ก็จึงได้ยินคำพูดของนางทาสคนนั้นเข้าพอดี เมื่อสอบถามนางทาสก็ได้บอกกับชายผู้กลับมาเอาของนั้นว่า มารดาของเจ้าชายวิฑูฑภะเป็นลูกของทาสหญิงคนหนึ่งของพระเจ้ามหานามะ

เจ้าชายวิฑูฑภะเมื่อได้ทรงทราบเรื่องนั้นโดยตลอดแล้ว ก็ทรงพิโรธมากและได้ทรงประกาศว่า สักวันหนึ่งพระองค์จะทรงเอาเลือดจากลำคอของพวกเจ้าศากยะมาล้างพระแท่นที่ประทับนั้นให้จงได้ และเมื่อพระองค์ได้รับการอภิเษกเป็นพระราชาแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงกระทำตามที่ได้ทรงประกาศเอาไว้เมื่อครั้งนั้น โดยพระองค์ทรงกรีธาทัพบุกไปสังหารพวกเจ้าศากยะทั้งหมด ยกเว้นแต่พระเจ้ามหานามะและคนไม่กี่คนที่อยู่กับพระองค์ ในระหว่างทางที่ทรงยกทัพกลับแคว้นโกศล พระเจ้าวิฑูฑภะและกองทัพของพระองค์ได้ตั้งค่ายพักแรมอยู่บนหาดทรายในแม่น้ำอจิรวดี คืนนั้นได้เกิดฝนตกลงมาหนักมากทางด้านเหนือน้ำ เกิดน้ำหลากไหลมาพัดพาทหารในกองทัพรวมทั้งพระเจ้าวิฑูฑภะเองที่นอนอยู่บนหาดทราย ทุกคนได้ถูกกระแสน้ำพัดหายลงไปในมหาสมุทร

เมื่อพระศาสดาทรงสดับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทั้งสองเหตุการณ์นี้แล้ว ได้ทรงอธิบายกะภิกษุทั้งหลายว่า พระญาติของพระองค์คือพวกเจ้าศากยะเหล่านี้ได้เคยกระทำกรรมอย่างหนึ่งไว้ในอดีตชาติ กล่าวคือ พวกเขาได้ใส่ยาพิษลงไปในน้ำทำให้ปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายตายไปเป็นจำนวนมาก ก็เพราะผลของอกุศลกรรมที่ทำมานั้นจึงทำให้พวกเจ้าศากยะต้องมาเสียชีวิตพร้อมๆกันอย่างนี้ และพระองค์ได้ตรัสถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าวิฑูฑภะและกองทัพของพระองค์ด้วยว่า “ความตายย่อมพัดพาเอาหมู่สัตว์ที่มัวแต่ลุ่มหลงในกามคุณไป ดุจห้วงน้ำใหญ่พัดพาพวกคนที่มัวหลับใหลไปฉะนั้น

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 47 ว่า
ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ
พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
สุตฺตํ คามํ มโหโฆ ว
มจฺจุ อาทาย คจฺฉติฯ

(อ่านว่า)
ปุบผานิ เหวะ ปะจินันตัง
พะยาสัดตะมะนะสัง นะรัง
สุตตัง คามัง มะโหโควะ
มัดจุ อาทายะ คัดฉะติ.

(แปลว่า)
ความตายคร่าคนที่มัวเลือกเก็บดอกไม้(กามคุณ)
มีใจข้องแวะอยู่ในกามคุณไป
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพา

เอาชาวบ้านผู้หลับใหลไปฉะนั้น.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีผลมากแก่มหาชน.