ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: สิงหาคม 14, 2011, 07:22:31 am »อุปการธรรม ๔ ประการ
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในการปฏิบัติจิตตภาวนาอบรมจิตนั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการปฏิบัติ เป็นไปเพื่อสมาธิที่แปลว่าความตั้งใจมั่น หรือสมถะความสงบใจอย่างหนึ่ง เป็นไปเพื่อปัญญาความรู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นความจริง หรือวิปัสสนาความรู้แจ้งเห็นจริง หรือเห็นแจ้งรู้จริงอย่างหนึ่ง ในเบื้องต้นก็เป็นไปเพื่อสมาธิ หรือเพื่อสมถะก่อน เมื่อได้สมาธิได้สมถะ ก็น้อมใจที่ตั้งมั่นสงบ หรือที่สงบตั้งมั่นนั้น ไปพิจารณาเพื่อปัญญา เพื่อวิปัสสนาต่อไป
การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เป็นการปฏิบัติทางจิตตภาวนา เพื่อสมาธิ หรือสมถะ และเพื่อปัญญาหรือวิปัสสนาดังกล่าว และในพระสูตรได้แสดงอุปการธรรม ธรรมะที่เป็นอุปการะในการปฏิบัติไว้ ๔ ประการ คือ อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส สมฺปชาโน มีความรู้พร้อม คือหมายถึงสัมปชัญญะคือรู้ตัว สโต มีสติ และ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลก ดั่งนี้
๏ อาตาปีความเพียรเผากิเลส
อุปการธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ มิใช่เป็นอุปการะในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นี้เท่านั้น แต่เป็นอุปการะในการปฏิบัติกรรมฐานทุกอย่าง ทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน ข้อแรก อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส คือจะต้องมีความเพียรตั้งต้นแต่เริ่มปฏิบัติ และเมื่อเริ่มปฏิบัติแล้วก็ต้องมีเพียรดำเนินปฏิบัติต่อจากเริ่มไป และต้องมีเพียรปฏิบัติให้ก้าวหน้าไม่ทอดทิ้งถอยหลัง คือปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้เนืองๆ ว่า ปฏิบัติบ่อยๆ ปฏิบัติให้มาก หรือทำบ่อยๆ ทำให้มาก
และในที่นี้ท่านใช้คำว่า อาตาปะ มาจากคำว่า ตบะ ที่แปลว่าเผา ตบะในภายนอกพุทธศาสนาของฤษีโยคีทั้งหลายนั้นเป็นการเผาวัตถุ เช่น เผาฟืน เผาไม้ ตลอดจนถึงเผาสัตว์เผาบุคคล เป็นการบูชาไฟแก่เทพที่นับถือ หรือที่เชื่อถือ แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นก็ทรงนำเอาคำนี้มาใช้ คือเป็นตบะเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้เผาอะไรในภายนอก แต่หมายถึงเผากิเลสในจิตใจของตนเอง จึงมักแปลกันว่าเผากิเลสให้เร่าร้อน แต่โดยความนั้นคือเผากิเลสให้หมดสิ้น เผาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เผาราคะหรือโลภะความโลภ เผาโทสะ เผาโมหะ ในจิตใจ
จึงต้องมีความเพียรเป็นข้อแรกการปฏิบัติจึงจะบังเกิดขึ้น จึงจะเริ่มขึ้น จึงจะดำเนินไป และจึงจะก้าวหน้าไปได้ และในการที่จะมีความเพียรดั่งนี้ ข้อแรกก็จะต้องเผาความเกียจคร้านที่เป็นเหตุให้ไม่ปฏิบัติ
ถ้าหากว่ามีความเกียจคร้านอยู่ก็เริ่มปฏิบัติไม่ได้ ดำเนินไปไม่ได้ ก้าวหน้าไปไม่ได้ ต้องเพียรให้ตลอด คือจะต้องเผาเกียจคร้านให้ตลอดไป
และจะต้องเผาอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นนิวรณ์ อันเป็นกามบ้าง เป็นอกุศลธรรมต่างๆ บ้าง ซึ่งบังเกิดขึ้นขัดขวางไม่ให้มีการปฏิบัติ จะต้องเผากิเลสเหล่านี้ได้โดยต้องใช้ความเพียร ในทีแรกก็ต้องฝืนใจ เพราะจะรอให้ชอบใจเสียก่อนจึงปฏิบัตินั้น ก็มักจะเป็นไปยาก เพราะว่าจิตใจนี้อาศัยอยู่ในกามคุณารมณ์ต่างๆ อันเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ และทั้งที่ไม่รักใคร่ปรารถนาพอใจ จิตใจเกาะเกี่ยวอยู่กับกาม และอารมณ์กามต่างเหล่านี้เสียมาก ในการที่จะจับปฏิบัติจึงต้องฝืนใจเริ่มปฏิบัติ
๏ ป่า โคนไม้ เรือนว่างในจิตใจ
ดังเริ่มปฏิบัติในสติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ยกเอาเพียงข้อใดข้อหนึ่ง เช่นข้อต้น กำหนดลมหายใจเข้าออก โดยที่แสวงหาสถานที่ๆ สงบสงัด เช่น ป่า โคนไม้ เรือนว่าง ไม่สามารถจะหาป่าได้ ก็โคนไม้ ไม่สามารถจะหาโคนไม้ได้ ก็เรือนว่าง แต่เรือนว่างนั้นจะให้ว่างทั้งหมดก็หายาก จึงต้องอาศัยหาที่ว่างในเรือนว่าง เช่นว่านั่งหน้าห้องพระ นั่งหน้าพระพุทธรูปในห้องพระ หรือในที่ใดที่หนึ่งที่ไม่พลุกพล่าน ในเวลาที่ไม่พลุกพล่าน
แม้ว่าจะหาสถานที่ดังกล่าวยากหรือไม่ได้ ก็ต้องสร้างป่าขึ้นในจิตใจตนเอง สร้างโคนไม้ขึ้นในจิตใจตนเอง สร้างเรือนว่างขึ้นในจิตใจตนเอง ให้จิตใจของตนเองนี้ว่างสงบเป็นเหมือนป่า เป็นเหมือนโคนไม้ เป็นเหมือนเรือนว่าง คือแม้จะนั่งอยู่ในห้องเช่นห้องพระ แต่เมื่ออยู่ด้วยกันมากก็มีผู้เดินไปเดินมา พูดจากัน ก็ไม่ใส่ใจ ถึงใครจะเดินไปเดินมา ถึงใครจะพูดจาอะไรก็ไม่ใส่ใจ
ตั้งสติกำหนดในลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตน อย่างง่ายๆ เช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือใช้วิธีนับ หรือว่าจะไม่ใช้อานาปานสติ นั่งในห้องพระก็กำหนดดูเทียนเป็นกสิณ หรือเพ่งดูพระเป็นกสิณ ทำจิตใจของตนนี้ให้เป็นป่า ให้เป็นโคนไม้ ให้เป็นเรือนว่างขึ้นมาเอง ดั่งนี้ก็ต้องได้เหมือนกัน และเมื่อหัดเข้าบ่อยๆ แล้วก็สามารถที่จะทำความไม่สนใจต่อบุคคลหรืออะไรๆ ที่อยู่ร่วมกันได้ และเมื่อสามารถที่จะสร้างป่า สร้างโคนไม้ สร้างเรือนว่าง ขึ้นได้เองดั่งนี้แล้ว การปฏิบัติที่ไหนก็ไม่สู้จะมีปัญหา เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องไปพบสถานที่สงบสงัดในภายนอก ในเมื่อไม่สามารถจะไปหาได้ หรือไม่เหมาะต่างๆ เราก็สร้างป่าสร้างโคนไม้สร้างเรือนว่างของเราเองดังกล่าว ดั่งนี้ก็เป็นการสะดวก หากว่าสามารถมีความเพียรเผากิเลสคือตัวความเกียจคร้านได้ สร้างความขยันคือตัวความเพียรให้บังเกิดขึ้น การปฏิบัติก็ย่อมจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีข้อนี้เป็นประการแรกคือเพียรเผากิเลส ตั้งต้นแต่เผาตัวความเกียจคร้านอันนี้แหละ
๏ สติ สัมปชัญญะ
สัมปชาโน มีความรู้ตัว สโต มีสติ ก็คือมีสัมปชัญญะมีสตินั้นเอง อันหมายความว่าต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ในการปฏิบัติ คือในจิตตภาวนาที่ประกอบกระทำ เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ต้องมีสติจับอยู่ที่ลมหายใจ มีสัมปชัญญะคือรู้ รู้ตัว เพราะเมื่อมีสติจับกำหนดอยู่ รู้ตัวก็ย่อมจะมีขึ้น และในขณะที่รู้ตัวนั้นก็ต้องมีสติกำหนดอยู่ ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก ตามที่หายใจอย่างไร
๏ ความยินดียินร้าย
และจะต้องมีอีกข้อหนึ่งคือกำจัดความยินดียินร้ายในโลก อันหมายความว่าไม่ยินดียินร้ายอยู่ในลมหายใจที่กำหนดนั้นด้วย
เพียงแต่รู้ลมหายใจที่กำหนด เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ และเพียงเพื่อรู้เท่านั้น ทั้งไม่ส่งใจให้แลบออกไปยินดียินร้ายในอารมณ์ภายนอก แม้ว่าจะมีอารมณ์ภายนอกกระทบเข้ามาทางตาทางหูเป็นต้นในขณะนั้น ตลอดจนถึงทางใจในขณะนั้น เช่นลืมตาปฏิบัติก็จะต้องเห็นสิ่งที่อยู่จำเพาะหน้า หรือทำกสิณก็จะต้องเห็น เช่นกำหนดดูแสงไฟคือเทียน ก็ย่อมจะเห็นเทียน กำหนดพระพุทธรูปก็ย่อมจะเห็นพระพุทธรูป และขณะที่กำหนดอยู่นั้นก็อาจจะเห็นสิ่งอื่น หรืออาจจะมีเสียงอื่นเข้ามากระทบหู เช่นเสียงคนพูดกัน เสียงคนเดินไปเดินมา เสียงลมพัด จิตก็จะออกไปอยู่ที่เสียงอยู่ที่รูปที่เห็นนั้น
บางทีรู้สึกว่าจิตหลุดออกไปเดี๋ยวเดียว มีสติรู้ตัวนำกลับเข้ามา กำหนดอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน หรือของจิตตภาวนาที่ตั้งไว้ใหม่ แล้วสอบสวนจิตดูว่าไปไหนมาบ้างที่หลุดออกไปหน่อยหนึ่งนั้น ก็มักจะรู้สึกจากการสอบสวนจิตว่าออกไปหลายเรื่องหลายราว เช่นออกไปที่เสียง ที่ได้ยินเสียงพูด แล้วจากเสียงก็ไปโน่น จากเสียงนั้นก็ไปนี่ ต่อๆๆ กันไปหลายเรื่องหลายราว มีสติก็นำกลับเข้ามา
จิตนี้ไปเร็วมาก สติตามไม่ค่อยจะทัน แต่เมื่อหัดปฏิบัติอยู่เสมอๆ แล้วจิตจะเชื่องเข้า และสติก็จะมีพลังขึ้น จะควบคุมอยู่ได้มากเข้า หรือว่าตามจิตกลับได้เร็วเข้า ก็ต้องปฏิบัติกันอยู่ดั่งนี้ ต้องคอยระงับความยินดีความยินร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เพราะการที่จิตออกไปนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า ยังไม่ยินดีอยู่ในอารมณ์ของจิตตภาวนา หรือของกรรมฐาน ของสมาธิ แต่ว่ายังยินดีอยู่ในกามคุณารมณ์ต่างๆ หรือในเรื่องต่างๆ ภายนอก การที่นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน หรือในจิตตภาวนาดังกล่าว เหมือนอย่างเป็นการบังคับมาตั้งไว้ พอเผลอก็หลุดวิ่งออกไปทันที ไปสู่อารมณ์โน่นอารมณ์นี่ ที่จิตรักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่รวมอยู่ในคำว่ากามคุณารมณ์
๏ กามาวจรจิต
ท่านจึงมีเปรียบไว้เป็นพระพุทธภาษิต ว่าเมื่อยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน จิตก็มักจะไม่ค่อยอยู่ เหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำ วางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นลงน้ำ เพราะน้ำเป็นที่อยู่ของปลา จิตที่เป็นกามาพจร คือเป็นจิตสามัญชนที่ยังหยั่งลงในกาม ยังอภิรมย์อยู่ในกามต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อยกจิตออกจากกามคุณารมณ์ มาตั้งไว้ในจิตภาวนา จิตก็จะดิ้นเพื่อที่จะกลับไปสู่กามคุณารมณ์ อันเป็นที่ๆ จิตเคยอยู่โดยมาก
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเนื่องมาจากความยินดียินร้ายนี่แหละเป็นตัวเหตุใหญ่ คือจิตยังยินดีอยู่ในกามคุณารมณ์ ยังยินร้ายอยู่ในกรรมฐาน ในจิตตภาวนา คือยังไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยระงับความยินดีความยินร้ายดังกล่าว โดยที่ต้องมีความเพียรนี่แหละ คอยกำจัดความเกียจคร้าน คอยกำจัดความยินดียินร้าย เผาความเกียจคร้าน เผาความยินดี เผาความยินร้าย เพิ่มสัมปชานะคือความรู้ตัวความรู้พร้อม เพิ่มสติให้แก่จิตตภาวนาให้มากขึ้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วการปฏิบัติจึงจะเป็นไปได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
คัดลอกมาจาก เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://dootham.com/site/?paged=11
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ