ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: สิงหาคม 28, 2011, 11:03:18 pm »จิตเหมือนดวงตะวัน
เมื่อผมเห็นวัตถุ – เห็นปรมัตถ์ – เห็นอาการนี่แหละ เลยเข้าใจว่าโทสะ – โมหะ – โลภะ นี้ก็เช่นกัน เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง : และก็เป็นอาการชนิดหนึ่ง, มันไม่ได้เกาะอยู่กับตัวจิตของเราจริงๆ. หากจะสมมติให้ฟังก็เปรียบได้กับดวงตะวัน : เมื่อเมฆมาบังเราก็จะพูดว่า ฟ้ามืด ฟ้าหม่น ตะวันมืด ตะวันบด ความจริงแล้ว เมฆ ฟ้า หมอก ควัน ฯลฯ มาบังเฉยๆ เมฆหาได้ไปเกาะอยู่ที่ดวงตะวันไม่ มันผ่านไปเฉยๆ เมื่อผ่านไปแล้วแสงตะวันก็พุ่งออกมา, อันที่จริง ดวงตะวันมันก็ส่องสว่างของมันอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเมฆจะบังหรือไม่ แต่เราไม่เห็น, มันเป็นอย่างนั้น. อันความคิดเรานั้น ก็เหมือนกันกับเมฆนั่นแหละ, ส่วนตัวชีวิตจิตใจของเราจริงๆ นั้น มันเป็นปกติอยู่, มันไม่ได้บิดเบี้ยวไปอย่างนั้นอย่างนี้, มันเป็นอุเบกขา ; อุเบกขาแปลว่าเฉย มันมีอยู่เฉยๆ. ลักษณะที่ผมพูดนี้, ความเป็นอุเบกขาที่ผมยกมาพูดนี้, มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน.
วิดน้ำในบ่อ
ให้เอาสติมาดูความคิด มันคิดให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ ให้สัมผัสได้ คิดปุ๊บตัดปั๊บทันที ทำเหมือนแมวจับหนู เหรือเหมือนนักมวยขึ้นเวที ต้องชกทันที ไม่ต้องรอไหว้ครู แพ้ชนะเป็นเรื่องของนักมวยต้องชกทั้งนั่น ไม่ต้องรอใครทั้งนั้น หรือเหมือนกับขุดบ่อน้ำ เมื่อเจอน้ำแล้วเป็นหน้าที่ที่จะต้องวิดตม วิดเลน วิดน้ำออกให้หมด น้ำเก่าก็ตักออกให้หมด น้ำใหม่ก็ตักออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่ที่อยู่ข้างในจะออกมา เราต้องกวนปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างตมล้างเลนเหล่านั่น ทำบ่อยๆ น้ำจะสะอาดขึ้นเอง เมื่อน้ำสะอาดแล้ว อะไรตกลงในบ่อ จะรู้ จะเห็น จะเข้าใจได้ทันที การตัดความคิดออกก็เช่นเดียวกัน ตัดได้ไวเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น
สวิตซ์ไฟ
จะทำให้เห็นกิเลสได้นั้น เราต้องทำให้ถูกวิธีของมัน ให้รู้จักสมุฏฐานของมัน. อุปมาเหมือนเราต้องการความสว่าง แต่เราไม่เคยใช้ไฟฟ้า ก็เลยไม่รู้จักวิธีใช้ไฟฟ้า ไม่รู้จักสมุฏฐานที่จะทำให้ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมา แต่เคยเห็นความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้า, ทีนี้ พอจะให้มันสว่าง มันก็จะไปจับที่หลอดไฟพลิกหมุนอยู่อย่างนั้น ถึงทำไปจนตายมันก็ไม่สว่างขึ้นมาได้ เพราะไปทำไม่ถูกจุดของมัน ไม่รู้จักต้นเหตุสมุฏฐานของมัน. ส่วนคนที่ฉลาดคนที่รู้จักสมุฏฐานที่ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมาสว่างขึ้นมา เขาจะไม่ต้องไปจับที่หลอดโน่นเลย เขาจะมาจับที่สวิตซ์นี่ – ปั๊บ – แล้วมันจะไปทำความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้านู่น. การปฏิบัติวิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน, ถ้าหากเราฉลาด เรารู้ – เราเห็น – เราเข้าใจตามแบบของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะรู้จักว่าความโกรธความโลภความหลงนั้น ความทุกข์ประเภทนั่น จริงๆแล้วมันไม่ได้มีอยู่ที่เรา เมื่อเราเจริญวิปัสสนาแบบถูกต้องแล้ว ว่าแต่มีคนพูดขึ้นมา – ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม สติปัญญาของเรานี้มันจะไวถึงที่สุด, มันจะทำหน้าที่ของมัน
ลืมตาทำ
วิธีปฏิบัติแบบลืมตาที่หลวงพ่อสอนนี้ ไปไหนมาไหนก็ทำได้ ใครผ่านไปมาก็เห็น จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ก็เห็น, หลวงพ่อเข้าใจเช่นนี้. เรื่อง “นิมิต” ก็เหมือนกัน. นิมิตแปลว่า เครื่องหมาย เครื่องสัญญา หรือสิ่งที่สัญญาเรารู้, หมายอย่างไร ก็หมายให้เรามีสติรู้สึกจับอยู่กับสิ่งเหล่านั่น อย่างพลิกมือขึ้นรู้สึกตัว นั่นละนิมิต มันคิดมาก็เห็นก็รู้ อันนั้นเรียกว่าเป็นนิมิต. ส่วนการที่คนไปนั่งสมาธิต้องการเห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป แต่ไม่เห็นจิตใจตัวเอง จิตใจคิดแวบไปไม่เห็นเลย นั่งอยู่ที่นี่คิดลอยไปถึงไหนๆ, อย่างนั้นไม่มีประโยชน์, มันเป็นมายา, หลวงพ่อกล้ายืนยันกล้ารับรองได้ว่า การทำวิปัสสนาแบบลืมตาเอาไปใช้ทำงานทำการได้ ทำอะไรอยู่ก็ทำได้, จิตใจนึกคิดจะโกงขึ้นมาก็รู้ คนจะมาหยิบของขโมยของก็เห็นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เอา จิตใจมันอยากคิดอยากได้ความสุขก็รู้ว่ามันไม่ได้ไม่ควร สุขวันนี้พรุ่งนี้ทุกข์ก็มาแล้ว, มันเป็นอย่างนี้
ดังนั้น การเห็นธรรมต้องเห็นที่ตัวเรานี้เอง, ไม่ใช่ไปเห็นพระพุทธรูป หรือรูปพระพุทธเจ้า, ไม่ใช่อย่างนั้น. พระพุทธเจ้านั้นท่านตายไปนานแล้ว
อากาศในแก้วน้ำ
ขอยกตัวอย่างอีกสักเรื่อง, เอาแก้วน้ำมาวางไว้ ๑ ใบ เราจะเห็นว่าในแก้วมีอากาศ, พอเราเทน้ำใส่ลงไป อากาศก็ไหลออก น้ำเข้าไปแทนที่, พอเทน้ำออกอากาศก็เข้าไปแทนที่ใหม่, อันนี้ก็เปรียบได้กับเราพลิกมือ เรารู้เรามีสติ สติเข้าไปแทนที่ความไม่รู้ความหลง, ความไม่รู้ก็หลุดออกไปจากจิตใจของเรา. ให้เราทำบ่อยๆ จับความรู้สึกอยู่บ่อยๆ ทุกอิริยาบถ สติก็จะมีมากขึ้นๆ ความหลงความไม่รู้ก็จะลดลงๆ เหมือนน้ำเข้าไปแทนที่อากาศในแก้ว ฉันนั้น
โอ่งใส่น้ำ
การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือทำได้ทั้งนั้น เวลาเรานั่งรถเมล์ เรานั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้นคว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้นคว่ำลง เราเพียงเอานิ้วมือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ หรือจะกำมือ เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้
คำว่า “ให้ทำอย่างนั้นตลอดเวลานั้น” คือ เราทำความรู้สึกซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อยเหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิด ทีละนิด เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา
อันนี้ก็เหมือนกันเราทำความรู้สึก ยกเท้าไปยกเท้ามา ยกมือไปยกมือมา เรานอนกำมือเหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั่น หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมาเราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่า ทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ
สติปัฏฐานสี่
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเจริญสติ. สติปัฏฐานสี่ ได้แก่ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม. คนมีปัญญานำไปปฏิบัติได้ทันที. สตินั้น เราก็ยังไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษาบาลี ท่านสอนว่า ธรรมที่มีอุปการะมากมีคุณมาก คือ สติ – ความระลึกได้ สัมปชัญญะ – ความรู้ตัว, ในทางปฏิบัติมันเป็นอันเดียวกัน คือ “รู้สึกตัว” นี่แหละ, รวมความแล้วก็ว่า – “รู้สึกตัว – ตื่นตัว รู้สึกใจ – ตื่นใจ” สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ท่านก็สอนเข้าไปอีกว่า ให้เรามีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน – เดิน – นั่ง – นอน แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ, ท่านยังสอนเข้าไปอีกว่า ให้มีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถย่อย ; คู้ – เหยียด – เคลื่อน – ไหวโดยวิธีใด ก็ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้. แล้วทีนี้พวกเรากลับไม่ทำตามอย่างนี้ พากันไปทำตามอย่างอื่นวิธีอื่นเสีย แต่ก็ยังพูดว่าจนทำตามพระพุทธเจ้า, สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนกลับไม่เอา ไม่ฟัง. แล้วจะเป็นผู้รู้ตามเห็นตามได้อย่างไร
เจริญสติ
วิธีปฏิบัตินั้นต้องเป็นวิธีเจริญสติ. คำว่า “เจริญสติ” นี้ ก็มีหลายคนพูดถึงอยู่เหมือนกัน. เจริญสติปัฏฐานสี่ คือ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม, หรืออิริยาบถสี่ คือ ยืน – เดิน – นั่ง – นอน. ส่วนวิธีที่ผมจะพูดถึงนี้จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานสี่หรือไม่เป็นสติปัฏฐานสี่ก็ได้ – โดยให้ทำความรู้สึกตัว. เมื่อทำความรู้สึกตัวแล้ว ความไม่รู้สึกตัวก็หายไปเอง. ทำความรู้ตัว : พลิกมือขึ้น, คว่ำมือลง, ยกมือไป, เอามือมา, เดินหน้า, ถอยหลัง, เอียงซ้าย, เอียงขวา, ก้ม, เงย, กระพริบตา, อ้าปาก, หายใจเข้า, หายใจออก, กลืนน้ำลายผ่านลงไปในลำคอ, คู้, เหยียด, เคลื่อนไหว, ฯลฯ ; เหล่านี้ – ให้ทำความรู้สึก. เมื่อมีความรู้สึกอยู่แล้วความไม่รู้สึกมันหายไปเอง. ความไม่รู้สึกนั้น ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “โมหะ” ภาษาบ้านเราเรียกว่า “หลง”. เมื่อมีความรู้สึกอยู่นั้น เรียกว่ามีสติ, เมื่อทำความรู้สึกอย่างนี้อยู่ ก็เรียกว่าเป็นการเจริญสติ. คำว่า “เจริญ” นั้น หมายถึงการทำบ่อยๆ, “เจริญสติ” ก็คือ ให้รู้สึกบ่อยๆ ; จะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้มีความรู้สึก.
คำสอนหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จากหนังสือ พลิกโลกเหนือความคิด
Credit by :
ทวีเกียรติ โตจำเริญ :http://lpteean.blogspot.com/2010/12/พลิกโลกเหนือความคิด-โดยหลวงพ่อเทียน.html
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ