ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 01, 2011, 09:10:25 am »ภาพปรากฏการณ์พญานาคเล่นน้ำที่บึงโขงหลง (ภาพจากโต๊ะข่าวภูมิภาค)
ภาพอธิบายการเกิดคลื่นกระแทกกลายเป็นคลื่นนิ่งอยู่เหนือผิวน้ำ โดย ผศ.ดร.พงษ์ ซึ่งเมื่อคลื่นเข้ากระทบฝั่งจะเกิดคลื่นสะท้อน และเกิดการรวมตำแหน่งของคลื่นที่สวนทางกัน
ผศ.ดร.พงษ์ สาธิตการเกิดขึ้นคลื่นนิ่ง โดยใช้หลอดกาแฟต่อเข้ากับลำโพงซึ่งทำหน้าที่เป็นต้นกำเนิดของแรงสั่นสะเทือน แล้วจุ่มลงไปในภาชนะบรรจุน้ำ
(บน) การสาธิตปราฏการ์ณสะท้อนกลับหมดของแสง เมื่อเดินทางผ่านตัวกลาง 2 ชนิด โดยใช้เลเซอร์ส่องผ่านกระจกที่มีดัชนีหักเหต่างจากอากาศ (ล่าง) ภาพแสดงการสะท้อนและการหักเหของแสงเมื่อเดินทางจากน้ำสู่อากาศ โดยเส้นสีเหลืองแสดงหลักการสะท้อนกลับหมด
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว (หน้า) และ ผศ.ดร.พงษ์ ทรงพงษ์ (หลัง) ระหว่างเสวนาอธิบายปรากฏการณ์พญานาคเล่นน้ำ
จากเหตุการณ์ที่คนจำนวนมากแห่ไปชมปรากฏการณ์ “พญานาคเล่นน้ำ” ที่บึงโขงหลงใน จ.บึงกาฬ และมีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ซึ่งคนจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือพญานาคจริง อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า จะมีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง? [/B]
เพื่อเสนออีกข้อมูลอีกด้านหนึ่งต่อปรากฏการณ์ทีเกิดขึ้นทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เปิดเวที “วิเคราะห์ปรากฏการณ์คลื่นน้ำปริศนาในแบบวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ” ขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค.54 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมเสนอมุมมองในทางวิทยาศาสตร์แก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ผศ.ดร.เจษฎา ได้หยิบคลิปบันทึกภาพปรากฏการณ์ “พญานาคเล่นน้ำ” ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มาอธิบายว่า ภาพที่เห็นนั้นมีลักษณะของการเคลื่อนที่บางอย่างที่อยู่กับที่ ซึ่งแม้เขาจะมีคำตอบอยู่ในใจแต่แล้วสิ่งนั้นคืออะไร แต่เขาก็ไม่ขอฟันธง ทั้งนี้จากการแสดงความเห็นในรายการ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” เมื่อวันที่ 21 ส.ค.54 นั้นมีคนเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏคือพญานาคถึง 78% ซึ่งเขาจะไม่เปลี่ยนความเห็นของคนกลุ่มนี้ แต่จะมุ่งให้คำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวแก่คนอีกกว่า 21%
“ปรากฏการณ์ที่เชื่อว่าเป็นพญานาคนั้นมีเกิดขึ้นบ่อย เช่นที่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นลำน้ำโขงจริงๆ ก็ปรากฏเงาดำๆ เคลื่อนที่เป็นระลอกๆ แต่ไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน และให้ภาพชัดเจนกว่าบึงโขงหลง ที่ จ.มุกดาหาร ก็ปรากฏพญานาคเล่นน้ำมุดอยู่ที่ตอม่อสะพาน มีข่าวทีวี วิทยุและหนังสือพิมพ์เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีที่ไหนพูดถึงเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิปได้พูดถึงความเป็นไปได้หลายอย่าง” ผศ.ดร.เจษฎากล่าว
ในมุมมองทางด้านชีววิทยา ผศ.ดร.เจษฎาได้ลองตั้งสมมติฐานถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งบางคนคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเกิดจากงูขนาดใหญ่ แต่เมื่อเปรียบเทียบภาพการเคลื่อนที่ของงูจะพบความแตกต่าง นั่นคือ งูจะไม่ว่ายน้ำแบบดำผุดดำว่าย แต่จะพยายามยกหัวตลอดเวลาเพื่อหายใจ และไม่อยู่กับที่แต่จะบิดตัวซ้ายขวาแล้วเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรืออาจจะเป็นฝูงปลา ซึ่งฝรั่งก็มีความเชื่อเรื่องสัตว์ประหลาด “โอโกโปโก” (Ogopogo) แต่แท้จริงแล้วคือปรากฏการณที่ปลาว่ายน้ำเป็นฝูง และจะเห็นภาพปลากระเด็นเป็นจุดๆ ด้วย หากแต่ในคลิป “พญานาคเล่นน้ำ” ไม่เป็นเช่นนั้น
“เป็นไปได้ไหมว่าจะเป็นโลมาน้ำจืดหรือในสารคดีของโจ๋ยบางจาก แต่เราก็ไม่เห็นภาพดำผุดดำว่ายหรือไม่เห็นกระโดงหลังของโลมาน้ำจืด และโลมาน้ำจืดก็ไม่อยู่กับที่ซ้ำๆ หรือจะเป็นปลาพญานาค จริงๆ แล้วปลาพญานาคคือ “ปลาออร์” (Oarfish) ที่มีคนบอกว่าหัวเหมือนมังกร มีโหนกๆ ตันๆ มีหงอน และเป็นตัวที่ทำให้เกิดตำนานสัตว์ประหลาดเยอะมาก อย่างภาพทหารจีไอจับปลาตัวนี้มีติดอยู่ตามฝาบ้านในแถบอีสานเยอะมาก แต่จริงๆ ปลาดังกล่าวเป็นปลาทะเลน้ำลึกซึ่งจับได้ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ” ผศ.ดร.เจษฎากล่าว
อีกอย่างที่ ผศ.ดร.เจษฎากล่าวว่าหลายคนลืมคิดคือบึงโขงหลงนั้นเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างออกมาจากลำน้ำโขง และเป็นแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งมีคนเข้าไปศึกษาวิจัยกันเยอะ เพื่อเก็บข้อมูลว่าที่บึงดังกล่าวมีนกอะไรบ้าง ปลาอะไรบ้างและสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง ซึ่งจากการอ่านรายงานการวิจัยในบริเวณดังกล่าวยังไม่มีใครพบปลาขนาดใหญ่ในแหล่งธรรมชาตินี้ และยังมีรายงานอีกว่าทั่วโลกมีภาพคล้ายๆ พญานาคเล่นน้ำนี้อยู่ในทะเลสาบขนาดใหญ่ เช่น ที่ทะเลสาบเนสซี (Nessie) ในสก็อตแลนด์ ก็มีการบันทึกภาพลักษณะเช่นนี้ได้จำนวนมาก ส่วนภาพ “สัตว์ประหลาดเนสซี” ที่โด่งดังนั้นในภายหลังมีผู้ออกมายอมรับทำปลอมขึ้นจากการติดหุ่นลงบนเรือดำน้ำ
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.เจษฎาได้ยกตัวอย่างโฆษณาของธนาคารแห่งหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทีมฟุตบอลเยาวชนที่อาศัยอยู่บนเรือนแพ และไม่มีสนามหญ้าให้ซ้อมฟุตบอล และในจังหวะที่ภาพนำเสนอกลุ่มเด็กๆ กำลังเตะฟุตบอลนั้น ได้เกิดคลื่นน้ำลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในบึงโขงหลงปรากฏขึ้น เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วปรากฏการณ์พญานาคอาจจะโพล่ไปทุกที เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตเท่านั้น และเมื่อไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในเชิงชีวภาพ ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ “พญานาค” ที่หลายคนเห็นนั้นคือคลื่นกระแทกที่เรียกว่า “เวก” (Wake) ซึ่งมักเกิดขึ้นในทะเลสาบ
ทางด้าน ผศ.ดร.พงษ์ในฐานะนักฟิสิกส์ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ใช้เพียงหลักการสะท้อนแสง การหักเหและการสะท้อนหลับหมด ซึ่งเป็นความรู้ระดับ ม.ปลายก็สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ มีคำถามว่าเราจะเห็นวัตถุใต้น้ำเป็นสีดำได้หรือไม่ ซึ่งจากหลักการหักเหแสงเมื่อแสงเดินทางผ่านตัวกลาง 2 ชนิด จะเกิด “แสงหักเห” ที่ทำมุมมากกว่า “แสงตกกระทบ” เสมอ และจะมีส่วนหนึ่งเป็น “แสงสะท้อน” กลับเข้าไปนั้น และเมื่อตกกระทบของแสงกว้างประมาณ 48 องศา จะไม่มีแสงออกมาจากน้ำเลย
“แล้วถ้ามีตัวอะไรอยู่ใต้น้ำเราจะมองเห็นด้วยมุมเท่าไรได้บ้าง สำหรับคนที่จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำคือคนที่มองจากมุมสูงๆ ส่วนคนที่แนวราบหรือริมตลิ่งจะมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใต้เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์สะท้อนกลับหมด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เกิดขึ้นเส้นใยแก้วนำแสง และยิ่งอยู่ใกล้ผิวน้ำมุมตกกระทบยิ่งกว้าง ยิ่งมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำไม่ได้ เขาจะเห็นแต่เงาสะท้อนจากด้านบน อย่างเงาของเมฆหรือท้องฟ้าด้านบน แต่ไม่เห็นอะไรใต้น้ำ และถ้าเกิดคลื่นกระแทก จะมีบริเวณที่แสงตกกระทบแล้วไม่สะท้อนเข้าสู่ตาเรา ทำให้บริเวณดังกล่าวมืดลงและคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการสะท้อนแสงอาจเข้าใจว่าเป็นตัวอะไรดำๆ” ผศ.ดร.พงษ์กล่าว
แล้วคลื่นกระแทกมาจากไหน ผศ.ดร.พงษ์อธิบายว่า เกิดจากการรวมกันของคลื่นที่เป็นการรวมกันแบบซ้อนทับ (Superposition) เป็นการรวมตำแหน่งของคลื่นลูกที่ 1 และคลื่นลูกที่ 2 แบบเสริมกัน หรือบางกรณีคลื่นรวมกันแบบหักล้างทำให้เห็นเป็นพื้นผิวเรียบ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีคลื่นมากมายรวมกัน และการรวมกันของคลื่นนั้นมีบางตำแหน่งอยู่นิ่งกับที่ซึ่งเรียกว่า “คลื่นนิ่ง” (Standing Wave) โดยในธรรมชาตินั้นคลื่นนิ่งอาจเกิดขึ้นจากลมพัด เรือวิ่ง หรือการคลื่นที่ของสัตว์ใต้น้ำ ทั้งนี้ เมื่อเกิดคลื่นใต้น้ำเข้าไปกระทบกับฝั่งจะเกิดคลื่นสะท้อนกลับมารวมกับคลื่นตกกระทบกลายเป็นคลื่นนิ่งอยู่บนผิวน้ำได้ และหากมีสิ่งก่อสร้างอยู่ใต้น้ำจะทำให้เกิดการรวมกันเป็นสันค่อนข้างนิ่งอยู่เหนือบริเวณสิ่งก่อสร้างใต้น้ำนั้นได้
อย่างไรก็ดี การเปิดเวทีให้ข้อมูลในมุมวิทยาศาสตร์ต่อปรากฏการณ์ “พญานาค” ที่หลายคนสนใจนั้น ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า จัดเวทีดังกล่าวขึ้นโดยไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ความเชื่อหรือฟันธงลงไปว่าพญานาคมีจริงหรือไม่ หากแต่เพียงต้องการนำเสนอว่ามีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง ส่วนพญานาคจะมีจริงหรือไม่นั้นอยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละคน
คลิปปรากฏการณ์พญานาคเล่นน้ำที่ปรากฏในสื่อ
http://www.youtube.com/watch?v=pq5jC0txVCU#ws
คลิปอธิบายการเคลื่อนที่ของงูในน้ำ
http://www.youtube.com/watch?v=eIXZIY-Hnjc#
ปรากฏการณ์คลื่นคล้ายพญานาคในโฆษณาของธนาคารแห่งหนึ่ง ในนาทีที่ 1.03
http://www.youtube.com/watch?v=YhVgQYSzGlU#ws
คลิปการทดลองสาธิตกำเนิดคลื่นนิ่ง
http://www.youtube.com/watch?v=HhvOXx8g_do#
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000109577