ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ตุลาคม 13, 2011, 09:00:02 pm »ศึกษารอบทิศ...ฝ่าวิกฤติอุทกภัย!แนะ'ภูมิปัญญาไทย'ผ่อนคลายทุกข์
สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาในบ้านเราก็เกิดอุทกภัยทุกปี แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าจะหนักกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าเราต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้น่าคิดว่า ทำอย่างไรประเทศไทยของเราจึงจะฝ่าวิกฤติปัญหาน้ำท่วมนี้ไปได้หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาลงไปได้ในทุก ๆ ปี
ผศ.ดร.ไพฑูรย์ กิติสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่า ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทยมีสาเหตุหลายสาเหตุด้วยกันได้แก่ 1. การปล่อยน้ำไม่ต่อเนื่องหรือไม่สัมพันธ์กัน เพราะเรายังไม่ทราบศักยภาพของร่องน้ำแต่ละสายว่าสามารถรับน้ำได้จำนวนเท่าใด จึงต้องเร่งทำการศึกษา เพราะหากทราบตัวเลขก็จะสามารถปล่อยน้ำได้อย่างสัมพันธ์กัน และเมื่อไม่ทราบจึงต้องกักเก็บน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำไหลไม่เป็นระบบที่เหมาะสม ฉะนั้นการกักน้ำไว้ไม่ปล่อยให้หลากไปตามระบบการจัดการที่เหมาะสม จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมเป็นเวลานาน เพราะระหว่างทางมีช่องทางที่น้ำจะรั่วออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่ประตูน้ำบางโฉมศรี จังหวัดสิงห์บุรีพังน้ำทะลักออกมาท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งสาเหตุที่ประตูพังก็เนื่องจากไม่มีการเปิดประตูทำให้น้ำถูกกักไว้ จนกระทั่งน้ำไหลข้ามคันออกมา ทำให้คันกั้นน้ำขาด เกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วประตูน้ำมีไว้เพื่อเปิด-ปิดตามจังหวะที่น้ำขึ้นและลง เช่น น้ำทะเลลงจะปล่อยน้ำออกเวลาใด น้ำทะเลหนุนจะปิดเวลาใด ซึ่งต้องลองศึกษาดู
2. การสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ ในประเทศไทยเราจะพบมากแทบจะทุกที่ที่เกิดน้ำท่วม เพราะในอดีตน้ำไหลหลากตามธรรมชาติ น้ำอาจจะท่วมแค่ครึ่งเมตร เพราะมีร่องน้ำทำให้น้ำไหลไปตามร่อง ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ได้ไม่เดือดร้อน แต่เมื่อมีการสร้างถนนอาจปิดกั้นการไหลของน้ำ เช่น พื้นที่เดิมเคยมีร่องน้ำลึก 2 เมตร น้ำอาจจะท่วมครึ่งเมตร แต่เมื่อเราปิดร่อง 2 เมตรนี้แล้วก็ทำให้น้ำท่วมขึ้นมาเป็น 3 เมตรได้เพราะถนนกลายเป็นสันฝาย น้ำจึงต้องเอ่อสูงขึ้นเพื่อข้ามออกไปให้ได้ ซึ่งวิธีแก้ไขคือพื้นที่ตรงไหนเป็นร่องน้ำให้เปิดออกและสร้างสะพานข้ามไป ยกตัวอย่างที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะไม่ค่อยมีการสร้างถนน แต่ถึงจะมีเมื่อถึงจุดร่องน้ำก็จะมีการใส่สะพานเล็ก ๆ ข้ามไป ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณมาก อย่างไรก็ตามชาวบ้านในพื้นที่จะทราบดีและต้องคอยจับตามองว่าถ้าใครมาทำอะไรผิดธรรมชาติให้ท้วงติง
3. ควรตรวจสอบความจุของเขื่อนใหญ่ ว่าอ่างเก็บน้ำในเขื่อนใหญ่ ๆ ความจุยังมีค่าเท่าเดิมหรือไม่ เนื่องจากตนสังเกตว่าปีหลัง ๆ มานี้เวลาน้ำขึ้นในเขื่อนใหญ่ ๆ จะขึ้นเร็วมาก ซึ่งปกติเวลาน้ำมาในปริมาณถ้าไม่มากนักช่วงท้าย ๆ จะขึ้นไม่ง่าย เพราะลักษณะเขื่อนด้านล่างจะแคบ แต่ด้านบนปากจะกว้างออก ถ้าช่วงล่างถึงช่วงกลางน้ำขึ้นเร็วก็เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นช่วงปลายที่ปากกว้างออกน้ำจะขึ้นสู่ด้านบนไม่ง่ายนัก ถ้าเขื่อนความจุยังคงเดิมอยู่ แต่การที่เราใช้มาหลายสิบปีจะมีการตกตะกอนทับถมในอ่างเก็บน้ำ อาจทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเปลี่ยนไป จากที่สามารถเก็บได้ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันอาจจะเก็บได้แค่ 7,000-8,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไปแล้วก็ได้ ดังนั้นทุก 5-10 ปี ต้องมีการสำรวจความจุของน้ำที่เปลี่ยนแปลงตลอด จึงต้องย้อนกลับไปดูว่าเขื่อนแต่ละเขื่อนนั้นสามารถเก็บน้ำได้เท่าเดิมตามที่ออกแบบก่อสร้างไว้หรือไม่ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีโอกาสที่จะมีการตกตะกอนสูงมาก เพราะเป็นพื้นที่ในภาคเหนือหรืออีสานเหนือซึ่งมีความลาดชันสูง การพัดพาตะกอนในท้องน้ำจะมาก จึงควรตั้งศูนย์ที่มีนักวิชาการที่มีความรู้มาศึกษาและวัดตะกอนในท้องน้ำเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วย เพราะถ้าเราไม่ทราบปริมาตรที่แท้จริงก็จะทำให้การบริการจัดการไม่เหมาะสม
นอกจากคำแนะนำทางด้านวิชาการนี้แล้ว สำหรับตัวประชาชนเองก็ต้องรู้จักป้องกันภัยให้ตัวเองจากพิบัติภัยน้ำท่วมด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับน้ำมาได้เป็นร้อย ๆ ปีย่อมมีภูมิปัญญาในการช่วยเหลือตัวเองจากเหตุการณ์น้ำท่วมอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันครั้งที่ผ่านมาคุณครูโรงเรียนแห่งหนึ่งได้ช่วยเหลือลูกศิษย์ด้วยการนำ ขวดน้ำพลาสติกขนาด 2 ลิตร ใช้เชือกผูกติดกันเป็นคู่แล้วคล้องแขนให้เด็กนักเรียนทั้งสองข้าง เพื่อให้ตัวลอยน้ำได้ ทำให้น้ำไม่เข้าจมูก ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นภูมิปัญญาที่เฉลียวฉลาดมาก
หากเราใช้โฟมก็สามารถช่วยเหลือได้ แต่ไม่แนะนำเพราะโฟมมีข้อเสียคือ แตกหักง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ขวดน้ำพลาสติกจะมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะหาก 1 ขวดรั่วก็ยังเหลือ 3 ขวด แต่ถ้าเป็นโฟม เราใช้ขนาด 1 แผ่น สามารถรองรับน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม ถ้าโฟมแตกหักเป็น 2 ท่อน และอีกท่อนเกิดหลุดมือไป เหลือ 5 กิโลกรัมตัวเราก็จะจมได้ โดยแนะนำว่าถ้าเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ใช้ขวดน้ำพลาสติกขนาด 2 ลิตร (ขวดน้ำอัดลมขนาดใหญ่) จำนวน 4 ใบ ใช้เชือกผูกเป็นคู่ ๆ คล้องแขนไว้ 2 ข้าง ส่วนผู้ใหญ่ใช้ขนาด 2 ลิตร จำนวน 8 ขวด ก็จะสามารถช่วยพยุงได้ หากจมูกไม่จมน้ำก็ถือว่ารอดแล้ว วิธีทำใช้เชือกผูกที่ขวด ซึ่งขวดมีส่วนเว้าส่วนโค้งสามารถผูกได้แน่น โดยผูกติดกันเป็นคู่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วคนไทยก็มีภูมิปัญญาอยู่แล้ว อย่างเช่นในสมัยก่อนใช้ลูกมะพร้าว 2 ลูกก็ลอยน้ำได้แล้ว
สำหรับการทำแพใส่ของไม่แนะนำให้ใช้ต้นกล้วยเพราะรับน้ำหนักได้น้อยอาจจมน้ำได้ ใช้กะละมังดีที่สุด ซึ่งวิธีทำให้นำไม้ไผ่มาสานเป็นแพเป็นล็อก ๆ สี่เหลี่ยม เหมือนตารางหมากรุก แล้วนำกะละมังคว่ำใส่ลงไปในช่อง เมื่ออากาศอยู่ด้านในก็ไม่จมอยู่แล้ว แต่ถ้าหงายน้ำจะเข้าและจมได้ สังเกตว่ากะละมังจะมีขอบที่ปากเราสามารถสานไม้ไผ่กดทับขอบไว้ ถ้าหากกลัวหลุดก็ใช้เชือกผูกไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยคำนวณตามน้ำหนักว่าเราจะใช้ประมาณเท่าไหร่ วิธีคำนวณง่าย ๆ คือขนาด 1 ลิตรรับน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม จากนั้นนำกะละมังมาใส่บริเวณขอบ ๆ ซึ่งถ้าน้ำเลิกท่วมแล้วเราก็ยังสามารถนำกะละมังกลับมาซักผ้าต่อได้ ที่สำคัญต้องตรวจดูว่ากะละมังต้องไม่มีรูรั่วหรือถ้าตรงไหนทรุดหรือมันเอียงเพราะอากาศหลุดออกมาก็ให้กระทุ่มน้ำให้อากาศเข้าไปได้อีกเหมือนการตีโป่ง ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดนี้ไม่ต้องสิ้นเปลือง เพราะน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องถาวร เราสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
ที่สำคัญที่สุดเราต้องอยู่กับน้ำให้ได้ เมื่อน้ำท่วมการที่จะนั่งเศร้าโศกเสียใจนั้นมีกันทุกคน แต่หลังจากนั้นแล้วต้องตั้งสติและคิดให้ได้ว่าถ้าเราไม่สามารถทิ้งถิ่นฐานนี้ไปได้แล้วเราจะได้ผลประโยชน์อะไรจากน้ำท่วมบ้าง เพราะทุกอย่างในโลกนี้มีความสมดุลว่าสิ่งใดที่มีโทษก็ต้องมีคุณ สิ่งใดมีคุณก็ต้องมีโทษ ไม่มีอะไรได้มาเปล่า ๆ การสูญเสียทรัพย์สินไปนั้นอย่าให้เสียเปล่าให้รีบตั้งสติแล้วคิดว่าในอนาคตจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอาชีพซึ่งคนในพื้นที่จะทราบดีมากที่สุด สุดท้ายการป้องกันน้ำท่วมเป็นงานที่ต้องทำร่วมกันเป็นทีมและแบบบูรณาการ เช่น อ่างทองถ้าจะป้องกันน้ำท่วมไม่ใช่ว่าอ่างทองจะสามารถทำได้แต่เพียงผู้เดียว ต้องทำงานร่วมกับชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลงมาตลอดรายทาง เพราะน้ำไม่ใช่ของแข็งไม่สามารถไปกองเก็บที่ไหนได้ ถึงเวลาที่มันต้องหลากก็ต้องหลาก เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งต้องปล่อยให้มันสัมพันธ์กันเป็นระบบซึ่งจะท่วมเกือบทุกพื้นที่ แต่ไม่ได้ท่วมหนักเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง.
...............
ฝากแนวคิด'เก็บภาษีคนกรุง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างจังหวัด'
ปกติตัวเลขการไหลของน้ำนั้นต้นน้ำจะไหลลงมาท้ายน้ำมีปริมาณมากขึ้น ๆ สมัยก่อนโดยธรรมชาติแม่น้ำสร้างตัวมาเป็นล้านปีสามารถรองรับน้ำที่ลงมาท้ายน้ำได้ เพราะน้ำจะเติมมาตลอดรายทางจนกระทั่งถึงปลายทาง แต่ปัจจุบันกลับกันการจัดการน้ำกลายเป็นว่าน้ำที่ไหลมาท้ายน้ำน้อยลง เพราะมีการกักน้ำซึ่งประตูแต่ละประตูมีการบล็อกน้ำไว้ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้สามารถทำได้ อย่างเช่นประเทศที่เจริญแล้วก็ทำแต่ต้องถามว่าคนท้ายน้ำยอมชดเชยให้คนต้นน้ำหรือไม่ ซึ่งตนมีแนวคิดว่า ประเทศไทยเราคนกรุงเทพฯ ควรเสียภาษีน้ำท่วม เพื่อนำไปช่วยคนต้นน้ำที่ถูกน้ำท่วม เพราะปกติคนกรุงเทพฯไม่ได้เสียเงินและไม่ได้ถูกน้ำท่วม ซึ่งในประเทศอเมริกาและญี่ปุ่นก็ทำเช่นนี้ โดยแจ้งให้ประชาชนทราบว่าปีนี้จากการศึกษาและคาดคะเนแล้วพบว่าน้ำจะมามาก พื้นที่รอบนอกไม่ต้องทำการเพาะปลูกและมีค่าชดเชยให้
ถึงแม้ว่าเราจะวางระบบดีแล้วแต่ก็ต้องยอมให้มีพื้นที่น้ำท่วมส่วนหนึ่งอยู่เหนือกรุงเทพฯ ซึ่งคนกรุงเทพฯ ต้องชดเชยให้ ฉะนั้นเมื่อถึงฤดูกาลเราต้องแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าเค้าต้องอยู่กับน้ำ และบอกให้ทราบล่วงหน้าว่าน้ำจะท่วมแน่นอน เพื่อวางแผนว่าหน้าแล้งควรปลูกพืชอะไร หน้าน้ำจะต้องปลูกพืชอะไร ซึ่งถ้าแจ้งชัดเจนชาวบ้านจะได้เตรียมพร้อมและเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไร เช่น ปลูกบ้านที่ลอยน้ำได้ ใช้โครงสร้างเบา ๆ น้ำมาก็ลอยได้ ยกตัวอย่าง เช่น บ้านในประเทศเนเธอร์แลนด์ชั้นล่างทำเป็นโป๊ะมีประตูปิด-เปิด พอหน้าน้ำก็นำรถเข้าไปเก็บไว้ในนั้นและใช้เรือ พอน้ำลดบ้านก็ลงมาวางกับพื้น จากนั้นก็เปิดประตูนำรถออกมาใช้ นำเรือไปเก็บแทน แต่เราไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้เพราะใช้งบสูง แค่ใช้วัสดุที่เบาให้บ้านลอยน้ำได้ก็พอ.
ทีมวาไรตี้
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=486&contentID=167552