ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 14, 2011, 08:56:22 am »อารัมมณปัจจัยนั้น ได้แก่อารมณ์ทั้ง 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อารมณ์ ทั้ง 6 นั้น ย่อมเป็นที่ยึดหน่วงแห่งจิตและเจตสิกทั้งปวง อันเกิดขึ้นในทวารทั้ง 6 มีจักขุทวารเป็นต้น จึงชื่อว่าอารัมมณปัจจัย
อธิปติปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันเป็นอุปการะด้วยความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลายอันเนื่องกัน อนันตรปัจจัย แลสมนันตรปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันบังเกิดก่อนแล้วจึงเป็นอุปการปัจจัยให้โอกาสแก่ธรรมอันบังเกิดภายหลัง หาธรรมอื่นขั้นในระหว่างมิได้ สหชาตปัจจัยนั้น ได้แก่ ธรรมอันเป็นอุปการะด้วยความเป็นของเกิดขึ้นพร้อมกัน ประหนึ่งเปลวประทีปกับแสงสว่างอันเกิดพร้อมกันฉะนั้น อัญญมัญญปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมที่เกิดอาศัยกันและกันจึงตั้งอยู่ได้ ดังไม้สามท่อนอันอิงอาศัยกันและกันฉะนั้น
นิสสัยปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันเป็นอุปการะคือที่อาศัย ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่อาศัยแห่งต้นไม้แลภูเขาฉะนั้นฯ อุปนิสสัยปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันเป็นอุปการะ คือเป็นอุปนิสสัยตามติดตนฯ ปุเรชาตปัจจัยนั้น ได้แก่รูปธรรมอันเกิดขึ้นก่อนแล้วเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอันบังเกิด ณ ภายหลังฯ ปัจฉาชาตปัจจัยนั้น ได้แก่จิตและเจตสิกอันเกิดภายหลัง แล้วเป็นอุปการะแก่รูปอันเกิดก่อนฯ อาเสวนปัจจัยนั้นได้แก่ชวนจิตอันมีชาติเสมอกัน ย่อมให้กำลังในกิจที่เป็นบุญและบาปทุกประการฯ กัมมปัจจัยนั้น ได้แก่กุศลและอกุศลอันเป็นปัจจัยให้สำเร็จผลคือสุขและทุกข์แก่สัตว์ วิปากปัจจัยนั้น ได้แก่วิบากจิตอันบังเกิดเป็นอุปการแก่สัตว์อันเสวยสุขและทุกข์ฯ อาหารปัจจัยนั้น ได้แก่อาหาร 4 ประการ คือ ผัสสาหาร 1 มโนสัญเจตนาหาร 1 วิญญาณาหาร 1 กวฬึการาหาร 1ฯ
อินทรีย์ปัจจัยนั้น ได้แก่ปสาทรูปทั้ง 5 มีจักขุปสาทเป็นต้น เป็นใหญ่ในที่จะกระทำให้วิญญาณทั้ง 5 เป็นไปในอำนาจ หรือรูปชีวิตินทรีย์เป็นใหญ่ในที่จะกระทำให้กำลังรูปประพฤติเป็นไปในอำนาจฯ ฌาณปัจจัยนั้น ได้แก่องค์ฌาณ มีวิตกวิจารณ์เป็นต้น เป็นปัจจัยให้กำลังแก่นามและรูปฯ มัคคปัจจัยนั้น ได้แก่มรรคมีองค์ 8 ประการ ทั้งฝ่ายโลกีย์และโลกุตตระเป็นปัจจัยให้แก่นามธรรมและรูปธรรม อันเกิดพร้อมกันฯ สัมปยุตตปัจจัยนั้น คือจิตและเจตสิก อันเป็นปัจจัยแก่กันเกิดกับดับพร้อมกัน มีอารมณ์เป็นอันเดียวกันฯ วิปปยุตตปัจจัยนั้น คือรูปธรรมนามธรรมที่ยังไม่ประกอบกัน มิได้ระคนกันฯ อตถิปัจจัยนั้น คือรูปธรรมนามธรรมที่ยังไม่ดับ ย่อมเป็นปัจจัยให้กำลังแก่กันฯ นัตถิปัจจัยวิคตปัจจัยนั้น คือนามและรูปดับแล้ว มีปัจจัยให้บังเกิดต่อไปในเบื้องหน้าฯ วิคตปัจจัยนั้น มีเนื้อความเหมือนอัตถิปัจจัย การที่ตรัสพยัญชนะให้ต่างกันแต่เนื้อความเป็นอย่างเดียวกันนั้น ก็ด้วยทรงอนุโลมตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ที่ควรรู้ได้ด้วยอรรคพยัญชนะ ประการใด ก็ทรงภาษิตไว้ด้วยประการนั้น ฉะนี้แล
จะแสดงกรรมฐานภาวนาต่อไป กรรมฐานภาวนามี 2 ประการ คือ สมถกรรมฐานภาวนา 1 วิปัสสนากรรมฐานภาวนา 1 ก็ในกรรมฐานสังคหะ 2 ประการนั้น จะแสดงสมถสังคหะก่อน ก็สมถกรรมฐานนั้นที่อารมณ์เป็นเครื่องยึดหน่วงแห่งจิต ทำจิตให้สงบถึง 40 ทัศ จัดเป็นหมวดได้ 7 หมวด คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 อัปปมัญญาพรหมวิหาร 4 อาหารปฏิกูลสัญญา 1 ธาตุววัตถาน 1 อรูปกรรมฐาน 4
ก็สมถกรรมฐานนี้มีอารมณ์มากถึง 40 ทัศ นั้นท่านแสดงไว้โดยสมควรแก่จริตของโยคาวจรบุคคลเพราะบุคคลย่อมมีจริตต่าง ๆ กันถึง 6 ประการ
1. โยควจรที่เป็นราคจริต มากไปด้วยความกำหนัดยินดี ในเบญจกามคุณควรเจริญอสุภะ 10 และกายคตาสติเป็นอารมณ์จึงเป็นที่สบาย
2.โยคาวจรที่เป็นโทสจริต มักโกรธมักประทุษร้าย ควรเจริญพรหมวิหาร 4 และวรรณกสิณ 4 คือ นีลกสิณ 1 ปีตกสิณ 1 โลหิตกสิณ 1 โอทาตกสิณ 1 จึงเป็นที่สบาย
3-4 โยคาวจรที่เป็นโมหจริต มักลุ่มหลงมาก กับที่เป็นวิตกจริต มักตรึกตรองมาก ควรเจริญอานาปานสติกรรมฐาน จึงเป็นที่สบาย
5. โยคาวจรที่เป็นสัทธาจริต มักเชื่อคนพูดง่ายๆ ควรเจริญ พุทธานุสสติ ธมมานุสสติ สงฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวดานุสสติ จึงเป็นที่สบาย
6. โยคาวจรที่เป็นพุทธิจริต มากไปด้วยปัญญา ควรเจริญมรณัสสติ อุปสมานุสสติ อาหารปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน จึงเป็นที่สบาย
ส่วนกรรมฐานที่เหลือ 10 ประการ คือ รูปกสิณ 4 ได้แก่ ปฐวี - อาโป - เตโช - วาโยกสิณ อรูปกสิณ 2 คือ อาโลกกสิณ และอากาสกสิณ และอรูปกรรมฐาน 4 ย่อมเป็นที่สบายแก่จริตทั้งปวง
จะแสดงวิปัสสนากรรมฐานสืบไปในวิปัสสนากรรมฐาน ท่านแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ วิสุทธิ 1 วิโมกข์ 1 อริยบุคคล 1 สมาบัติ 1
วิสุทธิ นั้นแจกออกเป็น 7 ประการคือ สีล วิสุทธิ 1 จิตตวิสุทธิ 1 ทิฏฐิวิสุทธิ 1 กังขาวิตรณวิสุทธิ 1
วิโมกข์ นั้นแจกออกเป็น 3 ประการคือ สุญญตวิโมกข์ 1 อนิมิตตวิโมกข์ 1 อัปปณิหิตวิโมกข์ 1 ฯ
บุคคลนั้นท่านจำแนกออกเป็นอริยบุคคล 8 จำพวก มีพระโสดามรรคบุคคลเป็นต้น พระอรหัตตผลบุคคลเป็นที่สุด ฯ
สมาบัติ ท่านจำแนกเป็นรูปสมาบัติ 4 อรูปสมาบัติ 4 เป็นสมาบัติ 8 ประการ ด้วยประการฉะนี้แล
:http://www.84000.org/supatipanno/dham3.html
: http://truthoflife.fix.gs/index.php?board=35.0
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ