ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 24, 2011, 08:59:10 am »


เรื่องพระอัตตทัตถเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอัตตทัตถเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อตฺตนาว กตํ ปาปํ” เป็นต้น

เมื่อพระศาสดาทรงประกาศว่า พระองค์จะปรินิพพานในอีกสี่เดือนข้างหน้า ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนเป็นจำนวนมาก มีความสลดหดหู่ ไม่ยอมทิ้งสำนักพระศาสดาไปไหน เที่ยวปรึกษาหารือกันว่า ควรจะทำอย่างไรกันดี แต่พระอัตตทัตถเถระ กลับไม่ไปยังสำนักของพระศาสดา แต่ทว่าได้ตกลงใจว่าจะบรรลุพระอรหัตตผลให้ได้ในระหว่างที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นี้ จึงได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างขะมักเขม้น ภิกษุอื่นๆ ไม่เข้าใจการกระทำของพระเถระ จึงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระศาสดา เมื่อพระศาสดาได้ทรงเรียกพระเถระมาเฝ้า ทรงสอบถามและทราบความจริงแล้ว ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความสิเนหาในเรา ผู้นั้นควรเป็นดุจอัตตทัตถะ ด้วยว่าชนทั้งหลายบูชาอยู่ ด้วยวัตถุต่างๆ มีของหอมเป็นต้น ย่อมไม่ชื่อว่าบูชาเรา ส่วนผู้บูชาอยู่ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมชื่อว่าบูชาเรา เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุรูปอื่นก็พึงเป็นเช่นอัตตทัตถะ”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน
พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย
สทตฺถปฺปสุโต สิยา ฯ

(อ่านว่า)
อัดตะทัดถัง ปะรัดเถนะ
พะหุนาปิ นะ หาปะเย
อัดตะทัดถะมะพินยายะ
สะทัดถับปะสุโต สิยา.

(แปลว่า)
บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตน
ให้เสื่อมเสียเพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก
รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระเถระนั้น ได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ภิกษุผู้มาประชุมกันทั้งหลาย.



นำมาแบ่งปันโดย :
one mind :http://agaligohome.com/index.php?topic=4634.0
Pics by : Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 24, 2011, 08:54:28 am »


เรื่องอุบาสกชื่อจุลกาล

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสกชื่อจุลกาล ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า “อตฺตนาว กตํ ปาปํ” เป็นต้น

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง จุลกาลอุบาสก รักษาศีล 8 หรืออุโบสถศีล ได้เข้าไปค้างแรมในวัดพระเชตวัน และได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดคืน ในตอนเช้า ขณะที่อุบาสกผู้นี้กำลังวักน้ำในสระที่อยู่ไม่ไกลจากวัดพระเชตวันล้างหน้า อยู่นั้น มีพวกโจรที่ไปปล้นบ้านหลังหนึ่งหลบหนีมา และถูกเจ้าของบ้านไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดจึงโยนสิ่งของที่ปล้นมาไว้ใน ที่ไม่ไกลจากที่ที่อุบาสกผู้นี้ยืนล้างหน้าอยู่ เมื่อเจ้าของบ้านมาถึงที่จุดนั้นเข้าใจว่าอุบาสกผู้นี้เป็นโจรจึงเข้าไปจับ ตัวแล้วโบยด้วยแส้ พวกนางกุมภทาสี เดินมาตักน้ำที่สระแห่งนั้น ประสบเหตุนั้นเข้าพอดี จึงเข้าไปห้ามปรามโดยบอกว่าเขาไม่ใช่โจรและให้ปล่อยตัวเขาเสีย อุบาสกเมื่อถูกปล่อยตัวแล้ว ก็เข้าไปในวัดพระเชตวัน แล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ที่เขารอดชีวิตมาได้ในครั้งนี้ ก็เพราะความช่วยเหลือของนางกุมภทาสี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระศาสดา และพระศาสดาได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย จุลกาลอุบาสก ได้ชีวิตเพราะอาศัยพวกนางกุมภทาสี และความที่ตนไม่ใช่ผู้ทำ ด้วยว่า ธรรมดาสัตว์เหล่านี้ ทำบาปกรรมด้วยตนแล้ว ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง ในอบายมีนรกเป็นต้น ส่วนสัตว์ทั้งหลายทำกุศลแล้ว ไปสู่สุคติและนิพพาน ย่อมชื่อว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยตนเอง”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ
อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ฯ

(อ่านว่า)
อัดตนา วะ กะตัง ปาปัง
อัดตะนา สังกิลิดสะติ
อัดตะนา วะ วิสุดชะติ
สุดทิ อสุดทิ ปัดจัดตัง
นานโย อันยัง วิโสทะเย .

(แปลว่า)
บาปอันผู้ใดทำแล้วด้วยตนเอง
ผู้นั้นย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง
บาปอันผู้ใดไม่ทำด้วยตน
ผู้นั้นย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง
ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์

เป็นของเฉพาะตน

คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง จุลกาลตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกัน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 24, 2011, 06:27:41 am »


เรื่องพระกาลเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระกาลเถระ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า “โย สาสนํ” เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง หญิงสูงอายุคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี รับอุปัฏฐากพระเถระชื่อว่ากาละเหมือนกับว่าเป็นบุตรชายของนางเอง อยู่มาวันหนึ่ง หญิงผู้นี้ได้เห็นพวกเพื่อนบ้านไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดา กลับมาแล้วก็ได้กล่าวสรรเสริญพระศาสดาว่าทรงแสดงธรรมได้ไพเราะมาก หญิงนั้นได้บอกกับพระกาลเถระว่านางอยากไปฟังธรรมของพระศาสดาบ้าง พระเถระห้ามนางไม่ให้ไป ในวันต่อๆมานางก็ขอไปอีกและก็ถูกห้ามจากพระเถระอีกถึง 3 ครั้ง แต่นางก็ยังต้องการจะไป อยู่มาวันหนึ่ง นางแม้จะถูกห้ามปรามจากพระเถระก็ได้ตัดสินใจไป หลังจากที่ได้บอกกับบุตรสาวให้คอยดูแลพระเถระแล้ว นางก็ออกจากบ้านไปที่พระเชตวัน เมื่อพระกาลเถระมารับบิณฑบาตที่บ้านตามปกติและรู้ว่าหญิงเจ้าของบ้านออกจาก บ้านไปพระเชตวันเช่นนั้น ก็คิดว่า หญิงนั้นสิ้นศรัทธาในตัวท่านเสียแล้ว จึงได้รีบไปที่วัดพระเชตวัน เห็นนางนั่งฟังธรรมอยุ่ในสำนักของพระศาสดา ก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า หญิงคนนี้เขลา ไม่เข้าใจธรรมกถาอันละเอียด อย่าตรัสธรรมกถาอันละเอียดประกอบด้วยสภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้น ตรัสแต่เพียงทานกถาหรือสีลกถาแก่นางก็พอ”

พระศาสดา ทรงทราบอัชฌาสัยของพระเถระแล้ว ตรัสว่า “เธอเป็นคนปัญหาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า ห้ามปรามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เธอพยายามฆ่าตัวเอง

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ผลํ เว กทลึ หนฺติ
ผลํ เวฬํ ผลํ นฬํ
สกฺกาโร กาปุริสํ
คพฺโภ อสฺสตรึ ยถา ฯ

(อ่านว่า)
ผะลัง เว กะทะลิง หันติ
ผะลัง เวลัง ผะลัง นะลัง
สักกาโร กาปุริสัง
คับโพ อัสสะตะริง ยะถา ฯ

(แปลว่า)
ผลนั้นแลย่อมฆ่าต้นกล้วยเสีย
ผลนั้นแลย่อมฆ่าไม้ใผ่เสีย
ผลนั้นแลย่อมฆ่าไม้อ้อเสีย
ลูกในท้องย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดรเสีย ฉันใด
สักการะก็ย่อมฆ่าบุรุษถ่อยเสีย ฉันนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง อุบาสิกาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนาได้มีประโยชน์แก่บริษัทผู้มีประชุมกัน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 24, 2011, 06:22:20 am »


เรื่องกระเสือกกระสนเพื่อจะทำลายสงฆ์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภการกระเสือกกระสนเพื่อจะทำลายสงฆ์ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า สกรานิ เป็นต้น

พระเทวทัตกระเสือกกระสนเพื่อจะทำลายสงฆ์ วันหนึ่ง เห็นท่านพระอานนท์ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ บอกความประสงค์ของตนแล้ว พระเถระฟังข่าวนั้นแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองสบงที่เวฬุวันแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต พระเจ้าข้า พระ เทวทัตได้เห็นข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์แล้ว ตามเข้าไปหาข้าพระองค์ ได้กล่าวว่า ท่านอานนท์ จำเติมแต่วันนี้ ฉันจักทำอุโบสถและสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ คือจักแยกทำอุโบสถกรรมและสังฆกรรม

เมื่อพระอานนท์ทราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาทรงเปล่งพระอุทานว่า
ความดีคนดีทำง่าย
ความดีคนชั่วทำยาก
ความชั่วคนชั่วทำง่าย
ความชั่วอริยบุคคลทำได้ยาก.

แล้ว ตรัสว่า อานนท์ ขึ้นชื่อว่ากรรมอันไม่เป็นประโยชน์แก่ตนทำได้ง่าย กรรมอันเป็นประโยชน์แก่ตนทำยากนักหนา แล้วตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สุกรานิ อสาธูนิ
อตฺตโน อหิตานิ จ
ยํ เว หิตญฺจ สาธุญฺจ
ตํ เว ปรมทุกฺกรํ.

(อ่านว่า)
สุกะรานิ อะสาทูนิ
อัดตะโน อะหิตานิ จะ
ยัง เว หิตันจะ สาทุนจะ
ตัง เว ปะระมะทุกกะรัง.

(แปลว่า)
กรรมอันไม่ดี และไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
คนทำง่าย กรรมใดแลเป็นประโยชน์แก่ตนและดี
กรรมนั้นแลทำยากยิ่ง.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุโลกุตรผล มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2011, 11:56:23 am »


เรื่องพระเทวทัต

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ยสฺส อจฺจนฺตทุสฺสีลฺยํ” เป็นต้น

วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลาย ได้ตั้งหัวข้อกระทู้สนทนากันในธรรมสภาว่า พระเทวทัต เป็นผู้ทุศีล เลวทรามมาก ได้พยายามแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง และลาภสักการะ โดยการใช้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นเครื่องมือ ชักชวนให้พระเจ้าอชาตศัตรูสังหารชีวิตพระเจ้าพิมพิสารผู้พระราชบิดา และได้ร่วมมือกับพระเจ้าอชาตศัตรูจะสังหารพระศาสดาด้วยวิธีการต่างๆ พระศาสดา ภายหลังจากทรงสดับถึงเรื่องสนทนากันของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ที่เทวทัตพยายามสังหารเรา แม้ในอดีตชาติ เทวทัตก็เคยพยายามสังหารเราโดยวิธีการต่างๆมาแล้วเหมือนกัน ” แล้วทรงนำชาดกต่างๆ มีกุรุงคชาดก เป็นต้นมาตรัสเล่า และตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาที่เกิดจากเหตุทุศีล ย่อมโอบรัด หักราน นำบุคคลผู้ทุศีลไปสู่ภพภูมิต่างๆมีนรกเป็นต้น ดุจเถาย่านทรายรึงรัดต้นสาละฉะนั้น”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยสฺส อจฺจนฺตทุสฺสีลฺยํ
มาลุวา สาลมิโวตฺถตํ
กโรติ โส ตถตฺตานํ
ยถา นํ อิจฉตี ทิโส ฯ

(อ่านว่า)
ยัดสะ อัดจันตะทุดสีละยัง
มาลุวา สาละมิโวดถะตัง
กะโรติ โส ตถัดตานัง
ยะถา นัง อิดฉะติ ทิโส.

(แปลว่า)
ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน
รวบรัด อัตภาพ ของบุคคลใด
ดุจเถาย่านทราย รัดรึงต้นสาละ ฉะนั้น
บุคคลนั้น ย่อมทำตนอย่างเดียวกับที่โจรหัวโจก
ปรารถนาทำให้ตนฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2011, 11:49:21 am »


เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล

พระศาสดา เมื่อประทับอยู๋ในพระเชตะวัน ทรงปรารภอุบาสกผู้โสดาบันคนหนึ่งชื่อมหากาล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อตฺตนา หิ กตํ ปาปํ” เป็นต้น

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง มหากาลอุบาสก ได้ไปที่วัดพระเชตวัน ในวันนั้น เขาได้รักษาศีล 8 (อุโบสถศีล) และฟังธรรมอยู่ตลอดคืน และในคืนเดียวกันนั้น พวกโจรคณะหนึ่งได้เข้าไปปล้นบ้านหลังหนึ่ง และเจ้าของบ้านหลังนั้นได้แกะรอยติดตามโจรเหล่านั้นมาอย่างกระชั้นชิด พวกโจรจึงวิ่งกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง มีโจรกลุ่มหนึ่งหนีมาทางวัดพระเชตวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงใกล้จะสว่าง มหากาลอุบาสกกำลังวักน้ำในสระที่อยู่ใกล้กับวัดล้างหน้าของตนอยู่ พวกโจรที่หนีมาเห็นจวนตัวจึงทิ้งทรัพย์ที่ปล้นมาไว้ในที่ไม่ไกลจากที่ที่ อุบาสกมหากาลกำลังยืนวักน้ำล้างหน้าอยู่นั้น เมื่อเจ้าของบ้านมาถึงตรงนั้นพบมหากาลยืนอยู่ไม่ไกลจากทรัพย์ที่โจรทิ้งไว้ นั้น ก็เข้าใจว่ามหากาลเป็นโจร จึงเข้าไปทุบตีจนถึงแก่ความตาย ในตอนรุ่งสาง ภิกษุหนุ่มและสามเณรน้อยกลุ่มหนึ่งที่วัดพระเชตวัน

ไปที่สระแห่งนั้นเพื่อจะตักน้ำ ได้ไปพบศพของมหากาลอุบาสกตอนตายอยู่ข้างสระก็จำได้ เมื่อกลับมาถึงวัด ก็ได้เขาไปกราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ ถึงสิ่งที่พวกตนได้ไปพบเห็นมา และกราบทูลด้วยว่า อุบาสกผู้นี้มาฟังธรรมอยู่ในวัดแท้ๆ แต่กลับมาตายอย่างนี้ เป็นการตายที่ไม่เหมาะไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง พระศาสดาตรัสว่า การตายของชายผู้นี้แม้ว่าจะไม่เหมาะไม่ควรในชาตินี้ แต่ก็เป็นการตายที่เหมาะที่ควรแก่กรรมที่กระทำในอดีตชาติ พระศาสดาได้นำเรื่องบุรพกรรมมาตรัสเล่าว่า การตายของชายผู้นี้เป็นการชดใช้กรรมเก่า คือ ในอดีตชาติ ชายผู้นี้เป็นข้าราชการในราชสำนัก เกิดหลงรักภรรยาของชายผู้หนึ่ง และได้ทุบตีสามีของหญิงผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะผลกรรมนั้นทำให้เขาไปเสวยทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรกอยู่นาน ด้วยเศษของกรรม เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จึงถูกทุบตีเสียชีวิตในชาตินี้ พระศาสดาครั้นตรัสบุรพกรรมของมหากาลอุบาสกแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บาปกรรมอันตนทำไว้นั่นแล ย่อมย่ำยีสัตว์เหล่านั้น ในอบาย 4 อย่างนี้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตนา หิ กตํ ปาปํ
อตฺรชํ อตฺตสมฺภวํ
อภิมตฺถติ ทุมฺเมธํ
วชิรํ วมฺหยํ มณึ ฯ

(อ่านว่า)
อัดตะนา หิ กะตัง ปาปัง
อัดตะระชัง อัดตะสำพะวัง
อะพิมัดถะติ ทุมเมทัง
วะชิรัง วำหะยัง มะนิง.

(แปลว่า)
บาปอันตนทำไว้เอง
เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมย่ำยีบุคคลผู้มีปัญญาทราม

ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณี อันเกิดแต่หิน ฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุที่มาประชุมกัน บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2011, 11:40:28 am »


เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู๋ในพระเชตะวัน ทรงปรารภมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” เป็นต้น

ธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ผู้หนึ่ง ได้ไปขออนุญาตสามีเพื่อบวชเป็นภิกษุณี เมื่อเข้าไปบวชนั้นได้ไปอยู่ในสำนักของนางภิกษุณีของฝ่ายพระเทวทัตเพราะความ ไม่รู้ ธิดาเศรษฐีผู้นี้ตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวชเป็นภิกษุณีแต่นางไม่รู้ พอเข้าไปอยู่ในสำนักภิกษุณีไม่นานครรภ์ของนางก็เริ่มโตขึ้นๆ พวกภิกษุณีทั้งหลายจึงพานางเข้าไปพบพระเทวทัต พระเทวทัตก็ได้สั่งให้นางสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ดังเดิม แต่นางได้แจ้งแก่ภิกษุณีอื่นๆว่า นางไม่ได้ตั้งใจบวชเป็นภิกษุณีอยู่ในฝ่ายพระเทวทัต แต่มาอยู่เพราะความ ไม่รู้ ขอท่านได้โปรดพานางไปเข้าเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวันด้วยเถิด ต่อมานางก็ได้ถูกพาตัวไปเข้าเฝ้าพระศาสดา พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีว่า นางตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อนที่จะมาบวชเป็นภิกษุณี แต่เพื่อจะไม่ให้เกิดข้อครหาในภายหลัง จึงได้รับสั่งให้คนไปเชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล มหาอนาถปิณฑิกเศรษฐี จุลลอนาถปิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา และบุคคลในตระกูลใหญ่อื่นๆมาเฝ้า

แล้วรับสั่งให้พระอุบาลีเถระชำระอธิกรณ์ในครั้งนี้ นางวิสาขาได้นำนางภิกษุณีผู้มีครรภ์เข้าไปอยู่ในม่าน แล้วทำการตรวจสอบตามมือเท้าสะดือและท้องของนางก็แน่ใจว่านางตั้งครรภ์มา ตั้งแต่ตอนเป็นฆราวาส จึงได้นำเรียนพระอุบาลีได้ทราบ พระอุบาลีจึงได้ประกาศในท่ามกลางคณะบุคคลที่ชุมนุม ณ ที่นั้นว่า นางภิกษุณีเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อตั้งครรภ์ครบ 10 เดือน นางภิกษุณีก็ได้คลอดบุตรเป็นเพศชาย และถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลนำไปทรงเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และทรงตั้งชื่อให้ว่า กุมารกัสสปะ เมื่อทารกกุมารกัสสปะอายุได้ 7 ขวบ และทราบว่ามารดาของตนเป็นภิกษุณี ก็ได้ออกบวชเป็นสามเณร อยู่ในสำนักของพระศาสดา เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วจึงได้นามว่า กุมารกัสสปเถระ ท่านกุมารกัสสปเถระ ได้เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วเข้าอยู่ในป่า และได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างไม่ลดละ ชั่วเวลาไม่นานนักก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังอยู่ในป่าต่อไปเป็นเวลา 12 ปี

ข้างภิกษุณีผู้มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ไม่ได้พบพระเถระผู้บุตรเป็นเวลายาวนานถึง 12 ปี ก็มีความกระหายใคร่พบพระเถระเป็นอย่างมาก อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่นางกำลังเดินบิณฑาตอยู่นั้น ได้แลเห็นพระเถระผู้บุตรเดินอยู่ที่ถนน ก็วิ่งตามพระเถระพลางร้องไห้เรียกชื่อพระเถระไปพลาง พระกุมารกัสสปเถระ เมื่อเห็นเป็นมารดา ก็คิดว่า หากว่าท่านพูดดีด้วยกับมารดา นางก็จะยึดติดอยู่กับตัวท่านอยู่ ก็จะเป็นการทำลายอนาคตของนาง ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์ในอนาคตคือการบรรลุนิพพานของมารดา พระเถระจึงได้กล่าวาจาหยาบคายออกไปว่า “ท่านมัวทำอะไรอยู่หรือ แค่ความรักเล็กน้อยในบุตร ท่านก็ยังตัดไม่ได้” เมื่อได้ยินคำพูดของบุตรเช่นนั้น นางภิกษุณีถึงกับตะลึง คิดไม่ถึงว่าจะได้ยินคำพูดเช่นนั้นจากปากของบุตร นางรำพึงในใจว่า “เราร้องไห้ถึงบุตรนี้มาเป็นเวลานานถึง 12 ปี แต่เขากลับเป็นคนใจดำกับเรา จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะไปมัวรักมัวพะวงถึงเขา “ พอคิดได้เช่นนี้ นางก็ตัดความรักในบุตร และก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันเดียวกันนั้นเอง

อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้ตั้งกระทู้ถามกันในธรรมสภาว่า “ท่านทั้งหลาย พระกุมารกัสสปเถระ และพระเถรีเป็นคนดีแท้ๆ แต่ถูกพระเทวทัตทำลาย ดีแต่ว่าพระศาสดาได้เข้าช่วยเกื้อหนุนอุ้มชูไว้จึงเป็นอย่างนี้ได้ น่าอัศจรรย์จริง ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงช่วยเหลือชาวโลก” เมื่อพระศาสดาได้ทราบในกระทู้ของการสนทนา ได้ตรัสว่า มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้นที่พระองค์ เกื้อหนุนอุ้มชูบุคคลทั้งสองไว้ แม้ในอดีตพระองค์ก็เคยช่วยมาแล้ว และได้ตรัสนิโครธชาดก ที่กล่าวถึงแม่เนื้อซึ่งกำลังครรภ์แก่ได้รับความช่วยเหลือจากพระยาเนื้อจน ไม่ต้องขึ้นเขียงตายทั้งกลม ต่อจากนั้นก็ได้ตรัสว่า การที่พระเถรีตัดความรักในบุตรแล้วหันมาพึ่งตนเองนั้น เป็นสิ่งถูกต้อง เพราะ “ภิกษุทั้งหลาย คนจะไปสวรรค์ หรือจะบรรลุพระนิพพานได้นั้น จะต้องพึ่งตนเอง จะไปพึ่งคนอื่นไม่ได้”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน
นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ ฯ

(อ่านว่า)
อัดตา หิ อัดตะโน นาโถ
โก หิ นาโถ ปะโร สิยา
อัดตะนา หิ สุทันเตนะ
นาถัง ละพะติ ทุนละพัง.

(แปลว่า)
ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่า
พึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่ง
ที่บุคคลได้โดยยาก
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2011, 07:20:59 am »


เรื่องพระปธานิกติสสเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปธานิกติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า “อตฺตานญฺเจ ” เป็นต้น

พระปธานิกติสสเถระ หลังจากเรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็เดินทางเข้าไปในป่าพร้อมด้วยภิกษุอื่นๆอีก 500 รูป เมื่อไปถึงป่าแล้วพระก็ได้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อพวกท่านได้เล่าเรียนพระกัมมัฏฐานมาแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติสมณธรรมกันอย่างจริงจัง หลังจากให้โอวาทพระภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตัวพระเถระเองก็ได้นอนหลับ พวกพระภิกษุหนุ่มทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติตามโอวาทของพระด้วยดี โดยทุกรูปได้เดินจงกรมในยามแรก แต่เมื่อจะกลับเข้าไปนอนในตอนยามที่สอง พระเถระก็ได้ตื่นขึ้นมาบอกให้พระภิกษุเหล่านั้นกลับไปเดินจงกรม ส่วนพระเถระเองพอบอกแล้วก็กลับไปนอน เมื่อพระภิกษุทั้งหลายออกกลับไปเดินจงกรมในมัชฌิมยาม และจะกลับไปนอนในปัจฉิมยาม พระเถระก็ตื่นขึ้นมาบอกให้พระภิกษุเหล่านั้นกลับไปเดินจงกรม แต่พอบอกเสร็จพระเถระก็กลับไปนอนเช่นเดิม เมื่อพระเถระทำอยู่อย่างนี้ พระภิกษุทั้งหลายก็ไม่สามารถกำหนดพระกัมมัฏฐาน เพราะจิตไม่เป็นสมาธิ วันหนึ่งพวกพระเหล่านี้ก็ได้ตัดสินใจที่จะทำการสืบดูว่า อาจารย์ของพวกตนกระทำความเพียรในการปฏิบัติสมณธรรมอย่างยิ่งยวดอย่างที่ท่าน สอนหรือไม่

ก็ได้พบว่าอาจารย์ของพวกตนได้แต่สอนไม่ได้ปฏิบัติตนตามที่สอนแต่อย่างใด ได้แต่นอนหลับอยู่เป็นนิตย์ เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการปฏิบัติธรรมโดยไม่มีเวลา พักผ่อน ก็จึงได้ส่งผลให้แต่ละรูปไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษใดๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้เดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดา และได้กราบทูลเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นให้พระศาสดาได้ทรงทราบ พระศาสดาได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ได้ทำอันตรายแก่พวกเธอ ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนั้นก็ได้ทำอันตรายแก่พวกเธอเหมือนกัน” เมื่อภิกษุทั้งหลายแสดงความสนใจที่จะสดับเรื่องในอดีตชาติ พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องในอกาลรวกุกกุฏชาดก(ชาดกว่าด้วยไก่ที่ขันไม่เป็นเวลา ) เสร็จแล้วได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันธรรมดาภิกษุ เมื่อกล่าวสอนคนอื่น พึงฝึกฝนให้ดีเสียก่อน เพราะบุคคล เมื่อกล่าวสอนอย่างนั้น เป็นผู้ฝึกดีแล้ว ชื่อว่าย่อมฝึกผู้อื่นได้”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา
ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ
อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม ฯ

(อ่านว่า)
อัดตานันเจ ตะถา กะยิรา
ยะถันยะมะนุสาสะติ
สุทันโต วะตะ ทะเมถะ
อัดตา หิ กิระ ทุดทะโม.

(แปลว่า)
ถ้าบุคคลพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น
บุคคลผู้มีตนฝึกดีแล้วหนอ จึงควรฝึกผู้อื่น
เพราะได้ยินว่า ตนฝึกฝนได้โดยยาก.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุประมาณ 500 รูปนั้น บรรลุพระอรหัตตผล.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2011, 06:51:22 am »


เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน ทรงปรารภพระอุปนันทะศากยบุตร ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า “อตฺตานญฺเจ ปฐมํ” เป็นต้น

พระอุปนันทะศากยบุตร เป็นผู้ฉลาดในธรรมกถาการสั่งสอนผู้อื่น โดยท่านจะสอนผู้อื่นไม่ให้มีความละโมบ ให้มีความมักน้อย และท่านจะพรรณนาอานิสงส์ของความมักน้อย(อัปปิจฉตา) และความขัดเกลากิเลสในรูปแบบของธุดงควัตร(ธุตังคะ) อยู่ เป็นนิตย์ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ท่านมิได้ปฏิบัติตามที่ท่านสอน หากแต่ได้ไปนำเอาจีวรและปัจจัยอื่นๆที่คนถวายแก่พระรูปอื่นมาเป็นของตัวเอง

มีอยู่คราวหนึ่ง พระอุปนันทะศากยบุตร ได้เดินทางไปที่วัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา พวกพระภิกษุหนุ่มรูปในวัดแห่งนั้น มีความประทับใจในคำสอนของท่าน ก็ได้กราบอาราธนาท่านให้จำพรรษาในวัดแห่งนั้น ท่านก็ได้ถามว่า ปกติพระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้จะได้ผ้าจำนำพรรษากี่ผืน เมื่อพวกภิกษุตอบว่าปกติจะได้ผืนเดียว ท่านก็จึงไม่เข้าจำพรรษาในวัดแห่งแรกนี้ ได้แต่ฝากรองเท้าไว้คู่หนึ่ง แล้วเดินทางไปยังวัดที่สอง ท่านก็ได้ถามคำถามเดียวกันกับพระภิกษุในวัดที่สอง

เมื่อพวกพระภิกษุในวัดที่สองบอกว่า จะได้ผ้าจำนำพรรษารูปละ 2 ผืน ท่านก็ยังไม่เข้าจำพรรษาที่วัดแห่งที่สองนั้น ได้แต่ฝากไม้เท้าไว้ แล้วเดินทางต่อไปยังวัดที่สาม ท่านก็ตั้งคำถามแบบเดิมกับพระภิกษุในวัดที่สาม เมื่อพวกพระภิกษุในวัดที่สามบอกว่า จะได้ผ้าจำนำพรรษารูปละ 3 ผืน ท่านก็ยังไม่ยอมเข้าจำพรรษาที่วัดที่สามนั้น ได้แต่ฝากตุ่มน้ำเอาไว้ แล้วเดินทางต่อไปยังวัดที่สี่ เมื่อท่านถามพระในวัดที่สี่และพอทราบว่า จะได้ผ้าจำนำพรรษารูปละ 4 ผืน ท่านก็ได้ตัดสินใจที่จะเข้าจำพรรษาที่วัดที่สี่นี้

เมื่อถึงวันออก พรรษา ท่านก็ได้ไปทวงผ้าจำนำพรรษาจากวัดต่างๆที่ท่านฝากสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว ไว้นั้น จากนั้นก็นำผ้าจำนำพรรษาทั้งหมดบรรทุกเกวียนเดินทางกลับวัดเดิม ในระหว่างทาง ท่านได้พบพระภิกษุหนุ่ม 2 รูปกำลังทะเลาะวิวาทกันเพราะได้จีวรมา 2 ผืนและผ้ากัมพล 1 ผืนแล้วแบ่งกันไม่ลงตัว เมื่อพระทั้งสองรูปเห็นพระอุปนันทะมาก็ได้ขอร้องให้ท่านช่วยเป็นตุลาการ ตัดสินข้อพิพาทแย่งชิงผ้ากันในครั้งนี้ ท่านก็ได้ตัดสินให้พระแต่ละรูปได้จีวรไปรูปละผืน ส่วนท่านเองได้ผ้ากัมพลราคาแพงในฐานะทำหน้าที่เป็นตุลาการ

พระภิกษุ ทั้งสองรูปไม่พอใจกับการตัดสินนั้น แต่ก็ไม่ทราบว่าจะโต้แย้งอย่างไร จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดา และพระศาสดาตรัสว่า พระอุปนันทะมิใช่จะสร้างความเดือนร้อนให้แก่พระทั้งสองรูปแต่เฉพาะในชาตินี้ เท่านั้น แต่ยังเคยสร้างเรื่องเดือดร้อนแบบนี้ในอดีตเหมือนกัน จากนั้นได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าว่า นากสองตัว ไปได้ปลาตะเพียนมาตัวหนึ่ง เกิดทะเลาะกันเพราะไม่สามารถแบ่งปลาตะเพียนตัวนั้นอย่างไรดี เมื่อสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมา จึงได้ขอร้องให้สุนัขจิ้งจอกตัวนั้น ช่วยทำหน้าที่เป็นตุลาการระงับข้อพิพาท

ข้างสุนัขจิ้งจอกก็ได้ตัดสินให้นากตัวหนึ่งได้ส่วนหางของปลาตะเพียน ให้นากอีกตัวหนึ่งได้ส่วนหัวของปลาตะเพียน สำหรับส่วนกลางของปลาตะเพียนให้ตกเป็นของนากผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการ นากสองตัวในอดีตก็คือพระภิกษุสองรูปในปัจจุบัน ส่วนสุนัขจิ้งจอกในอดีตก็คือพระอุปนันทะ หลังจากที่ได้ทรงเล่าอดีตนิทานจบลงแล้ว เมื่อจะทรงติเตียนพระอุปนันทะ จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาผู้จะสั่งสอนผู้อื่น พึงให้ตนตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อนทีเดียว”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตานเมว ปฐมํ
ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย
น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต.

(อ่านว่า)
อัดตานะเมวะ ปะถะมัง
ปะติรูเป นิเวสะเย
อะถันยะมะนุสาเสยยะ
นะ กิลิดเสยยะ ปันดิโต.

(แปลว่า)
บัณฑิตพึงตั้งตนนั่นแล
ในคุณอันสมควรก่อน
พึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง

จะไม่พึงเศร้าหมอง.

เมื่อพระธรรมเทศฯจบลง ภิกษุ 2 รูปนั้น ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชน.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2011, 05:50:20 am »


                         

เรื่องย่อในพระธรรมบท (อัตตวรรค)
เรื่องโพธิราชกุมาร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเภสกฬาวัน ทรงปรารภโพธิราชกุมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อตฺตานญฺเจ” เป็นต้น

โพธิราชกุมาร รับสั่งให้สร้างปราสาทชื่อว่าโกกนท (อ่านว่า โกกะนด, แปลว่าบัวแดง) มีรูปร่างไม่เหมือนปราสาทอื่นๆบนพื้นแผ่นดิน มีความตระหง่านตระการตา ดุจว่าลอยอยู่บนนภากาศ เมื่อปราสาทถูกสร้างสำเร็จแล้ว พระราชกุมารได้ทรงทำการฉลองปราสาท ด้วยการกราบทูลเสด็จพระศาสดาเพื่อทรงรับอาหารบิณฑบาต ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ พระราชกุมารได้ทรงตกแต่งปราสาทและประพรมในปราสาทด้วยของหอมที่ผสมกันสี่ อย่าง และได้รับสั่งให้ปูพื้นปราสาทด้วยผ้าขาวตั้งแต่ธรณีประตูปราสาทไปจนถึงห้อง ข้างใน ด้วยเหตุพระราชกุมารยังไม่มีพระโอรสหรือพระธิดา พระองค์จึงได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในเชิงเสี่ยงทายว่าหากพระองค์จะได้พระโอรส หรือพระธิดา ก็ขอให้พระศาสดาทรงเหยียบพระบาทลงที่ผ้าขาวที่รับสั่งให้ปูไว้นี้เถิด เมื่อพระศาสดาเสด็จถึง พระราชกุมารได้กราบทูลพระศาสดาให้เสด็จเข้าไปในห้องแห่งปราสาทถึงสามครั้ง แต่พระศาสดาประทับยืนนิ่ง และหันพระพักตร์ไปทางพระอานนท์

พระอานนท์เข้าใจในสัญญาณของพระศาสดา จึงทูลให้พระราชกุมารทรงรื้อผ้าขาวออกจากบันไดที่ประตูทางเข้าของปราสาทเสีย ก่อน เมื่อได้มีการดำเนินการรื้อผ้าขาวออกจากประตูทางเสด็จเรียบร้อย พระศาสดาจึงเสด็จเข้าไปสู่ปราสาท ต่อแต่นั้น พระราชกุมารได้ทูลถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระศาสดา จากนั้นได้ทูลถามพระศาสดาว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงเหยียบผ้าขาวที่ปูลาดไว้นั้น พระศาสดาได้ตรัสถามกลับว่า ที่พระราชกุมารทรงปูลาดผ้าไว้แล้วนั้น ได้ตั้งสัตยาธิษฐานเป็นการเสี่ยงทายว่าหากพระองค์จะได้พระโอรสหรือพระธิดาก็ ขอให้พระศาสดาทรงเหยียบที่ผ้าขาวนั้นใช่หรือไม่ เมื่อพระราชกุมารกราบทูลรับว่าใช่ พระศาสดาจึงตรัสว่า พระราชกุมารและพระชายาจะไม่มีบุตรหรือธิดา เพราะเคยกระทำกรรมชั่วมาในอดีตชาติ และพระองค์ได้นำบุรพกรรมของพระราชกุมารและพระชายามาตรัสว่า

ในชาติหนึ่ง พระราชกุมารและพระชายา พร้อมด้วยผู้โดยเป็นจำนวนมาก เสด็จโดยทางเรือใหญ่ไปในมหาสมุทร เรือนั้นเกิดอับปาง ทุกคนในเรือเสียชีวิตทั้งหมด ผู้ที่รอดชีวิตมีเพียงสองคนคือพระราชกุมารและชายา ผู้รอดชีวิตทั้งสองได้ไปอาศัยอยู่ที่เกาะร้างแห่งหนึ่ง และไม่มีอาหารอย่างอื่นรับประทาน จึงได้เลี้ยงชีวิตด้วยการรับประทานไข่นกเผาไฟ เมื่อไข่นกหมดแล้ว ก็รับประทานลูกนกเผาไฟ เมื่อลูกนกหมดแล้ว ก็รับประทานพ่อนกและแม่นกเผาไฟ ทั้งสองคนเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างนี้ ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นบาป มัวแต่ประมาทในทั้งสามวัย พระศาสดาได้ตรัสสรุปว่า ที่พระราชกุมารและชายาไม่มีโอรสและพระธิดานั้น ก็เพราะทั้งสองมัวประมาทในวัยทั้งสาม “ราชกุมาร ” พระศาสดาตรัส “ก็ในกาลนั้น ถ้าพระองค์กับภรรยา จักถึงความไม่ประมาท แม้ในวัยหนึ่งไซร้ บุตรหรือธิดา พึงเกิดขึ้นแม้ในวัยหนึ่ง ก็ถ้าบรรดาท่านทั้งสองแม้คนหนึ่ง จักได้เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วไซร้ บุตรหรือธิดา จักอาศัยผู้ไม่ประมาทนั้นเกิดขึ้น ราชกุมาร ก็บุคคลเมื่อสำคัญตนว่า เป็นที่รักอยู่ พึงไม่ประมาท รักษาตนแม้ในวัยทั้งสาม เมื่อไม่อาจรักษาได้อย่างนั้น พึงรักษาให้ได้แม้ในวัยหนึ่ง”

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา
รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ
ติณฺณมญฺญตรํ ยามํ
ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต ฯ

(อ่านว่า)
อัดตานันเจ ปิยัง ชันยา
รักเขยยะ นัง สุรักขิตัง
ตินนะมันยะตะรัง ยามัง
ปะติชักเคยยะ ปันดิโต.

(แปลว่า)
ถ้าบุคคลทราบว่าตนเป็นที่รัก
พึงรักษาตนนั้น ให้เป็นอันรักษาด้วยดี
บัณฑิตพึงประคับประคองตน
ตลอดยามทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง โพธิราชกุมาร ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนาได้สำเร็จประโยชน์ แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว.