ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 24, 2011, 12:03:52 pm »ฟ้าสางทางความลับสุดยอด (๓)
การได้เกิดมามีชีวิต ยังไม่ควรจัดว่าบุญหรือบาป แต่ยังเป็นกลางๆ อยู่; แล้วแต่ว่าเราจะจัดให้เป็นอย่างไร คือเป็นบุญเป็นบาป หรือให้พ้นบุญพ้นบาปไปเสียเลยก็ได้ (๔๑)
มนุษย์ที่ไม่เข้าถึง หรือไม่รู้ความลับสุดยอดของมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ไปได้อย่างไร; มนุษย์คือผู้ที่อาจจะมีจิตใจสูง อยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์พอสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ หรือเหนือปัญหาและความทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นยอดของมนุษย์ (๔๒)
มนุษย์ไม่ควรบูชาอะไร นอกจากความถูกต้องของความเป็นมนุษย์เอง คือความมีจิตอยู่เหนือปัญหาเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง ซึ่งความหมายนี้มีความหมายรวมถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ อยู่ด้วย ในฐานะเป็นภาวะที่ถูกต้องถึงที่สุด (๔๓)
ถือศาสนาไหนอย่างไร แล้วความทุกข์ไม่มีแก่ท่าน ศาสนานั้นแหละถูกต้องเหมาะสมแก่ท่านอย่างแท้จริง พุทธศาสนารวมอยู่ในศาสนาชนิดนี้ กลัวแต่ว่าท่านจะไม่รู้จักตัวความทุกข์เสียเอง (๔๔)
เมื่ออบรมจิตถึงที่สุดแล้ว จิตจะบังคับกายและตัวมันเองได้ในทุกกรณี สำหรับจะไม่มีความทุกข์ในทุกกรณีอีกเช่นกัน; ขอให้เราศึกษาธรรมชาติ หรือธรรมสัจจะข้อนี้กันเถิด (๔๕)
ความรู้สึกอันเป็นทุกข์ทรมาน กับลักษณะแห่งความทุกข์ทรมาน มิใช่เป็นสิ่งเดียวกัน; คนอาจจะมีทุกขลักษณะโดยที่จิตไม่มีทุกขเวทนา (๔๖)
คนโบราณที่รู้ธรรมะกล่าวว่า "ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ (ไม่น่ารัก)" นั้น มีความจริงว่า ถ้าไปยึดถือเอาด้วยอุปาทานแล้ว ทั้งความชั่วและความดี มันจะกัดผู้นั้นโดยเท่ากัน จงรู้จักมันกันในลักษณะเช่นนี้เถิดทั้งความชั่วและความดี (๔๗)
ทารกและปุถุชนรู้จักทำอะไรๆ ก็แต่เพื่อตนหรืออย่างมากก็เพื่อโลก; แต่สัตบุรุษหรืออริยชน รู้จักทำอะไรๆ ก็เพื่อธรรม คือหน้าที่อันถูกต้องของมนุษย์ (๔๘)
ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกระดับจะต้องทำเพื่อความรอด ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ซึ่งเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน (๔๙)
เมื่อกล่าวโดยพิสดาร คำว่า "ธรรมะ" มี ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติ - ตัวกฏธรรมชาติ - หน้าที่ตามกฏธรรมชาติ - และผลจากหน้าที่นั้นๆ (๕๐)
ในคนเราคนหนึ่งๆ กายและใจเป็นตัวธรรมชาติ กฏที่บังคับชีวิตหรือกายใจอยู่ เรียกว่า กฏของธรรมชาติ หน้าที่ที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของกายและใจ เรียกว่า หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ผลเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามที่เกิดขึ้น เรียกว่า ผลเกิดจากหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ (๕๑)
ธรรมะสามารถช่วยได้ในทุกกรณีอย่างแท้จริง; หากแต่บัดนี้เรายังไม่รู้จักธรรมะและมีธรรมะ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ โดยนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและทันแก่เวลา (๕๒)
เราต้องเตรียมตัวไว้อย่างสำคัญที่สุดสักอย่างหนึ่ง คือเมื่อบางสิ่งหรือแม้ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ แล้วเราก็ยังไม่เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง (๕๓)
พวกเราในยุคนี้ ไม่ได้ค้นคว้าพิสูจน์ทดลองธรรมะเหมือนที่เรากระทำต่อวิชาวิทยาศาสตร์ - ประวัติศาสตร์ - เศรษฐกิจ - ฯลฯ ที่เรากำลังหลงใหลกันนัก; ดังนั้น จึงยังไม่มีธรรมะมาช่วยเรา (๕๔)
เรารู้ธรรมะไม่ได้ เพราะไม่รู้แม้แต่ปัญหาในชีวิตของตัวเอง ที่กำลังมีอยู่ ว่ามีอยู่อย่างไร จึงได้แต่ลูบคลำธรรมะในลักษณะที่เป็นสีลัพพตปรามาส หรือไสยศาสตร์ ไปเสียหมด (๕๕)
คนมีปัญญาแหลมคมอย่างยอดนักวิทยาศาสตร์ ก็มิได้ใช้ความแหลมคมของมัน ส่องเข้าไปที่ตัวปัญหาอันแท้จริงของชีวิต มัวจัดการกันแต่ปัญหาเปลือก อันมีผลทางวัตถุ ร่ำไป (๕๖)
อาจารย์สอนธรรมะ แม้ในขั้นวิปัสสนา ก็ยังสอนเพื่อลาภสักการสิโลกะของตนเองเป็นเบื้องหน้า แล้วจะไม่ให้โมหะครอบงำทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ได้อย่างไร (๕๗)
คนมาเรียนธรรมะวิปัสสนา หวังจะได้อัสสาทะ(รสอร่อย) แก่กิเลสของเขา ตามรูปแบบนั้นๆ ยิ่งขึ้นไป จึงไม่พบวิธีที่จะลิดรอนกำลังของกิเลสเอาเสียเลย (๕๘)
ผู้ที่เรียนโดยมาก ไม่ได้เรียน ด้วยจิตใจทั้งหมด เพราะยังแบ่งจิตใจไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อลองภูมิอาจารย์ หรือ แย่งตำแหน่งอาจารย์ ก็ยังมี ดังนั้น จึงเรียนได้น้อย รับเอาไปน้อย (๕๙)
แม้จะเป็นคนบรมโง่สักเท่าไร เขาก็ยังคิดว่า เขายังมีอะไรที่ดีกว่าอาจารย์ อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ; ดังนั้น จึงมองข้ามความรู้ของอาจารย์เสียบางอย่าง หรือมากอย่างก็ยังมี (๖๐)