เรื่องความเห็นแก่ตัวนี่ อาตมาพูดอยู่บ่อยๆ พูดอะไรก็มักจะวกไปสู่เรื่องนั้นๆ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นฐานของสิ่งทั้งหลายทั้งด้านดีและด้านเสีย ถ้าพูดในด้านเสียแล้ว ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำคนให้คิดผิดไป ให้พูดผิดไป ให้กระทำอะไรๆ ไปในทางที่ผิดที่เสียหาย ก็เพราะฐานที่มีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นก่อน แต่ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว มีความเห็นในด้านธรรมะจริงแล้ว เรื่องผิดมันก็คงจะไม่เกิด เพราะธรรมะนั้น จะช่วยให้เกิดความคิดนึกที่ถูกที่ชอบ ตรงตามเป้าหมาย แต่พอมีตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดที่ผิดเกิดตามขึ้นมา ตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่า นาย “ก” นี่เป็นอยู่กับใครคนหนึ่ง แล้วคนคนนั้นไปกระทำอะไรเข้าสักอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนมากเขาก็เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ควรด้วยประการต่างๆ แต่ว่านาย “ก” ไม่ได้คิดเช่นนั้น ไม่ได้มองเห็นในรูปเช่นนั้น กลับพูดว่าท่านผู้นั้นเป็นคนที่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เช่นนาย “ก” ได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชูจากคนนั้นในเรื่องต่างๆ นานา เจ็บไข้ได้ป่วย ที่เขาช่วยรักษามารดาตาย เขาช่วยทำศพให้ หรือว่ามีความทุกข์ความเดือดร้อนก็วิ่งไปหาให้ความช่วยเหลือ ความช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆ นั้น เป็นเครื่องมัดจิตใจนาย “ก” ให้มีความรักความเคารพต่อบุคคลนั้น แต่ไม่ได้คิดไปถึงว่าสิ่งที่เราได้มันเป็นเรื่องของปัจเจกชน หรือเป็นเรื่องของมหาชน คิดแต่เพียงประการเดียวว่าเขาดีต่อฉันอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนที่เขากระทำอะไรลงไปในเรื่องที่เป็นความผิดความเสียหายนั้น กลับมองไม่เห็น ทำไมจึงมองไม่เห็น ก็เพราะว่าอคติเข้าครอบงำใจ
อคติ คือ ความลำเอียง เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ คือความลำเอียงเพราะรัก เรียกว่าฉันทาคติ, ความลำเอียงเพราะชัง เรียกว่าโทสาคติ, ความลำเอียงเพราะกลัว เรียกว่าภยาคติ, ความลำเอียงเพราะเขลา เรียกว่าโมหาคติ
อคติ 4 ประการนี้ ไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่ง ถ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว ทำให้บุคคลนั้นต้องตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำไมจึงต้องตกต่ำ เพราะว่าความคิดมันผิด การพูดผิด การกระทำผิด การคบหาสมาคมก็จะพลอยผิดพลอยเสียไปด้วย เพราะอาศัยอคติ 4 นี้เป็นฐานอยู่ในใจ เรื่องอื่นที่มันจะเกิดขึ้นมันก็จะเอียงไปตามอคติที่มีอยู่ เช่น เรามีความรัก เราก็มองคนไปในแง่ดี มีประโยชน์แก่ตน ใครมาบอกว่าไม่ดีนั้นไม่ยอมรับ สมมติว่าชายหนุ่มหญิงสาวมีความรักกัน หญิงสาวมีความรักชายหนุ่ม แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่มองแล้วเห็นว่ามันไม่ได้ความ ไอ้เจ้าหนุ่มคนนั้นเป็นคนหยิบโหย่ง ไม่เอางานเอาการ นิสัยไม่ค่อยดีไม่เรียบร้อย แล้วก็มาบอกกับลูกสาวว่า แม่พิจารณาดูแล้วว่าเจ้าหนุ่มคนนี้ที่เธอว่าเป็นแฟนนี่ มันไม่ได้เรื่องอะไร ลูกสาวจะเชื่อไหม จะฟังไหม...ไม่เชื่อหรอก หาว่าคุณแม่รังเกียจอย่างนั้นรังเกียจอย่างนี้ ไม่ชอบแล้วก็พูดอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยประการต่างๆ เขามองไม่เห็นความไม่ดีของคนที่เขารัก เพราะว่าเขารักมาก เขาก็มีอคติมากหน่อย เรียกว่ามีอคติเข้าข้างคนนั้นมากหน่อย ใครที่พูดว่าไม่ดีนั้นจะถูกหาว่าไม่ชอบอย่างนั้นอย่างนี้ล่ะ แล้วมักจะเอาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เช่น อ้างว่าเขาเป็นคนจนบ้างล่ะ เขาไม่มึเทือกเถาเหล่ากอบ้างล่ะ ไม่ยอมรับความจริงที่คนอื่นมองเห็น เพราะว่าตาของตัวนั้นมันเป็นฝ้า มองอะไรมัวไปหมด ไม่เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง
หนุ่มก็เหมือนกันแหละ ถ้าไปรักหญิงสาวแล้ว ถ้าใครไม่ชอบไม่เห็นด้วย มาคัดค้านนี่ เขาก็ไม่ยอมท่าเดียว เขาจะต้องรักของเขาไปจนกระทั่งจะได้สมใจ หรือว่าจนกระทั่งความเสียหายมันเกิดขึ้นแล้วจึงจะรู้ว่า อ้อ.. มันหลงผิดไปแล้ว แต่ว่ามันหลงผิดไปแล้วมันขาดทุนไปตั้งเท่าไรก็ไม่รู้ อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆว่า จะวินิจฉัยเรื่องอะไรนั้น อย่าวินิจฉัยโดยถือเอาตัวเป็นใหญ่ เพราะว่ามักจะเข้าตัว มีอคติเกิดขึ้นในใจ นี่เรียกว่าฉันทาคติ บางทีเกิดโทสาคติขึ้น เราไม่ชอบคนนั้น เมื่อไม่ชอบคนนั้นก็ลงมติว่า ไม่ได้ความ ใช้ไม่ได้ ไม่ดีไม่งามด้วยประการทั้งปวง การที่ลงมติไปในรูปเช่นนั้น ก็มีฐานมาจากว่าตัวไม่ชอบ ตัวไม่ชอบนั่นก็คือ ตัวความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่งเหมือนกัน ไอ้ความชอบนั่นก็คือความเห็นแก่ตัวเหมือนกันแหละ ตัวพอใจตัวพึงใจก็ว่าดี แต่เอาตัวเข้ามาเกี่ยวข้องอีกในรูปหนึ่งว่า ฉันไม่ชอบ ฉันไม่พอใจ เขาทำอะไรๆ ไม่ถูกอารมณ์ของฉัน เราก็เกิดโทสาคติ คือความลำเอียงเกิดขึ้นทันทีว่า คนนั้นใช้ไม่ได้ การกระทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง แม้จะถูกก็ไม่ยอมว่าถูก แต่ถ้าผิดก็เอาเลยล่ะ เรียกว่าได้ทีขี่แพะไล่เลยทีเดียว อันนี้มีอยู่เหมือนกัน เรียกว่าลำเอียงเพราะชังกัน
ลำเอียงเพราะกลัว วินิจฉัยอะไรๆบางเรื่องนี่กลัวอิทธิพลเขา กลัวพรรคพวกเขา กลัวอำนาจกลัวความเป็นใหญ่ การวินิจฉัยนั้นก็มักจะเข้าไปในสิ่งที่ตัวกลัว เพื่อให้ตัวปลอดภัย ก็ความเห็นแก่ตัวอีกเหมือนกัน เอาตัวเข้าไปใช้อีก แล้วก็วินิจฉัยในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ มันผิดไปไม่ตรงตามเรื่องที่เป็นความจริง นี่เรียกว่าลำเอียงเพราะความกลัว ส่วนลำเอียงเพราะความหลงนั้น คือไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่เข้าใจอะไร ไม่มีปัญญาไม่มีเหตุไม่มีผล ได้ยินเขาว่าอย่างไรก็ว่าไปตามเขา อย่างนี้เขาเรียกว่าโมหาคติ คนเราถ้ามีอคติอย่างนี้แล้ว มันก็เขวไปเท่านั้นเอง
ทีนี้คนนั้นเป็นใคร ก็มักจะใช้ความลำเอียงของตัวนั่นแหละ ไปทำในเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อไป ให้เกิดความเสียหายไปด้วยประการต่างๆ การวินิจฉัยอะไรว่าดีว่าถูก ว่าชั่วว่าไม่ชั่ว จะเอาอคติมาใช้ไม่ได้ เราจะต้องวิจิจฉัยด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นธรรมนั้นต้องเอาอะไรหลายอย่าง เข้ามาประกอบ เช่นเอาศีลทั้งห้าข้อมาวินิจฉัยกันก่อน การกระทำนั้นจะดีหรือชั่ว จะเป็นความผิดความเสียหรือไม่ ศีลห้ามีอะไรบ้างโดยมากเราก็พอรู้กันอยู่ คือการไม่ฆ่ากัน การไม่ลักของกัน การไม่ประพฤติล่วงเกินความรัก ความชอบใจกัน การไม่พูดจาโกหกหลอกลวงกัน ไม่เสพของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันนี้เป็นฐานเบื้องต้น ที่เราจะเอามาวินิจฉัยว่าอะไรถูกอะไรผิด
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 115 มิถุนายน 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)