ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2011, 10:14:39 pm »พระยาวัสสวดีมารทูลอาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ภาคที่ ๘
ในภาค ๘ มีเรื่องราวที่กล่าวถึงยักษ์ดังนี้
๑.เรื่องโชติกะเศรษฐี กล่าวถึงยักษ์ในลักษณะเป็นผู้อารักขาทรัพย์สมบัติของเศรษฐีในทิศต่าง ๆ ดังนี้
ก็บรรดาขุมทรัพย์ทั้งหลาย ขุมทรัพย์ขุมหนึ่ง ได้มีประมาณโยชน์หนึ่ง, ขุมหนึ่งได้มีประมาณ ๓ คาวุต, ขุมหนึ่งได้มีประมาณกึ่งโยชน์, ขุมหนึ่งได้มีประมาณคาวุตหนึ่ง, ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ยักษ์ ๗ ตนยึดการรักษาไว้แล้ว. ในซุ้มประตูที่ ๑ ยักษ์ชื่อยมโมลีพร้อมด้วยยักษ์พันหนึ่งที่เป็นบริวารของตน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตที่ ๒ ยักษ์ชื่ออุปปละพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๒ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๓ ยักษ์ชื่อวชิระพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๓ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ยักษ์ ชื่อวชิรพาหุพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๔ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๕ ยักษ์ชื่อสกฏะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๕ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๖ ยักษ์ชื่อสกฏัตถะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๖ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ยักษ์ชื่อทิสามุขะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๗ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว. ทั้งภายในและภายนอกแห่งปราสาท ได้มีการรักษาอย่างมั่นคงแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.
๒. เรื่องภิกษุ ๕ รูป ในอดีตไม่สำรวมอินทรีย์จึงถูกรากษสจับกินเป็นอาหาร ข้อความในคัมภีร์มีดังนี้
ในระหว่างทาง ไม่ประพฤติในโอวาทของบัณฑิต แลดูอยู่ ถูกรากษสทั้งหลายเคี้ยวกิน ถึงความสิ้นไปแห่งชีวิต, ส่วนพระราชาผู้ทรงสำรวมในอารมณ์เหล่านั้น ไม่เอื้อเฟื้อถึงนางยักษิณี ผู้มีเพศดุจเทพดา แม้ติดตามไปอยู่ข้างหลัง ๆ เสด็จถึงเมืองตักกสิลาโดยสวัสดิภาพ แล้วถึงความเป็นพระราชา คือเราแล" แล้วตรัสว่า"ธรรมดาภิกษุ ควรสำรวมทวารแม้ทั้งหมด, เพราะว่า ภิกษุสำรวมทวารเหล่านั้นนั่นแล ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"
ข้อสังเกต
ยักษ์ในเรื่องโชติกะเศรษฐี มีฐานะเป็อารักขเทวดา คือเป็นเทวดาคอยอารักขา หรือรักษาสถานที่ หรือสิ่งล้ำค่าที่คนส่วนมากให้ความเคารพนับถือ รวมถึงคอยรักษาทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้มีบุญบารมีสูง เช่นกรณีของโชติกะเศรษฐี ยักษ์ในความหมายนี้ จึงเปรียบเสมือน “ผีบ้าน ผีเรือน” ตามคติความเชื่อของคนไทยโบราณ ส่วนยักษ์ในเรื่องที่สอง (ภิกษุ ๕ รูป) มีลักษณะคล้ายกับยักษ์ที่กล่าวมาแล้วในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องอายุวัฒนกุมาร (ภาค ๔) ภิกษุมีภัณฑะมาก (ภาค ๕) เป็นต้น
บทสรุป
โดยภาพรวม ยักษ์ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมบท เป็นอมนุษย์ (ไม่ใช่มนุษย์) มีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งมารทั้งนี้ด้วยอำนาจแห่งกรรมดี-กรรมชั่วที่ตนสั่งสมมาในอดีตชาติในลักษณะที่ก้ำกึ่งกัน แม้จะมีสถานะเป็นเทพ แต่ก็เป็นเทพชั้นต่ำ มีหน้าที่คอยอารักขาคุ้มครองท้าวเวสสวรรณบ้าง มีหน้าที่อารักขาสถานที่ หรือสิ่งล้ำค่าที่คนส่วนมากให้ความเคารพนับทั้งที่เป็นของส่วนรวม และของที่เป็นส่วนบุคคล ขณะเดียวกันเมื่อต้องตกอยู่ในฐานะเป็นมารด้วยอำนาจกรรมเก่า ก็เป็นเหตุให้สร้างเวรสร้างกรรมใหม่ขึ้นอีก หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจเพิ่มวิบากกรรมให้หนักยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
เนื่องจากมีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งมาร และมีฤทธิ์ หรืออำนาจตามฐานานุศักดิ์ของตน ๆ ยักษ์จึงสามารถให้ทั้งคุณและโทษแก่มนุษย์ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์เซ่นสรวงบูชา เพื่อนำมาซึ่งความสุขสวัสดีแก่ตนเอง
ในกรณีของการให้คุณและให้โทษ ยักษ์สามารถกระทำได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือไปกระทำในร่างของยักษ์ โดยอ้อม ก็อาจจะแปลงเป็น หรือเข้าสิงร่างของสัตว์ หรือบุคคล แล้วให้ร่างนั้นกระทำการแทน เช่นกรณีของสานุสามเณรที่ถูกยักษ์สิงร่าง หรือกรณีที่ยักษ์แปลงตัวเป็นบิดาคอยอารักขาเด็กน้อยที่นอนคนเดียวอยู่นอกเมือง เป็นต้น
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริง
มีลักษณะเช่นเดียวกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์
ข้อสังเกตส่งท้าย
ยักษ์ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมบท หากมองย้อนกลับมาในสังคมไทย สามารถสะท้อนแนวคิดเรื่องวิญญาณนิยมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในสังคมชนบท นับตั้งแต่อดีต กระทั่งถึงปัจจุบัน จะมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา หรือ ภูติ ผี ปิศาจที่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ และความเชื่อเหล่านี้ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในด้านต่าง ๆ อย่างแน่นแฟ้นจนไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด
***
(๑. เรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฎในคัมภีร์ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกก็ตาม คัมภีร์อรรถกถาก็ตาม มีหลายลักษณะ หลายประเภท บางเรื่องเป็นสัจธรรม หรือเป็นแก่นธรรมคำสอนก็มี บางเรื่องก็เป็นตำนานเล่าสืบ ๆ กันมาก็มี บางเรื่องเป็นคติความเชื่อก็มี หากเปรียบง่าย ๆ พระไตรปิฎกก็เปรียบเหมือนกับป่าใหญ่ คำสอนต่าง ๆ ก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในป่าให้คุณให้ประโยชน์ (รวมทั้งให้โทษ) แตกต่างกันไป หากได้พิจารณาข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์อย่างดีแล้ว ก็ทราบทันทีว่า อะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก อะไรคือกระพี้ การศึกษาคัมภีร์โดยรวม จะทำให้เราสามารถแยกได้ว่า อะไรคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน อะไรคือส่วนที่เป็น "บริบท" ที่พระพุทธศาสนากล่าวถึง อะไรคือสิ่งที่ควรยึด อะไรคือส่วนที่ควรรู้ อะไรคือส่วนที่ควรวาง
๒. พระพุทธศาสนาท่านเน้นแนวให้ทุกคนเข้าถึงความจริงด้วยตนเอง คำสอนที่เป็นแก่น ทรงท้าทายให้พิสูจน์ด้วยตนเองก่อนตกลงปลงใจให้เชื่อ ส่วนประเด็นเรื่องเหลือเชื่อ รวมทั้งเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็เป็นส่วนที่เราจะต้องพิจารณารายละเอียดเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าจริง ๆ แล้ว มันคือะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไรจึงนำมากล่าวถึง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ทรงวางเกณฑ์ตัดสินไว้ให้แล้วว่าอะไรควรนับว่าเป็นคำสอน อะไรไม่ใช่
๓. กรณีเรื่องยักษ์ มีการกล่าวถึงไว้หลายลักษณะ เรื่องนี้ ไม่ถือว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา หากแต่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งทำให้เราได้ทราบคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงนั่นเป็นอย่างไร เพื่อก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ
๔. เรื่องวิทยาศาสตร์จะยอมหรือไม่ยอมรับ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญของคำสอนนั้นอยู่ที่สามารถดับทุกข์ หรือสามารถแก้ปัญหาได้ ตรงนี้ถือเป็นแก่นของคำสอน และเป็นหลักการร่วมกันที่เราชาวพุทธยึดถือ)
:http://www.oknation.net/blog/chaiyassu/2010/12/30/entry-1
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ