เรื่องพระพหุปุตติกาเถรีพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระพหุปุตติกาเถรี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย จ วสฺสสตํ เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง ในนครสาวัตถี มีครอบครัวสามีภรรยาตระกูลหนึ่ง มีสมาชิกประกอบด้วยบุตรชาย 7 คนและบุตรสาว 7 คน บุตรชายและบุตรสาวทั้ง 14 คนเมื่อเจริญวัยแล้ว ก็ได้แต่งงานและดำรงครอบครัวมีความสุขตามอัตภาพ
ต่อมา บิดาของคนเหล่านั้นได้เสียชีวิตลง มารดาก็ยังเก็บสมบัติทั้งหมดเอาไว้โดยที่มิได้แบ่งให้แก่บุตรชายและบุตรสาวแต่อย่างใด บุตรชายและบุตรสาวทั้งหลายต่างต้องการมรดกจึงได้กล่าวกับมารดาว่า “
จะมีประโยชน์อะไรที่แม่ต้องเก็บมรดกนี้ไว้ แม่ควรแบ่งมรดกให้แก่พวกเรา พวกเราก็จะช่วยกันคอยดูแลแม่”
พวกบุตรชายและบุตรหญิงต่างช่วยกันพูดกรอกหูมารดาอยู่ทุกวัน จนฝ่ายมารดาเชื่อว่าพวกเขาจะเลี้ยงดูตน นางจึงตัดสินใจแบ่งมรดกทั้งหมดให้แก่บุตรและธิดา โดยที่มิได้เก็บส่วนใดไว้สำหรับตนเองเลยหลังจากที่ได้แบ่งมรดกกันไปเรียบร้อยแล้ว นางผู้มารดาก็ได้ไปอยู่กับบุตรชายคนหัวปีเป็นคนแรก ลูกสะใภ้คนโตได้บ่นว่า “
คุณแม่มาอยู่กับพวกเราที่นี่ ราวกับว่าแบ่งมรดกให้เรา 2 ส่วน กระนั้นแหละ” เมื่อได้ยินลูกสะใภ้คนโตพูดกระแนะกะแหนอย่างนั้น นางก็ได้ออกจากบ้านบุตรชายคนโตไปอยู่ที่บ้านของบุตรชายคนรอง แต่ก็ต้องพบกับคำบ่นว่ากระแนะกระแหนแบบเดียวกันนั้น ไม่ว่าจะไปที่บ้านใคร จะเป็นบ้านบุตรชายและบุตรสาวคนไหน ทุกคน
ล้วนมีปฏิกิริยาแบบเดียวกันหมดคือไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูนาง
เมื่อนาง
ถูกดูหมิ่นเช่นนี้ ก็คิดว่า “
เรื่องอะไรเราจะไปอยู่ตามบ้านของพวกลูกๆเหล่านี้ เราควรออกบวชเป็นภิกษุณี” แล้วไปสู่สำนักของนางภิกษุณีขอบรรพชา ซึ่งนางภิกษุณีเหล่านั้นก็ไม่ขัดข้องได้ให้นางบรรพชาตามความปรารถนา เมื่อนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว จึงมีชื่อว่า “พหุปุตติกาเถรี(พระเถรีผู้มีบุตรมาก) นางมีความคิดว่า “
เรามาบวชตอนแก่ เราไม่ควรประมาท” จึงใช้ความบากบั่นบำเพ็ญสมณธรรมตลอดคืนยังรุ่ง โดยนึกอยู่เสมอว่า “
จักทำตามธรรมที่พระศาสดาทรงแสดง”
พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปดังประทับนั่งตรงหน้า ตรัสกับนางว่า “
พหุปุตติกา ความเป็นอยู่แม้ครู่เดียว ของผู้เห็นธรรมที่เราแสดง ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ 100 ปี ของผู้ไม่นึกถึง ไม่เห็นธรรมที่เราแสดง”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส
พระธรรมบท พระคาถาที่ 115 ว่าโย จ วสฺสสตํ ชีเว
อปสฺสํ ธมฺมมุตฺตมํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปสฺสโต ธมฺมมุตตมํฯ(อ่านว่า)
โย จะ วัดสะสะตัง ชีเว
อะปัดสัง ทำมะมุดตะมัง
เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย
ปัดสะโต ทำมะมุดตะมัง.(แปลว่า)
ผู้ไม่เห็นธรรมอันสูงสุด
ถึงมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
สู้ผู้เห็นธรรมอันสูงสุด
มีชีวิตอยู่แค่วันเดียว ไม่ได้.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระพหุปุตติกาเถรี ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.