สดร.- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” สองคืนซ้อนในวันที่ 25 และ 26 มี.ค. โดย “ดาวศุกร์” และ “ดาวพฤหัส” จะอยู่เคียงจันทร์เสี้ยวบางๆ คล้าย “พระจันทร์ยิ้ม” โดยสังเกตเห็นได้ทางท้องฟ้าตะวันตกด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน มี.ค.55 นี้ ถือได้ว่าเป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สวยงามมาให้ได้ชมกันในยามราตรี โดยจะมี 2 ปรากฏการณ์ที่เด่นๆ ได้แก่ ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์” ที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 13 มี.ค. และปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนในวันที่ 25-26 มี.ค.นี้
ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนครั้งนี้ คือ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี อยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยวบางๆ คล้ายกับพระจันทร์ยิ้มที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.51 โดยในวันที่ 25 มี.ค.55 จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 3 ค่ำ อยู่ด้านล่าง สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกประมาณ 25 องศา ถัดขึ้นไปประมาณ 6 องศาจะเป็นดาวพฤหัสบดี และถัดไปอีก 15 องศาจะเป็นดาวศุกร์ ส่วนวันที่ 26 มี.ค.55 จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 4 ค่ำ สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกประมาณ 38 องศา อยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์ ทั้งนี้ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคของประเทศ
ภาพเมื่อค่ำวันที่ 13 มี.ค.หลายคนคงได้ชมภาพ “ดาวฤหัส” เคียง “ดาวศุกร์” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงนี้อยู่ใกล้กันมากที่สุดในรอบปี
ทั้งนี้ ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์เข้าใกล้กันใน “มุมปรากฏ” มากที่สุดในรอบปี ในช่วงค่ำวันที่ 13 มี.ค.55 และดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงอยู่เคียงกันจนถึงเวลา 21.30 น. แล้วตกลับขอบฟ้า โดยเห็นดาวศุกร์ในมุมสูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 40 องศา ซึ่งเราจะเห็นดาวศุกร์ส่องสว่างมากกว่า เนื่องจากอยู่ใกล้โลกและมีความสว่างมากกว่า
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้เผยแพร่ภาพปรากฏการณ์ที่บันทึกโดย นายชนากานต์ สันติคุณาภรณ์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เมื่อเวลา 19.04 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชด้วย
http //manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034633