ตามนัยพุทธพจน์นี้ เขียนให้ดูง่าย เป็น โยนิโสมนสิการ-ปราโมทย์-ปีติ-ปัสสัทธิ-สุข-สมาธิ-ยถาภูตญาณทัสสนะ-นิพพิทา-วิราคะ-วิมุตติ กล่าวโดยสรุป สำหรับคนทั่วไป ผู้มีปัญญายังไม่แก่กล้า ยังต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น การพัฒนาปัญญา นับว่าเริ่มต้นจาก
องค์ประกอบภายนอก คือ ความมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) สำหรับให้เกิดศรัทธา (ความมั่นใจด้วยเหตุผลที่ได้พิจารณาเห็นจริงแล้ว) ก่อน
จากนั้น จึงก้าวมาถึงขั้น
องค์ประกอบภายใน เริ่มแต่นำความเข้าใจตามแนวศรัทธาไปเป็นพื้นฐาน ในการใช้ความคิดอย่างอิสระ ด้วยโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และทำให้ปัญญาเจริญยิ่งขึ้น จนกลายเป็นญาณทัสสนะ คือ การรู้การเห็นประจักษ์ในที่สุด เมื่อกระจายลำดับขั้นในการพัฒนาปัญญาตอนนี้ออกไป จึงตรงกับลำดับอาหารของวิชชาและวิมุตติ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ
การเสวนาสัตบุรุษ-การสดับเล่าเรียนสัทธรรม-ศรัทธา-โยนิโส-มนสิการ ฯลฯ เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญเข้าสู่จุดหมายด้วยการอุดหนุนขององค์ประกอบต่างๆ อย่างพุทธพจน์ที่ว่า
ภิกษุทั้งหลาย
สัมมาทิฏฐิ อันองค์ประกอบ ๕ อย่างคอยหนุน (อนุเคราะห์) ย่อมมีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผลานิสงส์ องค์ประกอบ ๕ อย่างนั้น คือ ๑. ศีล (ความประพฤติดีงาม สุจริต)
๒. สุตะ (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)
๓. สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)
๔. สมถะ (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ การเจริญสมาธิ)
๕. วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามที่มันเป็นจริง) โดยสรุป
สัมมาทิฏฐิ ก็คือความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง หรือตามที่มันเป็น
การที่สัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัย
โยนิโสมนสิการเรื่อยไป
เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ แต่ช่วยให้มองแบบสืบค้นแยกแยะ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า และในแง่การสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ตลอดจนมองให้ครบทุกแง่ด้าน ที่จะให้เห็นความจริง และถือเอาประโยชน์ได้ จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบหรือเกี่ยวข้อง
การ
มองและ
คิดพิจารณาด้วย
โยนิโสมนสิการ ทำให้ไม่ถูกลวง ไม่กลายเป็นหุ่นที่ถูกยั่วยุ ปลุกปั่น และเชิด
ด้วยปรากฏการณ์ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และคตินิยมต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ทำให้มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสินและกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นขั้นที่สัมมาทิฏฐิส่งผลแก่องค์มรรคข้อต่อๆไป เริ่มทำลายสังโยชน์ อันมี
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เป็นต้น