ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มิถุนายน 02, 2012, 06:17:22 pm »
พกาพรหม มีความคิดว่า มนุษย์ ทำดีทำชั่วไปก็แค่นั้น เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายเที่ยงแท้ ทุกสิ่งล้วนยั่งยืน เพราะทุกสิ่งล้วนเกิดจากอำนาจ ของพกาพรหมเสกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น และ พกาพรหมยังคิดว่าตนล่วงรู้ทุกสิ่ง และไม่มีสิ่งใดซ่อนจากสายตาพกาพรหมไปได้ พระพุทธองค์เมื่อทราบด้วยจิตแล้วจึงเสด็จไปยังวิมารของพกาพรหม เพื่อโปรดแสดงพุทธปาฏิหาริย์จนพกาพรหม ยอมรับว่าพระพุทธองค์เป็นสัพพัญญูเป็นผู้หยั่งรู้ยิ่งกว่าตน และพระพุทธองค์ยังได้แสดงธรรมแก่พกาพรหม ดังนี้
อำนาจและความสุขสำราญในพรหมโลกนี้ ยาวนานนัก ทำให้เกิดความหลงผิดว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย เที่ยงแท้ แน่นอน ความจริงแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายนั้น มีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นของของตน ทำกรรมอันใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ต้องได้รับผลของกรรมนั้น

ในพรรษาที่ 45 อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระบรมศาสดาเสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองไพศาลี ทรงพระประชวรหนักเกิดทุกขเวทนาแรงกล้า แต่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะมั่นคงทรงอดกลั้นในทุกขเวทนาด้วยความอดทน ทรงเห็นว่ายังมิควรที่จะปรินิพพานในเวลานี้ จึงบำบัดขับไล่อาพาธให้สงบระงับด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา
วันหนึ่งจึงทรงปรารภเรื่องชราธรรมประจำพระกาย กับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากว่า
“บัดนี้ตถาคตชราภาพ ล่วงกาลผ่านวัยจนชนมายุล่วงเข้า 80 ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่อันมิใช่ สัมภาระแห่งเกวียนนั้น เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือ ไม่ให้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสีย และหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตตสมาธิ เมื่อนั้นกายของตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบาย เพราะธรรมคืออนิมิตตสมาธิ มีอานุภาพสามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่เข้าถึง และหยุดอยู่ด้วยสมาธินั้นมีความผาสุก ฉะนั้นจงมีตนเป็นเกราะมีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด”
“บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบทำสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้ มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างบุคคลผู้โง่เขลา หลีกออกจากธรรมะ ไม่ประพฤติตามธรรมะ จวนจะใกล้ตายก็ต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียนที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น”

ในเวลาเช้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ เมืองไพศาลี ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้แสดง โอฬาริกนิมิต คือตรัสให้พระอานนท์ทราบว่า
“ผู้ใดเจริญ อิทธิบาทภาวนา หรืออิทธิบาท 4 สมบูรณ์ดีแล้ว ผู้นั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถึงกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าได้ตามประสงค์”
แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงนิมิตถึง 3 ครั้ง แต่พระอานนท์ ก็มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพราะเหตุที่พญามารได้เข้าดลใจ

เมื่อพระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก มิได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทรงมีรับสั่งให้ลุกออกไปเสียจากที่นั้น
พระอานนท์ถวายอภิวาทแล้วออกไปนั่งไม่ไกลจากที่ประทับนัก ฝ่ายพญามารวสวัตดีเห็นสบโอกาสรีบเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่า
“ครั้งแรกเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเสด็จประทับใต้ต้นไทร ได้ตรัสว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังมิได้ตั้งมั่นในธรรม และพรหมจรรย์ยังไม่ได้ประกาศแพร่หลายบริบูรณ์ด้วยดี สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนเป็นอันมาก ทั้งเทวดา และมนุษย์เพียงใดแล้วพระองค์จะยังไม่ปรินิพพานก่อนเพียงนั้น แต่บัดนี้ พุทธบริษัท 4 และพรหมจรรย์ก็สมบูรณ์ดังพุทธประสงค์ทุกประการแล้ว ขอจงปรินิพพานเถิด”
เมื่อพญามารกราบทูลอาราธนาดังนี้ พระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามมารว่า
“มารผู้มีใจบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยอยู่เถิด ความปรินิพพานของตถาคตจะมีในไม่ช้านี้ นับแต่นี้ไปอีก 3 เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสห้ามมารและทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ โดยตรัสกับพญามาร พลันได้เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ
พระอานนท์บังเกิดความพิศวงในบุพนิมิต จึงออกจากร่มไม้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทูลถามถึงเหตุที่ทำให้เกิดอัศจรรย์ พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“บัดนี้ตถาคตได้ปลงอายุสังขาร ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือนตถาคตจะปรินิพพาน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว”
พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก จึงทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า
“ในเมื่อเชื่อว่า พระองค์จะสามารถดำรงพระชนมชีพอยู่ได้ถึงหนึ่งกัป ไฉนจึงไม่ทูลอาราธนาทั้งที่ได้แสดงโอฬาริกนิมิตถึง 16 ครั้ง (คือที่เมืองราชคฤห์ 10 ครั้ง เมืองไพศาลี 6 ครั้ง) พญามารได้ทูลอาราธนา ให้ตถาคตดับขันธปรินิพพานแล้ว บัดนี้ตถาคต ได้สละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว วางแล้วจะนำสิ่งนั้นกลับมาอีกด้วยเหตุใด”