ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มิถุนายน 24, 2012, 12:39:43 pm »คนทำบุญปล่อยเต่า ทำสัตว์ทรมาน เจ็บหนักแต่ตายไม่ได้
ไทยรัฐออนไลน์
หลายสถาบันรวมตัวจับปลาและเต่า ที่ประชาชนปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ในคลองรอบวัดบวรนิเวศวิหาร ได้สัตว์หลายพันตัว ด้านสัตวแพทย์ชี้ เป็นการทรมานสัตว์ เพราะทุกตัวติดเชื้อ บวมน้ำ ทรมานอย่างมาก แต่ไม่สามารถตายได้...
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2555 ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ชมรมคนรักษ์เต่า กลุ่มนักเรียกเก่าเอเอฟเอส บริษัท ทรู และ ซีพี ร่วมกันช่วยชีวิต รักษาโรค และปฐมพยาบาลปลาและเต่า ที่อาศัยอยู่ในคลองรอบวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสัตวแพทย์ประมาณ 20 คน และอาสาสมัครอีกราว 50 คน มาช่วยกัน โดยจับปลาขนาดใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไปได้ประมาณ 2,000 ตัว เต่าที่มีอายุตั้งแต่ 10-50 ปี ได้ประมาณ 1,000 ตัว พบว่าทั้งปลาและเต่าเกือบทั้งหมดที่จับขึ้นมานั้นกำลังป่วยหนัก ปลามากกว่า 80% ป่วยเป็นโรคตับ เต่าป่วยเป็นโรคไต มีอาการบวมน้ำ อยู่ในสภาพเจ็บปวดทรมานเป็นที่สุด แถมมีพยาธิทุกตัว
สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าทีมช่วยชีวิตเต่าและปลา กล่าวว่า สัตว์ทั้งหมดที่จับขึ้นมาได้อยู่ในสภาพที่อดทนต่อความเจ็บปวด จากอาการเจ็บป่วยอย่างมาก ที่น่าสงสารคือ สัตว์พวกนี้ยังตายยากอีกด้วย ถ้าเป็นร่างกายคนก็ถือว่าเป็นความทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะน้ำในคลองเป็นน้ำเน่าเต็มไปด้วยเชื้อโรค และสัตว์อยู่กันอย่างแออัดเป็นเวลานานทุกวัน ยังมีคนเอาทั้งเต่าและปลาไปปล่อย รวมทั้งโยนอาหารลงไปให้เป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อโรคมากขึ้นทุกวัน
“เต่าจำนวนมากที่อาสาสมัครเราจับขึ้นมา มีอาการบวมน้ำ ไตวาย ตาโรย ซึ่งจะต้องให้น้ำเกลือรักษาอาการอย่างเร่งด่วน เต่าหลายตัวมีขนาดใหญ่ และมีอายุมากกว่า 20 ปี มีโรคพยาธิ อยู่ในสภาพผอมโซ แต่ถ้าใครไม่สังเกต ก็จะมองไม่ออกว่า เต่าป่วย ก็ช่วยกันคิดดูกันเอาเองแล้วกันว่า การเอาเต่ามาปล่อยในวัด ในที่ที่มีเต่าอาศัยกันอย่างแออัดอยู่แล้ว และมีน้ำที่สกปรกอย่างมาก คนคนนั้นจะได้บุญหรือกำลังทำบาปกันแน่” สัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าว
สัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าวต่อว่า เวลานี้ หลายๆ วัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จะมีสถานการณ์เต่าและปลาอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดจำนวนมาก และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะแม้ทางกลุ่มอาสาสมัครจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือ แต่หลายแห่งก็โดนคัดค้านจากกลุ่มผู้ค้าเต่าและปลาอยู่นอกวัดเข้ามาขัดขวาง เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์จากการขายสัตว์พวกนี้โดยตรง
“หลังจากนี้พวกปลา เราจะเอาไปไว้ที่กรมประมง ส่วนเต่าทั้งหมดก็จะนำไปไว้ที่โรงพยาบาลเต่า ที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ถึงจะทำให้เต่าที่จับไปในวันนี้ มีอาการดีขึ้นเป็นเต่าปกติ และอยากจะร้องขอสำหรับคนที่จะปล่อยปลาปล่อยเต่า ต้องคิดดีๆ ก่อนจะทำ และอยากประชาสัมพันธ์ว่า ใครที่พบว่าพื้นที่ไหนมีเต่าและปลาอยู่กันอย่างแออัด ให้แจ้งมาที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำโรงพยาบาลสัตว์จุฬาลงกรณ์ได้” สัตวแทย์หญิงนันทริกา กล่าว
ด้านพระสุทธิสารเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบระบบน้ำของวัด กล่าวว่า คลองที่อยู่รอบวัดเป็นคลองธรรมชาติ มีอายุมากกว่า 175 ปี มีความยาวรวมกันประมาณ 700 เมตร ลึก 4 เมตร ในคลองมีเต่าหลายชนิด เช่น เต่านา เต่าบก เต่าญี่ปุ่น ฯลฯ ส่วนใหญ่ประชาชนนำมาปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ เพราะเชื่อว่าปล่อยเต่าแล้วอายุจะยืน เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง แต่วิธีการผิด เพราะเต่าที่นำมาปล่อย 99% จะตาย โดยเฉพาะเต่าบก เมื่อถูกปล่อยลงน้ำจะตะเกียกตะกายขึ้นมาบนบก บางครั้งคลานออกไปบนถนน ถูกรถทับตายไม่น้อย นอกจากนั้น ยังหาอาหารกินไม่เป็น การปล่อยเต่าเพื่อสะเดาะเคราะห์ ทำให้ประชากรเต่าในคลองแออัด ส่งผลให้น้ำเสีย ที่ผ่านมาเคยเตือนประชาชนที่นำเต่ามาปล่อย แต่ไม่มีใครฟัง อ้างว่าถ้าไม่ปล่อยที่วัดจะให้ไปปล่อยที่ไหน วัดปลอดภัยสำหรับเต่าที่สุดแล้ว ที่สำคัญแหล่งในการซื้อเต่ามาปล่อย ก็อยู่ใกล้วัดคือ ตลาดเทเวศร์
“เรื่องของความเชื่อนั้นห้ามกันลำบาก ไม่ใช่เฉพาะเต่า ยังมีปลาหลายชนิด โดยเฉพาะปลานิล เพราะเชื่อว่าปล่อยแล้วจะเกิดความคงทน เช่นเดียวกับปลาหมอ ปลาดุก รวมทั้งปลาไหลที่หมายถึงความลื่นไหล ดังนั้น อยากจะให้ประชาชน ถ้าจะปล่อยขอให้ศึกษาเพราะว่าปล่อยทำบุญแล้วตายก็ไม่ได้บุญ” พระสุทธิสารเมธี กล่าว.
-http://www.thairath.co.th/content/edu/269553