ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มิถุนายน 24, 2012, 06:31:50 pm » Who Am I ตัวเราคือใคร
โดย... สมาน สุดโต
โดย... สมาน สุดโต
คณะศิษย์ของ พระราชสุเมธาจารย์ วิ. หรือพระอาจารย์สุเมโธ ส่งบทความเรื่อง ตัวเราคือใคร หรือ Who Am I มาให้พิจารณาลงในคอลัมน์นี้ ผมดีใจมากเพราะอยากได้ข้อเขียนของพระอาจารย์มานานแล้ว จึงหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระราชสุเมธาจารย์ วิ. หรือพระอาจารย์สุเมโธ นั้นเป็นใคร เพราะเป็นพระฝรั่ง แท้ๆ แต่เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าลึกซึ้ง
ประวัติส่วนตัวย่อ
พระราชสุเมธาจารย์ วิ. หรือพระอาจารย์สุเมโธ (โรเบิร์ต แจ็คแมน) เป็นชาวอเมริกัน เกิดในเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1934 (พ.ศ. 2477) เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เข้ารับราชการในกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี เมื่อออกจากราชการท่านได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาเอเชียใต้ศึกษา (South Asian Studies) มหาวิทยาลัย แห่งแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) ในปี 1963 (พ.ศ. 2506)
ด้วยความที่ท่านสนใจในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เดินทางมายัง
ประเทศไทยในปี 1966 (พ.ศ. 2509) เพื่อหาทางเข้าสู่ชีวิต
อนาคาริก (ผู้ไม่ครองเรือน) บวชเป็นสามเณรที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย
และอุปสมบทเป็นพระภิกษุในอีกหนึ่งปีต่อมา
โดยมีท่านเจ้าคุณพระราชปรีชาญานมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ ได้ยินกิตติศัพท์ของ
ท่านพระอาจารย์ชา (สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
จึงลาพระอุปัชฌาย์มาฝากตัว
เป็นศิษย์กับหลวงพ่อชา ซึ่งท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า...
“ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก
ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตร เหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ”
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อชา ท่านเล่าให้ฟังว่า “บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้ม อาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกันลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อที่ช่วย เปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน...”
ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อชากลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายรูปไปรอล้างเท้า ระยะแรกๆ ที่อยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้า ท่านสุเมโธก็เป็นไปด้วย เช้าวันหนึ่งก่อนที่จะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ตัวท่านสุเมโธก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรรูปอื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าน ท่านได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า “สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ...”
เจ็ดพรรษาผ่านไป ท่านสุเมโธได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหนได้ตามลำพัง ในปี พ.ศ. 2517 ท่านจึงเดินทางไปยังประเทศ อินเดีย จาริกไปตามที่ต่างๆ เป็นเวลา 5 เดือน ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ถือธุดงควัตร ไม่รับเงิน ไม่สะสมอาหาร ฉันมื้อเดียวก่อนเที่ยง และฉันในบาตร
(ทั้งนี้เท่าที่ทราบ ท่านต้องการทดสอบว่าพระสมัยพุทธกาลอยู่ได้อย่างไร จากประสบการณ์ที่ท่านธุดงค์อินเดียพิสูจน์แล้วว่าอยู่ได้ เมื่อลงเครื่องบินที่กัลกัตตา ท่านก็เดินไปตามที่ต่างๆ กับพระฝรั่งอีก 3 รูป (ถ้าผมจำไม่ผิด) ทั่วอินเดียโดยไม่ใช้เงิน ชีวิตขึ้นอยู่กับอาหารที่ได้มาจากบิณฑบาตเท่านั้น)
ปัจจุบันท่านเป็นพระเถระที่เป็นฝรั่งรูปแรกในคณะสงฆ์ไทย ที่มีสมณศักดิ์สูงถึงชั้นราช
และเป็นเจ้าอาวาสวัดอมราวตี ประเทศอังกฤษ ต่อไปนี้คือบทความที่ศิษย์ท่านส่งมา
Who Am I ตัวเราคือใคร
พระอาจารย์สุเมโธ พระวิปัสสนาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือมากรูปหนึ่ง ได้กล่าวกับเหล่าพระ ชี ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านหลายครั้งต่างเวลาต่างวาระกันว่า “อาตมารู้สึกหดหู่ทุกครั้งเมื่อคิดถึงตัวเอง” เมื่อได้ยินแบบนี้ความคิดแรกตามปกติธรรมชาติของเราคือ พระอาจารย์ท่านคงเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากเราได้ฝึกวิปัสสนาในแนวที่ท่านสอนมาบ้าง เราจะเริ่มสังเกตว่า ทันทีที่เราคิดถึงตัวเอง ทันทีที่เรามองชีวิตจากมุมมองของตัวเอง สิ่งที่ฉันพอใจ สิ่งที่ฉันต้องการ หรือสิ่งที่ฉันเป็นอยู่ หรือสิ่งที่ฉันสามารถจะเป็น ควรจะเป็น น่าจะเป็น อาจเป็น อาจยังเป็นอยู่ ฯลฯ จะเกิดการหดหู่ บีบรัดตัวภายในกายและจิตใจเข้ามาล้อมรอบ “ตัวของฉัน” ถ้าเราเปลี่ยนกรอบมุมมองจากตัวของเรา ไปเป็นกรอบแห่งธรรมชาติโดยรวม เราพบว่าธรรมชาติมีคุณสมบัติที่กว้างขวางและสงบเย็นในขณะที่สภาวะที่มี “ความเป็นตัวฉัน” นั้นช่างเหนียวเหนอะอึดอัดคับแน่น
มนุษย์เราโหยหาอิสรภาพ เราพยายามค้นหาสถานที่ ยศถาบรรดาศักดิ์ วิถีชีวิต หรือความสัมพันธ์ ที่จะทำให้เราเป็นคนที่มีอิสระ แต่วิปัสสนาช่วยให้เราค้นพบว่า ไม่มีวันที่ “ฉัน” จะเป็นอิสระได้ ปัจเจกบุคคลจะไม่สามารถเป็นอิสระได้เพราะอัตตาตัวตนของคนผู้นั้นเองเป็นคุกขังตัวเองไว้
เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องรู้ว่าอัตตาไม่ใช่ศัตรู หรือปีศาจร้ายที่เราต้องกำจัดทิ้ง อัตตามีประโยชน์มากในการเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับสังคม วิถีแห่งสังคมจะดำเนินไปได้ต้องการความเป็นปัจเจก ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เมื่อเราถูกตำรวจเรียกบนทางหลวง หรือต้องการเบิกเงินจากธนาคาร และต้องยื่นหลักฐานแสดงตน เราจะแสดงอะไร ดังนั้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวตนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินไปแห่งโลก
แต่เมื่อเราวิปัสสนา เราเริ่มสำรวจความรู้สึกของ “ความเป็นฉัน” “ความเป็นตัวฉัน” และ “ความเป็นของฉัน” ในที่สุดเราก็ตระหนักได้ว่า ความรู้สึกนี้เป็นแค่สิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน มันเกิดขึ้นแล้วก็จางหายไป เช่นเดียวกับทุกสิ่งในธรรมชาติ เมื่อวิปัสสนาของเราก้าวหน้าขึ้น เราก็เริ่มเห็นเปลือกชั้นแล้วชั้นเล่าของสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา บรรดาความทรงจำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วเราเคยหลงเข้าใจไปว่าเป็นตัวเรา เราจะพบว่า ความทรงจำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความเห็นต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ตัวเราหรือสิ่งที่ตัวเราเป็นเลย
เมื่อเราเริ่มหันมาสำรวจและทำความเข้าใจว่า สิ่งใดกันที่มาทึกทัก ถึงความเป็น ฉัน ตัวฉัน ของฉัน โดยการพิจารณาสำรวจดูว่า อะไรเป็นตัวตนที่รับรู้ เราก็จะบังเกิดความรู้สึกโล่งใจ ผ่อนคลายขึ้น พร้อมกับความเข้าใจว่า ความทรงจำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และความเห็นต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ตัวเราหรือสิ่งที่ตัวเราเป็นเลย แต่เป็นแค่เพียงรูปแบบต่างๆ ของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป
การที่เรารู้ว่าเราเป็นอะไรไม่ใช่ประเด็น
ตลอด 45 ปี ที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่หลักธรรมหลังจากที่ทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงแน่วแน่ที่จะไม่กำหนดความเห็นว่าตัวเราคืออะไร แต่พระองค์ทรงสอนไว้อย่างชัดเจนมากว่าสิ่งใดที่ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ใช่ความคิดของเรา ร่างกายของเรา ความเห็นของเรา อารมณ์ของเรา ความสำเร็จของเรา หรือความบกพร่องของเรา ปัญหาของเรา คำถามที่เกิดขึ้นตามมาโดยธรรมชาติคือ แล้วตัวเราคืออะไร ตัวตนของเราคืออะไร พระพุทธองค์ทรงย้ำหลายครั้งว่า นี่เป็นคำถามที่ผิด แทนที่จะเฝ้าหาความหมายว่าตัวเราเป็นอะไร เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งที่เราไม่ได้เป็น แล้วความเป็นจริงตามธรรมชาติของเราจะเผยตัวออกมาเอง ทันทีที่เราพยายามหาความหมายของตัวเราโดยการคิด หาคำนิยามในแก่นของความเป็นตัวฉัน เราก็จะพบกับความหงุดหงิดผิดหวังในลักษณะเดียวกันกับการที่เราพยายามจะเทน้ำชาจริงใส่ลงไปในแผ่นภาพวาดถ้วยน้ำชา ความเป็นจริงไม่สามารถบรรจุใส่ไว้ในภาชนะที่สมมติขึ้น แม้แต่ภาพวาดที่สวยเลิศกว่านี้ก็ไม่สามารถที่จะบรรจุน้ำชาจริงได้! ความเป็นสิ่งสมมติของมันทำให้มันไม่อาจอำนวยประโยชน์ให้แก่เราตามที่เราเรียกร้องต้องการเอาจากมันได้
การไม่ค้นคิดหาคำตอบต่อคำถามว่าตัวเราคือใคร ตัวตนของเราคืออะไร อาจทำให้คนปรกติทั่วไปหงุดหงิดอึดอัด ผู้คนต่างอ้อนวอนขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงประทานคำตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่พระพุทธเจ้าทรงแน่วแน่กับสิ่งที่ได้ตรัสสอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกจิตให้เข้าใจและปล่อยวางสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา โดยความเข้าใจนี้ แก่นแท้ธรรมชาติของตัวเราและสิ่งทั้งหลายจะเผยตัวออกมาเอง พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ชัดเจนมาก ว่าประสบการณ์ความเข้าใจในสัจธรรมไม่สามารถสรุปย่อเป็นหลักการ หรือสื่อได้โดยใช้คำพูด
เมื่อมาถึงจุดนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า แนวความคิดทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไร ความเป็นจริงต่างไปจากนั้นอย่างมาก แต่นั่นเป็นเรื่องสำหรับคราวหน้า Who Am I
-http://bit.ly/NHjqVH