ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: สิงหาคม 03, 2012, 09:17:53 pm »สังขารทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
ฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย มนุษย์เราทั้งหลายจึงจมอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในวัฏฏสงสาร ก็เพราะคิดอย่างนี้ ถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็นึกแต่จะให้มันหายเท่านั้น อยากจะให้มันหายเดี๋ยวนี้ จะให้มันหายเท่านั้นแหละ ไม่นึกว่าอันนี้มันเป็นสังขาร อันนี้ไม่มีใครรู้จักสังขารมันเปลี่ยน ทนไม่ได้ ฟังไม่ได้ จะต้องให้หายให้หมด แต่ผลสุดท้ายมันก็สู้ไม่ได้ สู้ความจริงไม่ได้ พังหมด อันนี้คือเราไม่ได้คิด คือมันเห็นผิดหนักเข้าไปเรื่อยๆ
การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างเพื่อเห็นธรรมะมันเลิศกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธองค์สร้างบารมีตั้งแต่ทานบารมีไปถึงปรมัตถบารมีเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้จักอันนี้ เพื่อให้เห็นธรรมะ ให้ปฏิบัติธรรมะ แล้วให้รู้ธรรมะ ให้ใจเป็นธรรมะ ให้ปล่อยวางเพื่อจะไม่ให้หนัก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน หรือจะพูดง่ายๆอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ยึดแต่อย่าให้มั่น นี่ก็ถูกเหมือนกัน คือเราเห็นอะไรก็จับมันขึ้นมาดูเสีย "เออ...อันนี้ก็อันนั้น" แล้วก็วางมันไป เห็นอันนั้นอีกก็ยึดมาอีก แต่อย่ายึดให้มันมั่น เอามาพิจารณา รู้เรื่องแล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นแหละ ถ้ายึดไม่วาง แบกไม่หยุดมันก็หนักตลอดเวลาสิ ถ้าเรายึดมาแบกรู้สึกว่ามันหนักก็ปลงมันไป ทิ้งมันเสีย อย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็รู้จักว่าอันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อรู้จักเหตุให้ทุกข์เกิดแล้ว ทุกข์มันเกิดไม่ได้ ทุกข์จะเกิด สุขจะเกิด มันอาศัยอัตตาตัวตน อาศัยเรา อาศัยของของเรา อาศัยสมมติอันนี้ ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ววิ่งไปถึงวิมุตติ มันก็เลิกถอน มันถอนสมมุติออก ถอนความสุขออกจากที่นั่น ถอนความทุกข์ออกจากที่นั่น ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากที่มันยึดนั้น เท่านั้นแหละ
เมื่อของของเราหายไป ทำไมเราต้องเป็นทุกข์
ก็คล้ายกับว่าของของเราชิ้นหนึ่งมันหลุดมือหายไป เราก็เป็นห่วงก็เป็นทุกข์กับมัน อีกเวลาหนึ่งเราก็พบของนั้นขึ้นมา ความทุกข์ก็หายแว้บไปทีเดียว แม้ยังไม่เห็นวัตถุอันนั้นความทุกข์มันก็หาย อย่างเราเอาของมาวางไว้ตรงนี้ แล้วหลงเสียนึกว่าของเรามันหายไปก็เป็นทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วจิตก็พะวงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อีกวันหนึ่งอีกเวลาหนึ่ง จิตใจก็วิตกไปถึงของของเราว่า "อ้อ..เอาไว้ตรงนั้นแน่นอนเลย" พอนึกอย่างนั้น รู้ตามความจริงแล้ว ตายังไม่เห็นของเลย สบายใจเลยทีนี้ อันนี้เรียกว่าเห็นทางใน เห็นกับตาใจไม่ใช่เห็นกับตานอก เห็นด้วยตาใจ ถึงตานอกยังไม่เห็น มันก็สบายแล้ว มันก็ถอนทุกข์ออกทันที อย่างนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่บำเพ็ญธรรมะ บรรลุธรรมะ เห็นธรรมะ ประสบอารมณ์เมื่อไรปุ๊บ นั่นก็คือปัญญาเกิดขึ้น ก็แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเท่านั้นแหละ หายไปเลย วาง ปล่อย
จงปฏิบัติให้เห็นธรรมะ
ฉะนั้นท่านจึงให้พวกเราพบธรรมะ ทีนี้เราพบธรรมะแต่ตัวหนังสือ พบธรรมะกับตำรา อย่างนั้นมันพบแต่เรื่องของธรรมะ ไม่ได้พบธรรมะตามความจริงที่พระบรมครูของเราสอน จะเข้าใจว่าพวกเราทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อย่างไร มันไกลกันมาก พระพุทธองค์เป็นโลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก เดี๋ยวนี้เรารู้ไม่แจ้ง รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไปเท่านั้น รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไป คือมันรู้มืด ไม่ใช่รู้แจ้ง รู้ไม่ถึงนั่นเองไม่แจ้ง ไม่สว่าง ไม่เบิกบาน คนก็มาคาติดแค่นี้เท่านั้นแหละ แต่ว่ามันไม่ใช่น้อย มันเป็นของมาก
จงละทุกข์ทันทีเมื่อมองเห็นโทษของมัน
ทุกคนโดยมากก็ต้องการความดี ต้องการความสุข แต่ว่าไม่รู้จักว่าอะไรมันเป็นเหตุให้สุขให้ทุกข์เกิดขึ้นมา อะไรทุกอย่างถ้าเรายังไม่เห็นโทษมัน เราก็ละมันไม่ได้ มันจะชั่วขนาดไหนก็ละมันไม่ได้ถ้าเรายังไม่ได้เห็นโทษอย่างจริงจัง แต่เมื่อเราเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆนั่นแหละ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราถึงจะปล่อยได้วางได้ พอเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆ พร้อมกระทั่งเห็นประโยชน์ในการกระทำอย่างนั้น ในการประพฤติอย่างนั้น เปลี่ยนขึ้นมาทันทีเลย อันนี้คนเราประพฤติปฏิบัติอยู่ทำไมมันยังไปไม่ได้ ทำไมมันถึงวางไม่ได้ คือมันยังไม่เห็นโทษอย่างแน่ชัด คือยังไม่รู้แจ้งนี่แหละ รู้ไม่ถึงหรือรู้มืด มันจึงละไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งอย่างอรหันตสาวกหรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เลิกกันเท่านั้นแหละ แก้ปัญหาหลุดไปทีเดียวแหละ ไม่เป็นของยาก ไม่เป็นของลำบาก
มันก็เหมือนกันกับเรานั่นแหละ หูเราได้ยินเสียงก็ให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันสิ ตาทำงานทางรูปก็ให้มันทำสิ จมูกทำงานทางกลิ่นก็ให้มันทำสิ ร่างกายทำงานถูกต้องโผฏฐัพพะก็ให้มันทำงานตามเรื่องของมันสิ ถ้าแบ่งให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันแล้ว มันจะมีอะไรมาแย้งกัน มันไม่ได้ขัดขวางกันเลย อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นสมมุติเราก็ให้มันสิ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นวิมุตติ เราก็แบ่งมันสิ เราเป็นผู้รู้เฉยๆ เท่านั้นแหละ รู้ไม่ให้มันขัดข้อง รู้แล้วก็ปล่อย วางมันตามธรรมดา เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ของทั้งหลายเหล่านี้เป็นอยู่อย่างนั้น ที่เรายึดมั่นว่าอันนี้ของเรา ใครเป็นคนได้ พ่อเราได้ไหม แม่เราได้ไหมญาติของเราได้ไหม ใครได้ไหม ไม่มีใครได้ พระพุทธองค์จึงบอกให้วางมันเสีย ปล่อยมันเสีย รู้มันเสีย รู้มันโดยที่ว่ายึดแต่อย่าให้มั่น ใช้มันไปในทางที่เป็นประโยชน์ อย่าใช้มันในทางที่เป็นโทษ คือความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เราเป็นทุกข์
รู้ธรรมเพื่อพ้นทุกข์
รู้ธรรมะมันต้องรู้อย่างนี้ คือรู้ในแง่ที่มันพ้นทุกข์ ความรู้นี้เป็นสิ่งสำคัญ รู้เครื่องยนต์กลไก รู้อะไรสารพัดอย่างก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่เลิศ ธรรมะก็ต้องรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมากหรอก ให้รู้เท่านี้ก็พอ สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติรู้แล้วก็วาง ไม่ใช่ว่าตายแล้วจึงจะไม่มีทุกข์นะ มันไม่มีทุกข์ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันรู้จักแก้ปัญหามันรู้จักสมมุติวิมุตตินี้เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เมื่อเราประพฤติปฏิบัตินี่เองไม่ใช่เอาที่อื่นหรอก ดังนั้นท่านอย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก ยึดอย่าให้มันมั่น บางทีจะคิดว่า "ท่านอาจารย์ทำไมจึงพูดอย่างนี้ สอนอย่างนี้" จะไม่ให้สอนอย่างไร ไม่ให้พูดอย่างไร เพราะว่ามันแน่นอนอย่างนั้น มันจริงอย่างนั้น จริงก็อย่าไปยึดมั่นมันซิ ถ้าไปยึดมั่นมันก็เป็นไม่จริงเท่านั้นแหละ เหมือนสุนัขไปจับขามันดูซิ จับมันไม่วางเดี๋ยวมันก็วุ่นมากัด ลองๆดูซิสัตว์ทั้งปวงก็เหมือนกัน เช่น งูไปยึดหางมันซิ ยึดไม่ปล่อยวาง เดี๋ยวมันก็กัดเราเท่านั้นแหละ
สมมุตินี้ก็เหมือนกัน ให้ทำตามสมมุติ สมมุตินี้เป็นของใช้เพื่อให้มันสะดวก เมื่อเรามีชีวิตอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องจะต้องยึดมั่นถือมั่นจนมันเกิดทุกข์ทรมาน แล้วก็แล้วไปเท่านั้น อะไรที่เราเข้าใจว่าถูก แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไม่แบ่งใคร นั่นแหละคือมันเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาปุ๊บ มันเกิดมาจากอะไร เหตุมันก็คือมิจฉาทิฏฐิ มันจึงให้ผลเป็นทุกข์ ถ้ามันถูก ผลที่จะเกิดขึ้นมาจะไม่เป็นทุกข์ ท่านไม่ให้แบก ไม่ให้ยึด ไม่ให้มั่น ถูกก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไป ผิดก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไปเท่านั้น ถ้าเราเห็นว่าถูกแล้วคนอื่นมาแย้งก็อย่าไปถือมัน ปล่อยไป ไม่ได้เสียหายอะไร มันไปตามเรื่องตามเหตุ ตามปัจจัยของมันอย่างเก่า พอรู้แล้วก็ปล่อยมันไปตรงนั้นเลย
แต่โดยมากมันไม่ใช่อย่างนั้น คนเรามันไม่ค่อยยอมกันอย่างนั้นผู้ปฏิบัติเรายังไม่รู้ตัว ยังไม่รู้จิตใจของตน พอพูดอะไรจนคนอื่นว่ามันโง่เต็มที่แล้ว ก็ยังนึกว่ามันฉลาดอยู่นั่นแหละ พูดสิ่งที่มันโง่จนคนอื่นฟังไม่ได้ แต่ก็นึกว่าเราฉลาดกว่าคนอื่น คนอื่นทนฟังไม่ได้ก็ยังว่าเราดีเราถูกอยู่นั่นแหละ มันขายความโง่ของตัวเองโดยไม่รู้เรื่อง
ปราชญ์ทั้งหลายท่านบอกว่า คำพูดอันใดวาจาอันใดที่ปราศจากอนิจจังแล้ว คำพูดนั้นไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์ เป็นคำพูดที่โง่ เป็นคำพูดที่หลง เป็นคำพูดที่ไม่รู้จักว่าทุกข์จะเกิดตรงนั้น พูดง่ายๆให้เห็นเช่นพรุ่งนี้เราตั้งใจว่าจะไปกรุงเทพฯ แล้วมีคนมาถามว่า
"พรุ่งนี้ท่านจะไปกรุงเทพฯ หรือเปล่า"
"คิดว่าจะไปกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีอุปสรรคขัดข้องก็คงจะไป"
นี่เรียกว่าพูดอิงธรรมะ อิงอนิจจัง อิงความจริง อิงความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่ว่า "พรุ่งนี้ฉันจะไปแน่"
"ถ้าไม่ไปจริงจะให้ทำอย่างไร จะยอมให้ฆ่าให้แกงไหม" อะไรอย่างนี้ พูดกันบ้าๆ บอๆ
มันยังเหลืออยู่มากเหมือนกัน การปฏิบัติธรรมะมันลึกซึ้งไปจนเรามองไม่เห็น ที่เรานึกว่าเราพูดถูก แต่มันจะผิดไปทุกคำ ผิดจากหลักความจริงทุกคำ แต่ก็นึกว่าเราพูดถูกไปทุกคำ พูดง่ายๆ เราพูดอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง อันที่มันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด นั่นแหละเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่าคนหลง คนโง่
อย่าติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ
โดยมากนักปฏิบัติเราไม่ค่อยจะทบทวนอย่างนี้ เห็นว่าเราดีก็ดีเรื่อยๆไป เช่นเราได้อันหนึ่งขึ้นมา จะเป็นลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี ก็นึกว่ามันดี ดีตลอดกาลตลอดเวลา แล้วก็ถือเนื้อถือตัวขึ้นมาไม่รู้จักว่าเรานี้คือใคร ที่มันดี มันเกิดจากอะไร เดินไปพบ นาย ก.นาย ข. เหมือนกันหรือไม่ อย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านให้วางเป็นปกติอย่างนี้ ถ้าเราไม่สับ เราไม่ขบ ไม่เคี้ยว ไม่ปฏิบัติค้นคว้าอันนี้ ก็เรียกว่ายังจมอยู่ จมอยู่ในใจของเรานั่นแหละ เรียกว่าติดลาภบ้างติดยศบ้าง ติดสรรเสริญบ้าง ก็เปลี่ยนเป็นคนอื่น เพราะสำคัญว่าตัวเรานี้ดีขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเลิศขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเป็นโน่นเป็นนี่แล้วก็เกิดอะไรต่ออะไรขึ้นมาวุ่นวาย
ลักษณะเสมอกันของมนุษย์ทุกคน
ความเป็นจริงมันไม่เป็นอะไรหรอกคนเรา เป็นก็เป็นด้วยสมมุติถ้าถอนสมมุติไปเป็นวิมุตติ มันก็ไม่เป็นอะไร เป็นสามัญลักษณะ มีลักษณะเสมอกัน ความเกิดขึ้นเบื้องต้น มีความแปรไปเป็นท่ามกลางแล้วก็ดับไปที่สุด มันก็แค่นั้น เห็นสภาพมันเป็นอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นมา ถ้าเราเข้าใจเช่นนั้นแล้ว มันก็สบาย มันก็สงบ ที่มันไม่สงบก็เหมือนกับพระปัญจวัคคีย์ประพฤติตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เมื่อท่านพลิกไปอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไร ท่านทำอะไรก็เลยหาว่าท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ถ้าตัวเราเป็นเช่นนั้น ก็คงจะคิดอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่มีทางแก้ไข แต่ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านเดินขั้นสูงขึ้นไปอีกจากพวกเรา เรายังถือตัวอย่างเก่า คิดไปในทางต่ำ ก็นึกว่าเราคิดอยู่ในทางสูง เห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่า ท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมากแล้ว เหมือนกับปัญจวัคคีย์ ปฏิบัติกี่พรรษาคิดดูซิ ขนาดนั้นก็ยังหลงอยู่ ยังไม่ถนัด
อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้กระทั่งสิ่งที่ถูก
ท่านจึงให้ทำงานและให้ตรวจผลงานของตน คือที่มันไม่ยอมเรื่องที่มันไม่ยอม เรื่องที่มันยอม มันก็สลายตัวไปเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร ถ้ามันไม่ยอมมันไม่สลาย มันตั้งตัวขึ้นมาเป็นก้อน เป็นตัวอุปาทาน มันไม่มีการแบ่งเบา นักบวชนักพรตเราโดยมากก็ชอบเป็นอย่างนั้น ถ้าติดอยู่ในแง่ไหนก็ดึงอยู่แง่นั้นแหละ ไม่เปลี่ยนแปลงไม่พินิจพิจารณาเห็นว่าเราถูกแล้วก็เห็นว่าเราไม่ผิด แต่ความเป็นจริงความผิดมันฝังอยู่ในความถูก แต่เราไม่รู้จัก เป็นอย่างไรล่ะ "อันนี้แหละถูกแล้ว" แต่คนอื่นว่ามันไม่ถูก ก็ไม่ยอม เถียงกัน นี่อะไรทิฏฐิมานะ ทิฏฐิคือความเห็น มานะคือความยึดไว้ถือไว้ ถ้าเรายึดในสิ่งที่ถูกไม่ปล่อยให้ใครเลยก็เรียกว่ามันผิด ถือถูกนั่นแหละ ยึดมั่นถือมั่นในความถูก มันเป็นขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ ไม่เป็นการปล่อยวาง
แก้ความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร
สิ่งอันนี้เป็นเหตุที่ทำให้คนเราไม่ค่อยสบาย นอกจากผู้ประพฤติปฏิบัติที่เห็นว่า แง่นี้ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่สำคัญ ท่านจะจดไว้ พอพูดไปถึงปุ่มนั้นปั๊บมันจะวิ่งขึ้นมาทันทีเลย ความยึดมั่นถือมั่นวิ่งขึ้นมาอาจจะเป็นอยู่นาน บางทีวันหนึ่ง สองวัน สามเดือนสี่เดือน ถึงปีก็ได้ ขนาดช้านะ แต่ขนาดเร็วความปล่อยวางมันจะวิ่งเข้ามาสกัดหน้าเลย คือพอความยึดเกิดขึ้นปุ๊บก็จะมีการปล่อย บังคับให้วางในเวลานั้นเลย จะต้องเห็นสองอย่างนี้พร้อมกันประสานงานกัน ตัวยึดก็มี ผู้ที่ห้ามความยึดนั้นก็มี เราดูสองอย่างนี้เท่านั้นแหละ ไปแก้ปัญหาอันนี้ บางทีมันก็ยึดไปนานก็ปล่อย พิจารณาเรื่อยไป ทำเรื่อยไป มันก็ค่อยบรรเทาไปน้อยไป ความเห็นถูกมันก็เพิ่มเข้ามา ความเห็นผิดมันก็หายไป ความยึดมั่นถือมั่นมันน้อยลง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมา มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเป็นอย่างนั้น
จงพิจารณาใจของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ
ฉะนั้นจึงให้พิจารณา แก้ปัญหาได้ในปัจจุบัน บางทีตัวนั้นมันวิ่งขึ้นมา ตัวนี้มันก็วิ่งตะครุบเลย หายไปเลย อันนี้เราดูภายในใจของเราหรอก ดูภายในใจของเรา แก้ปัญหาเฉพาะภายในใจของเราเองถ้าเราแก้มันไม่ได้ตรงนี้ เป็นต้น ปุ่มนี้จับไว้ เมื่อมันเกิดอีกที่ไหนก็พิจารณาตรงนั้น พระพุทธองค์ก็ให้เพ่งตรงนี้ให้มากที่สุด
-http://www.silapasart.com/budha/tesana.html