ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 05:04:21 am »
ผู้มีหลักเสาเขื่อน
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวรนั้นเป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา,
ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น,
สัมผัสโผฎฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ,
ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก
ไม่เครียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก
เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ
มีจิตหาประมาณไม่ได้, ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่ง เจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศลที่เกิดแล้ว แก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง
ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด
อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน
มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,
จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก, และจับลิง
มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้วนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน
หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้น สัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้นมีที่อาศัย
และที่เที่ยวต่างๆกัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน
เพื่อที่จะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ
งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,
สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, และลิงก็จะไปป่า
ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลใดแล
ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว,
ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า
อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุรูปใด
ได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตาก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,
รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
หูก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,
เสียงที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
จมูกก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
กายก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
และใจก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย! คำว่า "เสาเขื่อน หรือเสาหลัก" นี้
เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่งกายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
"กายคตาสติของเราทั้งหลาย...
จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยาน...เครื่องนำไป
กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้...
เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ
เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี" ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย
พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ แล ...