ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: สิงหาคม 12, 2012, 07:14:24 pm »เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่า ปุถุชนกับพระอริยสาวกนั้น ต่างกันที่ จิต
พระสูตรส่วนต้น ได้แสดงนัยถึงจิตของพระฉันนะว่า
จิตของเรา ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่หลุดพ้น
ในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ในการสละคืนอุปธิทั้งปวง
ในความสิ้นตัณหา ในวิราคะ ในนิโรธ ในนิพพาน
ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานย่อมเกิดขึ้น
ใจก็ถอยกลับอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็นตนของเรา
ดังนั้น โดยนัยตรงกันข้าม
พระอริยสาวก รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนั้น
จิตของพระอริยสาวก ย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
หลุดพ้น ในธรรมเป็นที่ระงับสังขาร ในการสละคืนอุปธิทั้งปวง
ในความสิ้นตัณหา ในวิราคะ ในนิโรธ ในนิพพาน
ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานย่อมไม่เกิดขึ้น
จึงไม่สงสัยว่าอะไรเล่าเป็นตน(ที่พึ่ง)ของเรา
^
ก็เฉกเช่นเดียวกัน ถึงพวกเราจะรู้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ความรู้เช่นนี้เป็นสัญญา ความจำได้หมายรู้
ไม่ใช่ปัญญา รู้เห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
เพราะไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติสัมมาสมาธิ
จนจิตมีสติบริสุทธิ์วางเฉยต่ออารมณ์เป็นอุเบกขาที่ฌาน ๔ (อุเปกฺขา สติปาริสุทฺธิง)
พวกเราส่วนนึงก็จะกลัวเมื่อมีการเอ่ยถึงคำว่า ตน
และจะรีบปฏิเสธว่าในพระศาสนาไม่มีตัวตน
ทั้งๆที่พระพุทธองค์มีกล่าวถึงไว้มากมาย
ที่ฌาน ๔ อุเปกฺขา สติปาริสุทฺธิง
จิตมีสติบริสุทธิ์วางเฉยต่ออารมณ์เป็นอุเบกขา
จิตแยกตัวเป็นอิสระออกจากอารมณ์ได้
จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์
อยู่ร่วมกันไป เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว
จิตเป็นอิสระอยู่ได้โดยลำพังตนเอง
จิตไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์อีกต่อไป ณ ตรงนี้แล ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลมีตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลอื่นได้โดยยาก
เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธตน(ที่พึ่ง)
พระองค์สอนให้ปฏิเสธ ขันธ์ ๕ ว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน(ที่พึ่ง)ของเรา
ทรงสอนให้ฝึกอบรมจิต เพื่อให้จิตปล่อยวางการยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน(ที่พึ่ง)ของเรา
ดังพุทธอุทาน ซึ่งทรงเปล่งออกหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ ดังนี้คือ
"ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ"
เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จัก ตน เข้าด้วยปัญญาอันเกิดจาก(จิต)สงบ
เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อม พ้นจาก รูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้
~~~~~~~~~~~~~
[๒๓๔] ฯลฯ อา. ท่านพระฉันนะ ผมได้สดับคำนี้มาเฉพาะพระพักตร์
รับมาแล้วเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสสั่งสอนภิกษุกัจจานโคตรอยู่ว่า
ดูกรกัจจานะ โลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี ๑ ความไม่มี ๑
ก็เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่
ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี
เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอยู่
ความมีในโลก ย่อมไม่มี
โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น
แต่อริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้
ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่นมีความยึดมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเรา
ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละเมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ
อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย
ดูกรกัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ
ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี
ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
~~~~~
^
ในสมัยพระพุทธองค์ มีความเห็นสุดโต่ง ๒ ฝั่ง
ฝั่งนึงเชื่อว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่
มี คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
อีกฝั่งนึงเชื่อว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี
ไม่มี คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา
คือ ฝั่งนึงเห็นว่าการเสพสุขทางกาย(ขันธ์ ๕) ทำให้พ้นทุกข์ได้
การปฏิบัติสุดโต่งของฝั่งนี้ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
อีกฝั่งนึงเห็นว่าการทรมานกาย(ขันธ์ ๕) ทำให้พ้นทุกข์ได้
การปฏิบัติสุดโต่งฝั่งนี้เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
ส่วนพระองค์ตรัสรู้อริยสัจ ๔ โดยการปฏิบัติทางสายกลาง หรืออริยมรรค ๘
ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต ไม่ใช่ทางกาย(ขันธ์ ๕) จึงทำให้พ้นทุกข์ได้
เพราะจิตปล่อยวางการยึดถือกาย(ขันธ์ ๕) ว่าเป็นตน
ความมีในโลก และ ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี
เพราะทรงพ้นจาก ความมี ความไม่มี ในโลกแล้ว
ทรงเห็นแล้ว รู้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นโลกธรรมในโลก
จิตของพระองค์พ้นแล้วจากถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะเที่ยง จะไม่เที่ยง
จะสุข จะทุกข์ จะแปรปรวนหรือไม่แปรปรวนไป อย่างไรก็ตาม
จิตของพระองค์หาได้แปรปรวนตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นๆไม่
(อ่านเทียบเคียงได้ใน ปุบผสูตร และนกุลปิตาสูตร)
ดังได้กล่าวมาโดยตลอด เราจึงต้องปฏิบัติตามเสด็จ
เริ่มต้นด้วยการปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักอริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต
เพื่อให้จิตเกิดปัญญา รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา
จิตไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป จิตจึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
~~~~~
โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น
แต่อริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้
ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่นมีความยึดมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเรา
ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า
ทุกข์นั่นแหละเมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ
อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย
^
นั่นคือ จิตปุถุชน
เข้าถึงอุบาย(ตัณหาและทิฐิ ) และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุ ตั้งมั่น ถือมั่น
และเป็นอนุสัยแห่งจิตว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาของตน
จิตพระอริยสาวก
ละ อุบาย(ตัณหาและทิฐิ) และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุ ตั้งมั่น ถือมั่น
และเป็นอนุสัยแห่งจิตว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาของตน
พระอริยสาวก มีญาณหยั่งรู้ คือรู้อริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
รู้ทุกข์ (ทุกข์)
รู้เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)
รู้ความ ดับทุกข์ (นิโรธ)
รู้หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)
หรือก็คือ
รู้แจ้งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด (สมุทัยวาร...ทุกข์,สมุทัย)
รู้แจ้งปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายดับ (นิโรธวาร...นิโรธ,มรรค)
เกิดวิชชาขึ้นที่จิตแทนที่อวิชชา
เพราะอวิชชาดับไปจากจิต ปฏิจจสมุปบาทธรรมดับ
ไม่ใช่จิตดับ แต่จิตเป็นพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
รู้อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ตื่นจากความมัวเมาในอารมณ์ (มัทนิมมัทโน)
เบิกบานในธรรม (วิราคธรรม)
..........◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊..........
กายปุถุชนกับพระอริยเจ้าเหมือนกันคือ
เป็นเพียงรูป-นาม ขันธ์ ๕ หรือธาตุที่มาประชุมกัน
ปุถุชนกับพระอริยเจ้าต่างกันที่ จิต นั่นคือ จิตรู้เห็นต่างกัน
ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส จิตเห็นขันธ์ ๕ เป็นตน เห็นตนเป็นขันธ์ ๕
แต่พระอริยเจ้า จิตไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน ไม่เห็นตนเป็นขันธ์ ๕
ปุถุชน เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
ปุถุชน เห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ปุถุชน เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน
ปุถุชน เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เขาย่อมแล่น วนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เอง
เมื่อเขาแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอยู่
เขาย่อมไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เรากล่าวว่าย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
พระอริยสาวก ไม่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
พระอริยสาวก ไม่เห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พระอริยสาวก ไม่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน
พระอริยสาวก ไม่เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อริยสาวกนั้นย่อมไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อริยสาวกนั้นเมื่อไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ย่อมพ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์
(อ้างอิง คัททูลสูตรที่ ๑ และ ๒)
^
ปุถุชนไม่ได้รับการอบรมจิต
จิตมีอวิชชาครอบงำอยู่(ไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง)
หลงเข้าใจผิด ว่าขันธ์ ๕ ซึ่งก็รวม วิญญาณขันธ์ ด้วยเป็นตน
จึงหลงเกิดตายตามขันธ์ ๕ หรือ ก็คือ เกิดดับตามวิญญาณขันธ์ นั่นเอง
จึงบอกว่า จิตเกิดดับ ด้วยอำนาจอวิชชาที่ครอบงำนั่นเอง
เพราะไม่รู้จักตนเองที่แท้จริง ว่าตนเป็นผู้รู้ ผู้เห็นอยู่
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป จิตจึงแปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไปตลอดเวลา
เมื่อปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักอริยมรรค ๘ ตามเสด็จพระบรมศาสดา
จิตที่เคยรู้ผิดเห็นผิดไปจากความเป็นจริงมาตลอดเพราะ อวิชชาครอบงำ
เกิดวิชชาขึ้นแทนที่ (รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง)
จิตก็จะรู้ จะเห็นว่าขันธ์ ๕ ซึ่งก็รวมวิญญาณขันธ์ด้วยไม่ใช่ตน
ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕ ตนไม่ได้เกิดดับ ตนเป็นผู้รู้อยู่ เห็นอยู่
ที่เกิดดับคือวิญญาณขันธ์ไม่ใช่จิต
เพราะจิตผู้ปฏิบัติต้องรู้ต้องเห็นตลอดสายของการปฏิบัติ
ไม่ว่าอารมณ์ใดๆมาเกิดขึ้นที่จิต จิตก็รู้
อารมณ์ใดๆดับไปจากจิต จิตก็รู้
เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป ถ้ารู้จักทำจิตให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้
จิตก็ไม่แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป
นี้คือประโยชน์ที่ผู้ปฏิบัติตามเสด็จจะพึงได้รับจากพระพุทธศาสนา
คือ จิตรู้จักปล่อยวางอารมณ์ต่างๆที่จะเข้ามากระทบจิต
ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปตามอารมณ์
-http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nulek&group=18