.
“เมาเหมือนหมา” ภาพสะท้อนเรื่องจริง แต่ไม่อาจมีที่ยืน
-http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000099163-
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
12 สิงหาคม 2555 19:21 น.
“เสรีภาพทางความคิด” คำๆนี้บนผืนแผ่นดินไทยคงเป็นสิ่งที่หายากเต็มที่ จากหลายครั้งหลายคราที่ความคิดเห็น มุมมองที่ “ต่าง” ไม่เคยได้รับการยอมรับจากสังคมไทย อย่างโปสเตอร์ภาพชิ้นล่าสุดที่เปรียบเปรยคนว่า “เมาแล้วเหมือนหมา” ก็ต้องยอมถอดออกเพราะต้านแรงเสียดทานจากคนที่ไม่ยอมรับความจริงไม่ไหว แล้วเมื่อไหร่กันที่เราจะเลิกยึดติดกับความคิดฝังรากลึกแบบมายาคติ ที่ไม่เคยช่วยให้ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าสักนิดเลย
“เมาเหมือนหมา” งานคิดดีแต่โดนแบน
ล่าสุดกับการประกวดโปสเตอร์ภาพของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภายใต้หัวข้อ “หยุดหาข้ออ้าง เข้าข้างเหล้า ไม่ดื่ม ไม่เมา เราทำได้” โดยภาพที่ชนะการประกวดคือภาพ “อย่าเสียความเป็นคนด้วยน้ำเมา” โปสเตอร์ กัดเจ็บสำหรับคนดื่มเหล้าด้วยภาพที่สื่อว่า เมาจนคนกลายเป็นหมา ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าไม่เหมาะสมโดยภาพนี้ได้รับรางวัลเพียง แค่ 3 วัน ก็ต้องถอดรางวัลออก รวมถึงถูกแบน ยุติการตีพิมพ์เผยแพร่ด้วย
โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิสา เบ็ญจะมโน มองว่า “โปสเตอร์ ภาพดังกล่าว เป็นการผสานระหว่างจินตนาการ และงานศิลปะเข้าด้วยกัน ไม่ได้มองว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลใด ดังนั้นจึงอยากให้มองที่เจตนา หรือ แนวคิดของเจ้าของผลงาน ที่ต้องการสื่อสารออกมามากกว่า”
นอกจากนั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังเสนอว่า จากนี้ไปหากหน่วยงานใด จะมีการจัดประกวดเหมือนเช่นลักษณะนี้ ผู้จัดประกวดก็ควรระมัดระวัง และตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนมีการเผยแพร่สู่สังคม โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านภาพ ที่สุ่มเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้ โดยที่เจ้าของผลงานนั้นอาจไม่ได้ตั้งใจ
งานไอเดียเด็ด ได้รางวัล แต่ไม่มีสิทธ์เผยแพร่
เหตุการณ์โดนแบนงานศิลปะต่างๆ ไม่ได้ปรากฏเพียงแค่งานภาพถ่ายเท่านั้น แต่ผลงานหลายๆ ชิ้นทั้ง ภาพวาด ภาพยนตร์ ภาพยนตร์สั้น หรือผลงานการเขียนต่างๆ ก็ล้วนแต่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นกัน เลยทำเอาศิลปินผู้สร้างงานหลายคนส่ายหน้าและเอือมระอากับระบบความคิดติดกรอบ และยึดมั่นถือมั่นฝังหัวกับความคิดแบบเดิม
อีกหนึ่งกรณีที่เป็นที่โด่งดังเกี่ยวกับภาพ "ภิกษุสันดานกา" ขอ งอนุพงษ์ จันทร ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ประจำปี 2550 โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) ในขณะนั้นก็ตกเป็นข่าวดังบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หลังจากมีพระภิกษุสงฆ์และกลุ่มนิสิตพระสงฆ์ออกมาประท้วงและให้ระงับการแสดง อันเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมและสื่อถึงการดูหมิ่นศาสนา โดยในภาพวาดนั้นปรากฏภาพพระภิกษุ 2 รูปหลับตาเอาศีรษะชนกันและมีปากเป็นปากของกา นอกจากนี้ยังมีรอยสักเต็มตัว และแสดงกิริยาแย่งสายสิญจน์กับตะกรุดที่อยู่ในบาตร
จากความไม่เหมาะสมของงานศิลป์ชิ้นนี้ที่สื่อความหมายออกมาค่อนข้าง ขัดกับความคิดของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะกับวงการสงฆ์ จึงมีคำตำหนิออกมาอย่างมากมาย ทั้งความไม่เหมาะสมระหว่างภาพกับบริบทสังคมไทย ความไร้จริยธรรมต่อสังคมที่นำเสนอภาพ อาจเกิดความเข้าใจผิดหากผู้ชมที่ไม่มีวิจารณญาณ เป็นการนำเรื่องที่ไม่ควรพูดมาพูดในที่สาธารณะ จนกระทั่งถึงขนาดกล่าวว่า จิตกรผู้นี้เป็นคนจิตไม่ปกติ วิปลาส ฟั่นเฟือน และและมองว่าผู้ให้รางวัลนั้นไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม
หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่พอใจในผลงานศิลป์ชิ้นนี้ อนุพงษ์ จันทร ผู้เขียนภาพให้ความเห็นไว้ว่า “ผม สร้างงานศิลปะขึ้นมาไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำลายศาสนา แต่ผมมองไปถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น ให้คนในสังคมได้ฉุกคิด ภาพของผมต้องการสื่อว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยศาสนาเป็นเครื่องหาผลประโยชน์ โดยชื่อ ของ ผลงานผมก็ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่เอามาจากพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ถึงภิกษุลามกรูปหนึ่ง ที่ไม่ควรค่าแก่การกราบไหว้” (วิวาทะแห่งข้อขัดแย้ง : จากฆราวาสสู่สังฆาวาส)
รวมถึงภาพยนตร์สั้นชุด “ขอโทษ ประเทศไทย” เมื่อสองปีที่แล้ว ผลิตโดยกลุ่มเครือข่ายพลังบวก ที่ทางคณะกรรมการเซ็นเซอร์ได้สั่งห้ามนำแพร่ภาพทางฟรีทีวี โดยให้เหตุผลว่าเป็นประเด็นที่เข้มข้นเกินไป และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง โดยในโฆษณา “ขอโทษ ประเทศไทย” ได้ใช้ภาพในเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง และกลุ่มพันธมิตร รวมทั้งภาพการปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มคนเสื้อแดง ภาพของไอ้โม่งชุดดำ ภาพตึกและอาคารต่าง ๆ ที่ถูกไฟไหม้ด้วย
โดยผู้ผลิตโฆษณาชิ้นนี้ ภาณุ อิงคะวัต นัก โฆษณาชื่อดังและผู้ก่อตั้งกลุ่มพลังบวกเคยกล่าวว่า ทางทีมงานที่ร่วมกันผลิตรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ออกอากาศ เพราะโฆษณาชิ้นนี้ถือเป็นโฆษณาที่ดี แต่เราไม่กล้าเอาความจริงมาพูดคุยกันในที่สาธารณะ เพราะอาจจะไปโดนใจดำของบางคน
“การทำโฆษณาชิ้นนี้เราไม่ได้บอกว่า ใครเป็นคนผิด แต่ทุกคนผิดกันหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นมักถูกทับถมทับซ้อน เราจึงอยากกระตุกให้เห็นถึงปัญหาที่มีมานานแต่ก็ไม่มีใครแก้ เหตุที่ไม่ได้รับอนุญาติให้ออกอากาศเนื่องจากเกรงว่าวิธีเล่าเรื่อง หรือการลำภาพอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
ถึงแม้โฆษณานี้จะไม่ได้ฉายทางฟรีทีวี แต่ก็สามารถรับชมได้จากทางเว็บไซต์อย่างยูทิวบ์ ที่ ณ ตอนนี้มียอดผู้เข้าชมกว่าสองล้านคน ซึ่งผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับคำชื่นชมเป็นจำนวนมากแต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่ สามารถนำฉายทางฟรีทีวีได้อยู่ดี
.