ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: สิงหาคม 17, 2012, 07:54:06 pm »ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ (หลวงพ่อเทียนทีข้าพเจ้ารู้จัก)
ผู้เขียน:ท่านเขมานันทะ
“มันไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน ถ้ากำหนดจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ก็ติดอยู่เท่านั้นเอง ต้องไปให้พ้นจากปัจจุบัน”
เมื่อคุณได้ยินประโยคที่กล่าวถึงนี้ คุณคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร …ไปให้พ้นจากปัจจุบัน…?
คุณจะรู้สึกและคิดอย่างไรที่ได้ยินประโยคนี้จากครูอาจารย์ที่สอนให้คุณเจริญสติเพื่อให้รู้จักอยู่กับ “ปัจจุบันขณะ” ?
โดยส่วนตัวแล้ว เมื่ออ่านเจอประโยคนี้ในหนังสือ ในขณะที่ตนเองกำลังติดตันอยู่กับสภาพปัญหาปัจจุบันที่เหมือนหาทางออกไม่ได้ กลับรู้สึกเหมือนมีพระมาโปรด เป็นสติให้กับคำถามให้กับความคับข้องใจกับหลายทางเลือกของชีวิตขณะนี้ และสำนวนที่ว่า “เหมือนมีพระมาโปรด” ในเชิงเปรียบเทียบนั้น ในความเป็นจริงคือเรื่องเล่าถึง “พระจริง”จากนักเขียนอมตะนาม เขมานันนทะ หรือนามที่แท้จริงอาจารย์โกวิท เอนกชัยในหนังสือชื่อ “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” และอาจารย์ผู้ไม่รู้หนังสือของท่านเขมานันทะที่ขยายความผ่านชื่อหนังสือเล่มนี้คือ หลวงพ่อเทียนที่ข้าพเจ้ารู้จัก
ในฐานะศิษย์ ท่านเขมานันทะเล่าถึงหลวงพ่อเทียนผ่านคุณลักษณะของการเป็น”ครู” ที่สอนธรรมะแบบไร้รูปแบบ ทั้งที่คนจำนวนมากนับถือท่านในฐานะปรมาจารย์แห่งการเจริญสติในรูปแบบการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความรู้สึกตัว เป็นพระหลวงพ่อที่อาจารย์โกวิทหรือท่านเขมานันทะบอกว่า “เป็นการยากมากที่จะพูดถึงเรื่องนี้อย่างดีที่สุด …หลายครั้งที่ผมไม่รู้จักหลวงพ่อเลย แต่หลายครั้งที่รู้สึกเหมือนกับว่าท่านเข้ามานั่งแทรกอยู่ในหัวใจผม”
“หลวงพ่อเป็นคนธรรมดา และในความธรรมดานี้เอง ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอันเป็นของขวัญสำหรับเพื่อนมนุษย์ ท่านมิใช่อัจฉริยะที่พวกเราไม่อาจเข้าถึงได้ หลวงพ่อพูดเสมอว่า หลวงพ่อไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ตายเมื่อไรก็ได้ แต่หลังจากฟังท่านแล้ว ผมก็ไม่เชื่อว่าท่านไม่รู้อะไร เมื่อถามอีกว่า หลวงพ่อไม่รู้อะไรจริง ๆ หรือ ท่านก็บอกว่ารู้ ท่านจะกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ผมมานั่งคิดว่า ท่านไม่ใช่คนตลบตะแลงหรือตีฝีปากจัดจ้าน ท่านเป็นมนุษย์ที่ซื่อ ท่านบอกข่าวสารอย่างซื่อตรง ไม่เคยกลับกลอก แต่ว่าตัวที่กลับกลอกจริง ๆ นั้นคือตัวความคิด..”
ในครึ่งแรกของหนังสือจะเป็นการเล่าถึงวิธีการสอนของหลวงพ่อเทียนที่ “ไร้รูปแบบ” แต่เหมือนนักบอลที่ชู้ตลูกเข้าประตูได้ในทุกสถานการณ์ ท่านเขมานันทะเล่าว่า “ในรูปร่างหน้าตาเฉย ๆ ซื่อ ๆ ของท่านนั้น มีความกระฉับกระเฉงฉับพลันทางปัญญาซ่อนแฝงอยู่ ท่านฟังทุกถ้อยคำที่เราพูด แต่ก็ทำเหมือนไม่ฟัง ไม่รู้ไม่เห็น และเข้ามาถูกจังหวะจะโคนเสมอ”
เรื่องของหลวงพ่อเทียนถูกบอกเล่าผ่านภาษาที่เรียบ นิ่ง สัมผัสได้ถึงความเป็นกลางปราศจากการแต่งแต้มตกแต่งเรื่องราว แต่ช่างให้ความรู้สึกสดใหม่ต่อวิธีการสอนที่ฉับพลันทันการณ์ต่อบุคคลในแต่ละช่วงขณะ เพื่อให้ศิษย์เข้าถึงความรู้สึกตัว ในภาวะที่รู้แบบรู้แล้วผ่านเลย “รู้ แต่อย่าให้มันรู้อะไรเข้า”
ในตอนหนึ่งของหนังสือ ท่านเขมานันทะเล่าว่า “เมื่อสิบปีที่แล้วรู้สึกรังเกียจที่จะไปนั่งยกมือ รู้สึกเขิน คิดว่าไม่มีอะไร เพราะเป็นรูปแบบ และพวกเราไม่ถือรูปแบบใด ๆ ทั้งสิ้น อันนี้นับว่าเป็นการเข้าใจผิด สิ่งนี้ไม่ใช่รูปแบบ แต่เป็นการกระทำซื่อ ๆ ตรง ๆ ให้สภาวะซึ่งเป็นแล้วมีแล้วได้แสดงตัวออกมา พอมีการยกมือเคลื่อนเท่านั้น ท่านจะกำหนดรู้หรือไม่ย่อมไม่สำคัญอะไร แต่เมื่อมีการเคลื่อนเช่นนี้ จะเกิดการงานร่วมกันระหว่างรูปกับนามบนฐานของการเคลื่อนไหว อันทำให้ชีวิตเข้าสู่ทางของมันอย่างง่ายดาย อีกทั้งรู้เห็นเข้าใจรูปทำ (การงานของรูป) และนามทำ (การงานของนาม) ได้เอง”
“นับแต่จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ล้วนขึ้นอยู่กับหลักของการเคลื่อนไหว รวมไปถึงโครงสร้างของอะตอม การเคลื่อนไหวและการดิ้นรน ลักษณะเช่นนี้คือไตรลักษณ์ ได้แก่อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา อันเป็นกฎของธรรมชาติ ในเมื่อผู้ใดได้เข้าไปรู้ไปเห็นสัจจะนี้ ปรีชาญาณอันนี้แหละจะเข้าไปแก้ทุกข์ มันจะแก้ของมันเอง การที่จะเห็นหรือเข้าถึงสภาวะดับทุกข์นั้น เข้าถึงไม่ได้โดยความคิด สมองของมนุษย์ทำงานอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด และดังนั้นความพยายามใด ๆ ที่จะเข้าใจธรรมะโดยการมุ่งขบคิดประเด็นให้แตกหัก จึงย่อมพบแต่ความล้มเหลว เพราะธรรมะแท้นั้นเข้าถึงด้วยความคิดไม่ได้”
แม้จะเห็นด้วยว่า ธรรมะแท้นั้นเข้าถึงด้วยความคิดไม่ได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็อธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับความคิดที่คนช่างคิดไม่สามารถคิดได้ เพราะ “สิ่งที่เรียกว่าความรู้กับอาการรู้นั้นต่างกัน” ท่านเขมานันทะอธิบายความตรงนี้ว่า “สองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน ความรู้อยู่ที่ความจำ ถ้าคุณจำได้แม่น จำได้มาก ก็คิดได้เก่ง คิดได้ไกล ถ้าจำได้น้อยก็คิดได้น้อย คิดไม่เก่ง ถ้าจำไม่ได้เลยก็คิดไม่ได้ คิดไม่ออก ดังนั้นกระบวนการของความรู้จึงเป็นการสะสมหน่วยของความจำ ในเมื่อเราโยงความจำเหล่านี้เข้าด้วยกัน สำเร็จรูปออกมาเป็นความคิดเป็นทฤษฎีได้ คนที่จำอะไรได้เยอะก็เข้าใจอะไรได้กว้าง คิดเก่ง หาบทสรุปได้ดี นั่นคือความรู้ ผู้ใดที่ความจำเสื่อมหรือมีข้อมูลไม่พอ ประสิทธิภาพของความรู้ก็หย่อน ส่วนสิ่งที่เรียกว่า “อาการรู้” นั้น เป็นความสว่างไสว พร้อมที่จะรู้ ซึ่งเป็นตัวความรู้ในตัว เป็นอาการรู้ตัว เนื่องในสัญชาตญาณและการโพลงตัวของจิต(ชุติมนฺโต)”
อ่านแล้วก็ได้คิดว่า นั่นสินะ ไอ้ที่ตัวเองวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความจำเยอะความคิดแยะ แต่เป็นความคิดความจำที่อยู่ข้างนอกตัว นี่ทำให้เกิดนั่น นั่นเป็นผลพวงของโน่น โน่นเป็นผลกระทบของโน้น โอย..โยงใยยุ่งยาก..คิดเป็นเหตุเป็นผลไปหมดเหมือนกับรู้ไปหมด แต่ท่านเขมานันทะเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ส่วนใหญ่เราไม่เป็นตัวของตัวเอง เราเป็นของความคิด ถูกความคิดบงการ เรามักพัวพันอยู่กับความคิดเช่นนั้น”
ท่านเขมานันทะเล่าว่าสิ่งที่เรียนรู้จากหลวงพ่อเทียนไม่ใช่คำสอนที่เป็นคำอธิบาย แต่เป็น “กลวิธีหรือความกระฉับกระเฉงของหลวงพ่อเอง” ระยะเวลาที่ท่านเขมานันทะ “ไปมาหาสู่” กับหลวงพ่อเทียนนั้นประมาณสิบแปดหรือสิบห้าปีเป็นอย่างน้อย แต่ “หกปีแรกนั้น ผมเองไม่สามารถปลงใจเชื่อวิธีการของท่านได้ บางวันท่านบอกผมให้เดินดูใจ ผมก็เดินดูใจทั้งวัน พอรุ่งเช้าท่านมาบอกว่า “ใจไม่มี” ก็เลยสับสน ไม่รู้ท่านจะเอาอย่างไรกันแน่ ผมจึงไปบอกท่านว่า “หลวงพ่อครับ ผมฟุ้งซ่านมาก ผมเป็นคนติดคิด” หลวงพ่อบอก “ดี ให้มันฟุ้งอย่างนี้”และบอกผมว่าอย่าไปนั่งสงบเข้า เพราะเรียนมาในทางสงบเจริญสมถะคือการข่มนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา นี่คือหลักที่เรียกว่ากรรมฐาน หลักเดิมที่เราเรียนกันมา พอผมนั่งนิ่งสงบ หลวงพ่อก็แอบมาข้างหลัง เอานิ้วจี้แขนผม แล้วถามว่า นั่งทำไม ผมไม่เข้าใจท่านเลยว่าทำไมต้องมารบกวนเวลาของผมด้วย ผมเชื่อว่าเมื่อจิตใจสงบมาก ๆ แล้ว ก็จะไปถึงที่สุดของความสงบ แต่เรื่องของเรื่องกลับกลายเป็นติดในสิ่งที่รู้…”
ผู้เขียนเล่าไว้ว่า “อาจารย์ผมท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกกลม และยังเข้าใจผิดว่าโลกแบนด้วย ผมเคยอธิบายให้ท่านฟังว่าโลกกลม ท่านแสดงอาการแปลกใจมาก ท่านไม่รู้หนังสือหนังหา แต่ว่าอาการตื่นตัวนี้มากพอที่จะสอนคนที่มีความรู้มาก ๆ และหลงทางได้ ความรู้ที่มากเกินอาจกลายเป็นกองขยะได้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งส่งกลิ่นเหม็นเน่า แต่ว่าขยะมูลฝอยเหล่านั้นเป็นปุ๋ยได้ถ้าเรารู้จักใช้ การรู้ตัวเหมือนเครื่องกำจัดสิ่งเน่าเสีย แต่ถ้ารู้แบบความรู้ คิดเก่ง ก็ไม่ค่อยจะรู้ตัว แล้วทำอะไรน่าเกลียดน่าชัง ทั้งเป็นทุกข์ร้อนใจง่าย” วิธีการสอนของหลวงพ่อเทียนที่มีต่อผู้เขียนหรือท่านเขมานันทะจึงมักพุ่งตรงไปที่ความรู้ตัวแบบ “รู้สึกตัวเฉย ๆ ล้วน ๆ ถ้วน ๆ จากจุดนี้มันจะคลี่คลายปัญหาทั้งหมด”
คุณปรีชา ก้อนทองซึ่งเขียนคำนิยมในหนังสือเล่มนี้เห็นว่า ท่านเขมานันทะเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นปฏิบัติบูชาคุณแด่ครู “เราได้พบหลวงพ่อเทียน รู้จักหลวงพ่อ รับรู้ได้ถึง “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” อย่างกระจ่างชัดเจน กิจของท่าน “เขมานันทะ” ในการนำเราไปพบพระดีได้จบลงอย่างสมบูรณ์”
เกริ่นไว้แค่นี้ก่อนก็แล้วกันนะคะ สำหรับผู้สนใจอยากเรียนรู้จัก “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” คงต้องหาอ่านเอง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อยากเขียนถึงมากที่สุดแต่เขียนถึงได้ยากที่สุด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านและเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ไม่สามารถสื่อความออกมาด้วยตัวหนังสือ เพราะหลายอย่างเป็น “ภาษา” ที่รับรู้ได้โดยตรงที่ใจ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่งดงาม เป็นเรื่องเล่าจากศิษย์ถึงอาจารย์ที่ผู้เขียนหรือท่านเขมานันทะกล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องว่า “ระมัดระวังสังวร ไม่ให้น้อย ไม่ให้มากเกิน” เรื่องเล่าและช่องว่างบางอย่างในความบอกเล่าจึงมีหลายช่วงตอนที่ผู้อ่านต้องสัมผัสด้วยใจ ไม่ใช่ความคิด โดยส่วนตัวแล้วเมื่อเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ ความคิดหลายอย่างหยุดลง และเมื่อความคิดที่กินเนื้อที่เกือบทั้งหมดในสมองและความรู้สึกที่ยึดครองจิตใจอันเนื่องมาจากความคิดจางลง ตัวเองก็รู้สึกเหมือนชีวิตมีพื้นที่เพิ่มขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้น “ว่าง” แต่ก็รู้สึกโปร่ง โล่ง และสบาย
หมายเหตุ
ชื่อหนังสือ: ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ (หลวงพ่อเทียนที่ข้าพเจ้ารู้จัก)
ผู้เขียน: เขมานันทะ
สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่สอง สิงหาคม ๒๕๕๐
-http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=kangsadal&month=05-04-2010&group=3&gblog=14