พระธรรมปิฎกกล่าวว่า การคิดแบบนี้มีลักษณะที่พึงย้ำ 2 ประการ คือ... 6.1 การที่จะใช้ชื่อว่ามองเห็นตามเป็นจริงนั้น จะต้องมองเห็นทั้งด้านดีและด้านเสียหรือทั้งคุณและโทษของสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่มองเพียงด้านหนึ่งด้านใดด้านเดียว
6.2 เมื่อจะแก้ปัญหาหรือลงมือปฏิบัติจะต้องมองเห็นจุดหมายหรือทางออก นอกเหนือจากการที่รู้คุณและโทษของสิ่งนั้นๆ การคิดหาทางออกด้วยวิธีการดังกล่าวต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กับการพิจารณาผลดีผลเสียจะทำให้หาทางออกได้ดีที่สุดและปฏิบัติได้ถูกต้องที่สุด 7. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม วิธีคิดแบบนี้ใช้กันมากในชีวิตประจำวันเพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอย ปัจจัย 4 คำว่าคุณค่าแท้หมายถึงประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายในแง่ที่สนองความต้องการของ ชีวิตโดยตรงหรือที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนและของผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคาจะเรียกว่าคุณค่าที่สนองปัญญาก็ได้ เช่นคุณค่าของอาหารอยู่ที่ประโยชน์ของมันสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิต อยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่อย่างผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจหน้าที่ เป็นต้น ส่วนคุณค่าเทียมนั้นหมายถึง ประโยชน์ในแง่การปรนเปรอ การเสพเสวยเวทนา อาศัยตัณหาเป็นเครื่องวัดคุณค่าหรือวัดราคา จะเรียกว่าคุณค่าตอบสนองตัณหาก็ได้ เช่น อาหารที่มีคุณค่าที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนานเป็นเครื่องแสดงฐานะความหรูหรา เป็นต้น
วิธีคิดแบบคุณค่าแท้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว ยังเกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น
ความมีสติ เป็นต้น ต่างจากคุณค่าเทียมที่พอกเสริม
ด้วยตัณหา ซึ่งไม่ใคร่เกื้อกูลแก่ชีวิต ทำให้อกุศลธรรม เช่น ความโลภ ความมัวเมา ความริษยา มานะ ทิฎฐิ เจริญขึ้นอย่างไม่มีขอบเขต 8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดที่ส่งเสริมชักนำไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ เป็นการขัดเกลาและบรรเทาปัญหา พระธรรมปิฎกอธิบายว่า
ในเหตุการณ์หรือประสบการณ์เดียวกัน คนหนึ่ง
อาจคิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์ อีกคนหนึ่งอาจปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม
เป็นโทษ ทั้งนี้เนื่องมาจากการฝึกฝนอบรมและประสบการณ์ที่ได้สะสมมา
นอกจากนี้แม้แต่บุคคลเดียวกัน มองของอย่างเดียวกันหรือมีประสบการณ์เดียวกัน
แต่ต่างขณะ ต่างเวลา ก็อาจคิดแตกต่างออกไปครั้งละอย่างได้ คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดี ทั้งนี้โดยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว
วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมหรือโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลในที่นี้
จึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้น ๆ และในแง่
ที่ช่วยแก้ไขนิสัยเคยชินร้ายๆ ของจิตที่ได้สะสมไว้แต่เดิมพร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่ จิต ไปในเวลาเดียวกัน
ในกรณีที่ความคิด
อกุศล เกิด ขึ้นแล้ว พระธรรมปิฎกได้ยกตัวอย่างในวิตักกสัณฐานสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงแนะนำหลักทั่วไปในการ
แก้ความคิดอกุศลไว้เป็น 5 ขั้นคือ...
8.1) คิดนึกใส่ใจเรื่องอื่นที่ดีงามเป็นกุศล เช่น นึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดเมตตา แทนเรื่องที่ทำให้เกิดโทสะ เป็นต้น ถ้ายังไม่หาย
8.2) พึงพิจารณาโทษของความคิดที่เป็นอกุศลเหล่านั้นว่า ไม่ดีไม่งาม ก่อผลร้ายนำความทุกข์อย่างไรมาให้ ถ้ายังไม่หาย
8.3) พึงใช้วิธีต่อไปคือ ไม่คิดถึง ไม่ใส่ใจในความชั่วร้ายที่เป็นอกุศลนั้นเลย ถ้ายังไม่หาย
8.4) พึงพิจารณาสังขารสัณฐานของความคิดเหล่านั้น ว่าความคิดนั้นเป็นอย่างไร เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร ถ้ายังไม่หาย
8.5) พึงขบฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน อธิษฐานจิตคือตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ข่มใจระงับความคิดนั้นเสีย 9. วิธีคิดแบบ
เป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน วิธีคิดแบบนี้บางทีเรียกว่า วิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ และมีข้อที่ต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษคือ การที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์
ความคิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหมายถึง การคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนายปัญญา การคิดแบบนี้ถือว่า
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องที่ล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า ก็จัดเข้าไปเป็นการปัจจุบันทั้งสิ้น ความ
คิดถึงอดีตและอนาคต ตามแนวทางของปัญญาที่เป็นเรื่องของ
กิจในปัจจุบันจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในทาง ปฏิบัติ ช่วยให้การปฏิบัติในปัจจุบันถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น และสนับสนุนให้มีการตระเตรียมวางแผนล่วงหน้า นับว่าเป็นวิธีคิดที่มีประโยชน์มาก
10. วิธีคิดแบบ
วิภัชชวาท มาจาก วิภัชชวาท วิภัชชแปลว่าแยกแยะ จำแนกหรือแจกแจง ใกล้เคียงคำที่ใช้ในปัจจุบันว่าวิเคราะห์วาท แปลว่า
การกล่าว การพูด การแสดงคำสอน วิภัชชวาทจึงแปลว่า การพูด จำแนก พูดแยกแยะหรือแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์ ลักษณะสำคัญของการคิดและการพูดแบบนี้คือ การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้านครบทุกแง่ทุกด้าน วิธีคิดแบบนี้สามารถจำแนกออกเป็นลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้
10.1
จำแนกด้วยแง่ความจริง แบ่งซอยออกเป็น 2 อย่าง คือจำแนกตามแง่ด้านต่างๆ ตามที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ โดยมองทีละด้านอย่างหนึ่ง และจำแนกโดยมองหรือแสดงความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ครบทุกแง่ทุกด้านอีกอย่างหนึ่ง
10.2
จำแนกส่วนประกอบ คือวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบของสิ่งนั้นๆ
เพื่อให้รู้เท่าทันภาวะของสิ่งนั้นๆ เป็นการคิดในแง่เดียวกันกับการคิดวิธีที่สอง (วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ) ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น
10.3
จำแนกโดยลำดับขณะ คือแยกแยะวิเคราะห์ปรากฏการณ์
ตามลำดับความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ซอยออกไปเป็นแต่ละขณะๆ ให้มองเห็น
ตัวเหตุปัจจัยที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น เมื่อโจรขึ้นบ้านและฆ่าคนตายเพราะความโลภ คำพูดนี้ใช้ได้เพียงเป็นสำนวนพูดให้เข้าใจกันง่าย แต่เมื่อวิเคราะห์ทางด้านกระบวนธรรมที่เป็นไปภายในจิตอย่างแท้จริง
จะพบว่าความโลภเป็นเหตุของการฆ่าไม่ได้ โทสะต่างหากที่เป็นเหตุของการฆ่า ดังนี้เป็นต้น
10.4 จำแนกโดย
ความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย คือสืบสาวว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น
จะเกิดขึ้นหรือดับลงก็ด้วยเหตุปัจจัย เป็นวิธีคิดที่ตรงกับวิธีที่ 1 ที่กล่าวแล้วข้างต้น
ความคิดแบบจำแนกโดยสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยช่วยให้มองเห็นความจริงนั้น และตามแนวคิดนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมอย่างที่เรียกว่าเป็นกลาง คือไม่กล่าวว่า สิ่งนี้มี หรือสิ่งนี้ไม่มี แต่ทรงกล่าวว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มีการแสดงความจริงอย่างนี้ นอกจากจะเรียกว่า
อิทัปัจจยตาหรือ
ปฏิจจสมุปบาทแล้ว ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
มัชเฌนธรรมเทศนา หรือเรียกสั้นๆ ว่าวิธีคิดแบบมัชเฌนธรรม
10.5 จำแนก
โดยเงื่อนไข คือมองความจริงโดยพิจารณาเงื่อนไขประกอบด้วย เช่น ถ้ามีผู้กล่าวว่า บุคคลนี้ควรคบหรือไม่ หรือถิ่นสถานนี้ควรเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ตอบว่า ถ้าคบแล้วหรือเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อมก็ไม่ควรคบ ไม่ควรเกี่ยวข้อง แต่ถ้าอกุศลเสื่อม กุศลธรรมเจริญจึงควรคบควรเกี่ยวข้อง
ถ้าถามในแง่ การศึกษาว่า ควรปล่อยให้เด็กพบเห็นสิ่งต่างๆ ในสังคมอย่างอิสระเสรีหรือไม่ ถ้าจะตอบก็ต้องวินิจฉัยโดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ เช่น เด็กมีความพร้อมหรือไม่ ประสบการณ์เดิมเป็นอย่างไร เด็กรู้จักใช้โยนิโสมนสิการโดยปกติหรือไม่ มีบุคคลหรืออุปกรณ์คอยช่วยเหลือหรือไม่ สิ่งหรือเรื่องที่เด็กจะได้พบเห็นในประสบการณ์นั้น มีผลกระทบรุนแรงเพียงใด ดังนี้เป็นต้น
10.6 จำแนกโดย
วิภัชชวาท คือใช้วิภัชชวาทในรูปการตอบปัญหาในบรรดาวิธีตอบปัญหา 4 วิธี ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า
วิภัชชพยากรณ์ วิธีตอบปัญหาทั้ง 4 วิธีนั้น คือ
ก. เอกังสพยากรณ์ การตอบแง่เดียว
ข. วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
ค. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม
ง. ฐปนะ การยั้งหรือหยุด พับปัญหาเสีย ไม่ตอบ พระธรรมปิฎกอธิบายว่า วิธีตอบ 4 วิธีนี้ แบ่งตาม
ลักษณะของปัญหา หมายความว่าปัญหาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังตัวอย่างต่อไปนี้ :
(1) เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรตอบเด็ดขาด เช่น ถามว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม? พึงตอบได้ทีเดียวแน่นอนลงไปว่า ใช่
(2) วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบเช่น ถามว่า สิ่งที่ได้มาไม่เที่ยงได้แก่จักษุใช่ไหม? พึงแยกแยะตอบว่า ไม่เฉพาะแต่จักษุเท่านั้น แม้โสตะ ฆานะ เป็นต้น ก็ไม่เที่ยง
(3) ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถามเช่น จักษุฉันใดโสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใดจักษุก็ฉันนั้น ใช่ไหม? พึงย้อนถามว่า มุ่งความหมายในแง่ใด ถ้าถามโดยหมายถึงแง่ใช้ดูหรือเห็นก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งความหมายในแง่ที่ว่าไม่เที่ยง ก็ใช่
(4) ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้งหรือพับเสียไม่ควรตอบ เช่นถามว่า ชีวะกับสรีระคือสิ่งเดียวกันใช่ไหม? พึงยับยั้งเสีย ไม่ต้องตอบ