ข้อความโดย: sithiphong
« เมื่อ: ตุลาคม 13, 2012, 07:42:26 pm ».
วัดเฉลิมพระเกียรติฯ
พระอารามที่สำคัญยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓
สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง อิทธิพล พุฒิโภคิน...ภาพ
-http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1206&myGroupID=7-
ณ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี เป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีลักษณะผิดแผกแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ด้วยมีป้อมปราการและกำแพงแก้วก่ออิฐถือปืน มีใบเสมาทำนองเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง และบริเวณหน้าวัดแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเคยทรงนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ พระราชอาคันตุกะที่เสด็จมาเยือนไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงลอยพระประทีปเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ และในวโรกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงบริจาคเงินเป็นจำนวน ๘๔,๗๖๗ บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านเจ้าอาวาสตอนหนึ่งว่า “ได้เคยผ่านมาหน้าวัดนี้ เห็นวัดร่มรื่นดี วันนี้ตั้งใจมาเยี่ยม นำแขกต่างประเทศมาด้วย วัดนี้เป็นวัดประวัติศาสตร์ สวยงามมาก ควรจะบูรณะให้รักษาแบบของเดิมไว้”
วัดที่กล่าวถึงนี้คือ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนีขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า บริเวณป้อมเก่าริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมืองนนทบุรีแห่งนี้ เป็นนิวาสสถานเดิมแห่งพระอัยกา เจ้าเมืองนนทบุรี และพระอัยกี นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีพันปีหลวงด้วย ทั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถด้วยพระองค์เอง แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ทรงประชวรเสียก่อน จึงทรงมอบพระราชภารกิจในราชการแผ่นดินไว้กับพระศรีสุริยวงศ์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องวัดต่าง ๆ ไว้ว่า
“ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุงเงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ให้ช่วยทนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย”
เมื่อรัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติตามทุกประการ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติฯ และวัดอื่น ๆ ที่ค้างอยู่จนสำเร็จ ต่อมาวัดนี้ยังได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖
ด้วยเหตุที่วัดเฉลิมพระเกียรติฯ มีป้อมปราการทำนองเดียวกันกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง จึงถูกใช้เป็นสถานที่พักกองทัพและประกอบพิธีกรรมในการยกทัพไปภาคเหนือหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง ได้มาพักพลรอรับการเสด็จพระราชดำเนินมาส่งของรัชกาลที่ ๔ ก่อน จึงยกทัพออกจากวัดเฉลิมพระเกียรติฯ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยยกทัพไปปราบฮ่อ ก็เคลื่อนขบวนจากกรุงเทพฯ มาพักพลที่วัดแห่งนี้เช่นเดียวกัน
สิ่งสำคัญภายในวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ที่น่าชมมีอยู่หลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ตามสมัยนิยมในรัชกาลที่ ๓ หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ประดิษฐานพระประธานหล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ ปางมารวิชัย ซึ่งรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเศวตฉัตรถวายเมื่อวันอังคารที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นอกจากนี้ บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถยังเขียนลายรดน้ำปิดทอง ตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๓ และรูปกระต่ายภายในวงพระจันทร์เต็มดวง ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์ทรงลังกาสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ภายใน
นอกจากพระประธานในพระอุโบสถซึ่งมีความสำคัญมากและรัชกาลที่ ๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราพระราชทานผ้าพระกฐินแล้ว ยังมีพระวิหารลักษณะสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระศิลาขาวที่รัชกาลที่ ๔ ทรงนำมาประดิษฐานไว้ และการเปรียญหลวง ลักษณะผสมระหว่างอาคารทรงไทยกับเครื่องบนหลังคาแบบจีน เป็นตึกทรงโรง มีเสาอยู่ข้างใน เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ พระชัยประจำรัชกาลที่ ๓ สำหรับทรงใช้ประกอบพิธีกรรมก่อนการศึกสงครามหลายครั้ง ภายในการเปรียญหลวงมีภาพจิตรกรรมก่อนการศึกสงครามหลายครั้ง ภายในการเปรียญหลวงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังและโดยรอบเสาเป็นลายใบไม้ร่วง เช่นเดียวกันกับภายในพระวิหาร วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
วัดเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากจะมีความสำคัญยิ่งดังกล่าวแล้ว ยังมีความงดงามด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมอันทรงคุณค่าน่าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญหลวงนั้น ได้รับการกล่าวขานกันว่างดงามที่สุดในบรรดาวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
ข้อมูลการเขียน
๑. กรมศิลปากร. ประวัติวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๑.
๒. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๔. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒.
.
วัดเฉลิมพระเกียรติฯ
พระอารามที่สำคัญยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓
สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง อิทธิพล พุฒิโภคิน...ภาพ
-http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1206&myGroupID=7-
ณ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี เป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีลักษณะผิดแผกแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ด้วยมีป้อมปราการและกำแพงแก้วก่ออิฐถือปืน มีใบเสมาทำนองเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง และบริเวณหน้าวัดแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเคยทรงนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ พระราชอาคันตุกะที่เสด็จมาเยือนไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงลอยพระประทีปเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ และในวโรกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงบริจาคเงินเป็นจำนวน ๘๔,๗๖๗ บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านเจ้าอาวาสตอนหนึ่งว่า “ได้เคยผ่านมาหน้าวัดนี้ เห็นวัดร่มรื่นดี วันนี้ตั้งใจมาเยี่ยม นำแขกต่างประเทศมาด้วย วัดนี้เป็นวัดประวัติศาสตร์ สวยงามมาก ควรจะบูรณะให้รักษาแบบของเดิมไว้”
วัดที่กล่าวถึงนี้คือ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนีขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า บริเวณป้อมเก่าริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมืองนนทบุรีแห่งนี้ เป็นนิวาสสถานเดิมแห่งพระอัยกา เจ้าเมืองนนทบุรี และพระอัยกี นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีพันปีหลวงด้วย ทั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถด้วยพระองค์เอง แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ทรงประชวรเสียก่อน จึงทรงมอบพระราชภารกิจในราชการแผ่นดินไว้กับพระศรีสุริยวงศ์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องวัดต่าง ๆ ไว้ว่า
“ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุงเงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ให้ช่วยทนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย”
เมื่อรัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติตามทุกประการ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติฯ และวัดอื่น ๆ ที่ค้างอยู่จนสำเร็จ ต่อมาวัดนี้ยังได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖
ด้วยเหตุที่วัดเฉลิมพระเกียรติฯ มีป้อมปราการทำนองเดียวกันกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง จึงถูกใช้เป็นสถานที่พักกองทัพและประกอบพิธีกรรมในการยกทัพไปภาคเหนือหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง ได้มาพักพลรอรับการเสด็จพระราชดำเนินมาส่งของรัชกาลที่ ๔ ก่อน จึงยกทัพออกจากวัดเฉลิมพระเกียรติฯ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยยกทัพไปปราบฮ่อ ก็เคลื่อนขบวนจากกรุงเทพฯ มาพักพลที่วัดแห่งนี้เช่นเดียวกัน
สิ่งสำคัญภายในวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ที่น่าชมมีอยู่หลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ตามสมัยนิยมในรัชกาลที่ ๓ หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ประดิษฐานพระประธานหล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ ปางมารวิชัย ซึ่งรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเศวตฉัตรถวายเมื่อวันอังคารที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นอกจากนี้ บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถยังเขียนลายรดน้ำปิดทอง ตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๓ และรูปกระต่ายภายในวงพระจันทร์เต็มดวง ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์ทรงลังกาสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ภายใน
นอกจากพระประธานในพระอุโบสถซึ่งมีความสำคัญมากและรัชกาลที่ ๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราพระราชทานผ้าพระกฐินแล้ว ยังมีพระวิหารลักษณะสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระศิลาขาวที่รัชกาลที่ ๔ ทรงนำมาประดิษฐานไว้ และการเปรียญหลวง ลักษณะผสมระหว่างอาคารทรงไทยกับเครื่องบนหลังคาแบบจีน เป็นตึกทรงโรง มีเสาอยู่ข้างใน เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ พระชัยประจำรัชกาลที่ ๓ สำหรับทรงใช้ประกอบพิธีกรรมก่อนการศึกสงครามหลายครั้ง ภายในการเปรียญหลวงมีภาพจิตรกรรมก่อนการศึกสงครามหลายครั้ง ภายในการเปรียญหลวงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังและโดยรอบเสาเป็นลายใบไม้ร่วง เช่นเดียวกันกับภายในพระวิหาร วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
วัดเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากจะมีความสำคัญยิ่งดังกล่าวแล้ว ยังมีความงดงามด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมอันทรงคุณค่าน่าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญหลวงนั้น ได้รับการกล่าวขานกันว่างดงามที่สุดในบรรดาวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
ข้อมูลการเขียน
๑. กรมศิลปากร. ประวัติวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๑.
๒. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๔. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒.
.