ข้อความโดย: sithiphong
« เมื่อ: ตุลาคม 17, 2012, 09:58:07 pm »ตำนานเทศกาลกินเจ ทำไมต้องกินเจ
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350278384&grpid=03&catid=&subcatid=-
ศิลปวัฒนธรรม เมษายน ถาวร สิกขโกศล
เจ คืออะไร
“เจ” เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว เสียงภาษาแต้จิ๋วเป็นเสียงกึ่งสระเอกับสระแอ ลูกหลานจีนในไทยบางคนจึงออกเสียงเป็น “แจ” ซึ่งก็ไม่ควรต้องเถียงกันว่าเสียงไหนถูก ในที่นี้จะใช้ตามเสียงที่แพร่หลายว่า “เจ” คำนี้ภาษาจีนกลางออกเสียงเป็น “Zhai ไจ, จาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บคำว่า “เจ” พร้อมทั้งให้นิยามไว้ว่า “เจ น. อาหารที่ไม่มีของสดคาวสำหรับญวนหรือจีนที่ถือศีล, แจ ก็ว่า (จ.)” ต่อมาในฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ปรับปรุงคำนิยามเป็น “เจ น. อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี, แจก็ว่า (จ. ว่าแจ)”
ตามนิยามหลักการกินเจต้องงดผักกลิ่นฉุนประเภทกระเทียม ผักชีด้วย จึงต่างจากมังสวิรัติ ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่า “งดเว้น (วิรัติ) เนื้อ (มังสะ : เนื้อคนและเนื้อสัตว์)” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามคำนี้ไว้ว่า
“มังสวิรัติ น. การงดเว้นกินเนื้อสัตว์, เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผักว่า อาหารมังสวิรัติ” มังสวิรัติกับเจยังมีความแตกต่างกันอีก เช่น ผู้กินเจดื่มนมได้แต่ไม่กินไข่ ผู้ถือมังสวิรัติกินไข่แต่ไม่ดื่มนม เป็นต้น
ในภาษาไทยเก่าเรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ว่า กระยาบวช พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามคำนี้ว่า “กระยาบวช น. เครื่องกินที่ไม่เจือด้วยของสดคาว” เครื่องกระยาบวชที่คนไทยใช้ไหว้เจ้าไหว้ผีตามปกติคือ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้าหวีงาม นิยายอิงพงศาวดารจีนรุ่นเก่ามักแปลคำ “กินเจ” ว่า ถือศีลกินกระยาบวช คำมังสวิรัติเป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง
สรุปว่า การกินเจกับการกินมังสวิรัติต่างกันชัดที่ มังสวิรัติกินผักได้ทุกชนิด แต่กินเจต้องงดผักที่มีกลิ่นฉุนด้วย แต่ละยุคแต่ละตำรากำหนดไว้ต่างกัน แต่ที่ถือปฏิบัติกันในเมืองไทยปัจจุบันคือ หอม กระเทียม กุยช่าย (หอมแป้น) หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และเฮงกื๋อ ซึ่งไม่มีในไทยจึงอนุโลมเอาผักชีแทน
เนื่องจากการกินเจกับกินมังสวิรัติต่างกัน คนจีนในเมืองไทยจึงใช้คำเรียกกิจกรรมทั้งสองนี้ต่างกัน กินเจภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “เจียะเจ (食斋)” ภาษาจีนกลางเรียก “ชือไจ (吃斋)” กินมังสวิรัติภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “เจียสู่ (食素)” ภาษาจีนกลางเรียก “ชือซู่ (吃素)”
เจในภาษาจีน
อักษร เจ ปรากฏครั้งแรกในจารึกโลหะสมัยราชวงศ์โจวแล้วพัฒนาจนลงตัวเป็นอักษรเสี่ยวจ้วนในยุคจั้นกั๋วปลายราชวงศ์โจว เป็นอักษรผสมประกอบด้วยอักษร “ฉี (齐 เรียบร้อย)” รวมกับอักษร “สื้อ (示 แสดง)” แล้วลดรูปรวมกันเป็นอักษร 斋 (ตัวตัดยุคหลังเป็น 斋) จีนกลางอ่านว่า Zhai แต้จิ๋วอ่านว่า เจ มีนัยความหมายว่า “แสดงถึงความเรียบร้อย, ทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยบริสุทธิ์”
ส่วนความหมายที่สมบูรณ์ชัดเจนนั้น อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร) ตำราอธิบายตัวอักษรเล่มแรกของจีน ซึ่งเขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๖๔๓ ได้นิยามความหมายของอักษรนี้ไว้อย่างกระชับว่า 斋 : 戒洁也 อ่านว่า “เจ : ไก้เกียกเอี่ย (ไจ : เจี้ยเจี๋ยเหย่)” แปลว่า เจ : คือการงดเว้นเพื่อความบริสุทธิ์ คำว่า ไก้ (ไก่หรือเจี้ย) ที่แปลว่างดเว้นนี้ต่อมาใช้เป็นคำแปลคำว่า “ศีล” ของพุทธศาสนาด้วย เกียก (เจี๋ย) แปลว่า บริสุทธิ์ สะอาด เอี่ย (เหย่) เป็นกริยา แปลว่า คือ คำว่า เจ จึงอาจแปลให้เข้าใจง่ายว่า “การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์” แต่เป็นศีลแบบจีนโบราณ ไม่ใช่ศีลของพุทธศาสนา และอาจใช้ในความหมายว่า เรียบร้อยสะอาดก็ได้
คนจีนโบราณมีความเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่รับการติดต่อเซ่นสรวงจากคนสกปรกมีมลทิน ดังนั้นก่อนพิธีเซ่นสรวงหรือทำกิจสำคัญใดๆ ผู้ทำพิธีจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ถือศีลงดเว้นอาหารสดคาวคือเนื้อสัตว์และผักฉุนกลิ่นแรง งดสุรา กิจกรรมทางเพศ สำรวมกายใจให้บริสุทธิ์สะอาด โดยแยกตัวไปอยู่ในห้องต่างหากที่เตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นระยะเวลานานตามที่กำหนด เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นว่าตนมีศรัทธาแน่วแน่และบริสุทธิ์สะอาดพอ เรียกว่า กินเจ
การกินเจเป็นการถือศีลแบบจีนโบราณ ข้อห้ามสำคัญประการหนึ่งคืองดเว้นอาหารสดคาว ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์จวงจื่อพูดถึงเหยียนหุยศิษย์เอกของขงจื๊อว่า “เหยียนหุยกล่าวว่า บ้านข้าพเจ้ายากจน ไม่ดื่มสุรา ไม่กินอาหารสดคาวแรมเดือนแล้ว เช่นนี้จะเรียกว่ากินเจได้หรือไม่?” หนังสือหลี่ว์สื้อชุนชิวเรื่องเดือนอ้ายกล่าวว่า “(เดือนนี้) โอรสสวรรค์กินเจ” มีคำอธิบายเสริมโดยอ้างคัมภีร์หลุนอี่ว์ (วิจารณ์พจน์) ว่า “กินเจต้องเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนที่อยู่ ทำตนให้บริสุทธิ์สุภาพ” ถือเป็นเรื่องสำคัญดังที่คัมภีร์หลุนอี่ว์ บรรพ ๗ ข้อ ๑๓ กล่าวว่า “ปราชญ์ขงจื๊อระวังมากเรื่องกินเจ สู้รบและเจ็บป่วย”
คัมภีร์หลี่จี้ (บันทึกจารีต) บรรพจี้ถ่ง (หลักการเซ่นสรวง) พูดถึงเรื่อง เจ สมัยราชวงศ์โจวไว้ชัดเจนว่า “เมื่อจะทำพิธีเซ่นสรวงบูชาประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์, ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่. หากไม่มีเรื่องสำคัญ, ไม่มีเรื่องต้องเคารพนบนอบ, ประมุขก็จะไม่กินเจ. ช่วงไม่กินเจไม่มีข้อห้ามที่ต้องระมัดระวัง, ไม่ต้องควบคุมความอยาก. ครั้นถึงเวลาจะกินเจต้องระวังความชั่วร้าย, ระงับความอยาก. หูไม่ฟังดนตรี, ดังนั้นหนังสือโบราณจึงบันทึกว่า ‘ผู้กินเจไม่ฟังดนตรี’. ใจต้องไม่ฟุ้งซ่าน, ต้องอยู่ในวิถีแห่งธรรม. มือเท้าไม่เคลื่อนไหวไร้ระเบียบ, ต้องเรียบร้อยตามจารีต. การกินเจของประมุขต้องมุ่งให้ถึงคุณธรรมอันประเสริฐ,
ฉะนั้นต้องกินเจพื้นฐาน ๗ วัน สำรวมพฤติกรรมให้ใจสงบ, แล้วกินเจเข้มงวดขัดเกลาจิตใจอีก ๓ วัน เพื่อให้ใจผ่องใสแน่วแน่. ใจผ่องใสแน่วแน่เรียกว่า ‘เจ’ (คือความเรียบร้อยบริสุทธิ์). เจนี้แลคือยอดของความประเสริฐบริสุทธิ์, จากนั้นจึงสามารถ (ทำกิจ) เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้. ฉะนั้นก่อนถึงช่วงเวลากินเจหนึ่งวัน, พนักงานฝ่ายในต้องแจ้งเตือนชายาของประมุข. ชายาก็ต้องกินเจพื้นฐาน ๗ วัน เจเข้มงวด ๓ วัน. ประมุขกินเจที่ห้องฝ่ายหน้า, ชายากินเจที่ห้องฝ่ายใน, แล้วจึงไปพบกันที่หอพระเทพบิดร (หอบวงสรวงบรรพชน).”
จากข้อความตอนนี้เห็นได้ชัดว่า การกินเจต้องสำรวมขัดเกลากายวาจาใจคล้ายถือศีล แม้ไม่ได้กล่าวถึงอาหารแต่ก็พออนุมานจากหลักฐานอื่น เช่น คำพูดของเหยียนหุยข้างต้นได้ว่า ไม่มีเนื้อสัตว์
การกินเจแบบนี้ในยุคต่อมามักลดเหลือเฉพาะเจเข้มข้น ๓ วัน เช่น เมื่อเล่าปี่จะไปเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาก็กินเจก่อน ๓ วัน
เจ ในภาษาจีนโบราณ จึงหมายถึง “ความเรียบร้อย ความเรียบร้อยบริสุทธิ์ การทำให้เรียบร้อยบริสุทธิ์ การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาด”. การกินเจมิใช่เพียงกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุนต้องห้าม, แต่เป็นการถือศีลแบบจีนโบราณดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์หลี่จี้.
ต่อมาอักษร เจ (ไจ) ขยายความหมายออกไปอีก มหาอักขรานุกรมจีน ( 汉语大字典 ) ประมวลไว้ ๑๐ ความหมาย คือ ๑. คนโบราณก่อนการเซ่นสรวงหรือกิจสำคัญ อาบน้ำชำระร่างกาย แยกห้องอยู่ งดสุรา อาหารสดคาว ระงับความทะยานอยาก ชำระใจให้บริสุทธิ์ เพื่อแสดงศรัทธาคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๒. เคร่งขรึม, เคารพ ๓. สถานที่กินเจ ๔. ห้อง, อาคาร ๕. ห้องหนังสือ, โรงเรียน ๖. ชื่อร้านค้า เช่น ร้านหญงเป่าไจที่ปักกิ่ง ๗. กิจกรรมประเภทสวดมนต์ไหว้พระ เซ่นสรวงบนบาน ๘. ศัพท์ทางพุทธศาสนา หีนยานถือการไม่กินอาหารหลังเที่ยงเป็นเจ มหายานถือการไม่กินอาหารเนื้อเป็นเจ ๙. ถวายอาหารแก่พระ เณร ภิกษุณี นักพรต และให้อาหารแก่คนยากจน ๑๐. อ่านว่า Zi (จือ) หมายถึงชุดไว้ทุกข์
ความหมายที่แปดเกี่ยวข้องกับศีลของพุทธศาสนา เมื่อรวมกับคำว่า 戒 (ไก่ เจี้ย) เป็น 斋戒 (เจไก่, ไจเจี้ย) หมายถึงศีลในพุทธศาสนา
อาหารเจของจีน
ลูกหลานจีนในไทยมักเรียกอาหารที่ไม่ใช่เจตามภาษาถิ่นแต้จิ๋วว่า ชอ (臊) ซึ่งแปลว่ากลิ่นคาวเนื้อ แต่ในภาษาจีนมาตรฐานนิยมใช้คำว่า 荤 จีนกลางอ่าน hun (ฮุน) แต้จิ๋วอ่าน ฮุง มากกว่าใช้คำว่า 臊 (ชอ sao) หรือ 腥 (เซ็ง xing) ซึ่งแปลว่า เนื้อ เรื่องนี้มีที่มายาวนาน
อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ แปลความหมายอักษร 荤 (ฮุน) ว่า “ผักเหม็น” หมายถึงผักที่มีกลิ่นฉุนแรง เป็นความหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์เลย แต่กลับใช้เรียกอาหารที่ไม่ใช่เจ ซึ่งมีเนื้อรวมอยู่ด้วยแทนอักษร 臊 (ชอ) และ 腥 (เซ็ง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อโดยตรง แสดงชัดว่าอาหารเจของจีนตั้งแต่โบราณมาน่าจะไม่มีผักกลิ่นฉุนแรง
เหตุผลมีเค้าเงื่อนอยู่ในคัมภีร์ก๋วนจื่อ (管子) วรรณกรรมยุคจั้นกั๋ว บรรพชิงจัง (轻重 หนักเบา) ว่า
“หวงตี้เจาะรูปั่นไม้ทำให้เกิดไฟ เพื่อปรุงเนื้อและผักเหม็นให้สุก” เนื้อดิบคาวแรงย่อยยากจึงต้องปรุงให้สุก ผักทั่วไปกินได้ทั้งดิบและสุก แต่ผักที่กลิ่นฉุนแรงกินดิบๆ ยาก ต้องปรุงให้สุกก่อนเหมือนเนื้อสัตว์จึงอนุโลมเป็นอาหารประเภทเดียวกันคือ “ไม่เจ”
ดังนั้น การใช้ศัพท์ ฮุน 荤 คำเดียวซึ่งหมายถึงกลิ่นฉุนแรงจึงครอบคลุมอาหารเนื้อด้วย ดีกว่าใช้ศัพท์ ชอ 臊 เซ็ง 腥 ซึ่งหมายเฉพาะอาหารเนื้อ ไม่กินความถึงผักกลิ่นฉุนแรงด้วย
ผักเหม็น (荤) ของจีนโบราณคงหมายถึงผักที่มีกลิ่นฉุนแรงทั้งหลาย แต่ละถิ่นแต่ละยุคคงมีจำนวนต่างกันไป ถึงสมัยราชวงศ์หมิง หลี่สือเจินรวมชื่อผักกลิ่นฉุนที่ใช้เป็นสมุนไพรแพร่หลายไว้ในหนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ (สารานุกรมสมุนไพร) ของเขา ๒๙ ชนิด แต่ที่เป็นผักต้องห้ามในการกินเจมี ๕ ชนิด เรียกว่า “อู่ฮุน (五荤) ผักเหม็นทั้งห้า”
พจนะสารานุกรมฉือไห่อธิบายคำนี้ไว้ว่า “อู่ฮุน : เรียกอีกอย่างอู่ซิง (ผักเผ็ดทั้งห้า) หนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ ตอนผัก ๑ ว่า
‘ผักเหม็นทั้งห้าก็คือผักเผ็ดทั้งห้า เพราะเผ็ดเหม็นทำให้มึนงงอ่อนล้า พวกฝึกอายุวัฒนะถือว่า กระเทียม กระเทียมเล็ก กุยช่าย (หอมแป้น) ผักชี หวินไถ (ผักน้ำมัน, ผักมัสตาร์ด) เป็นผักเหม็นทั้งห้า
พวกนักพรตเต๋าถือว่า กุยช่าย เซี่ย (หลักเกี๋ยว - หอมปรัง) กระเทียม ผักชี และหวินไถ เป็นผักเหม็นทั้งห้า ทางพุทธศาสนาถือว่า หอม กระเทียม กระเทียมเล็ก หลักเกี๋ยว และหิงคุ์เป็นผักเหม็นทั้งห้า หิงคุ์ คือ อาวุ่ย’ วิเคราะห์สรุป หิงคุ์รากคล้ายผักกาดหัว (ไชเท้า) ทั้งสุกและดิบกลิ่นคล้ายกระเทียม...”
คัมภีร์พุทธศาสนามหายานบอกชื่อผักเหม็น ๕ อย่างไว้ต่างกัน แต่ในเมืองไทยมักสรุปว่าได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย หลักเกี๋ยว (หอมปรัง) และเฮงกื๋อ (มหาหิงคุ์) ผักเหล่านี้ภาษาล้านนามีชื่อนำว่า “หอม” ถึงสี่ชนิด คือ กระเทียม เรียกหอมขาว จึงต้องเรียกหอมธรรมดาว่า หอมแดง กุยช่าย เรียกหอมแป้น หลักเกี๋ยว เรียกหอมปรัง หัวและใบเล็กว่าหอมแดงแต่กลิ่นแรงกว่า ทั้งสี่ชนิดล้วนเป็นพืชในสกุล Allium
คำกระเทียมเล็กนั้นแปลจากคำว่า เสี่ยวซ่วน (小蒜 เสียวสึ่ง) มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) อธิบายว่า “เสี่ยวซ่วน : กระเทียมชนิดหนึ่งของจีน ต้นและใบเล็กกว่ากระเทียม จึงได้ชื่อเช่นนั้น...” กระเทียมทั่วไปนั้นภาษาจีนเรียกต้าซ่วน (大蒜 ตั้วสึ่ง) แปลตามรูปศัพท์ว่า กระเทียมใหญ่อย่างกระเทียมจีนในท้องตลาดทุกวันนี้ ทางพุทธอนุโลมเสี่ยวซ่วนเป็นกุยช่าย
เฮงกื๋อ (兴渠) นั้นเป็นเสียงแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางว่า ซิงฉวี ตรงกับคำบาลีว่า หิงฺคุ (หิงคุ์) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula asafoetida ยางมีกลิ่นร้อนฉุนและเหม็น ใช้ทำยาทามหาหิงคุ์ พืชสกุล Ferula มีหลายชนิด บางชนิดกินได้ ศัพท์เฮงกื๋อควรแปลว่า มหาหิงคุ์ ไม่ใช่ยาสูบอย่างที่บางคนอธิบายผิด เพราะยาสูบไม่ใช่ผักที่เป็นอาหาร ไม่รวมอยู่ในผักเหม็นห้าอย่าง แต่เป็นสิ่งเสพติดที่คนกินเจต้องงดแน่นอนอยู่แล้ว
ส่วนหวินไถ (芸苔) นั้นเสียงแต้จิ๋วว่า หุ่งไท้ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica Campestris L. ผักในสกุล Brassica มีหลายชนิด คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ฯลฯ ล้วนอยู่ในสกุล Brassica หวินไถหรือหุ่งไท้นั้นถ้าคนไทยเห็นก็ต้องเรียกว่าผักกวางตุ้ง เพราะคล้ายกันมาก ดอกสีเหลือง ภาษาจีนปัจจุบันเรียกว่า อิ๋วไช่ (油菜) หรืออิ่วไฉ่ เม็ดใช้หีบเอาน้ำมัน มีหลายสายพันธุ์ย่อย บางชนิดกลิ่นฉุน เม็ดใช้ประกอบทำมัสตาร์ด จัดเป็นผักเหม็นชนิดหนึ่งของศาสนาเต๋าเช่นเดียวกับผักชี แต่ทางพุทธถือว่ากินได้ จึงเห็นได้ชัดว่า ผักฉุนต้องห้ามในอาหารเจของไทยถือตามแบบพุทธศาสนามหายาน
ผักเหม็นทั้งห้านี้ อินเดียก็คงมีมาแต่โบราณเช่นเดียวกับจีน เพราะฤๅษีที่ฉันผักผลไม้เป็นหลักส่วนมากฉันดิบ คงต้องงดผักผลไม้กลิ่นฉุนแรงเหมือนกัน พุทธศาสนามหายานรับคตินิยมนี้ต่อมา เมื่อแพร่มาถึงจีนจึงยังมีชื่อผักเหม็นทั้งห้าเป็นภาษาสันกสฤตอยู่คือ ลศุน (กระเทียม) ปลาณฑุ (หอมแดง) คฤญชนะ (หอมแป้น - กุยช่าย) ลตารกะ (หอมปรัง) และหิงคุ รวมเรียกว่า ปัญจปริวยยา แปลว่า ผัก (ราก) ที่มีกลิ่นฉุนทั้งห้า สี่ชนิดแรกแปลเทียบเป็นชื่อผักของจีนได้ แต่หิงคุถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและอิหร่าน จึงใช้ทับศัพท์ ซึ่งต่อมากลายเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า เฮงกื๋อ สำเนียงอำเภอเตี้ยเอี๊ย เป็นเฮงกู๋ใกล้กับคำหิงคุมาก ส่วนของศาสนาเต๋าทั้งสองสายคือนักพรตและพวกฝึกอายุวัฒนะล้วนเป็นผักที่มีในจีน ไม่มีหิงคุของอินเดีย
ความเป็นมาของอาหรเจและมังสวิรัติของจีน
ภาษาจีนเรียกอาหารเจและอาหารมังสวิรัติรวมๆ กันว่า ซู่สือ (素食 ซู่เจี๊ยะ) แปลว่า “อาหารบริสุทธิ์ กินอาหารบริสุทธิ์” ถ้าเป็นอาหารเจมักใช้คำขยายให้ชัดว่า “ฉวนซู่ ( 全素 ฉ่วงสู่) แปลว่า “บริสุทธิ์สมบูรณ์”
การกินเจและมังสวิรัติของจีนมีความเป็นมายาวนาน สมัยโบราณคนกินเจน้อย จะกินต่อเมื่อมีหน้าที่และมีกิจจำเป็น เพราะความไม่สะดวกเรื่องอาหาร ซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่ายุคหลัง
การกินอาหารเจของจีนมีรากฐานมั่นคงสมัยราชวงศ์ฮั่น พัฒนามากในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้และราชวงศ์ถัง
การเปิดเส้นทางสายไหมตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทำให้มีพันธุ์ผักผลไม้ใหม่ๆ สู่จีน การเกษตรที่ก้าวหน้าทำให้มีผักผลไม้อุดมหลากหลายขึ้น ที่สำคัญคนของหวยหนันอ๋อง (พ.ศ. ๓๔๕-๓๖๙) ร่วมกันคิดทำเต้าหู้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองประเภทอื่นตามมา ทำให้มีโปรตีนทดแทน ทำอาหารได้หลายประเภทขึ้น เมนูอาหารเจจึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคราชวงศ์ฮั่นนี้
ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก แม้เดิมทีพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ แต่มหายานบางสายก็ให้ความสำคัญแก่การฉันเจ จึงเกิดคัมภีร์ลังกาวตารสูตรสนับสนุนเรื่องนี้ อนึ่งช่วงฤดูหนาวภิกษุในจีนออกบิณฑบาตลำบาก บางยุคพุทธศาสนาก็ถูกต่อต้าน ภิกษุ ภิกษุณีต้องทำอาหารกินเอาเองจึงจำเป็นต้องฉันมังสวิรัติหรือเจตามประเพณีเดิมของจีน
ต่อมาพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (พ.ศ. ๑๐๐๗-๑๐๙๒) ได้อ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรแล้วศรัทธามาก ปี พ.ศ.๑๐๕๔ จึงออก “ประกาศงดสุราและเนื้อ (断酒肉文)” ให้นักบวชพุทธศาสนาถือปฏิบัติ ปกติฤดูหนาวคนจีนต้องดื่มสุราช่วย ภิกษุ ภิกษุณีก็คงมีดื่มบ้าง ตามประกาศนี้ต้องงดขาด พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ครองราชย์นานถึง ๔๘ ปี แคว้นเหลียงของพระองค์ก็กว้างใหญ่ราวครึ่งประเทศจีน แคว้นอื่น ๆ ทางเหนือพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองมากเช่นกัน บัญญัติห้ามฉันสุราและเนื้อจึงแพร่ไปทั่ว กลายเป็นจารีตของนักบวชในพุทธศาสนาของจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากรัชกาลพระเจ้าเหลียงอู่ตี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคราชวงศ์ถังวัดบางแห่งห้ามผักฉุน ๕ อย่าง คือ กระเทียม กระเทียมเล็ก หอม หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) มหาหิงคุ์ วัดเต๋าบางแห่งก็ถือเอา กุยช่าย หอมปรัง กระเทียม ผักชี และหวินไถ (ผักน้ำมัน) เป็นผักฉุน ๕ อย่าง แล้วแพร่หลายกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา
ถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง อาหารเจและมังสวิรัติแพร่หลายมาก ในเมืองใหญ่ เช่น ไคเฟิง หางโจวมีร้านอาหารเจเปิดขาย มีผู้รวบรวมเมนูอาหารเจไว้ถึง ๑๐๔ รายการ เนื้อเทียม เป็ดไก่เทียมก็เริ่มมีตั้งแต่ยุคนี้ ถึงยุคราชวงศ์หมิงและชิง อาหารไม่มีเนื้อสัตว์โดดเด่นหลากหลายมาก แยกได้เป็น ๓ สาย คือ สายวัด สายวัง และสายชาวบ้าน สายวัดไม่มีผักฉุนจัดเป็นอาหารเจ ส่วนสายวังและชาวบ้านเป็นอาหารมังสวิรัติธรรมดา หลังจากนั้นอาหารสองประเภทนี้ก็พัฒนาสืบต่อมาจนปัจจุบัน
มีศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการกินเจอีกสองศาสนา คือ ศาสนาเต๋า และมณี
ปรัชญาเต๋า (道家) พัฒนาเป็นศาสนาเต๋า (道教) ชัดเจนตอนปลายราชวงศ์ฮั่น ไม่มีระบบนักบวชที่ชัดเจน มีแต่ผู้นำทำพิธีทางศาสนา ยามปกติก็ใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป พอจะทำพิธีทางศาสนาจึงกินเจตามแบบจีนโบราณ ถึงสมัยราชวงศ์ถังสำนักเต๋าบางแห่งจึงเริ่มกินเจทุกวัน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง เฮ้งเต้งเอี๋ยง (หวางฉงหยาง พ.ศ. ๑๖๕๕-๑๗๑๓) ได้ตั้งนิกายช้วนจินก้าแยกออกมาจากศาสนาเต๋าเดิม มีระบบนักบวชและกินเจตลอดชีวิตตามอย่างพุทธศาสนา
ปัจจุบันศาสนาเต๋าแบ่งเป็นสองนิกายใหญ่ นิกายช้วนจินก้ารุ่งเรืองในจีน นักพรตกินเจตลอด นิกายเจิ้งอี่ (เจี้ยอิด) รุ่งเรืองในไต้หวัน นักพรตกินเจแบบศาสนาเต๋าเก่าคือเมื่อจะทำพิธีกรรม ยามปกติกินหรือไม่กินเจก็ได้และไม่ถือเคร่งครัด
ส่วนศาสนามณีหรือมาณีกีเกิดในเปอร์เซีย ศาสดาชื่อมณีหรือ Manes (พ.ศ. ๗๕๙-๘๒๐) คำสอนอาศัยหลักของศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นพื้นฐานผสมผสานกับคำสอนของพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา
ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากลัทธิเหตุผลนิยม (Gnosticism) ของโรมัน ศาสนามณีเคยรุ่งเรืองแพร่หลายทั้งในยุโรป แอฟริกาและเอเชีย แพร่ถึงซินเจียงในช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้ ตั้งแต่สมัยพระนางบูเช็กเทียนเข้าไปเผยแพร่ในนครฉางอานเมืองหลวงของราชวงศ์ถัง แล้วแพร่หลายในจีนหลายมณฑล พ.ศ. ๑๓๘๘ ถูกพระเจ้าอู่จงกวาดล้างจนเสื่อมโทรมไป แต่ได้พัฒนาไปเป็นลัทธิเม้งก้า (หมิงเจี้ยว) หรือลัทธิแสงสว่าง
พจนานุกรมศัพท์ศาสนา (宗教大词典) ของจีนอธิบายลัทธิเม้งก้าไว้ว่า : “เม้งก้า (หมิงเจี้ยว) : (๑) องค์กรลับทางศาสนา ซึ่งสืบเนื่องมาจากศาสนามณี มีศาสนาพุทธและเต๋าคละเคล้าผสมอยู่ด้วย กบฏชาวนาในยุคห้าราชวงศ์ ราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวนมักใช้เป็นเครื่องมือตั้งองค์กรของพวกตน ยกย่องจางเจี่ยว (เตียวก๊กหัวหน้าโจรโพกผ้าเหลืองในต้นเรื่องสามก๊ก) เป็นศาสดา เคารพองค์พระมณีเป็นเทพแห่งแสงสว่าง บูชาพระอาทิตย์พระจันทร์.
ศาสนิกชอบแต่งชุดขาว กินมังสวิรัติ งดสุรา เปลือยศพฝัง. เน้นการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน มีความเชื่อว่าพลังแห่งแสงสว่าง (ความดี) จะต้องชนะพลังแห่งความมืด (ความชั่ว) พ.ศ. ๑๔๖๓ ในยุคห้าราชวงศ์หมู่อี่ได้อ้างความเชื่อนี้ก่อการกบฏ ในยุคราชวงศ์ซ่ง ลัทธินี้แพร่หลายแถบหวยหนัน (มณฑลเจียงซู และบางส่วนของมณฑลเหอหนันกับมณฑลอานฮุย) เจ้อเจียง เจียงซี เจียงตง และฮกเกี้ยน รวมตัวกันเป็นกบฏชาวนาอยู่เสมอ ที่โด่งดังมากคือ กบฏฟางเล่า (ปึงละในเรื่องซ้องกั๋ง) กบฏหวางเนี่ยนจิง เป็นต้น (๒) คือศาสนามณี.”
ตามประวัติกล่าวว่า มาเนสหรือมณีถือมังสวิรัติตามปาติกบิดาตนซึ่ง “ได้ยินเสียงลึกลับในโบสถ์ที่เตสิโฟน (Ctesiphon) สั่งให้ท่านงดเว้นการดื่มไวน์ การบริโภคเนื้อสัตว์และการส้องเสพกามารมณ์” แต่เมื่อศาสนานี้เข้าสู่จีนได้รับคำสอนของพุทธศาสนาและศาสนาเต๋าไปผสมกับคำสอนเดิมของตนมา ลัทธิเม้งก้าก็ได้รับอิทธิพลจากพุทธและเต๋ามาก
การกินเจ ๑-๙ ค่ำ เดือนเก้ามีประวัติเกี่ยวข้องกับองค์กรลับทางศาสนาและการเมืองอยู่ด้วยในบางยุค ที่สำคัญคือ แต่งชุดขาวเหมือนกัน ดังนั้น สำนักวัดฝอกกวงซานในไต้หวันจึงกล่าวว่า กิจกรรมนี้มีที่มาจากลัทธิเม้งก้าหรือศาสนามณี ผู้ใช้นามปากกา “แปลงนาม” เชื่อทฤษฎีนี้มากที่สุด แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรศึกษาให้รอบด้านมากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยสรุป
หากพูดถึงการกินเจของจีนโดยองค์รวมแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธว่าพุทธศาสนาเป็นพลังผลักดันให้การกินเจของจีนแพร่ออกไปมากที่สุด มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมกินเจของจีนสูงสุด
ทั้งนี้เพราะตามวัฒนธรรมเดิมของจีน การกินเจเป็นเรื่องของชนชั้นปกครองหรือผู้นำและจะกินเฉพาะเมื่อจะทำพิธีกรรมหรือกิจสำคัญเท่านั้น
ตั้งแต่ราชวงศ์เหนือ-ใต้เป็นต้นมาการกินอาหารมังสวิรัติเป็นจารีตของนักบวชพุทธ พุทธศาสนาก็รุ่งเรืองแพร่หลายมาก มีวัดทั่วประเทศนับแสน ภิกษุ ภิกษุณีนับล้าน ถึงยุคราชวงศ์ถังพุทธศาสนาแพร่เข้าไปในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายเซนกับนิกายสุขาวดี ชาวบ้านก็น่าจะถือเอาการงดบริโภคเนื้อสัตว์เป็นบุญจริยามากขึ้น ที่สำคัญพุทธศาสนาทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาเป็นการกินเจอย่างสมบูรณ์ เพราะมีเรื่องการถือศีลร่วมอยู่ด้วย ผักฉุน ๕ อย่างก็ลงตัวชัดเจนในพุทธศาสนาก่อน และเป็นแบบแผนในการกินเจตลอดมาจนปัจจุบัน
ทางศาสนาเต๋า นักพรตเพิ่งจะกินเจอย่างสมบูรณ์จริงๆ ก็เพราะนิกายช้วนจินก้าในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ความแพร่หลายของศาสนาเต๋าก็ไม่อาจเทียบกับพุทธได้ศาสนามณีและลัทธิเม้งก้าแพร่หลายในวงจำกัดยิ่งกว่า อิทธิพลต่อการกินเจทั่วไปเทียบกับพุทธศาสนาไม่ได้อย่างแน่นอน
แม้กระนั้นเราก็ไม่อาจเหมาเอาว่าการกินเจเกิดจากพุทธศาสนา เพราะจีนมีประเพณีกินเจมาแต่โบราณ แต่พุทธศาสนาเข้ามาเติมเต็มทำให้สายธารแห่งการกินเจแผ่กว้างออกไปเป็นแม่น้ำใหญ่และมหาสาครอันไพศาลแผ่ซ่านไปทั่วทุกถิ่นที่มีคนจีน
อนึ่งหลังจากการกินเจได้รับความนิยมแล้ว มีการกินเจในโอกาสต่างๆ เกิดขึ้นอีกมาก เช่น กวนอิมเจในช่วงประสูติกาลของพระโพธิสัตว์กวนอิม ๑๙ ค่ำ เดือนยี่ ความศรัทธาในพระกวนอิมทำให้การกินเจแผ่ขยายไปอีกมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เราจึงไม่อาจปฏิเสธคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนามหายานต่อวัฒนธรรมการกินเจ คนที่ไม่ยอมรับเรื่องนี้เท่ากับหลับตาไม่ยอมมองความจริง ชาวบ้านจีนกินเจเพราะอิทธิพลพุทธศาสนาเป็นสำคัญ รองลงไปคือศาสนาเต๋า ดังจะเห็นได้จาก เจ ประเภทต่างๆ ของจีนในหัวข้อต่อไป
.
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350278384&grpid=03&catid=&subcatid=-
ศิลปวัฒนธรรม เมษายน ถาวร สิกขโกศล
เจ คืออะไร
“เจ” เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว เสียงภาษาแต้จิ๋วเป็นเสียงกึ่งสระเอกับสระแอ ลูกหลานจีนในไทยบางคนจึงออกเสียงเป็น “แจ” ซึ่งก็ไม่ควรต้องเถียงกันว่าเสียงไหนถูก ในที่นี้จะใช้ตามเสียงที่แพร่หลายว่า “เจ” คำนี้ภาษาจีนกลางออกเสียงเป็น “Zhai ไจ, จาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บคำว่า “เจ” พร้อมทั้งให้นิยามไว้ว่า “เจ น. อาหารที่ไม่มีของสดคาวสำหรับญวนหรือจีนที่ถือศีล, แจ ก็ว่า (จ.)” ต่อมาในฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ปรับปรุงคำนิยามเป็น “เจ น. อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี, แจก็ว่า (จ. ว่าแจ)”
ตามนิยามหลักการกินเจต้องงดผักกลิ่นฉุนประเภทกระเทียม ผักชีด้วย จึงต่างจากมังสวิรัติ ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่า “งดเว้น (วิรัติ) เนื้อ (มังสะ : เนื้อคนและเนื้อสัตว์)” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามคำนี้ไว้ว่า
“มังสวิรัติ น. การงดเว้นกินเนื้อสัตว์, เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผักว่า อาหารมังสวิรัติ” มังสวิรัติกับเจยังมีความแตกต่างกันอีก เช่น ผู้กินเจดื่มนมได้แต่ไม่กินไข่ ผู้ถือมังสวิรัติกินไข่แต่ไม่ดื่มนม เป็นต้น
ในภาษาไทยเก่าเรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ว่า กระยาบวช พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามคำนี้ว่า “กระยาบวช น. เครื่องกินที่ไม่เจือด้วยของสดคาว” เครื่องกระยาบวชที่คนไทยใช้ไหว้เจ้าไหว้ผีตามปกติคือ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้าหวีงาม นิยายอิงพงศาวดารจีนรุ่นเก่ามักแปลคำ “กินเจ” ว่า ถือศีลกินกระยาบวช คำมังสวิรัติเป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง
สรุปว่า การกินเจกับการกินมังสวิรัติต่างกันชัดที่ มังสวิรัติกินผักได้ทุกชนิด แต่กินเจต้องงดผักที่มีกลิ่นฉุนด้วย แต่ละยุคแต่ละตำรากำหนดไว้ต่างกัน แต่ที่ถือปฏิบัติกันในเมืองไทยปัจจุบันคือ หอม กระเทียม กุยช่าย (หอมแป้น) หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และเฮงกื๋อ ซึ่งไม่มีในไทยจึงอนุโลมเอาผักชีแทน
เนื่องจากการกินเจกับกินมังสวิรัติต่างกัน คนจีนในเมืองไทยจึงใช้คำเรียกกิจกรรมทั้งสองนี้ต่างกัน กินเจภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “เจียะเจ (食斋)” ภาษาจีนกลางเรียก “ชือไจ (吃斋)” กินมังสวิรัติภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “เจียสู่ (食素)” ภาษาจีนกลางเรียก “ชือซู่ (吃素)”
เจในภาษาจีน
อักษร เจ ปรากฏครั้งแรกในจารึกโลหะสมัยราชวงศ์โจวแล้วพัฒนาจนลงตัวเป็นอักษรเสี่ยวจ้วนในยุคจั้นกั๋วปลายราชวงศ์โจว เป็นอักษรผสมประกอบด้วยอักษร “ฉี (齐 เรียบร้อย)” รวมกับอักษร “สื้อ (示 แสดง)” แล้วลดรูปรวมกันเป็นอักษร 斋 (ตัวตัดยุคหลังเป็น 斋) จีนกลางอ่านว่า Zhai แต้จิ๋วอ่านว่า เจ มีนัยความหมายว่า “แสดงถึงความเรียบร้อย, ทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยบริสุทธิ์”
ส่วนความหมายที่สมบูรณ์ชัดเจนนั้น อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร) ตำราอธิบายตัวอักษรเล่มแรกของจีน ซึ่งเขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๖๔๓ ได้นิยามความหมายของอักษรนี้ไว้อย่างกระชับว่า 斋 : 戒洁也 อ่านว่า “เจ : ไก้เกียกเอี่ย (ไจ : เจี้ยเจี๋ยเหย่)” แปลว่า เจ : คือการงดเว้นเพื่อความบริสุทธิ์ คำว่า ไก้ (ไก่หรือเจี้ย) ที่แปลว่างดเว้นนี้ต่อมาใช้เป็นคำแปลคำว่า “ศีล” ของพุทธศาสนาด้วย เกียก (เจี๋ย) แปลว่า บริสุทธิ์ สะอาด เอี่ย (เหย่) เป็นกริยา แปลว่า คือ คำว่า เจ จึงอาจแปลให้เข้าใจง่ายว่า “การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์” แต่เป็นศีลแบบจีนโบราณ ไม่ใช่ศีลของพุทธศาสนา และอาจใช้ในความหมายว่า เรียบร้อยสะอาดก็ได้
คนจีนโบราณมีความเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่รับการติดต่อเซ่นสรวงจากคนสกปรกมีมลทิน ดังนั้นก่อนพิธีเซ่นสรวงหรือทำกิจสำคัญใดๆ ผู้ทำพิธีจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ถือศีลงดเว้นอาหารสดคาวคือเนื้อสัตว์และผักฉุนกลิ่นแรง งดสุรา กิจกรรมทางเพศ สำรวมกายใจให้บริสุทธิ์สะอาด โดยแยกตัวไปอยู่ในห้องต่างหากที่เตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นระยะเวลานานตามที่กำหนด เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นว่าตนมีศรัทธาแน่วแน่และบริสุทธิ์สะอาดพอ เรียกว่า กินเจ
การกินเจเป็นการถือศีลแบบจีนโบราณ ข้อห้ามสำคัญประการหนึ่งคืองดเว้นอาหารสดคาว ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์จวงจื่อพูดถึงเหยียนหุยศิษย์เอกของขงจื๊อว่า “เหยียนหุยกล่าวว่า บ้านข้าพเจ้ายากจน ไม่ดื่มสุรา ไม่กินอาหารสดคาวแรมเดือนแล้ว เช่นนี้จะเรียกว่ากินเจได้หรือไม่?” หนังสือหลี่ว์สื้อชุนชิวเรื่องเดือนอ้ายกล่าวว่า “(เดือนนี้) โอรสสวรรค์กินเจ” มีคำอธิบายเสริมโดยอ้างคัมภีร์หลุนอี่ว์ (วิจารณ์พจน์) ว่า “กินเจต้องเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนที่อยู่ ทำตนให้บริสุทธิ์สุภาพ” ถือเป็นเรื่องสำคัญดังที่คัมภีร์หลุนอี่ว์ บรรพ ๗ ข้อ ๑๓ กล่าวว่า “ปราชญ์ขงจื๊อระวังมากเรื่องกินเจ สู้รบและเจ็บป่วย”
คัมภีร์หลี่จี้ (บันทึกจารีต) บรรพจี้ถ่ง (หลักการเซ่นสรวง) พูดถึงเรื่อง เจ สมัยราชวงศ์โจวไว้ชัดเจนว่า “เมื่อจะทำพิธีเซ่นสรวงบูชาประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์, ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่. หากไม่มีเรื่องสำคัญ, ไม่มีเรื่องต้องเคารพนบนอบ, ประมุขก็จะไม่กินเจ. ช่วงไม่กินเจไม่มีข้อห้ามที่ต้องระมัดระวัง, ไม่ต้องควบคุมความอยาก. ครั้นถึงเวลาจะกินเจต้องระวังความชั่วร้าย, ระงับความอยาก. หูไม่ฟังดนตรี, ดังนั้นหนังสือโบราณจึงบันทึกว่า ‘ผู้กินเจไม่ฟังดนตรี’. ใจต้องไม่ฟุ้งซ่าน, ต้องอยู่ในวิถีแห่งธรรม. มือเท้าไม่เคลื่อนไหวไร้ระเบียบ, ต้องเรียบร้อยตามจารีต. การกินเจของประมุขต้องมุ่งให้ถึงคุณธรรมอันประเสริฐ,
ฉะนั้นต้องกินเจพื้นฐาน ๗ วัน สำรวมพฤติกรรมให้ใจสงบ, แล้วกินเจเข้มงวดขัดเกลาจิตใจอีก ๓ วัน เพื่อให้ใจผ่องใสแน่วแน่. ใจผ่องใสแน่วแน่เรียกว่า ‘เจ’ (คือความเรียบร้อยบริสุทธิ์). เจนี้แลคือยอดของความประเสริฐบริสุทธิ์, จากนั้นจึงสามารถ (ทำกิจ) เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้. ฉะนั้นก่อนถึงช่วงเวลากินเจหนึ่งวัน, พนักงานฝ่ายในต้องแจ้งเตือนชายาของประมุข. ชายาก็ต้องกินเจพื้นฐาน ๗ วัน เจเข้มงวด ๓ วัน. ประมุขกินเจที่ห้องฝ่ายหน้า, ชายากินเจที่ห้องฝ่ายใน, แล้วจึงไปพบกันที่หอพระเทพบิดร (หอบวงสรวงบรรพชน).”
จากข้อความตอนนี้เห็นได้ชัดว่า การกินเจต้องสำรวมขัดเกลากายวาจาใจคล้ายถือศีล แม้ไม่ได้กล่าวถึงอาหารแต่ก็พออนุมานจากหลักฐานอื่น เช่น คำพูดของเหยียนหุยข้างต้นได้ว่า ไม่มีเนื้อสัตว์
การกินเจแบบนี้ในยุคต่อมามักลดเหลือเฉพาะเจเข้มข้น ๓ วัน เช่น เมื่อเล่าปี่จะไปเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาก็กินเจก่อน ๓ วัน
เจ ในภาษาจีนโบราณ จึงหมายถึง “ความเรียบร้อย ความเรียบร้อยบริสุทธิ์ การทำให้เรียบร้อยบริสุทธิ์ การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาด”. การกินเจมิใช่เพียงกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุนต้องห้าม, แต่เป็นการถือศีลแบบจีนโบราณดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์หลี่จี้.
ต่อมาอักษร เจ (ไจ) ขยายความหมายออกไปอีก มหาอักขรานุกรมจีน ( 汉语大字典 ) ประมวลไว้ ๑๐ ความหมาย คือ ๑. คนโบราณก่อนการเซ่นสรวงหรือกิจสำคัญ อาบน้ำชำระร่างกาย แยกห้องอยู่ งดสุรา อาหารสดคาว ระงับความทะยานอยาก ชำระใจให้บริสุทธิ์ เพื่อแสดงศรัทธาคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๒. เคร่งขรึม, เคารพ ๓. สถานที่กินเจ ๔. ห้อง, อาคาร ๕. ห้องหนังสือ, โรงเรียน ๖. ชื่อร้านค้า เช่น ร้านหญงเป่าไจที่ปักกิ่ง ๗. กิจกรรมประเภทสวดมนต์ไหว้พระ เซ่นสรวงบนบาน ๘. ศัพท์ทางพุทธศาสนา หีนยานถือการไม่กินอาหารหลังเที่ยงเป็นเจ มหายานถือการไม่กินอาหารเนื้อเป็นเจ ๙. ถวายอาหารแก่พระ เณร ภิกษุณี นักพรต และให้อาหารแก่คนยากจน ๑๐. อ่านว่า Zi (จือ) หมายถึงชุดไว้ทุกข์
ความหมายที่แปดเกี่ยวข้องกับศีลของพุทธศาสนา เมื่อรวมกับคำว่า 戒 (ไก่ เจี้ย) เป็น 斋戒 (เจไก่, ไจเจี้ย) หมายถึงศีลในพุทธศาสนา
อาหารเจของจีน
ลูกหลานจีนในไทยมักเรียกอาหารที่ไม่ใช่เจตามภาษาถิ่นแต้จิ๋วว่า ชอ (臊) ซึ่งแปลว่ากลิ่นคาวเนื้อ แต่ในภาษาจีนมาตรฐานนิยมใช้คำว่า 荤 จีนกลางอ่าน hun (ฮุน) แต้จิ๋วอ่าน ฮุง มากกว่าใช้คำว่า 臊 (ชอ sao) หรือ 腥 (เซ็ง xing) ซึ่งแปลว่า เนื้อ เรื่องนี้มีที่มายาวนาน
อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ แปลความหมายอักษร 荤 (ฮุน) ว่า “ผักเหม็น” หมายถึงผักที่มีกลิ่นฉุนแรง เป็นความหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์เลย แต่กลับใช้เรียกอาหารที่ไม่ใช่เจ ซึ่งมีเนื้อรวมอยู่ด้วยแทนอักษร 臊 (ชอ) และ 腥 (เซ็ง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อโดยตรง แสดงชัดว่าอาหารเจของจีนตั้งแต่โบราณมาน่าจะไม่มีผักกลิ่นฉุนแรง
เหตุผลมีเค้าเงื่อนอยู่ในคัมภีร์ก๋วนจื่อ (管子) วรรณกรรมยุคจั้นกั๋ว บรรพชิงจัง (轻重 หนักเบา) ว่า
“หวงตี้เจาะรูปั่นไม้ทำให้เกิดไฟ เพื่อปรุงเนื้อและผักเหม็นให้สุก” เนื้อดิบคาวแรงย่อยยากจึงต้องปรุงให้สุก ผักทั่วไปกินได้ทั้งดิบและสุก แต่ผักที่กลิ่นฉุนแรงกินดิบๆ ยาก ต้องปรุงให้สุกก่อนเหมือนเนื้อสัตว์จึงอนุโลมเป็นอาหารประเภทเดียวกันคือ “ไม่เจ”
ดังนั้น การใช้ศัพท์ ฮุน 荤 คำเดียวซึ่งหมายถึงกลิ่นฉุนแรงจึงครอบคลุมอาหารเนื้อด้วย ดีกว่าใช้ศัพท์ ชอ 臊 เซ็ง 腥 ซึ่งหมายเฉพาะอาหารเนื้อ ไม่กินความถึงผักกลิ่นฉุนแรงด้วย
ผักเหม็น (荤) ของจีนโบราณคงหมายถึงผักที่มีกลิ่นฉุนแรงทั้งหลาย แต่ละถิ่นแต่ละยุคคงมีจำนวนต่างกันไป ถึงสมัยราชวงศ์หมิง หลี่สือเจินรวมชื่อผักกลิ่นฉุนที่ใช้เป็นสมุนไพรแพร่หลายไว้ในหนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ (สารานุกรมสมุนไพร) ของเขา ๒๙ ชนิด แต่ที่เป็นผักต้องห้ามในการกินเจมี ๕ ชนิด เรียกว่า “อู่ฮุน (五荤) ผักเหม็นทั้งห้า”
พจนะสารานุกรมฉือไห่อธิบายคำนี้ไว้ว่า “อู่ฮุน : เรียกอีกอย่างอู่ซิง (ผักเผ็ดทั้งห้า) หนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ ตอนผัก ๑ ว่า
‘ผักเหม็นทั้งห้าก็คือผักเผ็ดทั้งห้า เพราะเผ็ดเหม็นทำให้มึนงงอ่อนล้า พวกฝึกอายุวัฒนะถือว่า กระเทียม กระเทียมเล็ก กุยช่าย (หอมแป้น) ผักชี หวินไถ (ผักน้ำมัน, ผักมัสตาร์ด) เป็นผักเหม็นทั้งห้า
พวกนักพรตเต๋าถือว่า กุยช่าย เซี่ย (หลักเกี๋ยว - หอมปรัง) กระเทียม ผักชี และหวินไถ เป็นผักเหม็นทั้งห้า ทางพุทธศาสนาถือว่า หอม กระเทียม กระเทียมเล็ก หลักเกี๋ยว และหิงคุ์เป็นผักเหม็นทั้งห้า หิงคุ์ คือ อาวุ่ย’ วิเคราะห์สรุป หิงคุ์รากคล้ายผักกาดหัว (ไชเท้า) ทั้งสุกและดิบกลิ่นคล้ายกระเทียม...”
คัมภีร์พุทธศาสนามหายานบอกชื่อผักเหม็น ๕ อย่างไว้ต่างกัน แต่ในเมืองไทยมักสรุปว่าได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย หลักเกี๋ยว (หอมปรัง) และเฮงกื๋อ (มหาหิงคุ์) ผักเหล่านี้ภาษาล้านนามีชื่อนำว่า “หอม” ถึงสี่ชนิด คือ กระเทียม เรียกหอมขาว จึงต้องเรียกหอมธรรมดาว่า หอมแดง กุยช่าย เรียกหอมแป้น หลักเกี๋ยว เรียกหอมปรัง หัวและใบเล็กว่าหอมแดงแต่กลิ่นแรงกว่า ทั้งสี่ชนิดล้วนเป็นพืชในสกุล Allium
คำกระเทียมเล็กนั้นแปลจากคำว่า เสี่ยวซ่วน (小蒜 เสียวสึ่ง) มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) อธิบายว่า “เสี่ยวซ่วน : กระเทียมชนิดหนึ่งของจีน ต้นและใบเล็กกว่ากระเทียม จึงได้ชื่อเช่นนั้น...” กระเทียมทั่วไปนั้นภาษาจีนเรียกต้าซ่วน (大蒜 ตั้วสึ่ง) แปลตามรูปศัพท์ว่า กระเทียมใหญ่อย่างกระเทียมจีนในท้องตลาดทุกวันนี้ ทางพุทธอนุโลมเสี่ยวซ่วนเป็นกุยช่าย
เฮงกื๋อ (兴渠) นั้นเป็นเสียงแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางว่า ซิงฉวี ตรงกับคำบาลีว่า หิงฺคุ (หิงคุ์) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula asafoetida ยางมีกลิ่นร้อนฉุนและเหม็น ใช้ทำยาทามหาหิงคุ์ พืชสกุล Ferula มีหลายชนิด บางชนิดกินได้ ศัพท์เฮงกื๋อควรแปลว่า มหาหิงคุ์ ไม่ใช่ยาสูบอย่างที่บางคนอธิบายผิด เพราะยาสูบไม่ใช่ผักที่เป็นอาหาร ไม่รวมอยู่ในผักเหม็นห้าอย่าง แต่เป็นสิ่งเสพติดที่คนกินเจต้องงดแน่นอนอยู่แล้ว
ส่วนหวินไถ (芸苔) นั้นเสียงแต้จิ๋วว่า หุ่งไท้ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica Campestris L. ผักในสกุล Brassica มีหลายชนิด คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ฯลฯ ล้วนอยู่ในสกุล Brassica หวินไถหรือหุ่งไท้นั้นถ้าคนไทยเห็นก็ต้องเรียกว่าผักกวางตุ้ง เพราะคล้ายกันมาก ดอกสีเหลือง ภาษาจีนปัจจุบันเรียกว่า อิ๋วไช่ (油菜) หรืออิ่วไฉ่ เม็ดใช้หีบเอาน้ำมัน มีหลายสายพันธุ์ย่อย บางชนิดกลิ่นฉุน เม็ดใช้ประกอบทำมัสตาร์ด จัดเป็นผักเหม็นชนิดหนึ่งของศาสนาเต๋าเช่นเดียวกับผักชี แต่ทางพุทธถือว่ากินได้ จึงเห็นได้ชัดว่า ผักฉุนต้องห้ามในอาหารเจของไทยถือตามแบบพุทธศาสนามหายาน
ผักเหม็นทั้งห้านี้ อินเดียก็คงมีมาแต่โบราณเช่นเดียวกับจีน เพราะฤๅษีที่ฉันผักผลไม้เป็นหลักส่วนมากฉันดิบ คงต้องงดผักผลไม้กลิ่นฉุนแรงเหมือนกัน พุทธศาสนามหายานรับคตินิยมนี้ต่อมา เมื่อแพร่มาถึงจีนจึงยังมีชื่อผักเหม็นทั้งห้าเป็นภาษาสันกสฤตอยู่คือ ลศุน (กระเทียม) ปลาณฑุ (หอมแดง) คฤญชนะ (หอมแป้น - กุยช่าย) ลตารกะ (หอมปรัง) และหิงคุ รวมเรียกว่า ปัญจปริวยยา แปลว่า ผัก (ราก) ที่มีกลิ่นฉุนทั้งห้า สี่ชนิดแรกแปลเทียบเป็นชื่อผักของจีนได้ แต่หิงคุถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและอิหร่าน จึงใช้ทับศัพท์ ซึ่งต่อมากลายเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า เฮงกื๋อ สำเนียงอำเภอเตี้ยเอี๊ย เป็นเฮงกู๋ใกล้กับคำหิงคุมาก ส่วนของศาสนาเต๋าทั้งสองสายคือนักพรตและพวกฝึกอายุวัฒนะล้วนเป็นผักที่มีในจีน ไม่มีหิงคุของอินเดีย
ความเป็นมาของอาหรเจและมังสวิรัติของจีน
ภาษาจีนเรียกอาหารเจและอาหารมังสวิรัติรวมๆ กันว่า ซู่สือ (素食 ซู่เจี๊ยะ) แปลว่า “อาหารบริสุทธิ์ กินอาหารบริสุทธิ์” ถ้าเป็นอาหารเจมักใช้คำขยายให้ชัดว่า “ฉวนซู่ ( 全素 ฉ่วงสู่) แปลว่า “บริสุทธิ์สมบูรณ์”
การกินเจและมังสวิรัติของจีนมีความเป็นมายาวนาน สมัยโบราณคนกินเจน้อย จะกินต่อเมื่อมีหน้าที่และมีกิจจำเป็น เพราะความไม่สะดวกเรื่องอาหาร ซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่ายุคหลัง
การกินอาหารเจของจีนมีรากฐานมั่นคงสมัยราชวงศ์ฮั่น พัฒนามากในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้และราชวงศ์ถัง
การเปิดเส้นทางสายไหมตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทำให้มีพันธุ์ผักผลไม้ใหม่ๆ สู่จีน การเกษตรที่ก้าวหน้าทำให้มีผักผลไม้อุดมหลากหลายขึ้น ที่สำคัญคนของหวยหนันอ๋อง (พ.ศ. ๓๔๕-๓๖๙) ร่วมกันคิดทำเต้าหู้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองประเภทอื่นตามมา ทำให้มีโปรตีนทดแทน ทำอาหารได้หลายประเภทขึ้น เมนูอาหารเจจึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคราชวงศ์ฮั่นนี้
ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก แม้เดิมทีพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ แต่มหายานบางสายก็ให้ความสำคัญแก่การฉันเจ จึงเกิดคัมภีร์ลังกาวตารสูตรสนับสนุนเรื่องนี้ อนึ่งช่วงฤดูหนาวภิกษุในจีนออกบิณฑบาตลำบาก บางยุคพุทธศาสนาก็ถูกต่อต้าน ภิกษุ ภิกษุณีต้องทำอาหารกินเอาเองจึงจำเป็นต้องฉันมังสวิรัติหรือเจตามประเพณีเดิมของจีน
ต่อมาพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (พ.ศ. ๑๐๐๗-๑๐๙๒) ได้อ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรแล้วศรัทธามาก ปี พ.ศ.๑๐๕๔ จึงออก “ประกาศงดสุราและเนื้อ (断酒肉文)” ให้นักบวชพุทธศาสนาถือปฏิบัติ ปกติฤดูหนาวคนจีนต้องดื่มสุราช่วย ภิกษุ ภิกษุณีก็คงมีดื่มบ้าง ตามประกาศนี้ต้องงดขาด พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ครองราชย์นานถึง ๔๘ ปี แคว้นเหลียงของพระองค์ก็กว้างใหญ่ราวครึ่งประเทศจีน แคว้นอื่น ๆ ทางเหนือพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองมากเช่นกัน บัญญัติห้ามฉันสุราและเนื้อจึงแพร่ไปทั่ว กลายเป็นจารีตของนักบวชในพุทธศาสนาของจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากรัชกาลพระเจ้าเหลียงอู่ตี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคราชวงศ์ถังวัดบางแห่งห้ามผักฉุน ๕ อย่าง คือ กระเทียม กระเทียมเล็ก หอม หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) มหาหิงคุ์ วัดเต๋าบางแห่งก็ถือเอา กุยช่าย หอมปรัง กระเทียม ผักชี และหวินไถ (ผักน้ำมัน) เป็นผักฉุน ๕ อย่าง แล้วแพร่หลายกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา
ถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง อาหารเจและมังสวิรัติแพร่หลายมาก ในเมืองใหญ่ เช่น ไคเฟิง หางโจวมีร้านอาหารเจเปิดขาย มีผู้รวบรวมเมนูอาหารเจไว้ถึง ๑๐๔ รายการ เนื้อเทียม เป็ดไก่เทียมก็เริ่มมีตั้งแต่ยุคนี้ ถึงยุคราชวงศ์หมิงและชิง อาหารไม่มีเนื้อสัตว์โดดเด่นหลากหลายมาก แยกได้เป็น ๓ สาย คือ สายวัด สายวัง และสายชาวบ้าน สายวัดไม่มีผักฉุนจัดเป็นอาหารเจ ส่วนสายวังและชาวบ้านเป็นอาหารมังสวิรัติธรรมดา หลังจากนั้นอาหารสองประเภทนี้ก็พัฒนาสืบต่อมาจนปัจจุบัน
มีศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการกินเจอีกสองศาสนา คือ ศาสนาเต๋า และมณี
ปรัชญาเต๋า (道家) พัฒนาเป็นศาสนาเต๋า (道教) ชัดเจนตอนปลายราชวงศ์ฮั่น ไม่มีระบบนักบวชที่ชัดเจน มีแต่ผู้นำทำพิธีทางศาสนา ยามปกติก็ใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป พอจะทำพิธีทางศาสนาจึงกินเจตามแบบจีนโบราณ ถึงสมัยราชวงศ์ถังสำนักเต๋าบางแห่งจึงเริ่มกินเจทุกวัน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง เฮ้งเต้งเอี๋ยง (หวางฉงหยาง พ.ศ. ๑๖๕๕-๑๗๑๓) ได้ตั้งนิกายช้วนจินก้าแยกออกมาจากศาสนาเต๋าเดิม มีระบบนักบวชและกินเจตลอดชีวิตตามอย่างพุทธศาสนา
ปัจจุบันศาสนาเต๋าแบ่งเป็นสองนิกายใหญ่ นิกายช้วนจินก้ารุ่งเรืองในจีน นักพรตกินเจตลอด นิกายเจิ้งอี่ (เจี้ยอิด) รุ่งเรืองในไต้หวัน นักพรตกินเจแบบศาสนาเต๋าเก่าคือเมื่อจะทำพิธีกรรม ยามปกติกินหรือไม่กินเจก็ได้และไม่ถือเคร่งครัด
ส่วนศาสนามณีหรือมาณีกีเกิดในเปอร์เซีย ศาสดาชื่อมณีหรือ Manes (พ.ศ. ๗๕๙-๘๒๐) คำสอนอาศัยหลักของศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นพื้นฐานผสมผสานกับคำสอนของพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา
ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากลัทธิเหตุผลนิยม (Gnosticism) ของโรมัน ศาสนามณีเคยรุ่งเรืองแพร่หลายทั้งในยุโรป แอฟริกาและเอเชีย แพร่ถึงซินเจียงในช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้ ตั้งแต่สมัยพระนางบูเช็กเทียนเข้าไปเผยแพร่ในนครฉางอานเมืองหลวงของราชวงศ์ถัง แล้วแพร่หลายในจีนหลายมณฑล พ.ศ. ๑๓๘๘ ถูกพระเจ้าอู่จงกวาดล้างจนเสื่อมโทรมไป แต่ได้พัฒนาไปเป็นลัทธิเม้งก้า (หมิงเจี้ยว) หรือลัทธิแสงสว่าง
พจนานุกรมศัพท์ศาสนา (宗教大词典) ของจีนอธิบายลัทธิเม้งก้าไว้ว่า : “เม้งก้า (หมิงเจี้ยว) : (๑) องค์กรลับทางศาสนา ซึ่งสืบเนื่องมาจากศาสนามณี มีศาสนาพุทธและเต๋าคละเคล้าผสมอยู่ด้วย กบฏชาวนาในยุคห้าราชวงศ์ ราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวนมักใช้เป็นเครื่องมือตั้งองค์กรของพวกตน ยกย่องจางเจี่ยว (เตียวก๊กหัวหน้าโจรโพกผ้าเหลืองในต้นเรื่องสามก๊ก) เป็นศาสดา เคารพองค์พระมณีเป็นเทพแห่งแสงสว่าง บูชาพระอาทิตย์พระจันทร์.
ศาสนิกชอบแต่งชุดขาว กินมังสวิรัติ งดสุรา เปลือยศพฝัง. เน้นการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน มีความเชื่อว่าพลังแห่งแสงสว่าง (ความดี) จะต้องชนะพลังแห่งความมืด (ความชั่ว) พ.ศ. ๑๔๖๓ ในยุคห้าราชวงศ์หมู่อี่ได้อ้างความเชื่อนี้ก่อการกบฏ ในยุคราชวงศ์ซ่ง ลัทธินี้แพร่หลายแถบหวยหนัน (มณฑลเจียงซู และบางส่วนของมณฑลเหอหนันกับมณฑลอานฮุย) เจ้อเจียง เจียงซี เจียงตง และฮกเกี้ยน รวมตัวกันเป็นกบฏชาวนาอยู่เสมอ ที่โด่งดังมากคือ กบฏฟางเล่า (ปึงละในเรื่องซ้องกั๋ง) กบฏหวางเนี่ยนจิง เป็นต้น (๒) คือศาสนามณี.”
ตามประวัติกล่าวว่า มาเนสหรือมณีถือมังสวิรัติตามปาติกบิดาตนซึ่ง “ได้ยินเสียงลึกลับในโบสถ์ที่เตสิโฟน (Ctesiphon) สั่งให้ท่านงดเว้นการดื่มไวน์ การบริโภคเนื้อสัตว์และการส้องเสพกามารมณ์” แต่เมื่อศาสนานี้เข้าสู่จีนได้รับคำสอนของพุทธศาสนาและศาสนาเต๋าไปผสมกับคำสอนเดิมของตนมา ลัทธิเม้งก้าก็ได้รับอิทธิพลจากพุทธและเต๋ามาก
การกินเจ ๑-๙ ค่ำ เดือนเก้ามีประวัติเกี่ยวข้องกับองค์กรลับทางศาสนาและการเมืองอยู่ด้วยในบางยุค ที่สำคัญคือ แต่งชุดขาวเหมือนกัน ดังนั้น สำนักวัดฝอกกวงซานในไต้หวันจึงกล่าวว่า กิจกรรมนี้มีที่มาจากลัทธิเม้งก้าหรือศาสนามณี ผู้ใช้นามปากกา “แปลงนาม” เชื่อทฤษฎีนี้มากที่สุด แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรศึกษาให้รอบด้านมากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยสรุป
หากพูดถึงการกินเจของจีนโดยองค์รวมแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธว่าพุทธศาสนาเป็นพลังผลักดันให้การกินเจของจีนแพร่ออกไปมากที่สุด มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมกินเจของจีนสูงสุด
ทั้งนี้เพราะตามวัฒนธรรมเดิมของจีน การกินเจเป็นเรื่องของชนชั้นปกครองหรือผู้นำและจะกินเฉพาะเมื่อจะทำพิธีกรรมหรือกิจสำคัญเท่านั้น
ตั้งแต่ราชวงศ์เหนือ-ใต้เป็นต้นมาการกินอาหารมังสวิรัติเป็นจารีตของนักบวชพุทธ พุทธศาสนาก็รุ่งเรืองแพร่หลายมาก มีวัดทั่วประเทศนับแสน ภิกษุ ภิกษุณีนับล้าน ถึงยุคราชวงศ์ถังพุทธศาสนาแพร่เข้าไปในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายเซนกับนิกายสุขาวดี ชาวบ้านก็น่าจะถือเอาการงดบริโภคเนื้อสัตว์เป็นบุญจริยามากขึ้น ที่สำคัญพุทธศาสนาทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาเป็นการกินเจอย่างสมบูรณ์ เพราะมีเรื่องการถือศีลร่วมอยู่ด้วย ผักฉุน ๕ อย่างก็ลงตัวชัดเจนในพุทธศาสนาก่อน และเป็นแบบแผนในการกินเจตลอดมาจนปัจจุบัน
ทางศาสนาเต๋า นักพรตเพิ่งจะกินเจอย่างสมบูรณ์จริงๆ ก็เพราะนิกายช้วนจินก้าในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ความแพร่หลายของศาสนาเต๋าก็ไม่อาจเทียบกับพุทธได้ศาสนามณีและลัทธิเม้งก้าแพร่หลายในวงจำกัดยิ่งกว่า อิทธิพลต่อการกินเจทั่วไปเทียบกับพุทธศาสนาไม่ได้อย่างแน่นอน
แม้กระนั้นเราก็ไม่อาจเหมาเอาว่าการกินเจเกิดจากพุทธศาสนา เพราะจีนมีประเพณีกินเจมาแต่โบราณ แต่พุทธศาสนาเข้ามาเติมเต็มทำให้สายธารแห่งการกินเจแผ่กว้างออกไปเป็นแม่น้ำใหญ่และมหาสาครอันไพศาลแผ่ซ่านไปทั่วทุกถิ่นที่มีคนจีน
อนึ่งหลังจากการกินเจได้รับความนิยมแล้ว มีการกินเจในโอกาสต่างๆ เกิดขึ้นอีกมาก เช่น กวนอิมเจในช่วงประสูติกาลของพระโพธิสัตว์กวนอิม ๑๙ ค่ำ เดือนยี่ ความศรัทธาในพระกวนอิมทำให้การกินเจแผ่ขยายไปอีกมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เราจึงไม่อาจปฏิเสธคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนามหายานต่อวัฒนธรรมการกินเจ คนที่ไม่ยอมรับเรื่องนี้เท่ากับหลับตาไม่ยอมมองความจริง ชาวบ้านจีนกินเจเพราะอิทธิพลพุทธศาสนาเป็นสำคัญ รองลงไปคือศาสนาเต๋า ดังจะเห็นได้จาก เจ ประเภทต่างๆ ของจีนในหัวข้อต่อไป
.