ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 18, 2012, 12:59:38 pm »สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ สามเณรวิริยังค์
( หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร )
"ชีวิตคือการต่อสู้ : ประวัติและผลงาน พระราชธรรมเจติยาจารย์ ( หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร )
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศน์ ทรงเสด็จมาสืบข้อเท็จจริง
จากบันทึกของหลวงปู่วิริยังค์ สิรินฺธโร
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถรเป็นปีที่ ๕๔ ร่วมรำลึกถึง "พระสังฆคุณ" ขององค์ท่าน เว็บหลวงปู่มั่นขอนำเสนอบทความจากหนังสือ "ชีวิตคือการต่อสู้ : ประวัติและผลงาน พระราชธรรมเจติยาจารย์ ( หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ) เพื่อเป็นนำเสนอข้อวัตรปฏิบัตของคณะพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร แม้จะถูกใส่ร้ายแต่ด้วยการปฏิบัติอันบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย ก็สามารถผ่านพ้นข้อกล่าวหาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับจนถึงปัจจุบัน จากบันทึกของหลวงปู่วิริยังค์ สิรินฺธโรครั้งยังเป็นสามเณรวิริยังค์ติดตามพระอาจารย์ของท่านคือพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ในวาระเริ่มต้นสร้างวัดทรายงาม อ.เมือง จ.จันทบุรี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๙
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศน์ ทรงเสด็จมาสืบข้อเท็จจริง
พระอาจารย์ของข้าพเจ้า( ข้าพเจ้าในที่นี้คือสามเณรวิริยังค์ ) นอกจากท่านจะใช้ความพยายามแนะนำพร่ำสอนชาวบ้านหนองบัวแล้ว ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสก็ได้ถวายปัจจัยมาก ท่านก็ให้เขาสร้างกุฏิ ศาลามั่นคงถาวรขึ้น ทั้งนี้ย่อมเป็นสิ่งอันพอสมควรทีเดียว แต่ผลของการแนะนำข้อปฏิบัตินั้นก็ค่อยๆ ปรากฏโฉมหน้าออกมาเรื่อยๆ เพราะเหตุชาวบ้านหนองบัวถูกพระอาจารย์ของข้าพเจ้าต่อสู้จนชนะ หมายความว่าชนะโดยการปฏิบัติธรรมให้เป็นตัวอย่าง คำพูดนั้นพูดกันแต่น้อยปฏิบัติให้มาก อย่างไรก็ตามพวกถือมานะทิฏฐิก็ยังมีอยู่ พวกที่ยังไม่ลดละความพยายาม คือพยายามจะจับผิดพระอาจารย์ให้ได้ จึงร่วมกับพระภิกษุบางองค์ที่คงแก่เรียน มีฐานันดรนำเรื่องต่างๆ ไปฟ้องสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์หลายครั้งและก็หลายหน จนสมเด็จฯ ท่านคงรำคาญ หรือต้องการจะทราบความจริงของพระคณะกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เพราะสมเด็จฯ ก็ได้ทราบเกียรติคุณนี้มานานแล้ว ยังไม่เคยทราบข้อเท็จจริง หากจะปรักปรำเอาความผิดตามที่ชาวบ้านหนองบัวบางพวกและพระฐานันดรบางรูปกล่าวหา ก็จะเสียผู้ใหญ่ อาจจะเสียรูปแห่งการปกครองได้ เพาะสมเด็จฯ คงจะมองกาลไกลว่า พระที่ปฏิบัตินั้นหายาก และที่จะมีความสมารถก็หายาก หากทำงานผิดพลาดจะจะเสียโอกาสทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายผู้ประสงค์ดี หากทำถูกต้องอาจจะเป็นกำลังที่ยิ่งใหญ่ต่อไปภายหน้า เมื่อสมเด็จฯ ได้คิดเช่นนี้แล้ว พระองค์จึงทรงละความลำบาก แม้จะต้องทรงลำบากฉันใด ก็มิทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากนั้นเลย ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปพร้อมกับพระมหาศาสนโสภณ (ป.๙ ) โดยสารเรือไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดจันทบุรี ( เพราะไม่มีทางรถยนต์)
มิได้มีใครคาดหมายมาก่อนว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะเสด็จมาโดยพระองค์เอง ต่างก็ได้ทำพิธีต้อนรับกันเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ทางจังหวัดจันทบุรีและวัดต่างๆ ในเมือง พระอาจารย์ของข้าพเจ้าเฉยๆ แม้จะได้ข่าวว่าสมเด็จฯ เสด็จ เพราะไม่นึกว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะเสด็จมาที่วัดทรายงามแม้สมเด็จฯ เองก็มิได้ทรงปรารภว่าจะมาวัดทรายงามแต่อย่างใด ปล่อยให้ข้าราชการ พระฐานันดรศักดิ์ต้อนรับกันจ้าละหวั่นอยู่ที่ตัวเมืองจันทบุรี อยู่ๆ วันหนึ่งสมเด็จฯ ก็ทรงตรัสว่า เราจะไปวัดทรายงามเดี๋ยวนี้ ทำเอาข้าราชการพระฐานันดรศักดิ์ตกใจ จะจัดเรือถวายให้ สมเด็จฯ ก็ไม่เอา ทรงรับสั่งว่าจะเดินไปเดี๋ยวนี้ แล้วก็ให้คนนำทาง ทรงเสด็จเดินในเวลานั้นบ่ายแล้ว ม้าเร็วรีบแจวอ้าวนำเรื่องไปบอกกับพระอาจารย์ของสมเณรวิ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเดินเร็วเหมือนกัน ม้าเร็วมาส่งข่าวไม่ถึงชั่วโมงก็เสด็จถึงแล้วทรงวัดทรายงามก็มิทันได้ตั้งตัว สมเด็จฯ เสด็จถึงเสียแล้ว สมเณรวิริยังค์พร้อมพระอาจารย์ พระ ๑๐ กว่ารูป ฆราวาสสี่ห้าคนเดินออกไปรับเสด็จทันตรงทุ่งนาห่างวัดไม่ถึง ๑๐ เส้น สมเด็จฯ ทรงดุเอาว่า "ออกมารับทำไม" แล้วทรงรับสั่งว่า "เราจะพักที่นี่ไม่มีกำหนด" ทำเอาพระอาจารย์งง ส.ณ.วิก็งง ข้าราชการพระฐานันดรศักดิ์ก็งง แหละแล้วพระอาจารย์ก็ได้จัดกุฏิถวายให้พักตามพระอัธยาศัย แล้วก็ให้สามเณรวิริยังค์เป็นผู้อุปฐากดูแลอย่างใกล้ชิด
ผู้ไปฟ้องสมเด็จพระสังฆราชเจ้าครั้งนี้มี ๕ ข้อด้วยกัน คือ
๑. พระอาจารย์กงมา พาพระบิณฑบาตรสะพายบาตรเหมือนมหานิกาย เป็นการแตกคอกนอกจากธรรมเนียมธรรมยุต
๒. พระอาจารย์กงมา เมื่อโยมถวายสังฆทานต้องอุปโลกน์มิฉะนั้นจะไม่ฉัน เป็นการงมงาย เพราะเขาถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วไม่ต้องอุปโลกน์
๓. พระอาจารย์กงมา เทศนาแปลหนังสือไม่เป็น ผิดๆ ถูกๆ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะแก่ที่จะเป็นผู้นำ
๔. พระอาจารย์กงมาไปธุดงค์ ทำน้ำมนต์ ยาเสน่ห์ ของขลัง แนะนำแต่ทางโลกีย์ ซึ่งผิดระเบียบพระธุดงค์
๕. พระอาจารย์กงมา ทำอุโบสถไม่มีพัทธสีมา
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จไปนั้น ทรงเสด็จไปในสภาพพระธรรมดา มิให้ใครหรือพระรูปใดรู้ว่าพระองค์มาสอบสวนในเรื่องต่างๆ ที่มีคนไปฟ้อง และทรงปฏิบัติเหมือนพระที่วัดทรายงามทุกประการ เช่น ฉันหนเดียว ฉันในบาตร สวดมนต์ที่ศาลา เวลาพูดจาก็มิให้พูดด้วยราชาศัพท์ ให้ทำทุกกอย่างเป็นกันเอง แล้วทรงพูดว่าเรามาเยี่ยม "กงมา" และประสงค์จะมาเรียนกรรมฐานด้วย ให้ช่วยสอนให้ ทำเอาพระอาจารย์ของ ส.ณ.วิกำลังงงยิ่งงงใหญ่พระอาจารย์บ่นกับสามเณรวิว่า "นี่เราจะสอนหนังสือสังฆราชแล้วหรือ" ทำเอาสามเณรวิก็สงสัยว่า สมเด็จพระสังฆราชควรจะเรียกหรือสั่งให้พระอาจารย์เข้าไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์ กรุงเทพฯ แล้วให้สอนกรรมฐานให้ก็ได้ ทำไมพระองค์จะต้องถ่อร่างมาถึงพวกเรา แต่สามเณรวิก็ถือว่าเป็นเกียรติแด่พระอาจารย์ใหญ่หลวงนักครั้งนี้ ภายหลังถึงทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเสด็จมาสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่มีผู้กล่าวหาพระอาจารย์กงมาฯ
เช้าวันแรกสมเด็จพระสังฆราชตื่นบรรทมแต่เช้า ทรงถือบาตรออกจากกุฏิมารอพระที่วัดทรายงามจะออกบิณฑบาตร และทุกๆ องค์ก็ออกบิณฑบาตรเป็นปรกติเดินตามกันเป็นแถว แล้วทุกองค์ก็หยุดเมื่อเห็นสมเด็จฯ ยืนอยู่ข้างหน้า แล้วสมเด็จฯ ก็เดินออกมาตรวจดูพระทุกๆ รูปที่กำลังสะพายบาตร เอาบาตรไว้ข้างหน้าคลุมผ้าอย่างมีปริมณฑล ข้าพเจ้ากำลังยืนอยู่ท้ายแถว สงสัยว่าสมเด็จฯ ท่านมายืนดูพวกเราทำไม ทันใดนั้นสมเด็จฯ ก็ทรงตรัสว่า "เออพวกเธอทำไมถึงไม่ได้จับบาตรเหมือนพระธรรมยุตทั่วไป แต่สะพายไว้ข้างหน้าเช่นนี้ ก็เหมือนกับอุ้ม เหมือนกันไม่ผิดแน่" ข้าพเจ้าสงสัยมากทำไมสมเด็จฯ ทรงตรัสเช่นนี้ แต่ทำเอาข้าพเจ้าดีใจมาก เพราะคำว่าไม่ผิดแน่ แต่ก็สงสัยอยู่ครามครัน
อีกสองสามวันผ่านไป วันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดและคอยถวายการรับใช้สมเด็จฯ ตามปกติ สมเด็จฯ ไม่ยอมให้พูดราชาศัพท์ข้าพเจ้ารู้จักราชาศัพท์ งู งู ปลา ปลา ท่านบอกว่า "เฮ้ยเณร หูกันดังอู้ยังกะรถไฟ" ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจมาถามพระอาจารย์ว่า สมเด็จฯ บอกว่า หูท่านดังอู้ยังกะรถไฟ พระอาจารย์บอกว่านั่นแหละ สมเด็จฯ ลมขึ้นคงจะลมขึ้นเพราะฉันหนเดียวเหมือนกับพวกเรา เนื่องจากท่านไม่เคย "เณรพรุ่งนี้นำอาหารเพลไปถวายท่านนะ" พระอาจารย์ของสามเณรวิกำชับ รุ่งขึ้นหลังจากทรงเสวยภัตตาหารเช้าแล้ว ข้าพเจ้าก็ให้โยมจัดภัตตาหารเพลนำเข้าไปถวายสมเด็จฯ ทรงเห็นพร้อมกับบอกว่าเอากลับไป อยู่ที่ไหนก็ต้องทำตามระเบียบเขาที่นั่นถึงจะถูก พร้อมกับบอกว่า "เฮ้ยท้องกันไม่ใช้ท้องอิฐนี่" แม้วันต่อมข้าพเจ้าก็ให้โยมทำภัตตาหารเพลไปถวายพระองค์ไม่ทรงฉันและสำทับว่าอย่าทำมาอีก
วันหลังต่อมา มีโยมอาราธนาไปฉันในบ้านกันหมดวัด สมเด็จฯก็ทรงรับอาราธนา เมื่อเขาจัดสำรับเสร็จโยมก็ถวายเป็นสังฆทาน พระอาจารย์กงมาฯ ลุกขึ้นขอโอกาสทำพิธีอุปโลกน์ สมเด็จฯ ก็ทรงอนุญาต หลังจากทรงเสวยเสร็จกลับวัดแล้ว ทรงปรารภว่า "กงมาทำถูก" อันที่จริงการถวายสังฆทานนั้น เขาอุทิศสงฆ์มิได้หมายความว่า พระสงฆ์ที่อยู่ต่อหน้าเขาเท่านั้น เขาหมายถึงหมู่สงฆ์มีอริยสงฆ์เป็นต้น การอุปโลกน์ก็ทำเพื่อขอจากหมู่สงฆ์นั้นเป็นพิธีโบราณกาล "กงมาทำถูก" พระองค์ทรงย้ำอีกครั้ง ส.ณ.วิ.ผู้นั่งฟังก็มีความมั่นใจและเข้าใจมากขึ้นถึงพิธีกรรมตอนนี้
หลังจากสมเด็จฯ ประทับอยู่ ๕ วัน พระอาจารย์กงมา ได้ขอโอกาสป่าวร้องชาวบ้านให้มาฟังธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ทรงให้โอกาสแล้ว พระอาจารย์ก็ได้ให้คนป่าวร้องประชาชนมาฟังเทศน์ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อชาวบ้านหนองบัวได้ฟังคำป่าวร้องเช่นนี้ก็เกิดความสนใจ เพราะมิเคยฟังเทศน์สมเด็จพระสังฆราชเลยตั้งแต่เกิดมา จึงพากันมาเต็มแน่นขนัดที่ศาลา ล้นหลามนั่งกับดินมากมายเป็นพิเศษ เมื่อประชาชนพร้อมแล้ว พระอาจารย์ฯ ก็ได้ไปทูลอาราธนาให้สมเด็จฯ ลงมาประทานธรรมเทศนา สมเด็จฯ อ้างว่าไม่สะบาย ให้"กงมา" เทศน์และห้ามองค์อื่นเทศน์โดยเด็ดขาด
พระอาจารย์ฯ สุดที่จะขัดรับสั่ง จำเป็นต้องกลับมาแสดงพระธรรมเทศนาแทนสมเด็จพระสังฆราช ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดมาก่อน สมเด็จฯ ทรงไล่ให้ ส.ณ.วิ. ผู้ปฏิบัติท่านอยู่และพระทุกๆ องค์ที่มากับท่านให้ไปฟังเทศน์ที่ศาลาให้หมด เหลือท่านไว้องค์เดียว ส.ณ.วิ. ก็สุดจะเป็นห่วงว่าท่านต้องประสงค์ประการใด ไม่มีใครคอยรับใช้ แต่ถูกบังคับ ส.ณ.วิ. ก็ต้องมานั่งฟังเทศน์ที่ศาลา วันนี้พระอาจารย์ฯ แสดงธรรมแจ่มแจ้งดีแท้ แปลหนังสือฉะฉาน มีความตอนหนึ่งว่า การปฏิบัติจิตนี้ถ้ายังหลงปริยัติอยู่จิตจะไม่เป็นสมาธิ เพราะปริยัติเหมือนตัวหนังสือ แต่สมาธิเหมือนของจริงท่านเปรียบว่า กวาง คือ ก-ว-า-ง กับตัวกวางจริงนั้นมันผิดกันไกลนัก เพราะกวางจริงมันมีเขา มีขา มีตัว ฉะนั้นถ้าจะมาหลงอยู่ที่ตัว ก-ว-า-ง อย่างเดียวก็รู้กวางตัวจริงไม่ได้ เช่นคนจะทำญาณให้เกิดขึ้น เขารู้ว่าปฐมฌาณมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัตคะตา ถ้าผู้บำเพ็ญสมาธิจะมานั่งท่องวิตก - นี่วิจารณ์ - นั่นปิติ - โน่นสุข - นี่เอกัคคะตา ถ้ามัวมานั่งนับอยู่อย่างนี้ตลอดชาติก็ไม่ได้ฌาณ แต่ผู้บำเพ็ญสมาธิจะต้องมาบริกรรมพุทโธๆ จนตัด ตัวอารมณ์ภายนอกได้แล้ว ไม่นึกคิดไปทางอื่นแน่วแน่อยู่ที่พุทโธอันเดียว เลิกคิดไปตามอารมณ์ภายนอกต่างๆ แล้วจิตนี้ก็จะเป็นฌาณ ที่ว่า ฌานมีองค์ ๕ ก็ต่อเมื่อจิตละจากปริยัติคือองค์ ๕ ของฌาณที่จำมาแล้ว ที่เป็นฌาณก็เพราะความเป็นหนึ่งของจิต
ส.ณ. วิ. ขณะนี้ฟังพระอาจาย์แสดงธรรม เกิดปวดท้องเบาอย่างแรงจนทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาเดินลงศาลาเพื่อเข้าป่า ( เพราะมีป่าละเมาะอยู่ข้างศาลา ) เพื่อหาที่เบา ข้าพเจ้าต้องตกใจสุดขีดเพราะพบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงประทับนั่งอยู่กับดินทราย ฟังเทศน์พระอาจารย์กงมาอย่างใจจดใจจ่อ ข้าพเจ้าร้อง " โอ๊ะๆๆ สมเด็จฯ" พระองค์ทรงห้ามข้าพเจ้าว่า "เณร จุ๊ จุ๊ จุ๊ อย่าเอะอะไป รีบกลับเร็ว" ข้าพเจ้าถ่ายเบาแล้วรีบขึ้นบนศาลาฟังเทศน์พระอาจารย์ต่อไป คราวนี้ใจไม่ดี เพราะทราบแล้วว่าพระอาจารย์ฯ กลังเทศน์ให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฟัง จะเป็นอย่างไรหนอ ขออย่าพูดเล่นอย่าผิด ขอให้ดีที่สุด ระวังมากๆ เถิด นี้เป็นความคิดของ ส.ณ. วิ.กำลังฟังเทศน์หลังพบสมเด็จฯ กำลังนั่งฟังอยู่ จิตใจไม่สบายเหมือนธรรมดาเสียแล้ว รุ่งเช้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าตื่นบรรทมแต่เช้า เสด็จมาที่ลานวัดพร้อมกับท่านมหาปลอด ป.๙ มีพระฐานันดรศักดิ์และพระอื่นยืนเรียงรายอยู่ ทรงรับสั่งขึ้นมาลอยๆ ท่ามกลางคณะสงฆ์ว่า "เฮ้ย กงมาเทศน์เก่งมาก เก่งกว่าเปรียญ ๙ ประโยคเสียอีก เทศน์อย่างนี้ เปรียญ ๙ ประโยคสู้ไม่ได้ " ส.ณ.วิ. ยืนฟังอยู่ก็พลอยดีใจไปด้วย ครั้งแรกนึกว่าพระอาจารย์คงโดนแล้ว เพราะพระอาจารย์เพิ่งทราบว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงฟังเทศน์ก็ต่อเมื่อข้าพเจ้าไปเล่าให้ฟัง พระอาจารย์ตลึงและบอกข้าพเจ้าว่า "เราแพ้รู้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสียแล้ว"
วันนี้พอดีเป็นวันอุโบสถ แม้พระฐานันดรศักดิ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะมาทูลอาราธนาให้พระองค์ไปลงอุโบสถที่วัดในเมือง พระองค์ก็ไม่ทรงเสด็จ และทรงรับสั่งว่าจะทำปาฏิโมกข์ที่นี้ รู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันครูบาสังข์สวดปาฏิโมกข์ ก่อนจะลงอุโบสถ สมเด็จฯ ทรงถามพระอาจารย์ว่า "กงมาเธอใช้สีมาอะไรกันลงอุโบสถ" พระอาจารย์ว่า "สัตตะพันตรสีมา" คือไกลจากเขตบ้าน ๔๙ วา ทรงให้พระวัดจากเขตบ้านถึงอุปจารอุโบสถเกินกว่า ๔๙ วา ทรงรับสั่งว่า "กงมานี้มีความรู้" ทรงอนุญาตให้พระสวดปาฏิโมกข์ต่อไป แต่ครูบาสังข์ไม่ซ้อมมาให้ดี สวดตะกุกตะกัก โดนสมเด็จพระสังฆราชดุเอาเลยหลงใหญ่ ใช้เวลากว่าชั่วโมงจึงจบ ภายหลังปราฏกว่าสมเด็จได้บอกไปยังพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ผู้รับเป็นหัวหน้าคณะกรรมฐานแทนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครั้งนั้นให้ซ้อมปาฏิโมกข์ พระอาจารย์สิงห์จึงตั้งกรรมการซ้อมปาฏิโมกข์กันเป็นการใหญ่ ปรากฏว่าพระอาจารย์มหาปิ่น ปํญญาพโล ซึ่งเป็นน้องชายท่านอาจารย์สิงห์ ออกจากวัดบวรนิเวศน์เป็นผู้ชำนาญทางสวดปาฏิโมกข์ พระอาจารย์สิงห์จึงตั้งให้สอนปาฏิโมกข์ฝึกปาฏิโมกข์ จนปรากฏว่ามีพระปาฏิโมกข์ดีเกิดขึ้นหลายองค์ แม้ ส.ณ.วิ.ก็ได้ไปฝึกปาฏิโมกข์กับพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล
สมเด็จกรมหลวงวิชิรญาสวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพำนักอยู่หลายวัน วันหนึ่งจึงชวนพระอาจารย์กงมาไปเที่ยวธุดงค์ บอกว่า "กงมา เธอเคยไปเที่ยวธุดงค์ที่ไหน พาเราไปหน่อยได้ไหม" พระอาจารย์กงมาสงสัย และเกิดความเคารพในสมเด็จฯ อย่างสูง คิดว่า "เอ อยู่ดีๆ ยังไงจึงจะให้เราพาไปธุดงค์ จะห้ามก็ไม่ดี ครั้นจะไปก็เป็นห่วงว่าจะต้องไปนอนกับดิน ใต้โคนไม้ อาหารรจะไม่ดี แต่ว่าเมื่อพระองค์จะหัดตัดกิเลสก็จำเป็น ไปก็ไป" พระอาจารย์จึงจัดกลดมุ้งบริขารของพระธุดงค์ถวายสมเด็จฯ และบอกให้ ส.ณ.วิ.ไปด้วยกัน วันนี้เป็นวันพิเศษแปลกประหลาด สมเด็จพระสังฆราชเจ้าไปธุดงค์กับพวกเรา พอจัดบริขารเสร็จแล้วสมเด็จฯ ก็แบกกลดตะพายบาตร ตะพายย่าม เช่นกับพระอาจารย์กงมาฯ และ ส.ณ.วิ. ส.ณ.วิ.จะไปขอแบกกลดแทนก็ไม่ให้ ขอตะพายบาตรให้ก็ไม่ให้ ขอตะพายย่ามให้ก็ไม่ให้ และทรงรับสั่งว่า "เฮ้ยวันนี้กันเป็นพระธุดงค์" ว่าแล้วก็ให้พระอาจารย์กงมาฯ เดินก่อน และสำทับพระอาจารย์กงมาว่า "นี่กงมาเธออย่าพูดว่ากันเป็นสมเด็จพระสังฆราชนะ ถ้าใครถามก็บอกว่ากันเป็นหลวงตาก็แล้วกัน แล้วหันมาที่ ส.ณ.วิ.บอกว่า "เณร - เณร อย่าเรียกกันว่าสมเด็จฯ เป็นอันขาด ให้เรียกกันว่าหลวงตา" เป็นว่าพระอาจารย์กงมาเดินก่อน สมเด็จฯ เดินตามพระอาจารย์กงมา ส.ณ.วิ.เดินตามหลัง มันเป็นบรรยากาศที่ไม่เคยมีมาในกาลก่อน และจะหาบรรยากาศแบบนี้อีกเห็นจะไม่มีอักแล้ว ส.ณ.วิ.เดินไปคิดว่า "โอ้โฮ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงถ่อมพระองค์ละหมดทุกอย่าง หวังเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสเดินธุดงค์กับพวกเรา"
พระอาจารย็ได้นำสมเด็จฯ เดินไปหลายกิโลเมตรตามทางที่เคยไปธุดงค์ ค่ำไหนนอกนั่น พระองค์กางกลดไม่เป็น ส.ณ.วิ.ไปกางถวาย ท่านทรงยืนดูข้าพเจ้าอย่างพินิจพิเคราะห์ ข้าพเจ้าเอาผ้าอาบน้ำฝนปูแทนเสื่อเอาตีนบาตรตั้งเอาผ้าทับถวายแทนหมอน ทรงบรรทมกับดินตามปกติ เมื่อญาติโยมทราบว่าพระอาจารย์ฯ ธุดงค์ เขาก็มาหาพระอาจารย์เป็นจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง พระอาจารย์ฯ ก็พาพวกเขาเหล่านั้นนั่งสมาธอกันทั้งนั้น และมาอย่างเคารพนบนอบ กลับอย่างมีระเบียบ ตอนเช้าพระอาจารย์ก็นำสมเด็จฯ บิณฑบาตรตามบ้าน ส.ณ.วิ.เดินตามหลังเช่นนี้ทุกวัน และทรงอดทนเป็นอย่างดีเยี่ยมมาก วันหนึ่งหลังจากเดินทางมาหลายกิโลเห็นจะทรงเหนื่อยพอสมควร หลังจาก ส.ณ.วิ.ได้กางกลดปูที่นอนถวายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประมาณเที่ยงคืนเศษๆ ฝนได้ตกลงมาเสียยกใหญ่ ส.ณ.วิ.รีบเข้าไปที่กลดของสมเด็จฯ และบอกว่าจะขอช่วนเก็บของ หรือช่วยบางอย่างเท่าที่จะช่วยได้แต่ถูกปฏิเสธ เพราะท่านต้องการจะช่วยพระองค์เอง ส.ณ.วิ.ก็จนใจและกลับมาที่กลดของตน
รุ่งเช้าสมเด็จฯ ทรงสั่น เพราะผ้าจีวรและข้าวของใช้เปียกหมด ส.ณ.วิ. รีบเข้าไปจัดการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าก่อไฟเพื่อถวายสมเด็จฯ ได้ผิงบิดผ้าจีวรขึงสายระเดียง นำผ้าที่เปียกออกผึ่ง สมเด็จฯ ผิดไปได้รับความอุ่นได้บอกขอบใจสมเณรวิริยังค์ ส.ณ.วิได้เห็นภาพของสมเด็จฯ กำลังนั่งผิงไฟซึ่งมีแต่สบงและอังสะชุ่มๆ รู้สึกสงสารอย่างจับใจ ส.ณ.วิ. พยายามตะช่วยเหลือพระองค์ทุกๆ อย่างเท่าที่จะทำได้ แต่สมเด็จฯกลับสดชื่นไม่แสดงถึงความหดหู่ใจแต่อย่างใด แสดงว่าพระองค์มีใจเข้มแข็งมากน่าอัศจรรย์แท้ สมเด็จฯ ทรงสุขสบายในกุฏิใหญ่โตที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร แต่ทรงมานั่งทุกข์ทรมานหนาวเหน็บผิงไฟไม่มีใครดูแล มีเพียงเราและพระอาจารย์ซึ่งเป็นการแปลกที่สุด ขณะนั้นพระอาจารย์กงมาได้เข้ามาดูแลสมเด็จฯ ด้วย สมเด็จฯ ชักสงสัยว่าเอพวกเธอไม่เห็นมีใครเปียกปอนจากฝนตก มีอะไรป้องกันหรือทั้งๆ ที่กลดก็มีเหมือนกัน แต่กันฝนไม่ได้
สมเด็จฯ จึงรับสั่งถามพระอาจารย์กงมาว่า "กงมาทำไมเธอจึงไม่เปียก" "กระผมมีคาถากันฝนครับ" พระอาจารย์กงมาตอบ "เอ กงมามีคาถากันฝน" สมเด็จทวนคำ เมื่อธุดงค์ได้พอสมควรแล้ว พระอาจารย์ก็ได้นำสมเด็จฯ กลัววัดทรายงาม ส.ณ.วิ.กลัวว่าสมเด็จฯ จะป่วนเพราะอายุมากแล้ว แต่พอกลับถึงวัดทรายงามพระองค์กลับกระปรี้กระเปล่าสบายและสดชื่น เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ แต่สมเด็จฯ ยังไม่หายสงสัยว่าทำไมพวกเรามีคาถากันฝนได้ แต่ไม่ยักบอกพระองค์ท่านปล่อยให้พระองค์ท่านเปียก วันหนึ่งขณะที่ ส.ณ.วิ.เข้าไปกราบ สมเด็จฯ จึงเรียก ส.ณ.วิ. ว่า "วิริยังค์มานั่งที่นี่" ส.ณ.วิ.รีบเข้าไปกราบ สมเด็จฯ ได้รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า "วิริยังค์ เธอจงบอกคาถากันฝนให้เราทีได้ไหม" ข้าพเจ้าตอบว่า "กระหม่อมบอกถวายไม่ได้ครับ" "ทำไมล่ะเณร" สมเด็จถาม ส.ณ.วิ. กราบทูลว่า พระอาจารย์ห้ามไม่ให้บอก "เออน่า จงบอกคาถานั้นแก่เราเดี๋ยวนี้" สมเด็จฯ รับสั่งเชิงบังคับ ส.ณ.วิ. จึงบอกความจริงแก่สมเด็จฯ ว่า "บาตรคือคาถากันฝน" "เฮ้ย บาตรเป็นคาถากันฝนได้ยังไง" สมเด็จฯ ทวนคำ "ได้ครับ" ส.ณ.วิ.กราบทูลและอธิบายว่า "เมื่อฝนตกก็เอาผ้าจีวรสบงผ้าที่ต้องการใช้ใส่ลงในบาตร แล้วเอาฝาบาตรปิด ฝนก็ตกเข้าไปในบาตรไม่ได้ เวลาฝนหยุดก็เอาออกมาใช้ ผ้าไม่เปียกนี่ครับคาถากันฝนครับ " สมเด็จฯ ทรงอุทานว่า "อ้อๆๆ บ๊ะแล้วกัน เราเพิ่งจะได้คาถากันฝนกับเณรเดี๋ยวนี้เอง กงมาช่างไม่บอกกันได้" แล้วก็ทรงพระสรวลเสียนาน
ประมาณการมาพักอยู่ที่วัดทรายงามกว่า ๑๕ วัน เมื่อมาทราบภายกลังว่า สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเสด็จมาเพื่อสอบสวนหาความจริงจากพฤติการณ์ของ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์ในคณะกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นการสอบสวนที่พระองค์ต้องลงทุนด้วยกำลังความสามารถ และมีพระประสงค์ทราบข้อเท็จจริง ไม่เฉพาะแต่บุคคลมาทูลฟ้องแล้วเชื่อไปเลย ซึ่งจะทำให้เสียประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในวิธีการปกครอง แต่พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นนอกจากจะรู้ความจริงแล้ว ยังมีผลต่อการปกครอง แต่พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นนอกจากจะรู้ความจริงแล้ว ยังมีผลต่อการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เป็นการดำเนินการถูกต้องที่สุด ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นนอกจากจะรู้ความจริงแล้ว ยังมีผลต่อการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เป็นการดำเนินการถูกต้องที่สุด
ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง เช่น พระอาจารย์กงมาและข้าพเจ้า เมื่อทราบข้อเท็จจริงภายหลังก็มีความรักและเคารพพระองค์สูงขึ้นทุ่มเทกำลังกายกำลังใจช่วยงานพระพุทธศาสนาเท่าที่พระองค์จะสั่งการมา การกระทำของสมเด็จฯ ครั้งนี้ได้ผลระยะยาวจริงๆ ทุกปีข้าพเจ้าจะเห็นพระอาจารย์นำผลไม้เมืองจันทบุรีไปถวายที่กรุงเทพฯ ซึ่งการกระทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจากพระเลขาบ้าง พระผู้อยู่ใกล้ชิดบ้าง พระผู้ประจบสอพลอบ้าง รู้มางูๆ ปลาๆ ก็เพ็ดทูลบอกกล่าวฟ้องไป จึงเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ผู้ใหญ่ผู้ปกครองก็ได้รับการดูถูกดูแคลน ผู้อยู่ใต้ปกครองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งๆ ที่ช่วยอย่างสูงสุด กลับไม่ได้รับการดูแล ก็ไม่รักเคารพพระผู้ใหญ่ เพราะปกครองไม่ดี เอาแต่ถือตัวว่าใหญ่ แล้วก็มองผู้น้อยไปในทางต่ำเกินไป เสียการปกครองหมด เสียบุคคลากรที่มีความสามารถช่วยงานพระศาสนา เพราะเหตุแห่งความไม่รอบคอบ หากว่าพระเถระ มหาเถระทั้งหลายจะพึงดำเนินงานตามแนวของสมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ทรงสอบสวนพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ดังที่ข้าพเจ้าได้บันทึกเล่ามานี้ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะสูงขึ้นและสูงขึ้น เพราะความที่ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง เข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วยประการฉะนี้
เป็นอันว่าทุกๆ ข้อที่มีพวกฆราวาสและพระฐานันดรศักดิ์น่าเชื่อถือได้ทั้งนั้น มาเพ็ดทูลฟ้องต่อพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงแสวงหาความจริงด้วยการเสียสละอย่างสูง ได้พบความจริงที่แน่แท้ด้วยความพยายามอย่างลึงซึ้งด้วยพระองค์เอง โดยการเข้าสัมผัสกับข้อเท็จจริงทุกๆ ข้อ แม้จะมีผู้มาเพ็ดทูลอย่างไรก็ไม่มีทางเชื่อต่อไปอีกแล้ว ได้ผลการปกครองและแก่พระพุทธศาสนาระยะยาวอย่างแท้จริง พระอาจารย์กงมาฯ ได้สั่งกับข้าพเจ้าว่าเธอจงรักและเคารพสมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชอย่างมากและอย่างสูงสุด คำสั่งนี้แม้พระอาจารย์ของข้าพเจ้าจะมิได้สั่งข้าพเจ้าเองก็จารึกอยู่ในความทรงจำ สามารถที่จะสละชีวิตถวายพระองค์ท่านด้วยความเต็มใจ เพียงแต่กระซิบเท่านั้น จะให้ข้าพเจ้าทำอะไรที่พระองค์ท่านประสงค์ ข้าพเจ้าจะพลีชีพถวายท่านอย่างไม่มีความขัดข้องเลย ส่วนพระเถระที่แสดงอำนาจบาทใหญ่แก่ข้าพเจ้านั้น อย่าว่าแต่จะสั่งงานให้ข้าพเจ้าทำและก็ไม่อยากจะทำแล้วยังกราบไม่ลงอีกด้วย ด้วยเหตุอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขออำนาจแห่งสัจจธรรม จงดลบันดาลให้ท่านพระเถระในวงการพระพุทธศาสนาบังเกิดพระมหาเถระผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมเช่นกันด้วยกับสมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามากๆ องค์ทุกยุคทุกสมัยด้วยเถิด
จากหนังสือ " ชีวิตคือการต่อสู้ : ประวัติและผลงาน พระราชธรรมเจติยาจารย์ ( หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร )"
โดย พระมหาสุพล ขันติพโล และคณะ
-http://www.luangpumun.org/vacila2.html
-http://board.palungjit.com/f179/พระวังหน้า-ที่หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรเสก.. / 1558