ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2012, 03:40:36 pm »มีเป็นทุกข์ ไม่มีเป็นสุข
สูตรชะลอความแก่ของพระพุทธเจ้า
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
หนึ่งในจำนวนพุทธกิจ ๕ ข้อที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติเป็นประจำตลอดพระชนมชีพคือ ตอบปัญหาเทวดาในยามเที่ยงคืน เทวดาที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาล้วนเป็นเทวดาดี เป็นนักคิดใฝ่แสวงความรู้กันทั้งนั้น บางองค์คิดอะไรได้ดีๆ ก็เข้าเฝ้าเพียงเพื่อกล่าวแนวคิดของตนให้พระพุทธองค์ฟังโดยมิได้ถามปัญหาก็มีถ้ากล่าวได้ดีเป็นหลักฐาน พระพุทธองค์ก็ตรัสรับรอง ถ้ายังบกพร่องไม่สมบูรณ์พระองค์ก็ทรงเสริมให้
ส่วนที่เป็นคำโต้ตอบหรือแก้ปัญหาให้เทวดาของพระพุทธองค์นี้ ภายหลังจากพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระธรรมสังคาหกาจารย์ (อาจารย์ผู้รวบรวมคำสอน) ได้นำมารวมไว้ในพระสุตตันปิฎก (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕) เรียกว่าเทวตาสังยุต และเทวปุตตสังยุต
คำกล่าวของเทวดาที่พระพุทธองค์รับรองถือว่าเป็นสุภาษิต คือกล่าวดีกล่าวชอบเทียบเท่าพุทธวจนะทีเดียว เพราะเหตุนี้จึงได้รับเกียรติบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกด้วย ในที่นี้จะยกมาให้ดูสักบทดังนี้
อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย
วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน
ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ
กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีผ่านไป
ชั้นแห่งวัยย่อมละไปตามลำดับ
เมื่อมองเห็นภัยความตายใกล้เข้ามา
คนเราควรทำบุญอันจะนำความสุขมาให้
บางครั้งเทวดากล่าวเข้าที แต่ยังไม่สมบูรณ์ พระองค์ก็ตรัสแก้ไขให้ เช่น
(เทวดา) นนฺทติ ปุตฺเตหิ ปุตฺติมา
โคมิโก โคหิ ตเถว นนฺทติ
อุปธีหิ นรสฺส นนฺทนา
น หิ โส นนฺทติ โย นิรูปธี
คนมีบุตรเพลิดเพลินเพราะบุตร
คนมีโคเพลิดเพลินเพราะโค
เมื่อมีทรัพย์ก็มีความเพลิดเพลิน
หมดทรัพย์สมบัติก็หมดความเพลิดเพลิน
(พระพุทธเจ้า) โสจติ ปุตฺเตหิ ปุตฺติมา
โคมิโก หิ ตเถว โสจติ
อุปธีหิ นรสฺส โสจนา
น หิ โส โสจติ โย นิรูปธี
คนมีบุตรเศร้าโศกเพราะบุตร
คนมีโคเศร้าโศกเพราะโค
เมื่อมีทรัพย์สมบัติก็มีความเศร้าโศก
หมดทรัพย์สมบัติก็หมดความเศร้าโศก
จะเห็นได้ว่าคำกล่าวของเทวดาก็ถูกเหมือนกัน แต่ถูกอย่างโลกๆ มองในสายตาของคนที่ยังยึดมั่นถือมั่น นึกว่ามีลูกมีทรัพย์สมบัติก็มีความสุข แต่ในสายตาแห่งพระอริยะแล้ว ความสุขเช่นนั้นเป็นความสุขจอมปลอมเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ ความสุขที่แท้คือการสละสิ่งเหล่านั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น พูดง่ายๆ ปุถุชนถือว่า มีเป็นสุข ไม่มีเป็นทุกข์ อริยะถือว่า มีเป็นทุกข์ ไม่มีเป็นสุข มองกันคนละมุม
-http://www.watpaknam.org/knowledge