ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 04:47:25 pm »



               

กลุ่มเป้าหมายที่ควรเรียนรู้เรื่องนี้เป็นใครครับ?
คนทั่วไปที่สุขภาพยังดีอยู่ก็มีประโยชน์ แต่คนที่สนใจส่วนใหญ่เผชิญอยู่กับปัญหานี้โดยตรง หมอ พยาบาล ญาติผู้ป่วย ซึ่งแทบทุกข์คนล้วนมีญาติป่วยอยู่ทั้งนั้น เราทำความเข้าใจเรื่องความตาย ว่าคนมองเรื่องความตายอย่างไร และเราควรมองความตายอย่างไร มีการพูดถึงเรื่องมรณานุสติ พูดถึงเรื่องการเตรียมตัวตาย การจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ความเข้าใจเรื่องภาวะใกล้ตาย เราจะช่วยเขาอย่างไร และถ้าเกิดกับตัวเราจะทำอย่างไร มีหลายระดับ ตั้งแต่การทำความเข้าใจ การเผชิญกับความตาย และใช้ความตายเป็นเครื่องมือเตือนใจในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ด้วยการทำมรณานุสติ

ขอให้พระอาจารย์ช่วยอธิบายเรื่องวัวหลุดจากคอก ในเรื่องจิตสุดท้าย อีกครั้งครับ
ในพุทธศาสนาอธิบายว่ากรรมจวนเจียนใกล้ตายจะส่งผลก่อนว่าจะไปอยู่ภพภูมิไหน พระพุทธเจ้าเปรียบว่าเหมือนวัวที่อยู่ใกล้ประตูคอก เมื่อเปิดประตูคอกออกมา ตัวที่อยู่ใกล้ประตูคอกจะออกมาก่อน จิตสุดท้ายคือจิตที่ใกล้ ความรู้สึกนึกคิดสุดท้ายก่อนจะตายนี้จะส่งผลก่อนว่าจะไปสู่ทุคติ หรือสุคติ ในทางพุทธศาสนาถือว่าพอใกล้ตาย การเอาเครื่องมือมาปั๊ม มาสอด เอาสายมาต่อระโยงระยาง ต้องเลิก นั่นไม่ใช่โอกาส เรื่องกายต้องวางไว้ ต้องให้ใจอยู่ในความสงบ ไม่ต้องยุ่งกับร่างกาย

ยกตัวอย่างคนหนึ่งเป็นคนดีมาตลอด ส่วนอีกคนเป็นคนชั่ว แต่มากำหนดจิตสุดท้ายในด้านตรงข้าม ผลจะเป็นอย่างไรครับ?
คนที่ทำดีมาตลอด จิตสุดท้ายเกิดความห่วงกังวลเป็นอกุศล ก็ไปสู่ทุคติได้ แต่ว่าอยู่นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกรรมดีที่เขาทำไว้ พอจิตอกุศลก่อนตายมันหมดพลัง ความดีที่ได้ทำไว้ตอนมีชีวิตอยู่ก็จะฉุดเขาขึ้นมา สมัยพุทธกาลก็มีพระที่ได้จีวรมาก็ยินดีในจีวร ปลื้มปิติแต่ไม่ทันได้ใช้ก็ตาย แต่ตอนใกล้ตายก็ห่วงถึงจีวร ในคัมภีร์กล่าวว่าตายแล้วเป็นเล็นอยู่ในจีวรนั้น อยู่ 7 วัน พอตายก็ไปสวรรค์ เพราะทำความดีมาก่อน คนทำชั่วก็เช่นกัน ให้จิตนึกไปในทางที่ดี ในความเป็นจริงทำได้ยาก แต่อาจเป็นไปได้เพราะมีสิ่งแวดล้อมช่วย ก็ได้ไปสู่สุคติ แต่ถ้าเกิดว่า กรรมดีนั้นหมดพลัง กรรมชั่วที่ทำไว้ก็ฉุดลงสู่ทุคติได้ สรุปคือสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตมีผลที่สุด ส่วนอีกด้านหนึ่งที่ผมสงสัยคือ

สิ่งที่เขาทำเป็นความชั่วแต่เข้าใจว่าเป็นสิ่งดี อย่างการสร้างเขื่อนตายไปเขารับกรรมดีหรือชั่ว?
อันนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นหลัก เขาอาจเจตนาดี เพื่อความเจริญของบ้านเมือง แต่ไม่ได้รับรู้ว่าก่อผลกระทบอะไรบ้าง ก็อาจจะไม่ส่งผลเท่าไหร่ แต่ถ้าเขารับรู้แล้วเขายังยืนกรานทำต่อไป อันนั้นจะเป็นอกุศลกรรมขึ้นมา แต่ที่จริงมันซับซ้อนกว่านั้น อย่างเมื่อคนมีทุกข์จากการสร้างเขื่อน เขาอาจมีการประท้วง ต่อต้าน ก็อาจเกิดเป็นกฎแห่งกรรมที่อาจส่งผลกับเขาได้ ถ้าเขารู้ตัว เขาเปลี่ยนแปลงก็อาจสามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ แต่ถ้าเขาไม่ตระหนักไม่สนใจ ก็ทำให้จิตใจเขาแย่ลงไปได้

กรรมจากเจตนาและไม่เจตนาต่างกันด้วย?
อยู่ที่เจตนาเป็นหลัก ถ้าไปเหยียบมดโดยไม่เจตนาก็ไม่ใช่กรรมชั่ว
จากที่พระอาจารย์พูดมาเป็นเรื่องเชื่อได้ยากเพราะมองไม่เห็น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้มีจริง?
พระพุทธเจ้าให้ข้อคิดว่า เรื่องที่เป็นชาติหน้าอาจพิสูจน์ยาก ก็ให้ดูว่ามันมีประโยชน์ในชาติปัจจุบันหรือเปล่า เราก็พบว่าคนที่จิตเขาสงบ เขาก็ตายอย่างไม่ทุรนทุราย ไม่กระสับกระส่าย เขาขึ้นสวรรค์หรือไม่ เราไม่รู้ แต่เราพบว่าเขาไปอย่างสงบ ซึ่งดีกับตัวเขาเอง และดีต่อญาติมิตร สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตา ประจักษ์ได้นี่มันพิสูจน์ได้ เมื่อน้อมจิตเข้าไปในทางที่เป็นกุศล ก็ตายสงบ ที่เราเรียกว่าตายดี

ที่ว่าการบรรลุธรรมในภาวะสุดท้าย เป็นอย่างไรครับ?
การบรรลุธรรม คือการที่ได้เห็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน การได้เห็นว่าสังขารนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แต่ก่อนเคยยึดถือว่าต้องเที่ยง พอไปยึดถือเช่นนี้เราเลยทุกข์ทรมาน เมื่อเจ็บเมื่อป่วย และเมื่อใกล้ตาย ยิ่งยึดเท่าไร ก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งปวด ยิ่งทุกข์ ตรงนี้ธรรมชาติจะสอน สภาวะยามใกล้ตายจะแสดงตัวชัด ธรรมชาติกำลังตะโกนใส่หน้าเราว่า สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงโว้ย สังขารเป็นทุกข์โว้ย ถ้าเป็นคนที่มีสติ ก็จะได้คิด แล้วก็ปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางจิตก็หลุดพ้น บรรลุธรรมคือจิตหลุดพ้น เพราะเกิดปัญญา เห็นความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของสังขาร ในภาวะที่เจ็บป่วย มันสอนใจได้ดี ตอนมีสุขเกิดความหลงได้ง่าย
คนที่ประสบความสำเร็จยิ่งมีความมั่นใจว่าทุกอย่างอยู่ในอำนาจ อยู่ในกำมือของเรา สามารถบันดาลให้ไปตามใจฉันได้ อยากรวยก็ได้รวย อยากชนะก็ชนะ แต่เมื่อใกล้ตายนี่เห็นชัดเลยว่า สังขารนอกจากไม่เที่ยงเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่อยู่ในกำมือและการควบคุมของเรา เราอยากให้หายก็ไม่หาย ไม่อยากให้ปวดก็ปวด ตรงนี้แหละธรรมชาติกำลังแสดงธรรมใส่หน้าเราว่า มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันไม่เที่ยง ทำให้เกิดปัญญาถ้ามีสติ แต่ถ้ายังดื้อรั้นก็ยิ่งปวดยิ่งทุกข์

ความตายเหมือนก้อนหิน ถ้าแบกก็หนัก แต่ก้อนหินใหญ่แค่ไหนก็ตามถ้าไม่ไปแบกมันก็ไม่หนัก ความตายก็เหมือนกัน มันยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าไม่แบกมันก็ไม่หนัก แต่ที่เป็นทุกข์ก็เพราะไปแบก สังขารมันทุกข์เพราะเราแบก ปล่อยวางเสียมันก็เบา บรรลุธรรมก็ตรงนี้

อาจารย์พุทธทาสท่านก็บอก ความเจ็บป่วยนี่เหมือนอาจารย์สอนธรรมเรา ทำให้เกิดปัญญา ให้เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงในชีวิตได้

บางคนอยากให้หลับไปเลย อย่างนั้นเป็นการตายดีหรือเปล่า?
ไม่มีความแน่ใจว่า การหลับตายไปเลยนั้นจะเป็นการตายดีหรือเปล่า ก่อนตายอาจฝันร้าย น่ากลัว จนขาดใจตายไปเลย หรืออาจไม่ได้นึกคิดอะไรแต่เกิดอาการหัวใจวาย ซึ่งตอนนั้นอาจทำให้จิตทุรนทุราย และไปทุคติได้

คนที่ตายด้วยเจตนาดี อย่างพวกพลีชีพจะไปดีไหม?
ถ้าเป็นการทำร้ายคนอื่น จิตจะเจือไปด้วยความพยาบาท ความโกรธ ความเกลียด ความต้องการที่จะทำให้ชีวิตอื่นพินาศไป จิตแบบนี้เป็นจิตอกุศล ซึ่งถ้าตายไปด้วยจิตแบบนี้ ในทางพุทธศาสนาไม่ถือเป็นการตายดี แต่ในกรณีเช่น ผู้หญิงไปช่วยเด็กแล้วถูกรถชน ถ้าจิตสุดท้ายไม่ได้กลัว ไม่ได้ตื่นตระหนก ก็เป็นตายดีได้ หรือคนที่เขาไปช่วยอยู่กลางการปะทะ ไม่ให้มีการทำร้ายกัน เคยมีคนไปขวางรถถัง เป็นกำแพงมนุษย์ เขาทำด้วยจิตที่ไม่มีโกรธ ไม่ตื่นตระหนก ไม่ความกลัว การตายนั้นน่าจะเป็นการตายดีได้ ตายด้วยจิตที่ปรารถนาจะช่วยเพื่อนมนุษย์ ส่วนการฆ่าตัวตาย เจือไปด้วยจิตที่น้อยเนื้อต่ำใจ จิตที่เกลียดตัวเอง กระทำบางสิ่งเพื่อความสะใจ เช่นน้อยใจพ่อแม่ก็ฆ่าตัวตายเพื่อสะใจที่ทำให้เขาเป็นทุกข์ แบบนี้ไม่เป็นการตายดี

ในสมัยพุทธกาลมีภิกษุภิกษุณีฆ่าตัวตายเหมือนกัน ด้วยความผิดหวัง แต่ในช่วงขณะจิตสุดท้ายเขามีสติรับรู้ ความเจ็บปวดรบกวน ก็เห็นว่าสังขารไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือ ก็เกิดปัญญาขึ้น ปล่อยวางความยึดถือในสังขาร จิตก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่บรรลุธรรมเพราะฆ่าตัวตาย แต่เพราะเกิดปัญญาจากการได้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นมเหสีสมัยพุทธกาล ถูกหลอกให้ไปติดอยู่ในปราสาท แล้วครอกไฟเผา ขณะที่กำลังเจ็บปวด นางบอกให้ทุกคนเอาเวทนาเป็นอารมณ์ เอาสติตั้งมั่น ก็บรรลุธรรมตอนนั้นเอง นี่ก็เป็นการตายดี แม้จะเจ็บปวด ศพไม่สวย ตายดีหรือไม่จึงอยู่ที่สภาวะจิต โดยเฉพาะจิตสุดท้าย ว่าจะตั้งมั่นอยู่ในกุศลหรือไม่

สิ่งที่คนเห็นก่อนตาย เกิดจริงหรือจิตปรุงแต่ง?
ถ้าตอบอย่างอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ ก็ว่าไอ้ที่เห็นน่ะจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง หมายความว่าจิตมันปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปรุงแต่งของจิต หรือไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่ง แต่มีรากเหง้าที่มาอยู่ในจิต ไม่ใช่เพราะมีสิ่งข้างนอกเข้ามา กรรมนิมิตที่เกิดมาจากการกระทำในอดีตนี่ มันก็คือสิ่งที่เราสับสนในใจอยู่แล้ว เหตุการณ์ที่ประสบอยู่ทุกวินาทีตั้งแต่เกิดจนตาย มันไม่ได้สูญสลายไปไหน มันถูกเก็บอยู่ในจิตส่วนลึกของเรา สิ่งเหล่านี้บางทีเราก็ดึงออกมาใช้ได้ บางทีก็เอาออกมาไม่ได้ แต่ตอนใกล้ตาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ติดอยู่ในส่วนลึก พรั่งพรูออกมาอย่างรวดเร็ว ที่คนใกล้ตายเห็นนั้นเห็นจริง เราเห็นเหตุการณ์ในอดีต แต่ไม่ใช่เรากลับไปสู่อดีต เป็นเพียงภาพอดีตที่ปรากฏขึ้น

เรื่องยมทูตเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะคนที่จวนตายแล้วฟื้นขึ้นมาได้ เขาก็บอกว่าเขาได้เห็นคนที่ตายไปแล้วมารับเขา เราก็อาจจะบอกได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากจิตที่เข้าไปรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะมีวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมารับเขาจริง ๆ นี่ก็อาจจะเป็นไปได้เหมือนกัน หรือจิตเขาอาจกำลังเคลื่อนเข้าสู่อีกภพหนึ่งที่ซ้อนอยู่กับภพมนุษย์ คือมันซ้อนกันอยู่ คนที่ใกล้ตาย จิตเขาสามารถที่จะเห็นทะลุไปถึงภพของคนตายได้ ซึ่งอาจซ้อนอยู่ทุกขณะอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น เช่นเดียวกับที่มองไม่เห็นแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ทั้งที่มันมีอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเสียงที่เราไม่ได้ยิน เพราะหูและตาเรารับได้จำกัด ไม่ใช่มันไม่มี แต่เรามองไม่เห็นเอง อาจเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับ

อยากให้พระอาจารย์แจงแจงคำว่าการทำดี?
ก็เช่นว่า แม่ที่เลี้ยงลูกมาจนโต เสียสละเพื่อลูก ทำให้ลูกพึ่งพาตัวเองได้ มีความเจริญก้าวหน้า นี่เป็นความดีที่น่าระลึกถึง หรือความดีของลูกที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ได้ช่วยดูแล หรือความดีในการเอื้อเฟื้อต่อเพื่อน ให้อภัยเพื่อน เสียสละเงินทองความสุขส่วนตัวเพื่อเพื่อน หรือความดีที่ทำกับศาสนา ทำบุญ สร้างศาลา กุฏิ หรือการประพฤติปฏิบัติธรรม การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ พาคนตาบอดข้ามถนน ช่วยเหลือสัตว์ มด ที่เดือดร้อน ทั้งหมดนี้คือความดีที่เราสามารถระลึกถึง หรือช่วยให้คนไข้ที่ใกล้ตายระลึกถึงความดีเหล่านี้ ทำให้เกิดความภูมิใจ แม้แต่โจรก็ต้องมีความดี ความดีที่เสียสละเพื่อเพื่อน การเป็นลูกที่ดี หรือพ่อแม่ที่ดี

ที่หวังว่าโครงการจะทำให้สังคม เปลี่ยนการดำเนินชีวิต เปลี่ยนไปเป็นอย่างไรครับ?
ประเด็นนี้พูดยาวนะ คือถ้าคนในสังคมเปลี่ยนทัศนะคติเกี่ยวกับความตาย จากการปฏิเสธหรือการไม่ยอมพูดถึงความตาย... ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยเอาแต่เสพสุข เอาเงิน เอาความสำเร็จเป็นเป้าหมาย โดยหลงลืมความตาย อยู่แบบลืมความตาย เอาแต่เสพสุข หรือบางคนนึก แต่คิดว่าไหน ๆ ก็จะตายขอเสพสุขให้เต็มที่ โดยไม่ได้คิดว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต ความจริงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ถ้าคนเรานึกถึงความตาย เขาจะไม่มุ่งหาเงินทองอย่างเดียว แต่จะมุ่งสร้างความดี ทำชีวิตให้มีคุณค่า มีความอ่อนโยนต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าญาติมิตร ครอบครัว ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีหลายคนที่บอกว่า ชีวิตนี้ตั้งใจทำงานหาเงินให้เต็มที่ เมื่อมีเงินจะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว พิธีกรรายการหนึ่งก็เคยพูดอย่างนี้ เสร็จแล้วเมื่อเขาทำงานมา 10 กว่าปี ก็พบว่าเขาเป็นมะเร็ง จากที่ตั้งใจว่าจะทำงาน 20 ปี แล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว แล้วก็ทำไม่ได้ เพราะเขาทำงานหนักจนร่างกายรับไม่ไหว ตอนนั้นเขาก็มานึกเสียดายว่าชีวิตที่ผ่าน เขาไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวเลย เพราะคิดแต่ว่าครอบครัวไว้ทีหลัง ทำงานก่อน

ความตายจะมาเมื่อไรก็ไม่รู้ เราไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ มันจะมาเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราระลึกได้ว่า มันจะต้องเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าระลึกถึงตรงนี้เขาจะใช้เวลาที่มีอย่างมีความหมายมากที่สุด อีกทั้งการใช้เวลาเพื่อการหาเงินเป็นความผิดพลาดเพราะฉะนั้นถ้าเราระลึกว่าเราต้องการตายดีก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำความดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและตัวเอง และเมื่อเราไม่แน่ใจว่าจะตายเมื่อไหร่ เวลาแต่ละนาทีเราจะใช้ไปอย่างมีประโยชน์มากที่สุด การเที่ยว การสนุกสนานอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ครอบครัว การทำความดี การฝึกจิตฝึกใจจะกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา

ส่วนใหญ่บอกว่าครอบครัวเอาไว้ก่อน ปฏิบัติธรรมเอาไว้ก่อน ไว้ให้แก่จึงมีเวลา แต่ถึงเวลาหลายคนไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะลืมไปว่าความตายมาเมื่อไรก็ได้ ความตายไม่แน่นอนสำหรับเรา และไม่แน่นอนสำหรับคนอื่นอื่น เขาจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าชีวิตของคนที่เรารัก ของคนที่เราเคารพก็ไม่แน่ไม่นอนเหมือนกัน การพบกันครั้งนี้อาจเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายก็ได้ อาจไม่ได้พบกันอีก ถ้าเราระลึกได้เช่นนี้ เราก็จะปฏิบัติต่อเขาอย่างอ่อนโยน การที่ด่ากัน ทะเลาะกัน แล้วคิดว่าไว้วันหลังค่อยคืนดีกัน มันอาจสายไปแล้วก็ได้ เขาอาจไปก่อนจะได้คืนดีกัน แต่ถ้าเราตระหนักว่าเขาจะไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เราก็จะเร่งที่จะคืนดี หรือไม่อยากทะเลาะกันเลยก็เป็นได้ เพราะรู้ว่าไม่นานเราก็จะตายจากกัน เราจะอ่อนโยนในการสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น

ในอีกแง่หนึ่ง ชีวิตเราจะปล่อยวางได้มากขึ้น เวลาของหาย งานการไม่ประสบความสำเร็จ คนส่วนใหญ่กลุ้มใจ แต่พอเราระลึกถึงความตายจะรู้ว่า ไอ้เรื่องปัญหาเหล่านี้จิ๊บจ๊อยมากก็จะปล่อยวางมันได้ ถ้าเรามีความเข้าใจดีว่าความตายจะเกิดขึ้นกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะระมัดระวังในการดำเนินชีวิตมากขึ้น และขณะเดียวกัน เมื่อเราตระหนักว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเสมอไป ความตายอาจเป็นโอกาสแห่งการยกระดับจิตใจเราจะไม่กลัวความตาย กล้าเผชิญความตายมากขึ้น ผ่านพ้นความตายไปได้ด้วยใจสงบ

ทุกวันนี้เราคิดว่าเราเป็นอมตะ เราก็เลยพยายามสร้างและสะสมอะไรมากมาย เหมือนกับว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า สะสมเงินทองราวกับว่าจะได้ใช้ชั่วฟ้าดินสลาย เราจึงไม่เคยพอ แต่ถ้าเราคิดได้ว่าอายุคนเราอาจราวเพียง 100 ปี ก็จะตระหนักว่าการหาเงินมาเป็นร้อยล้านพันล้านก็เป็นความโง่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหากคิดว่าจะหาเงินเหล่านั้นมาเพื่อเสพสุข เพราะไม่มีทางจะได้ใช้หมด สุดท้ายก็เป็นของคนอื่นไป

สังคมและอารยธรรมจะเปลี่ยนไปถ้าเราตระหนักถึงความตาย อารยธรรมของทุกสังคมถูกกำหนดด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย เช่น อียิปต์ เขาคิดว่าจะฟื้นขึ้นใหม่ เขาเลยสร้างปิรามิด เอาศพไปฝังไว้ เพราะคิดว่าสักวันหนึ่งจะได้ฟื้นขึ้นมา เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สร้างศาสนสถานใหญ่โต ด้วยความหวังว่าเราจะฟื้นคืนมาได้ สังคมบริโภคนิยมก็เหมือนกัน เป็นสังคมซึ่งคิดว่าตัวเองจะไม่ตายหรือว่าอยู่แบบลืมตาย ก็เลยสะสมสิ่งต่าง ๆ มากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้

พระอาจารย์พูดเมื่อครู่นี้ว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต เป็นอย่างนั้นจริงหรือครับ?
ในแง่ของชาวพุทธ ไม่มีอะไรเลยที่จบ น้ำ เมื่อระเหย ไม่ไปไหน เป็นไอ ไอน้ำก็ไม่ไปไหน กลายเป็นเมฆแล้วกลายเป็นฝน เมื่อสัตว์หรือพืชตายก็ไม่จบ ซากเป็นขยะ จากขยะเป็นปุ๋ย จากนั้นก็เป็นต้นไม้ เป็นผัก จากนั้นก็เป็นสัตว์อีกครั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีการจบสิ้น ความตายไม่เคยเป็นการสิ้นสุดของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยในธรรมชาติ และความตายก็เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่ง เพราะฉะนั้นในธรรมชาติไม่มีอะไรสูญสลายไปอย่างสิ้นเชิง มีแต่แปรสภาพหรือเปลี่ยนไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือนำไปสู่การเริ่มต้นอีกสิ่งหนึ่ง กายและใจของเราก็ตามก็จะยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดความสืบเนื่องต่อไป

ในพุทธศาสนากายและใจของคนก็เหมือนกับเทียน ถ้ายังมีเชื้ออยู่ มีไส้อยู่ ไฟก็ต้องมี ถึงไฟจะดับไป ตะเกียงนั้นก็สามารถจะเกิดเปลวไฟเปลวใหม่ขึ้นมา มันจะไม่มีเปลวไฟก็ต่อเมื่อน้ำมันหมด หรือไส้ตะเกียงหมด คนเราถ้ายังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัวตนอยู่ก็ยังมีการเกิดอยู่ ต่อเมื่อกิเลสหมด ความยึดถือในตัวตนหมดมันถึงจะเป็นไฟที่ดับอย่างสิ้นเชิง เพราะไส้และน้ำมันหมดไปแล้ว

ได้แล้วกระมังครับ?
โอเค
ได้เนื้อหาครบ พอดีเวลาด้วย
อืม โอเค

สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล ประเด็นความตาย
วันที่ ๑๗-๑๙ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ สวนสายน้ำ หาดใหญ่ สงขลา
โดย : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง


คัดลอกจาก -http://www.visalo.org/columnInterview
-http://languagemiracle.blogspot.com/2010/12/blog-post_3442.html

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 03:50:10 pm »



การเผชิญความตายอย่างสงบ 
ที่มาของแนวคิดและโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ?

คนส่วนใหญ่ในสังคมเวลานี้มีความทุกข์มาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หาย ก็ไม่สามารถวางใจให้ถูกต้องได้ ทุกข์ทรมานและตายไปกับความทุกข์ เราก็พบว่าคนที่ทุกข์ยังรวมถึงญาติพี่น้องด้วย จะช่วยเขาได้อย่างไร วิธีหนึ่งคือการทุ่มเทในการรักษา แต่บางครั้งก็ไม่ได้ช่วยเยียวยาให้หายจากโรค แต่เป็นการยืดลมหายใจ ตัวผู้ป่วยก็ทุกข์ คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น ซ้ำยังส่งผลเสียต่อผู้คนต่อสังคมด้วย เพราะการรักษาพยาบาลในแบบที่ว่านี้ ทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีที่จะช่วยผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดได้ ถูกนำมาใช้เพื่อยืดอายุลมหายใจของผู้ป่วยที่หมดทางรักษา แทนที่จะปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบ นี่เป็นที่มาของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ

ในทางพุทธศาสนามีความเชื่อว่าสิ่งสำคัญในชีวิตเรา จิตในภาวะสุดท้ายมีความสำคัญมาก จะไปสู่สุคติ ทุคติก็ ส่วนหนึ่งอยู่ที่จิตใจภาวะสุดท้าย และเชื่อว่าคนเราสามารถตายอย่างสงบได้ สามารถช่วยให้ตัวเองอยู่เหนือความทุกข์ ความทรมานทางกายได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าเคยสอนพุทธบริษัทคนหนึ่งว่า แม้กายกระสับกระส่าย อย่าให้จิตกระสับกระส่าย และก็มีอุบาสกอุบาสิกาจำนวนมากที่สามารถบรรลุธรรมได้ ขณะที่เขากำลังจะตาย โดยอาศัยจิตสุดท้ายในการบรรลุธรรม จากประสบการณ์จากการทำงานในเรื่องนี้เราก็พบว่า คนธรรมดาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ฆราวาส คนธรรมดา สามารถตายอย่างสงบได้ แม้โรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้าจะเป็นโรคร้าย ทำความเจ็บปวดให้ร่างกาย แต่ถ้าวางใจให้สงบ รักษาใจให้เป็นปรกติ ก็สามารถผ่านพ้นความเจ็บปวดทางกาย และผ่านความตายได้อย่างสงบ

ประโยชน์ของโครงการนี้คงไม่เฉพาะแต่การมุ่งให้คนไข้และญาติมุ่งรักษาใจให้เป็นปรกติในวาระสุดท้ายเท่านั้น แต่เราคิดว่ามันอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งก็หวังว่าจะทำให้เราไม่เน้นเฉพาะแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่เน้นเรื่องการสร้างสมรรถภาพทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะเป็นการเยียวยาครอบครัวและญาติมิตรของผู้ป่วยด้วย และการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ก็จะเป็นไปในทางช่วยให้คลายทุกข์ และถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่แค่การยืดลมหายใจของบางคน ในขณะที่คนจำนวนมากที่ยังอยู่ในขั้นรักษาหายได้กลับต้องตายเพราะเขาไม่มีหมอ พยาบาล และเตียงคนไข้ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับเขา

เราหวังว่าทัศนะสังคมจะเปลี่ยนในเรื่องของความตาย คนที่เข้าใจเรื่องความตายถูกต้อง ก็จะดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ไม่บริโภคเสพสุขอย่างเอารัดเอาเปรียบกัน แล้วพอถึงเวลาใกล้ตายก็ทุกข์ทรมาน แต่ถ้าเรารู้ว่าการตายอย่างสงบคือความถูกต้อง เราก็จะใช้ชีวิตอย่างมีศีลมีธรรม เป็นกุศล สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมบริโภคนิยม เพราะเป็นสังคมที่มองความตายแบบปกปิด ไม่รับรู้ หลงลืมเรื่องความตาย

ถ้าวิธีการใช้ชีวิตของผู้คนปัจจุบันเปลี่ยนไป แล้วจะเกิดผลอย่างไรต่อครับ?
คือถ้าคนเรารู้ว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ไม่ใช่วิกฤติ แต่คือโอกาส อาจเป็นวิกฤติในทางกาย แต่ในทางใจคือโอกาส คือเราสามารถเข้าถึงความสงบได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ยกจิตของเราให้สูงขึ้น เราก็จะไม่ฝืนหรือปฏิเสธความตาย แต่เราจะรับมือหรือเผชิญหน้ากับความตายอย่างดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เราพึ่งเทคโนโลยีน้อยลง ไม่ฝืนความจริง แต่ยอมรับและเผชิญกับความเป็นจริงอย่างดีที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วเราทุกข์เพราะความยึดติดกับสิ่งที่จะพลัดพรากจากกัน ทรัพย์สมบัติ คนรัก ชื่อเสียง เกียรติ หรือความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น ความรู้สึกผิด ความห่วงหาอาลัย ซึ่งจะทำให้คนตายไม่ดี แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ จะทำให้จิตใจเราเบา และผ่านความตายไปได้อย่างสงบ เกิดจิตที่สว่างไสว

หัวใจของการเผชิญความตายอย่างสงบ คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงของชีวิตอย่างไม่ขัดขืน ไม่ฝืนความจริง รู้จักปล่อยวาง
สิ่งเหล่านี้เทคโนโลยี เงินทอง ช่วยเหลือไม่ได้ ต้องอาศัยการฝึกจิตใจของเรา อาศัยสิ่งแวดล้อม เช่น ญาติ มิตร หมอ พ่อแม่ ช่วยเหลือ

ผู้ป่วยใกล้ตายนอกจากเรื่องร่างกายแล้ว ยังมีปัญหาด้านจิตใจด้วย?
ใช่ ส่วนใหญ่คนเวลาป่วยไม่ใช่เป็นที่ร่างกายเท่านั้น ป่วยใจด้วย คือ เกิดความกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เป็นภาระกับผู้อื่น กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวตายแล้วจะไปไหน วิตกกังวล เป็นห่วงลูกหลาน การงาน เป็นความทุกข์ทางใจที่จะไปกดทับโรคร่างกาย และบางครั้งความเจ็บป่วยทางใจอาจหนักหนาสาหัสกว่าโรคทางกาย อย่างบางคนร่างกายยังไม่เป็นอะไร แต่พอหมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็ง ใจนี่ทรุดเลย หรืออย่างที่มีเรื่องเล่าว่า มีคนๆหนึ่งตัวซีด ไม่มีเรี่ยวแรง ต้องนั่งรถเข็นมาตรวจ นักศึกษาตรวจว่า ไม่มีอะไรเป็นพยาธิทำให้โลหิตจาง ตัวซีด กินธาตุเหล็กหน่อยก็ดีวันดีคืน พูดจบคนไข้ลุกได้เลย แล้วก็พูดกับหมอว่า ถ้าเป็นแค่นี้ไม่ต้องใช้รถเข็นแล้ว ทีแรกที่ไม่มีแรงเพราะวิตกกังวลว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง พอรู้ว่าไม่มีอะไร เรี่ยวแรงก็กลับคืนมา เจอเยอะคนไข้ทำนองนี้

มีบางคนเป็นโรคมะเร็งแต่เขากลับมีความแช่มชื่นเบิกบาน เพราะใจเขายอมรับความจริงได้ ปล่อยวางได้ อย่างมีเด็กคนหนึ่ง อายุ 14 แต่หน้าตาแจ่มใสทั้งที่เป็นมะเร็งสมอง เขาบอกเขาโชคดีที่เป็นมะเร็งสมอง ไม่ได้เป็นมะเร็งมดลูก เพราะย่าเขาที่เป็นมะเร็งมดลูก เจ็บปวดมาก บางคนแค่ปวดหัวตัวร้อน แต่กลับทรุดหนัก เพราะโรคทางใจไปปรุงแต่งให้ทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าทุกข์ทางใจหมดไป โรคร้าย ๆ ก็กลับไม่น่ากลัว

บางทีคนสมัยนี้อยากจะตายไม่ใช่เพราะโรคทางกาย แต่เป็นเพราะโรคทางใจ มีการวิจัยในประเทศฮอลแลนด์ กับคน 200 คนที่อยากตาย โดยให้หมอเป็นคนทำ เกินครึ่งอยากตายเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องทางใจ

การใช้เครื่องมือแพทย์ยื้อชีวิต บางกรณียื้อแล้วก็อาจจะฟื้น แต่บางกรณีเยื้อไปก็ไม่รอด เส้นแบ่งควรอยู่ตรงไหนครับ?
พูดยาก แต่มีบางโรคที่ไม่มีทางรักษา ที่ทางการแพทย์เรียกว่าผู้ป่วยหมดหวัง เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย หมดสติไปแล้ว อาการแบบนี้ไม่มีทางจะดีขึ้นมาได้ มีแต่จะตายในที่สุด ซึ่งต่างจากผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ ซึ่งโรคปัจจุบันทันด่วนบางกรณีหมออาจหมดหวังแล้ว แต่ฟื้นขึ้นมาก็มี อันนี้อยู่ในข่ายที่น่าจะลอง แต่ลักษณะอย่างผู้ป่วยมะเร็งเรื้อรัง ถ้าลักษณะของโรคมีแต่จะแย่ลง ๆ การยื้อไม่ใช่ยื้อเพื่อหวังให้หาย แต่หวังเพียงแค่ยืดลมหายใจ ซึ่งเป็นการยืดความทุกข์ทรมานออกไป

แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าเราทุ่มเทไปที่เรื่องเทคโนโลยีมากน้อยเท่าใด แต่อยู่ตรงที่ว่าเราให้ความสำคัญเรื่องกายจนลืมเรื่องใจ เรายื้อเรื่องกาย แต่ใจ เรามองข้าม เมื่อไม่ให้ความสำคัญกับจิตใจก็คิดว่าไม่มีทางอื่นนอกจากต้องเยื้อชีวิตไว้ให้นานที่สุด เพราะเป็นเรื่องเดียวที่เราทำได้ ผู้ป่วยหลายคน ญาติหลายคน ไม่ได้นึกเรื่องนี้ในตอนแรก เขาคิดว่าต้องยื้อให้เต็มที่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่มีแนวโน้มที่จะหาย แต่พอเขารู้ว่าในภาวะเช่นนี้ถ้าเขาได้ตายอย่างสงบ มีเรี่ยวมีแรงอยู่กับลูก ได้มีเวลาพูดคุยความในใจ อาจช่วยให้เขาตายอย่างสงบได้ พอลูกรู้เช่นนี้ เขาก็ตระหนักว่าเขาไม่จำเป็นต้องยื้อ หันมาให้ความสำคัญกับการให้เวลากับคนไข้

คนส่วนใหญ่ที่ยื้อเพราะไม่รู้ว่ามีวิธีอื่นที่ทำได้ช่วยได้ บางทีเมื่อเขารู้ว่ามีวิธีอื่น เขาก็ไม่ยื้อ หันมาใช้วิธีการให้การเยียวยาจิตใจ มีเวลาคุยกับผู้ป่วย พูดถึงสิ่งดี ๆ ที่ทำให้เขาภูมิใจ และมีโอกาสได้ร่ำลา ช่วยเขาปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ หลายคนก็พบว่าเขาตัดสินใจไม่ผิด ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบ แทนที่จะเสียใจเขาได้ความปิติที่ได้ให้สิ่งที่ดีแก่ผู้ป่วย แต่ปัจจุบันเรามองไม่เห็นวิธีอื่นใดนอกจากเรื่องการปั๊ม ถ้ามีเงินก็บอกหมอทำเต็มที่ฉันมีเงินให้ จากสภาพการณ์ที่เห็นการมุ่งยื้อชีวิตผู้ป่วยหนักเป็นสำคัญ

มีแรงบันดาลใจหรืออะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พระอาจารย์หยิบเอาเรื่องการตายอย่างสงบมาเป็นคำตอบ?
เราได้พบกรณีตัวอย่างมามาก เขาโดนโรคร้ายเกาะกินแล้วก็ไปอย่างสงบได้ บางคนแทบไม่ได้พึ่งยาแก้ปวด อาศัยสมาธิ ทั้งที่เขาไม่ใช่คนที่ปฏิบัติธรรมมานาน มาสนใจตอนที่ป่วย แต่สามารถอาศัยสมาธิหายจากความเจ็บปวดได้ หรือบางคนสมาธิอาจไม่เข้มแข็ง แต่อาศัยพยาบาล ญาติพี่น้องเป็นผู้นำจิต หรือใช้การผ่อนคลายทางกาย หรือใช้จินตนาการ ก็หายกระสับกระส่าย เราได้เจอแบบนี้มาก จึงคิดว่าการให้ความสำคัญเรื่องจิตใจกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญ กรณีตัวอย่างที่ได้พบไม่ได้เป็นพระ แต่อาจเป็นคนธรรมดา ที่เคยมีความยึดติด ที่เคยต่อสู้กับความตาย ความเจ็บปวด แล้วในช่วงท้ายของชีวิต เกิดมีคนแนะนำให้เขาวางจิตได้ถูกต้อง เขาก็ไปสงบ

เราเจอแบบนี้เยอะก็พบว่าการตายอย่างสงบ เป็นสิทธิของทุกคน เราต้องยอมรับว่าการตายเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต เราปฏิเสธหน้าที่นี้ไม่ได้ และเป็นหน้าที่ที่มาพร้อมกับสิทธิ แล้วการตายอย่างสงบก็เป็นสิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้ เราก็เลยเกิดความมั่นใจว่าการช่วยให้คนตายอย่างสงบไม่ใช่เรื่องที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องศรัทธามั่นคงแน่นแฟ้นในศาสนาก็ได้

ยกตัวอย่างได้ไหมครับ?
เด็กสิบสี่ขวบคนหนึ่งเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย วันสุดท้ายในชีวิตเขากระสับกระส่ายมาก พยาบาลที่ไม่ได้รู้เรื่องธรรมะอะไรมาก แต่รู้ว่าเด็กคนนี้ชอบอุลตร้าแมน ตอนเด็กกระสับกระส่ายก็บอกให้เด็กจินตนาการว่ากำลังไปซื้ออุลตร้าแมนด้วยกัน โดยมีพยาบาลเป็นผู้บรรยายนำทาง ทำอยู่ประมาณ 30 นาที เด็กก็เริ่มสงบ แล้วไม่กี่ชั่วโมงเด็กก็ตายอย่างสงบ นี่เป็นตัวอย่างว่าเด็กก็ตายสงบได้ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นมะเร็ง

ผู้ใหญ่ก็มี อย่างพี่สาวของเพื่อนอาตมา เขาเป็นมะเร็งเต้านม ต่อมาท่อน้ำดีอุดตันทำให้ตับเป็นพิษ ก็ไม่อยากรักษา บอกว่าไม่อยากจะยื้อชีวิตแล้ว หมอเป็นห่วงว่าพิษจะซึมไปทั่วร่างกาย แล้วทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง เพ้อ หมดสติ แต่ปรากฏว่า 7 วันสุดท้ายของโยมคนนี้ รู้ตัวอยู่ตลอด จนถึงชั่วโมงสุดท้าย โดยไม่มีอาการเพ้อ ซึ่งผิดจากที่หมอคาด เพราะครอบครัวเขาดูแลเรื่องจิตใจ ลูกหลานมาเยี่ยมเยียน แม่ พี่น้องเอาใจใส่ ผู้ป่วยก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งตรงข้ามกับในโรงพยาบาล หรือในห้องไอซียู ครอบครัวยังชักชวนให้คนป่วยทำบุญ ทำสมาธิด้วยกัน

ช่วง 2 วันสุดท้าย มีการพูดนำทางให้คนไข้นึกถึงพระรัตนตรัย ให้ใจน้อมนึกถึงพระรัตนตรัย และให้เดินตามไป รวมทั้งให้น้อมจิตขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวร และแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้นึกถึงสิ่งดี ๆ เขารักษาอยู่ที่บ้าน 7 วันสุดท้ายไม่ไปโรงพยาบาล วันสุดท้ายครอบครัวก็ยังไม่คิดว่าเขาจะตายก็ชวนกันว่ามาสวดมนต์ 1,000 จบ ระหว่างที่สวดเขายังรู้สึกตัว จนราวห้าหกร้อยจบก็มีคนสังเกตว่าเขาหมดลมไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าในตอนไหน ทั้งที่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เขายังจำแม่ได้ ทักคนได้ ขอกินข้าวด้วยซ้ำ แล้วก็จากไปในขณะที่ยังสวดอยู่ สงบมาก เมื่อรู้ว่าหมดลมแล้ว ทางญาติก็ยังสวดต่อไปจนครบพันจบ ถือเป็นของขวัญสุดท้ายที่จะให้แก่เขา ญาติก็ภูมิใจและปลื้มปิติที่ส่งญาติของเขาให้จากไปอย่างสงบได้


ในหลาย ๆ กรณีความตายไม่ใช่เรื่องที่น่าเศร้า ความตายอาจสามารถนำความปลื้มปิติมาให้ หากว่าเป็นการตายอย่างสงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่ยื้อยุดฉุดชีวิตเอาไว้ หรือถูกยื้อยุดชีวิต คนป่วยก็ทรมาน ญาติก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่ดี ความตายถ้าตายอย่างสงบจะเยียวยาผู้ป่วย เยียวยาญาติมิตรได้ด้วย ซึ่งมิตินี้การแพทย์ไม่สนใจ เพราะเขาวัดอัตราความสำเร็จว่ารอดอยู่ได้กี่วัน รอดอยู่ได้หลายวันก็ถือว่าสำเร็จมาก ซึ่งระหว่างนั้นคนป่วยก็ทุกข์ ญาติก็ทุกข์ พอเขาตายญาติก็เสียใจ บางทีก็เสียใจว่าไม่ได้ทำอะไรอีกหลายอย่าง หรือรู้สึกผิดว่าไม่มีโอกาสได้พูดได้คุยกันในหลายเรื่อง

เรื่องหลักวิธีการล่ะครับ พระอาจารย์ได้มาจากไหนครับ?
ก็จากประสบการณ์ สรุปออกมาเป็นแนวทาง อย่างแรกคือความรัก การให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขนี่สำคัญมากอย่างคนป่วยส่วนหนึ่งก็อย่างที่บอก เขาไม่ได้ป่วยกายเขาป่วยใจ วิธีที่จะระงับได้ไม่ใช่ยาอย่างเดียว ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือธรรมโอสถ มีคนดูแลเอาใจใส่ พร้อมที่จะดูแลเขาจนนาทีสุดท้าย ก็เกิดกำลังใจ กำลังใจนี่ทำให้เอาชนะความกลัวได้

ปัญหาหนึ่งของคนป่วยคือกลัวว่าเขาจะถูกทอดทิ้ง ต้องตายอยู่คนเดียว สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ให้ความรักกับเขา ให้ความมั่นใจว่าเราจะดูแลช่วยเหลือเขา และให้เขานึกถึงสิ่งที่ดีงาม หลักธรรม สิ่งที่เขานับถือ รวมทั้ง
สิ่งดีงามที่เคยทำมา การทำบุญ การเลี้ยงดูลูก การเป็นแบบอย่างให้แก่ญาติพี่น้อง การเป็นครูที่ดี ลูกที่ดี ทำให้เขาภาคภูมิใจและรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย เมื่อรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย ความตายก็เป็นเรื่องไม่น่ากลัว เพราะถ้าอยู่อย่างดีก็ตายดี การนึกถึงสิ่งดีงามช่วยได้มาก อีกอย่างหนึ่งคือช่วยให้เขาปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ พระอาจารย์แปลและเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องความตาย รวมทั้งหลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพุทธศาสนา

พระอาจารย์เขียนมาก่อนหรือสนใจเรื่องนี้ก่อนจึงไปศึกษาครับ?
สนใจเรื่องความตายเพราะรู้สึกว่าวันหนึ่งเราต้องตายและไม่รู้จะตายในลักษณะไหน อาจด้วยมะเร็ง ถูกคนทำร้าย อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวทั้งนั้น แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นเราทำใจได้หรือเปล่า ก็เกิดความหวั่นไหว อันนี้มีมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแล้ว เมื่อเริ่มศึกษาก็พบว่าการฝึกจิตนี้สำคัญ ทำให้ศึกษาเรื่องพวกนี้ ตอนหลังเมื่อมาจับงานแปลก็ได้เห็นการเตรียมตัวตายที่ดีขึ้น ตอนหลังก็มีคนนิมนต์ไปพูด ก็คิดว่าน่าจะจัดการอบรมเรื่องนี้ มีคนเห็นด้วยก็กลายเป็นโครงการขึ้นมา เริ่มแรกมาจากความพยายามที่จะแก้โจทย์ส่วนตัว แต่ได้เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นด้วย เริ่มโครงการเล็ก ๆ เมื่อปี 45 ตอนนี้เป็นระดับเล็ก

เรื่องชื่อโครงการล่ะครับ?
เรารู้สึกว่าทุกวันนี้เรากลัวความตาย จนคำว่า ความตาย กลายเป็นคำที่อุจาด แต่เราคงเผชิญความตายอย่างสงบไม่ได้ถ้าแม้แต่คำว่าความตายยังเป็นเรื่องรับไม่ได้ มีคนแนะนำให้ใช้ว่า สุนทรียมรณัง อะไรทำนองนั้น แต่เราคิดว่าวิธีแบบนั้นปรุงแต่งเกินไป และเราควรพร้อมที่จะคุยเรื่องความตาย เสมือนเป็นสิ่งธรรมดาที่อาจเกิดในชีวิตประจำวัน เราเลยเขียนชื่อตรง ๆ เลย

เราถือว่าการเผชิญหน้ากับความตายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราพร้อมที่จะเผชิญเสียแต่เดี๋ยวนี้ และอย่างที่มีคำคนบอกว่า อะไรที่เราสู้กับมันไม่ได้ ก็เป็นมิตรกับมันเสียเลย ความตายนี่เราสู้มันไม่ได้ เราก็ควรเรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับความตาย เห็นความตายเป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ประมาท ขวนขวายทำความดี รู้จักปล่อยวาง ความตายมีประโยชน์ ถ้าเรานึกถึงความตายจะทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน แล้วก็ปลดเปลื้องในสิ่งที่เราชอบยึดติด

หลายคนชอบผัดผ่อนในเรื่องที่ดี การไปวัดปฏิบัติธรรม การไปเยี่ยมพ่อแม่ บางคนชอบบอกเอาไว้ก่อน แต่พอรู้ว่ามีเทศกาลลดราคาที่ห้างสรรพสินค้า คืนนี้คืนสุดท้าย ก็แห่ไปกันใหญ่ เรื่องที่ไม่จำเป็นนี่เร่งรีบเหลือเกิน แต่เรื่องที่สำคัญ-ผัดผ่อน เรื่องสัมพันธภาพกับคนรัก เรื่องลูก ตอนนี้ยังไม่มีเวลาให้ลูก ขอทำงานก่อน ให้รวยก่อนค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่พอรู้เรื่องความตายก็จะตระหนักว่าเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ อะไรที่สำคัญจึงควรทำเสีย

แต่เรื่องไม่ดีเราชอบยึดติดนัก ใครด่าเราจำมั่น โกรธใครเกลียดใครนี่จำแม่น มันเป็นทุกข์ยิ่งกว่าติดคุก พอเศร้าเสียใจก็จมอยู่กับมัน แต่ถ้ารู้เรื่องความตายจะช่วยกระตุ้นให้เราปล่อยวาง จะโกรธเขาไปทำไมไม่นานก็ตายจากกันแล้ว งานการล้มเหลว เป็นทุกข์ แต่พอนึกถึงเรื่องความตายขึ้นมา เรื่องพวกนี้เราปล่อยวาง กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไป ของหาย รถหาย เงินหาย กลุ้มเหลือเกิน แต่พอนึกถึงความตาย ของพวกนี้กลายเป็นเรื่องเล็ก ทำให้เราปล่อยวางได้