พิธีจองเปรียงเทศกาลลอยกระทงของสุโขทัยในสมัยโบราณ ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้กล่าวถึงพิธีจองเปรียงไว้ดังนี้ พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาเข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้น ต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปสัณฐานต่างๆ
ประกวดกันมาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบราบตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการพระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานทีแลข้าน้อย(นางนพมาศ) ก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง
ครั้นเวลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมานพร้อมด้วยอัครชายา พระบรมวงศ์และพระสนมกำนัลนางท้าวขาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมชัยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพี พระวงศานุวงศ์โคมพระสนมกำนัลก็เป็นลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตร พลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้งามประหลาด ยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิโสภา ก็กราบบังคมทูลว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ.. ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมกับที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์.. จึงมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียงแล้วก็ให้กระทำโคมไฟลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่า โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) ก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้......
บทส่งท้าย ประเพณีการลอยกระทง น่าจะเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ชึ่งต้องมีน้ำเป็นปัจจจัยสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ จึงมีการลอยกระทงไปตามกระแสน้ำ เพื่อขอบคุณพระแม่คงคาหรือเทพเจ้าแห่งน้ำ อีกทั้งเป็นการแสดงความคารวะขออภัยที่ได้ลงอาบ หรือปล่อยสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งเป็นการบูชาเทพเจ้าตลอดจนรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์จุฬามณีฯลฯ ตามคติความเชื่อ หลังจากทำพิธีลอยกระทงแล้ว ก็จัดให้มีการละเล่นรื่นเริงสนุกสนาน เช่น การละเล่นพื้นเมือง การเล่นเพลงเรือ รำวงฯลฯ อันเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
ความมุ่งหมายของการลอยกระทงมีอยู่หลายประการ เช่น การขอขมาต่อพระแม่คงคาการบูชารอบพระพุทธบาท การลอยเคราะห์โรคภัยและทุกข์โศกให้ไหลไปกับสายน้ำ ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้ จะจัดขึ้นในเดือน 12 โดยนับวันตามจันทรคติ หรือราวเดือนพฤศจิกายน
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันลอยกระทง 1. นำกระทงไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง หรือตามแหล่งน้ำที่มีการจัดพิธี
2. ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในวันลอยกระทง เช่น การประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ
การละเล่นพื้นเมือง เช่น รำวง เพลงเรือ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย
3. จัดนิทรรศการ หรือพิธีการลอยกระทง เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ประเพณีไทย
4. จัดณรงค์ให้มีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำกระทง เพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะแก่แม่น้ำลำคลอง
สรุปเหตุผลในวันลอยกระทง 1. เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้า ตามคติตามความเชื่อถือ
2. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้ มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา
3. เพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
เรียบเรียงโดย พรศรี เดชชัย-http://www.jolisnob.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=576526&Ntype=5เรียนขออนุญาตนำมาแบ่งปันค่ะอนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมาย...