ข้อความโดย: sithiphong
« เมื่อ: ธันวาคม 15, 2012, 08:14:13 pm »พระอุปนิสัยและพระจริยวัตรของ"เสด็จเตี่ย" กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355477538&grpid=01&catid=&subcatid=-
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
กรมหลวงชุมพรฯ ทรงจริงจังกับการเป็น"หมอพร"
พระอุปนิสัยและพระจริยวัตรในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม ๒๕๕๕
“---คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือทรงมีพระปรีชาอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์---”
เป็นข้อความตอนหนึ่งในคำบอกเล่าของ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ซึ่งมีศักดิ์เป็น “หลานปู่” ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวถึงเสด็จปู่ เมื่อครั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อเขียนหนังสือเรื่อง “หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ” ครั้งนั้นพบว่าหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่นั้นล้วนจดจำและมักจะเล่าถึงแต่เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระองค์มากกว่าที่จะเล่าเกี่ยวกับพระประวัติความเป็นมา พระปรีชาสามารถ ตลอดจนผลงานการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่เมื่อได้ศึกษาพระประวัติของพระองค์ก็อาจคาดเดาถึงสาเหตุดังกล่าวได้โดยไม่ยากนัก
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค เป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในทวีปยุโรป ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกองทัพเรือที่เก่งกาจเกรียงไกรที่สุดในสมัยนั้น
ทั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเคยถูกกองทัพเรือฝรั่งเศสคุกคามในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นำความเจ็บช้ำพระทัยมาสู่องค์พระประมุขซึ่งไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงเพราะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ ไม่มีอำนาจที่จะต่อรองกับมหาอำนาจที่ไม่รู้ถูกรู้ผิด ความวิปโยคโศกเศร้าของพระบรมราชชนกชนนีและประชาชนชาวสยามในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝังอยู่ในพระทัยของเจ้าชายเล็กๆ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา แต่น้ำพระทัยแข็งแกร่ง ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่และมั่นคงในการที่จะนำความรู้ด้านการทหารเรือสมัยใหม่มาพัฒนากองทัพเรือของไทยให้เกรียงไกรสามารถต่อสู้ป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจที่มักรุกล้ำอธิปไตยของสยามเนืองๆ
การเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือของเจ้าชายไทยในประเทศอังกฤษต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ นับแต่ข้อกำหนดซึ่งห้ามนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือของราชนาวีอังกฤษด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ก็มิได้ทำให้พระองค์ทรงย่อท้อ ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการทหารเรือที่แข็งแกร่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) ในเรือรบอังกฤษ
เสด็จกลับประเทศไทยมีพระชนมายุเพียง ๒๐ พรรษา ทรงมีทั้งกำลังพระทัย กำลังพระวรกาย และประการสำคัญทรงมีความตั้งพระทัยแน่วแน่มั่นคงในอันที่จะพัฒนากองทัพเรือไทยให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าอารยประเทศ เพราะขณะนั้นกิจการทหารเรือไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝรั่งต่างชาติซึ่งโปรดว่าจ้างให้มาเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารเรือสมัยใหม่ แต่ทรงพบว่าฝรั่งผู้ปฏิบัติงานขาดความตั้งใจจริงในการพัฒนากองทัพเรือให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ กองทัพเรือจึงยังมิได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคง หลักสูตรการสอนนักเรียนนายเรือต่ำ เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ยังไม่สามารถที่จะนำเรือออกสู่ทะเลลึกโดยลำพังตนเองได้ ไม่สามารถใช้อาวุธสมัยใหม่ได้ โดยเฉพาะทหารเรือในขณะนั้นเป็นหน่วยทหารที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าทหารหน่วยอื่น จึงมักถูกนำไปใช้ในงานโยธา ไม่ใคร่มีโอกาสที่จะเรียนรู้วิชาการ
เมื่อทรงมีโอกาสได้เข้าบริหารงาน จึงโปรดปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยเพิ่มวิชาที่จำเป็นสำหรับทหารเรือที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้อย่างเข้มข้น ยกระดับทหารเรือให้สูงขึ้นโดยเน้นหนักด้านวิทยาการสมัยใหม่ และการฝึกเพื่อการเป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจเกรียงไกร
แต่ถึงกระนั้นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทรงพบคือการที่ไม่มีผู้นิยมสมัครเข้าเป็นทหารเรือ อันเป็นธรรมชาติของผู้ที่มิได้อยู่ใกล้ทะเล โปรดแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนและเพิ่มเงินให้ตามชั้นที่สูงขึ้น ทำให้เริ่มมีผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้น แต่นักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจนและนักเลงที่หวังเงินเดือน แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วทรงมีวิธีการผูกใจนักเรียนให้ตั้งใจเรียน รักและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียน โดยใช้ความจริงพระทัยจริงจังในการถ่ายทอดวิชาความรู้ ปลูกฝังความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในกองทัพเรือ
ประการสำคัญคือ พระอุปนิสัยซึ่งมีพระเมตตาต่อผู้คนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงสามารถผูกใจนักเรียนที่มีนิสัยนักเลงได้ด้วยความเป็นนักเลงที่เหนือกว่า กล่าวคือ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีฐานันดรศักดิ์และความรู้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อประกอบเข้ากับการดำเนินพระจริยวัตรในทางที่นักเลงสมัยนั้นนิยมกัน เช่น เก่งฉกาจในวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวทุกรูปแบบ มีคาถาวิทยาคมเพราะทรงมอบพระองค์เป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ที่ผู้คนสมัยนั้นเชื่อและนับถือว่าเป็นพระอาจารย์ด้านเวทมนตร์คาถา จนเป็นที่ร่ำลือว่า ทรงอยู่ยงคงกระพัน สามารถหายตัวได้ จนทรงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เหล่าลูกศิษย์รู้สึกว่าพระองค์ทรงสามารถเป็นที่พึ่งได้ คือทรงมีทั้งพระบารมี มีทั้งความเป็นนักสู้และนักเลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
พระจริยวัตรสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความไม่ถือพระองค์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์และซาบซึ้งในพระคุณสมบัติส่วนนี้ตลอดพระชนมชีพ ดังที่มีเรื่องเล่าลือสืบมาว่า ทรงรักและเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในเวลาและนอกเวลางาน เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเวลาค่ำขณะประทับพักผ่อนที่วังนางเลิ้ง มีผู้วิ่งมาทูลว่า ทหารเรือชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกรุมต่อยตีจากคู่ต่อสู้ที่ตลาดนางเลิ้ง เมื่อทรงรู้ข่าวก็เร่งเสด็จไปสถานที่เกิดเหตุทันที ทรงช่วยทหารเรือผู้นั้นให้รอดจากการถูกคู่วิวาทฟันด้วยการเอาพระองค์เข้ารับคมดาบโดยไม่เป็นอันตราย หรือโปรดเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้ลูกศิษย์ด้วยพระองค์เองในฐานะพระอาจารย์ มิใช่ในฐานะเจ้า หรือโปรดให้ตั้งฌาปนกิจสถานสำหรับทหารเรือขึ้นเพื่อช่วยในการฌาปนกิจศพทหารเรือทุกระดับชั้นอย่างสมเกียรติยศ เป็นต้น
พระจริยวัตรดังที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจของผู้ใกล้ชิดให้ถวายความจงรักภักดีด้วยชีวิต ยิ่งเมื่อประทานความเป็นกันเองโดยทรงเรียกขานพระองค์เองว่า “พ่อ” หรือ “เตี่ย” ก็ยิ่งทำให้สามัญชนทั่วไปรู้สึกว่าสามารถปวารณาตนเป็นลูกของพระองค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ความนิยมนับถือและบูชาในพระองค์ยิ่งกว้างขวางและยิ่งใหญ่ทวีคูณขึ้นอีกเมื่อครั้งโชคชาตาฟ้าลิขิตให้ต้องทรงรับบทบาท “หมอพร” ครั้งนั้นก็ทรงจริงจังกับการเป็นหมอพร ด้วยการทรงศึกษาวิชาแพทย์ทั้งของไทยและฝรั่ง ทรงนำความรู้ทั้ง ๒ แบบมาผสมผสานและทดลองจนทรงมั่นพระทัยในความเป็นหมอพร จึงทรงรับรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไปโดยไม่คิดเงิน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยพระเมตตาอันเป็นพื้นพระอุปนิสัยที่แท้จริงของพระองค์ ทั้งความรู้พระปรีชาสามารถและน้ำพระทัย ทำให้ผู้คนที่มีโอกาสได้สัมผัสพระองค์ นึกไปถึงเทพเจ้าที่ทรงลงมาโปรดมนุษย์ในโลกมากกว่าจะเป็นเจ้านาย จึงพร้อมใจขานนามพระองค์ว่า “หมอพรเทวดา”
เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ ความรักอาลัยของผู้ที่รักใคร่เทิดทูนบูชาพระองค์ยังคงตราตรึงอยู่อย่างมิอาจลืมเลือน ความดีงามเก่งฉกาจในทุกๆ ด้านของพระองค์ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันปากต่อปาก มีการต่อเติมเสริมแต่งให้ทรงเป็นเสมือนผู้วิเศษ จนพัฒนาเป็นความเชื่อว่าพระวิญญาณของพระองค์ยังคงอยู่คอยให้ความคุ้มครองภยันตราย สดับตรับฟังทุกข์ร้อนของบรรดาลูกๆ หรือช่วยเหลืออำนวยให้ได้รับผลสำเร็จในสิ่งปรารถนาเหมือนเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนมชีพ จึงเกิดการบนบานขอให้ทรงช่วย เมื่อได้รับผลตามต้องการก็ยิ่งทวีคูณความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สิ่งต่างๆ ที่เนื่องในพระองค์ไม่ว่าจะเป็นพระรูปเหรียญ ล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนตั้งไว้บนที่สูงเพื่อเคารพบูชา
จึงไม่น่าแปลกที่ ม.ร.ว. อภิเดชจะบอกเล่าถึงเสด็จปู่ของท่านว่า “---คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ---แต่---คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์---”
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355477538&grpid=01&catid=&subcatid=-
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
กรมหลวงชุมพรฯ ทรงจริงจังกับการเป็น"หมอพร"
พระอุปนิสัยและพระจริยวัตรในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม ๒๕๕๕
“---คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือทรงมีพระปรีชาอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์---”
เป็นข้อความตอนหนึ่งในคำบอกเล่าของ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ซึ่งมีศักดิ์เป็น “หลานปู่” ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวถึงเสด็จปู่ เมื่อครั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อเขียนหนังสือเรื่อง “หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ” ครั้งนั้นพบว่าหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่นั้นล้วนจดจำและมักจะเล่าถึงแต่เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระองค์มากกว่าที่จะเล่าเกี่ยวกับพระประวัติความเป็นมา พระปรีชาสามารถ ตลอดจนผลงานการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่เมื่อได้ศึกษาพระประวัติของพระองค์ก็อาจคาดเดาถึงสาเหตุดังกล่าวได้โดยไม่ยากนัก
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค เป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในทวีปยุโรป ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกองทัพเรือที่เก่งกาจเกรียงไกรที่สุดในสมัยนั้น
ทั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเคยถูกกองทัพเรือฝรั่งเศสคุกคามในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นำความเจ็บช้ำพระทัยมาสู่องค์พระประมุขซึ่งไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงเพราะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ ไม่มีอำนาจที่จะต่อรองกับมหาอำนาจที่ไม่รู้ถูกรู้ผิด ความวิปโยคโศกเศร้าของพระบรมราชชนกชนนีและประชาชนชาวสยามในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝังอยู่ในพระทัยของเจ้าชายเล็กๆ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา แต่น้ำพระทัยแข็งแกร่ง ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่และมั่นคงในการที่จะนำความรู้ด้านการทหารเรือสมัยใหม่มาพัฒนากองทัพเรือของไทยให้เกรียงไกรสามารถต่อสู้ป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจที่มักรุกล้ำอธิปไตยของสยามเนืองๆ
การเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือของเจ้าชายไทยในประเทศอังกฤษต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ นับแต่ข้อกำหนดซึ่งห้ามนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือของราชนาวีอังกฤษด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ก็มิได้ทำให้พระองค์ทรงย่อท้อ ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการทหารเรือที่แข็งแกร่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) ในเรือรบอังกฤษ
เสด็จกลับประเทศไทยมีพระชนมายุเพียง ๒๐ พรรษา ทรงมีทั้งกำลังพระทัย กำลังพระวรกาย และประการสำคัญทรงมีความตั้งพระทัยแน่วแน่มั่นคงในอันที่จะพัฒนากองทัพเรือไทยให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าอารยประเทศ เพราะขณะนั้นกิจการทหารเรือไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝรั่งต่างชาติซึ่งโปรดว่าจ้างให้มาเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารเรือสมัยใหม่ แต่ทรงพบว่าฝรั่งผู้ปฏิบัติงานขาดความตั้งใจจริงในการพัฒนากองทัพเรือให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ กองทัพเรือจึงยังมิได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคง หลักสูตรการสอนนักเรียนนายเรือต่ำ เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ยังไม่สามารถที่จะนำเรือออกสู่ทะเลลึกโดยลำพังตนเองได้ ไม่สามารถใช้อาวุธสมัยใหม่ได้ โดยเฉพาะทหารเรือในขณะนั้นเป็นหน่วยทหารที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าทหารหน่วยอื่น จึงมักถูกนำไปใช้ในงานโยธา ไม่ใคร่มีโอกาสที่จะเรียนรู้วิชาการ
เมื่อทรงมีโอกาสได้เข้าบริหารงาน จึงโปรดปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยเพิ่มวิชาที่จำเป็นสำหรับทหารเรือที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้อย่างเข้มข้น ยกระดับทหารเรือให้สูงขึ้นโดยเน้นหนักด้านวิทยาการสมัยใหม่ และการฝึกเพื่อการเป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจเกรียงไกร
แต่ถึงกระนั้นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทรงพบคือการที่ไม่มีผู้นิยมสมัครเข้าเป็นทหารเรือ อันเป็นธรรมชาติของผู้ที่มิได้อยู่ใกล้ทะเล โปรดแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนและเพิ่มเงินให้ตามชั้นที่สูงขึ้น ทำให้เริ่มมีผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้น แต่นักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจนและนักเลงที่หวังเงินเดือน แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วทรงมีวิธีการผูกใจนักเรียนให้ตั้งใจเรียน รักและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียน โดยใช้ความจริงพระทัยจริงจังในการถ่ายทอดวิชาความรู้ ปลูกฝังความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในกองทัพเรือ
ประการสำคัญคือ พระอุปนิสัยซึ่งมีพระเมตตาต่อผู้คนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงสามารถผูกใจนักเรียนที่มีนิสัยนักเลงได้ด้วยความเป็นนักเลงที่เหนือกว่า กล่าวคือ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีฐานันดรศักดิ์และความรู้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อประกอบเข้ากับการดำเนินพระจริยวัตรในทางที่นักเลงสมัยนั้นนิยมกัน เช่น เก่งฉกาจในวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวทุกรูปแบบ มีคาถาวิทยาคมเพราะทรงมอบพระองค์เป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ที่ผู้คนสมัยนั้นเชื่อและนับถือว่าเป็นพระอาจารย์ด้านเวทมนตร์คาถา จนเป็นที่ร่ำลือว่า ทรงอยู่ยงคงกระพัน สามารถหายตัวได้ จนทรงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เหล่าลูกศิษย์รู้สึกว่าพระองค์ทรงสามารถเป็นที่พึ่งได้ คือทรงมีทั้งพระบารมี มีทั้งความเป็นนักสู้และนักเลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
พระจริยวัตรสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความไม่ถือพระองค์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์และซาบซึ้งในพระคุณสมบัติส่วนนี้ตลอดพระชนมชีพ ดังที่มีเรื่องเล่าลือสืบมาว่า ทรงรักและเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในเวลาและนอกเวลางาน เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเวลาค่ำขณะประทับพักผ่อนที่วังนางเลิ้ง มีผู้วิ่งมาทูลว่า ทหารเรือชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกรุมต่อยตีจากคู่ต่อสู้ที่ตลาดนางเลิ้ง เมื่อทรงรู้ข่าวก็เร่งเสด็จไปสถานที่เกิดเหตุทันที ทรงช่วยทหารเรือผู้นั้นให้รอดจากการถูกคู่วิวาทฟันด้วยการเอาพระองค์เข้ารับคมดาบโดยไม่เป็นอันตราย หรือโปรดเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้ลูกศิษย์ด้วยพระองค์เองในฐานะพระอาจารย์ มิใช่ในฐานะเจ้า หรือโปรดให้ตั้งฌาปนกิจสถานสำหรับทหารเรือขึ้นเพื่อช่วยในการฌาปนกิจศพทหารเรือทุกระดับชั้นอย่างสมเกียรติยศ เป็นต้น
พระจริยวัตรดังที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจของผู้ใกล้ชิดให้ถวายความจงรักภักดีด้วยชีวิต ยิ่งเมื่อประทานความเป็นกันเองโดยทรงเรียกขานพระองค์เองว่า “พ่อ” หรือ “เตี่ย” ก็ยิ่งทำให้สามัญชนทั่วไปรู้สึกว่าสามารถปวารณาตนเป็นลูกของพระองค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ความนิยมนับถือและบูชาในพระองค์ยิ่งกว้างขวางและยิ่งใหญ่ทวีคูณขึ้นอีกเมื่อครั้งโชคชาตาฟ้าลิขิตให้ต้องทรงรับบทบาท “หมอพร” ครั้งนั้นก็ทรงจริงจังกับการเป็นหมอพร ด้วยการทรงศึกษาวิชาแพทย์ทั้งของไทยและฝรั่ง ทรงนำความรู้ทั้ง ๒ แบบมาผสมผสานและทดลองจนทรงมั่นพระทัยในความเป็นหมอพร จึงทรงรับรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไปโดยไม่คิดเงิน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยพระเมตตาอันเป็นพื้นพระอุปนิสัยที่แท้จริงของพระองค์ ทั้งความรู้พระปรีชาสามารถและน้ำพระทัย ทำให้ผู้คนที่มีโอกาสได้สัมผัสพระองค์ นึกไปถึงเทพเจ้าที่ทรงลงมาโปรดมนุษย์ในโลกมากกว่าจะเป็นเจ้านาย จึงพร้อมใจขานนามพระองค์ว่า “หมอพรเทวดา”
เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ ความรักอาลัยของผู้ที่รักใคร่เทิดทูนบูชาพระองค์ยังคงตราตรึงอยู่อย่างมิอาจลืมเลือน ความดีงามเก่งฉกาจในทุกๆ ด้านของพระองค์ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันปากต่อปาก มีการต่อเติมเสริมแต่งให้ทรงเป็นเสมือนผู้วิเศษ จนพัฒนาเป็นความเชื่อว่าพระวิญญาณของพระองค์ยังคงอยู่คอยให้ความคุ้มครองภยันตราย สดับตรับฟังทุกข์ร้อนของบรรดาลูกๆ หรือช่วยเหลืออำนวยให้ได้รับผลสำเร็จในสิ่งปรารถนาเหมือนเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนมชีพ จึงเกิดการบนบานขอให้ทรงช่วย เมื่อได้รับผลตามต้องการก็ยิ่งทวีคูณความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สิ่งต่างๆ ที่เนื่องในพระองค์ไม่ว่าจะเป็นพระรูปเหรียญ ล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนตั้งไว้บนที่สูงเพื่อเคารพบูชา
จึงไม่น่าแปลกที่ ม.ร.ว. อภิเดชจะบอกเล่าถึงเสด็จปู่ของท่านว่า “---คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ---แต่---คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์---”