"บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" ธรรมนิพนธ์จากทิเบต
คำนำธรรมนิพนธ์เรื่อง "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" ที่คุณพัลลภ กฤตยานวัช
แปลมาจากบทประพันธ์ของท่านทะไลลามะองค์ที่เจ็ดแห่งทิเบตนี้
นับเป็นบทแปลที่มีเนื้อหาซาบซึ้งประทับจิตประทับใจแก่ผมอย่างที่สุด
ธรรมนิพนธ์นี้ สะท้อนใจให้เห็นสรรพสิ่งซึ่งรุมล้อมชีวิตอยู่
ล้วนแต่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
มีการแปรเปลี่ยน มีขึ้นมีลง มีเกิดมีดับตลอดเวลา
ธรรมนิพนธ์นี้ จึงเป็นประโยชน์แก่ชนทั่วไปไม่เลือกหน้า ทุกเพศ ทุกวัย
ทั้งหนุ่ม และสาว ทั้งพ่อแก่ และแม่เฒ่าในวัยชรา
เพราะหากได้อ่านอย่างเพ่งพิจารณาแล้ว จะช่วยให้เกิดจิตสำนึก
ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่
ดร. กรุณา กุศลาสัยศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ๒๕๔๖ขออนุโมทนากับ
คุณสาวิกา ผู้พิมพ์เผยแพร่ :
ณ มรณาอนุโมทนากถาเรื่องมรณานุสสติ เป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง ถึงกับพระพุทธองค์
ทรงกล่าวสรรเสริญว่า ผู้เจริญมรณานุสสติ ผู้นั้นชื่อว่าได้บรรลุอมตธรรม
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า "พวกเธอได้ระลึกถึงความตายกันบ้างไหม?"
พระภิกษุกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ได้ระลึกถึงความตายอยู่"
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "พวกเธอระลึกถึงความตายอย่างไรเล่า?"
พระภิกษุกราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่เพียงคืนหนึ่ง กับวันหนึ่งเท่านั้น"
พระภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันเดียว คือเช้าจนค่ำเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงฉันข้าวมื้อเดียวเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงฉันข้าวสี่ห้าคำเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงฉันข้าวคำเดียวเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงหายใจเข้า และหายใจออกเท่านั้น"
พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุผู้ระลึกถึงความตายว่าอาจมีชีวิตอยู่เพียงหายใจเข้า และหายใจออกเท่านั้น และภิกษุผู้ระลึกว่าอาจมีชีวิตอยู่เพียงฉันข้าวคำเดียวเท่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท มีมรณสติเข้มแข็งว่องไว นอกจากนั้นยังชื่อว่าเป็นผู้ประมาท มีมรณสติอ่อนช้าอยู่ เนื่องจากว่าระยะกาลแห่งชีวิตนี้สั้นนัก จะไว้ใจว่าจะยังไม่ถึงที่ตายหาได้ไม่
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ฝ่ายมหายาน หรือวัชรยาน ล้วนแต่สรรเสริญคุณแห่งการเจริญมรณานุสสติเท่านั้น
ดังนั้น การที่คุณพัลลภ กฤตยานวัช ได้ใช้ความพยายามในการแปลธรรมนิพนธ์เรื่อง "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" อันมีเนื้อหาที่ย้ำเน้นให้มีการเจริญมรณานุสสติ ที่ประพันธ์โดยท่านทะไลลามะองค์ที่เจ็ด ออกสู่สายตาประชาชน อาตมาเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขออนุโมทนาสาธุในความอุตสาหะพยายาม
ขอให้ผู้ที่ได้อ่านธรรมนิพนธ์นี้ จงพยายามเจริญมรณานุสสติ
เพื่อเจริญก้าวหน้าในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้นไป
พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม)
ตำบลเสม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานีนะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าธรรมชาติของจิตนั้นไหลลงต่ำ
จะขึ้นสูงต้องออกแรงทวนกระแส
เพราะฉะนั้นให้ถามตัวเองว่าเราคิดดีได้เป็นปกติหรือยัง
ถ้ายัง ก็ยอมรับตรงๆ ว่ายัง..
อย่าหลอกตัวเองว่าดีแล้ว
เพราะผลเสียหายไม่ใช่ใครอื่น นอกจากตัวเราเองที่ยังหลงวน
ไม่รู้ตัวว่าขาดเสบียงเพื่อความพร้อมตาย... ณ มรณา คำนำของผู้แปลพากย์ภาษาไทย
ธรรมกวีนิพนธ์เรื่อง "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" หรือ "อนิจจังสมมติ" ประพันธ์โดย คยาล-วา-คาล-ซัง คยา-ทโส ทะไลลามะองค์ที่เจ็ดแห่งทิเบต แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เกลน เอ็ช มูลลิน เป็นธรรมคีตาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย และความเป็นอนิจจังของชีวิต และสรรพสิ่ง โดยใช้ปรากฏการณ์รอบ ๆ ตัวเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ มีถ้อยสุนทร และสารัตถะลึกซึ้ง สร้างความดื่มด่ำสะเทือนใจก่อให้เกิดธรรมสังเวช เป็นเครื่องเจริญมรณานุสสติได้อย่างดียิ่ง
ธรรมนิพนธ์นี้ เป็นที่นิยม และโปรดปรานของชาวทิเบตจำนวนมาก แม้แต่ท่านเท็นสิน กยัตโช ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน (องค์ที่สิบสี่) ก็ได้นำธรรมนิพนธ์นี้มาอ่านออกเสียง ให้เหล่าพุทธบริษัทจำนวนมากรับฟัง ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อปี ๒๕๒๑
ผู้แปลมีโอกาสได้ไปพักแรม ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ในบรรยากาศป่าที่เงียบสงบท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเย็นสบาย จึงได้แปลธรรมนิพนธ์นี้ขึ้น และได้นำร่างบทแปลนี้อ่านถวาย ท่านอาจารย์โพธิ์ จันทสโร (พระภาวนาโพธิ์คุณ) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล - สวนโมกข์ ซึ่งท่านได้กรุณาเสนอแนะถ้อยคำสำนวนแปลในบางบท บางตอนให้ รวมทั้งได้กล่าวคำอนุโมทนาสาธุในการแปลธรรมนิพนธ์นี้ด้วย นับเป็นพระคุณอย่างสูงสุดแก่ผู้แปล
อนึ่ง ผู้แปลขอกราบขอบพระคุณ ท่านลามะเกลน เอ็ช มูลลิน ที่เมตตาอนุญาตให้ตีพิมพ์บทแปลภาษาอังกฤษ ท่านจันทร์ (สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ) ที่กรุณาช่วยตรวจทานสำนวนแปลภาษาไทยเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งได้มอบบทนำอันล้ำค่าให้ด้วย สุดท้ายขอขอบคุณสำนักพิมพ์ Dharma Publishing ที่อนุญาตให้นำภาพศิลปะลายเส้นอันวิจิตรมาตีพิมพ์ในหนังสือฉบับนี้
ผู้แปลขอน้อมรำลึก และขออุทิศน้ำพักน้ำแรงในการแปลธรรมนิพนธ์เล่มน้อยนี้ เป็นอาจารยบูชา ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เป็นพระธรรมาจารย์ และท่านปัญญานันทะภิกขุ ผู้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ ผู้ส่องเส้นทางพุทธมรรคาแก่ผู้แปลมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖
ขอผลบุญกุศลแห่งการแปลเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานนี้ จงแผ่ไปถึงมารดาบิดาผู้ล่วงลับของผู้แปล กับทั้งเหล่าสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมมรรคา และขอให้ท่านผู้อ่านธรรมนิพนธ์นี้ จงมีสำนึกในอนิจจังของสรรพสิ่ง และมีมรณสติกำกับตนอยู่ทุกเมื่อ ไม่ประมาทในชีวิตที่เหลือ ขอให้มีความสุขกายสบายใจ มุ่งหน้าก้าวไปตามแนวทางแห่งธรรมวิถี จวบจนบรรลุเป้าหมายแห่งอิสรภาวะจงทั่วทุกท่านเทอญ.
พัลลภ กฤตยานวัช
๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
ปล. สาวิกา ผู้พิมพ์เผยแพร่ ขอกราบขอบพระคุณคุณพัลลภ กฤตยานวัช ที่ได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้แก่สาวิกา ทำให้ได้มีโอกาสนำมาพิมพ์เผยแพร่ ให้หลาย ๆ ท่านได้มีโอกาส ได้พิจารณาธรรมนิพนธ์บทนี้โดยถ้วนหน้ากันค่ะ