ข้อความโดย: sithiphong
« เมื่อ: มกราคม 06, 2013, 07:21:00 pm »จะเกิดเป็นเทวดาได้อย่างไร
สิงหาคม 16, 2011 โดย ธ. ธรรมรักษ์
-http://torthammarak.wordpress.com/2011/08/16/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2/-
การเกิดของเทวดาไม่เหมือนกับการเกิดของพวกเราเหล่ามนุษย์ ไม่ต้องเกิดในท้องแม่ให้ยุ่งยาก เมื่อหมดอายุขัยหรือตายจากภพเดิมไปแล้ว ก็มาเกิดไปทันทีแถมกลายเป็นหนุ่มเป็นสาว โตเต็มที่แบบทันตาเห็นไม่ต้องไล่เรียงเป็นเด็กแล้วเป็นผู้ใหญ่ตามกาลเวลา การเกิดแบบนี้เรียกว่าเป็น “โอปปาติกะ” เป็นการเกิดแบบหนึ่ง ซึ่งในทางพุทธศาสนาแบ่งการเกิดของสัตว์ทั้งหลายเอาไว้ 4 แบบ ขออนุญาตอธิบายเพื่อที่จะให้ทุกท่านได้เข้าใจ คือ
1. การเกิดแบบ “ชลาพุชะ” คือ พวกสัตว์ทั้งหลายที่ต้องเกิดในครรภ์ หรืออาศัยท้องแม่มาเกิดอย่างพวกมนุษย์เรา หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลือดอุ่นหลายๆ ประเภทก็คือแบบ ชลาพุชะนี่แหละครับ
2. การเกิดแบบ “อัณฑชะ” อ่านคำว่า อัณฑะ แปลความได้ว่าเกิดมาจากไข่แล้วก็ฟักออกมาเป็นตัวอย่างพวกไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกทั้งหลายที่เราเอาไข่พวกมันมาทำเป็นอาหารแบบต่าง ๆ
3. การเกิดแบบ “สังเสทชะ” พวกนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำลงไปอีกต่ำกว่า อัณฑชะ คือเกิดมาจากของแฉะชื้นสกปรกและของเน่าของบูดทั้งหลายอย่างพวกหนอน สัตว์ชั้นต่ำและแพร่พันธ์ออกไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าอยากลองพิสูจน์ ก็ลองสังเกตเศษอาหารเน่าๆ ที่ทิ้งไว้ข้ามคืนดูครับ รับรองว่าหนอนขึ้นมายั้วเยี้ยเต็มไปหมดแน่นอน
4. การเกิดแบบ “โอปปาติกะ” อย่างที่เรียนไว้ตั้งแต่ต้นคือพวกนี้พิเศษกว่า 3 แบบแรกคือตาปกติ หรือตาเนื้อของคนเราทั่วไปที่มองไม่เห็น ต้องเป็นผู้ที่มีพลังจิตกล้าแข็งได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีมีความสามารถพิเศษ (คำพระท่านว่ามี อภิญญาจิต)
พวกที่เกิดเป็นโอปปาติกะเกิดมาแล้วก็มีร่างกายเติบโตเต็มที่และไม่มีวันแก่ลง เวลาตายก็ตายแบบหายวับไปเลยไม่มีการเหลือซากให้เก็บ พวกที่เกิดแบบโอปปาติกะ ก็มี เหล่าเทวดาและ พระพรหม เปรต อสุรกาย สัตว์นรกเหล่านี้เป็นโอปปาติกะเช่นเดียวกัน
การจะไปเกิดเป็นเทวดานั้นก็เกิดมาจากดวงจิตวิญญาณ ที่มาจากมนุษย์หรือสัตว์ที่ตายแล้วแต่ว่าดวงจิตนั้นมีความบริสุทธิ์อยู่ คือ หากเป็นมนุษย์ก็คือเป็นคนที่มีการทำบุญทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาอยู่ตลอดทำให้จิตใจบริสุทธิ์ก่อนที่จิตจะออกจากร่าง แต่ว่าจิตนั้นก็ยังไม่ถึงขนาดที่ว่าสำเร็จได้เป็นฌาน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีธรรมและบุญกุศลที่ได้ทำมาทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดาได้
เรื่องนี้มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลมาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นเพียงคนงานในบ้านของ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” มหาเศรษฐีผู้ใจบุญที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากที่สุดในพุทธศาสนา
ชายหนุ่มคนนี้เพิ่งจะเข้ามาทำงานในบ้านของเศรษฐีผู้ใจบุญมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมากโดยทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จะถือศีล 8 ให้บริสุทธิ์และบอกให้ทุกคนในบ้านได้รักษาศีล 8 ไปด้วยซึ่งทุกคนก็ยินดีปฏิบัติตามเป็นการสร้างบุญที่ดีแต่เจ้าหนุ่มผู้นี้เป็นผู้มาใหม่จึงยังไม่ทราบในเรื่องนี้
ในวันพระวันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็บอกให้หัวหน้าคนงานไปบอกให้เจ้าหนุ่มผู้นั้นว่าวันนี้เป็นวันศีลและจะไม่มีการกินข้าวเย็นกัน แต่ก็ยังไม่มีใครเจอกับเจ้าหนุ่มคนนั้น เพราะฝ่ายเจ้าหนุ่มผู้นั้นต้องไปทำงานในป่าตั้งแต่เช้าจนค่ำ ท่านเศรษฐีรู้ดังนั้นจึงพิจารณาว่า ถ้าหากให้บ่าวผู้มาใหม่นี้อดถือศีล 8 เลยทันทีเกรงจะเป็นอันตรายต่อร่างกายจึงให้คนเตรียมอาหารไว้ให้หนุ่มคนนี้ด้วย
พอตกเย็นเจ้าหนุ่มก็เข้ามาที่โรงครัว จึงพบกับความประหลาดใจ เพราะปกติเวลาอาหารจะมีคนมากมายในบ้าน จะต้องมาร้องขอข้าวขอแกงกันเสียงดังเต็มโรงครัว แต่วันนี้กลับมีเพียงตนเองเพียงคนเดียวเท่านั้นจึงได้ออกปากถามหัวหน้าโรงครัว
ซึ่งหัวหน้าโรงครัวก็ได้อธิบายเรื่องวันศีล และข้อปฏิบัติที่คนที่ถือศีล 8 นั้น ต้องงดเข้าเย็น แม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่หย่านมก็จะให้กินของที่มีรสหวานอย่างอื่นแทน พอตกเย็นก็สวดมนต์ร่วมปฏิบัติธรรมกัน แต่เพราะเห็นว่าชายหนุ่มคนนี้ เพิ่งมาอยู่ใหม่ยังไม่รู้เรื่อง จึงสั่งให้หุงหาอาหารไว้ให้เจ้าหนุ่มนั้นแต่เพียงผู้เดียวเพราะกลัวจะหิวเกินไป
ฝ่ายเจ้าหนุ่มได้ยินดังนั้น ก็เกิดจิตกุศลขึ้นมานึกอยากจะถือศีลกับเขาด้วย จึงสละอาหารที่ตั้งใจมากินหลังจากทำงานหนักมาทั้งวัน และก็ได้ขอร้องหัวหน้าพ่อครัวให้ไปขออนุญาตต่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเรื่องการขอถือศีลด้วย และจะไม่กินอาหารเย็นเหมือนทุกคน ซึ่งเศรษฐีก็รับคำให้การอนุญาตให้อธิษฐานถือศีลไปเลย
แต่ทว่าเพราะความที่ทำงานมาหนักและเหนื่อยมาก เจ้าหนุ่มก็ต้องทนทรมานเพราะความหิว แม้ว่าจะทรมานเพียงใด หนุ่มผู้เห็นดวงตาธรรม ก็ไม่ยอมกินอาหารเพราะตั้งจิตใจไว้ดีแล้วก็ต้องรักษาศีลให้ได้ เมื่อเวลาผ่านไปอาการทรมานก็กลายเป็นอาการป่วย และก็ยิ่งทรุดหนักลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วหัวหน้าคนงานจึงต้องไปตามอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปดูหนุ่มคนงานใหม่ที่กำลังป่วย
ท่านเศรษฐีมาถึงก็เข้าไปดูที่เรือนพักและพยายามจะให้เจ้าหนุ่มได้กินเภสัช (ในที่นี้ เภสัชนั้นหมายถึง พวกน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น ถือเป็นยาที่ใช้รักษาอาการป่วยโรคลม โรคกระเพาะได้ดี) ฝ่ายเจ้าหนุ่มเห็นเจ้านายมาก็ ถามท่านเศรษฐีว่า
“ท่านได้รับประทานอะไรแล้วหรือยังในเย็นนี้” ท่านเศรษฐีก็บอกไปตามความจริงว่าไม่ได้รับประทานอาหารใดๆ แต่เพราะว่าท่านได้ฝึกฝนมานานแล้วร่างกายจึงไม่เป็นอะไรรับสภาพได้แล้ว
เมื่อทราบความดังนั้น ชายหนุ่มก็คิดในใจว่า แม้แต่เจ้านายก็ยังดำรงตนฝึกฝนให้อยู่ในศีลได้นานมาโดยตลอด ส่วนตัวเขาแม้จะรักษาศีลเพียงครึ่งวันก็ต้องทำให้ได้เพราะไม่อยากเสียความตั้งใจ เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงไม่ต้องการกินอะไรเช่นเดิมแม้แต่ยา ส่งผลให้พอเวลารุ่งสางคนงานหนุ่มจอมดื้อผู้นั้นก็ได้เสียชีวิตลง
ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นพยายามจะรักษาศีล 8 ให้ได้อย่างยิ่งยวดก็ได้สร้างผลบุญกุศลให้กับชายหนุ่มผู้นี้อย่างมหาศาล ด้วยอานิสงส์แห่งบุญ พอเขาสิ้นใจตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็น “รุกขเทวดา” ประจำต้นไทรภายในบริเวณบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีทันที
มาได้มาเป็นเทวดาหนุ่ม ก็ได้อนุโมทนาคุณความดีของ อนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เป็นผู้น้อมสักการะแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งมาอย่างดี และรักษาศีล 8 เป็นประจำการ เทวดาหนุ่มรู้ดีว่าที่ได้เกิดมาเป็นเทวดา ก็เพราะเจริญรอยตามในคุณความดีของเศรษฐีนี้เองจึงให้ผลบุญกุศลเกิดขึ้นกับตัวเขา
เรื่องนี้พูดถึงการเกิดเป็นเทวดาอย่างชัดเจนของคนที่มีบุญ ในอานิสงส์ของบุญนั้นมาจากการสร้างบุญบารมีอย่างถูกต้องที่มาจากการทาน ศีล และการเจริญภาวนา แต่ไม่ใช่ว่ามีเพียงแต่มนุษย์ที่ได้เกิดเป็นเทวดาได้แต่เพียงอย่างเดียว
แม้เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีสิทธิ์ไปเกิดเป็นเทวดาได้เหมือนกัน หากก่อนตายจิตมีความบริสุทธิ์มากพอ และมีผลบุญในอดีตชาติคอยเป็นกำลังสนับสนุน เรื่องนี้มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดในหน้าประวัติศาสตร์ก็คือ เรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราช
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ท่านเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มากที่ได้ทำการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนมีความเจริญรุ่งเรืองมากมายไปทั่วทั้งชมพูทวีป จนเชื่อกันว่าผลบุญที่พระองค์ได้สร้างเอาไว้นั้นจะทำให้พระองค์จะต้องไปบังเกิดในดินแดนที่เป็นสุขในโลกสวรรค์อย่างแน่นอนแต่ว่าในภพชาติถัดไปของพระองค์ก็ยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เพราะยังมีวิบากกรรมไม่ดีที่หนักกว่าหรือกรรมหนักฝ่ายไม่ดีนั้นรอส่งผลอยู่ในชาติถัดไป ต้องได้รับผลกรรมหนักไม่ดีนั้นเสียก่อนจึงจะไปเสวยสุขได้ หรือเป็นไปตามจิตสุดท้ายก่อนตายที่สำคัญมากเป็นไปตามกฎแห่งกรรมไม่มีใครหนีพ้นไปได้
ซึ่งหลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชสิ้นพระชนม์แล้วพระองค์ก็ได้ไปบังเกิดเป็นงูเหลือมแทน เพราะก่อนพระองค์จะสวรรคตนั้น ได้ทรงพระดำริที่จะถวายพระราชทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนาอีก แต่ก็ได้มีพวกเหล่าขุนนางใกล้ชิดมาทัดทานเอาไว้
พระองค์จึงได้เกิดจิตโทสะขึ้น เมื่อสิ้นพระชนม์ไปจึงได้ไปเกิดสู่ทุคติภูมิกลายเป็นงูเหลือมเสียอย่างนั้น ตามจิตสุดท้ายที่ไปทางไม่ดี ไม่บริสุทธิ์พอที่จะไปเสวยบุญได้
และพระมหินทเถระซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งต่อมาได้บวชในบวรพระพุทธศาสนาจนสำเร็จบรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านได้นั่งเพ่งฌานสมาธิ เพื่อสืบค้นหาภพภูมิของพระราชบิดา เพราะอยากรู้ว่าเมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์จะได้ไปบังเกิดที่แห่งใด ก็พบว่าท่านต้องไปเกิดเป็นงูเหลือม สาเหตุเพราะจิตไม่บริสุทธิ์ก่อนตายจึงต้องกลายเป็นงูคอยจับปลาที่แม่น้ำกิน
พระมหินทเถระจึงได้เดินทางไปโปรดพระราชบิดา เมื่อพบกันแล้วจึงแสดงเทศนาธรรมให้งูเหลือมฟัง จนงูเหลือมได้ดวงตาเห็นธรรม และบรรลุเป็นพระโสดาบันทั้งๆ ที่ยังเป็นสัตว์เดรัจฉานและงูเหลือมผู้บรรลุธรรมตัวนี้ การตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะไม่ฆ่าสัตว์ เพื่อมากินเป็นอาหารอีกเลย
งูเหลือมนั้นพอไม่ได้กินอาหารใดๆ หรือกินสัตว์ใด ไม่นานนักงูเหลือมจึงได้ตายลงตามธรรมชาติ พองูเหลือมสิ้นใจ ซึ่งก็คือพระเจ้าอโศกมหาราชในอดีตชาติ ดวงวิญญาณของพระองค์ที่มีจิตบริสุทธิ์ก็ได้ล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ ไปเกิดเป็นเทวดาเสวยทิพย์สุขอยู่อีกนาน ด้วยผลบุญที่พระองค์ทรงเคยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้อย่างใหญ่หลวง
เรื่องที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างนั้น เพื่อจะทำให้ทุกท่านเห็นได้ว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็มีสิทธิ์ไปบังเกิดเป็นเทวดาได้หากมีจิตใจที่บริสุทธิ์มากพอก่อนจะตาย และการที่จิตจะบริสุทธิ์ได้นั้นเพราะจิตจะต้องได้ฝึกฝนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ด้วยการประกอบคุณงามความดีที่มีความแตกต่างกันไปในเจตนาของการทำความดี
ครูบาอาจารย์คนสำคัญท่านหนึ่งของเมืองไทย ได้เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า อย่าไปทำร้ายทำลายหรือเบียดเบียนสัตว์เป็นอันขาด เพราะอาจจะเป็นผู้มีบุญมาชดใช้กรรมอยู่ จะกลายเป็นการสร้างกรรมที่หนักกว่าปกติธรรมดาหลายเท่านัก จึงสอนให้ระมัดระวังในเรื่องนี้มาก
และขอนอกเรื่องสักนิด เพราะเกือบทุกครั้งที่มีการยกเรื่องในพระไตรปิฎกมากล่าวอ้างหรือเป็นตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ ก็จะมีคนถามว่าเรื่องเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ เชื่อได้มากน้อยแค่ไหน มีใครยืนยันได้ จะอยากจะขอกล่าวย้ำอีกครั้งว่า พระพุทธศาสนานั้นคนที่ปฏิบัติจะทราบด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีคนอื่นมาบอก
และทุกเรื่องที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกที่ถือว่าเป็นคัมภีร์แห่งศาสนาพุทธนั้น เป็นเรื่องจริงที่ได้มีการพิสูจน์มาแล้วกว่า 2,500 ปี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ รวมธรรมวินัยและข้อปฏิบัติของเหล่าสาวกในพระพุทธศาสนา
บางเรื่องมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง บางเรื่องเป็นเรื่องที่พระอรหันต์สาวกได้ไปเข้าเฝ้าและได้รับคำสอนมา และได้มีการบันทึกในภายหลังโดยพระอรหันต์สาวก และมีการตรวจสอบกันอย่างละเอียดทุกตัวอักษรมาหลายครั้งเพื่อความถูกต้อง
และที่สำคัญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ก่อนที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพานกับพระอานนท์ไว้ว่า พระพุทธองค์จะไม่แต่งตั้งสาวกท่านใดเป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ แต่ให้ยึดถือคำสั่งสอน พระโอวาทที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นจะเป็นตัวแทนของพระองค์ จนกว่าศาสนาพุทธจะเสื่อมสลายไป
ดังนั้น ถ้าเราที่บอกกับตนเองและคนอื่นว่า เป็น “ชาวพุทธ” ถ้าชาวพุทธไม่เชื่อคำที่มาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วเราจะไปเชื่อใครกันที่ไหนอีก อย่าตะแบงให้ตนเองต้องตกนรกอีกเลย
กลับมาทางเรื่องเทวดากันต่อ ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า ดวงจิตนั้นจะไปเกิดกับพ่อแม่เทวดาคู่ไหนในสวรรค์ ก็อยู่ที่ผลบุญไปสมพงศ์กับเทวดาคู่ไหนด้วย หากมีเจตนาบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ก็ไปเกิดเป็นเทวดาที่อยู่บนสวรรค์สูงขึ้นไปมากเท่านั้น เป็นการเลื่อนชั้นตามพลังบุญที่มีทั้งบุญเก่าและบุญใหม่ที่มีคนส่งไปให้
ยกตัวอย่างเรื่องการไปเกิดในภพภูมิเทวดา หากใครจะไปเกิดในเทวดาชั้นจตุมหาราชิกา ก็ต้องทำคุณงามความดี แต่การทำคุณงามความดีนั้นมีจุดประสงค์เพื่อหวังว่าผลที่ได้ทำบุญนั้นจะทำให้ตนเองมีความสุขหวังในผลคือทำดีแล้วก็หวังจะได้ดีสมกับที่ได้ทำ อย่างนี้เป็นต้น
หากใครจะไปเกิดเป็นเทวดาในชั้นที่สองอย่างดาวดึงส์ ก็ต้องทำความดีเหมือนกัน แต่คิดต่างกับคนที่ไปเกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งตรงที่ว่า ทำบุญรักษาศีลประกอบคุณงามความดีทั้งหลายเพราะคิดว่าเป็นการกระทำความดีที่ดีแล้ว คือไม่หวังว่าจะได้ผลของบุญอะไรแต่หวังว่าในความดีนั้นจะทำให้ตนเองมีความสุข
แต่เจตนาของผู้ทำบุญยังมีมากกว่านั้น เพราะในสวรรค์ชั้นที่สามนั้นเป็นที่อยู่ของเทวดาที่อยู่สูงกว่าชั้นสองได้เพราะเขาเหล่านั้นทำบุญสร้างบารมีด้วยความตั้งใจจริง มีจิตใจขวนขวายในพระธรรมไม่หวังผลอะไรตอบแทนเห็นว่าสมควรทำก็เลยทำ อย่างนี้จึงจะได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นที่สาม เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงชั้นสูงสุดคือ ชั้นที่หก ปรนิมมิตวสวัตดี นั่นก็เพราะในขณะที่เป็นมนุษย์นั้นประกอบบุญกุศลด้วยจิตที่ตั้งมั่นในธรรมทำบุญโดยไม่หวังผลใดๆ มีจิตใจบริสุทธิ์มากจึงได้เกิดมาอยู่ในชั้นเทวดาระดับสูงสุด
จะว่าไปเรื่องการมีอยู่ของเทพเทวดาทั้งหลายนี่ หลายท่านบอกว่า คงเป็นอุบายการสอนเรื่องการทำบุญด้วยใจเป็นอันดับแรกนั่นเอง คนที่อยากเกิดเป็นเทวดา ก็ควรจะรู้ว่า การทำบุญทำทานว่าทำบุญแบบไหนหรือทำด้วยอะไรจึงจะเกิดผลบุญมากที่สุด
ขอยกตัวอย่างเรื่อง คนสองคนที่มาทำบุญที่วัดแต่ได้บุญต่างกันที่ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า มีท่านเศรษฐีท่านหนึ่งได้บริจาคเงินสิ่งของทำบุญทำนุบำรุงพระอุโบสถมากมายด้วยกำลังทรัพย์ที่มี (ซึ่งไม่ทราบที่มาของทรัพย์เหล่านั้น) แต่ว่าเศรษฐีได้ขอร้องให้เอาชื่อของเขาติดไว้ที่สิ่งก่อสร้างเหล่านั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล
แต่ก็มีผู้ที่ต้องการทำบุญอีกคนหนึ่ง คนนี้เป็นเพียงคุณยายสูงอายุที่มีอาชีพทำขนมขายในตลาดวันๆ หนึ่งหารายได้ได้มาไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้นแต่ คุณยายคนนี้นำขนมมาถวายเป็นภัตตาหารพระตอนเช้าทุกวันถวายเสร็จก็รับพรกลับไปขายของต่อด้วยความสบายใจ ไม่ได้หวังจะได้อะไรมากกว่านั้น
พระอาจารย์เลยถามผมว่า “ทั้งสองที่มาทำบุญได้บุญเหมือนกันไหม” ผมซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ประสีประสาเพราะเพิ่งมาบวชใหม่และกำลังเริ่มเห็นสว่าง ก็บอกว่าก็คงได้บุญเหมือนกัน พระอาจารย์ท่านก็ว่า “ใช่ทั้งสองได้บุญเหมือนกันแต่ได้ไม่เท่ากันหรอกนะ ลองคิดดูเอาละกันว่า ใครที่น่าจะได้บุญมากกว่า ระหว่างเศรษฐีกับคุณยาย”
จึงเป็นการเฉลยในทางอ้อมแต่เป็นจริงว่า การทำบุญหรือการทำทานที่ได้บุญมากนั้น ไม่จำเป็นต้องทำด้วยทรัพย์มากเท่าไหร่ แต่อยู่ที่เจตนาของการทำบุญนั้นมีความบริสุทธิ์มากเท่าใด ดังที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านเคยเทศนาครั้งหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะละสังขารไว้ว่า
“…ทำบุญ ทำทาน ทำกุศล ไม่ว่ามากหรือน้อย วัตถุมิใช่ตัวบุญแท้ ตัวบุญแท้มันเกิดที่หัวใจ คือ เจตนาของบุคคลนั้นต่างหาก
ถ้าเจตนาศรัทธาในขณะใด ในบุคคลใด ในสถานที่ใด ในที่นั้นๆ ได้บุญมาก
ฉะนั้น บุญในพุทธศาสนานี้ คนทำจึงไม่รู้จักหมดจักสิ้นสักที พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้สองพันกว่าปีแล้วว่า ทำบุญได้บุญเช่นไร มาในปัจจุบันนี้หรือในอนาคต ต่อไปก็ได้อย่างนั้นเช่นเคย
คนทำบุญมากเท่าไรก็จะได้บุญมากเท่าที่ตนนั้นสามารถจะรับเอาไปได้ เหมือนกับคนนับเป็นหมื่นๆ แสนๆ ถือเทียนมาคนละเล่มไปขอจุดจากผู้ที่มีเทียนที่จุดอยู่แล้ว ย่อมได้แสงสว่างตามที่ตนมีเทียนเล่มโตหรือเล่มเล็ก ส่วนดวงเดิมที่ตนขอจุดต่อนั้นก็ไม่ดับเทียน หลายดวงยิ่งเพิ่มแสงสว่างยิ่งๆ ขึ้นไปอีก…”
หวังว่าทุกท่านพอจะเข้าใจในเรื่องบุญมากและบุญน้อยกันพอสมควร
http://torthammarak.wordpress.com/2011/08/16/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2/
.