ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 16, 2013, 04:26:58 pm »ปรมัตถธรรม
มีอยู่ ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน
******************
--->> จิต
จิต คือ ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ คือ มีการไปรับรู้อารมณ์อยู่เสมอ
******************
--->> เจตสิก
เจตสิก คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือ ประกอบกับจิต
จิตและเจตสิกจะเกิดร่วมกัน อุปมาจิตเหมือนน้ำใสๆ
เจตสิกเหมือนกับสีต่างๆ เมื่อเราเอาสีเขียวไปใส่ในแก้วน้ำ
แล้วคนๆ น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว แต่ว่าน้ำกับสีก็เป็นคนละอันกัน
อยู่ดี หรือจะเปรียบจิตเหมือนน้ำ เจตสิกเหมือนเครื่องแกง
เมื่อรวมกันก็กลายเป็นน้ำแกง แต่ก็เป็นคนละอันกันอยู่ดี
จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรม เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกัน
ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน
จิตจะเป็นไปต่างๆ ขึ้นกับอำนาจของเจตสิก เจตสิกเป็นเครื่องปรุง
อยากจะให้เป็นแกงอะไรก็ต้องมีเครื่องปรุงของแกงชนิดนั้น
(เช่นโลภะเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิต ก็คือ เกิดความโลภ เป็นต้น
******************
--->> รูป
ลักษณะของรูป รูปมีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป คือ เกิดขึ้นแล้วก็
แตกสลายไป รูปไม่สามารถจะรับรู้ได้ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้
ไม่เหมือนจิตเจตสิก เพราะจิตเจตสิกนี่รู้อารมณ์ได้ ไปจับไปรู้อารมณ์ได้
รูป จึงมีหน้าที่เกิดมาแล้วก็สลายตัวไปเท่านั้นเอง
(กายของเราก็เป็นรูป ต้นไม้ก็เป็นรูป ดินก็เป็นรูป น้ำก็เป็นรูป
เป็นต้น - deedi)
******************
--->> นิพพาน
นิพพาน นั้นมีลักษณะคือ สงบจากรูป นาม ขันธ์ห้า
สงบจากกิเลส คือนิพพานเป็นธรรมชาติที่พ้นจากการถูกปรุงแต่ง
จากเหตุปัจจัยทั้งสี่ (คือ กรรม จิต อุตุ และ อาหาร)
คือ ปัจจัยทั้งสี่ที่จะไปปรุงแต่งให้เกิดขึ้นหรือดับไปนั้นไม่มี
เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นธรรมที่ไม่มีความเกิดดับ
ไม่เหมือน จิต เจตสิก รูป ซึ่งถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยสี่
นิพพานเป็น อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง
ด้วยปัจจัยทั้งสี่ จึงไม่มีความเกิดความดับ
นิพพานเป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก
แต่ว่านิพพานก็มีอยู่โดยความเป็นธรรมารมณ์ คือเป็น
อารมณ์ที่มาปรากฏทางใจ
******************
ปรมัตถธรรม - สิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริง
******************
ในร่างกายในชีวิตของเราก็มีจิต เจตสิก รูป ขาดนิพพานไป นอกจากเราจะปฏิบัติวิปัสสนา
ให้ถึงจุดหนึ่งก็จะถึงไปรับ สัมผัสพระนิพพานได้
ใน จิต เจตสิก รูป นี้ เมื่อย่อลงมาแล้วก็คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ นั่นเอง
ถ้าย่อให้กว้างนิดก็คือ ขันธ์ห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
--->> สรุปว่า ปรมัตถธรรม (หรือ "สิ่งที่เป็นสาระ" - deedi) ก็คือ รูปกับนาม
รูป ก็คือธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นมา
ไม่สามารถรับรู้ อารมณ์ได้ ส่วน นาม ก็คือ ธรรมชาติที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้
การเจริญวิปัสสนาจึงต้องกำหนดดูรูปและนามนี้เอง ต้องทิ้งต้องปล่อยจากบัญญัติ
(ที่กล่าวไว้ข้างต้นให้พอเห็นภาพ แล้ว)
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์
เพราะจิตมีความเคยชินอยู่กับ บัญญัติ ถ้าเราเลือกกำหนดไม่ถูกจิตก็จะไปอยู่กับบัญญัติ
ตาม ความเคยชิน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเกิดปัญญารู้ตาม ความเป็นจริง ของธรรมชาติได้
ความเป็นจริงของธรรมชาติ (รูปกับนาม) นี้ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
(พระไตรลักษณ์) นั่นเอง
ถ้ากำหนดสติปัฏฐานอยู่กับรูปนาม (กาย เวทนา จิตและธรรม) แล้ว พระไตรลักษณ์
ก็จะค่อยๆ ปรากฏให้เห็น ด้วยปัญญา รู้แจ้ง
ค่อยๆ นำพาไปสู่ความเบื่อ หน่าย คลาย หลุด และพ้นจากกิเลสในที่สุด
******************
จาก วิปัสสนาภูมิ
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํงสี)
:http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-30/215970