ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 17, 2013, 05:12:06 pm »


                 

ขอบเขตความสำคัญของสมาธิ
การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ต่างๆ


การฝึกอบรมเจริญสมาธินั้น ย่อมมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่างๆ
กัน ขอให้พิจารณาตัวอย่างการใช้ประโยชน์ ดังนี้


 “ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา (การเจริญสมาธิ) มี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ
๑. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรม-
  สุขวิหาร
(การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)
 ๒. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อการได้
  ญาณทัสสนะ
 ๓. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสติและ
  สัมปชัญญะ

 ๔. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสิ้นไป
  แห่งอาสวะทั้งหลาย


 นี้เป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์ต่างๆ จากการฝึกอบรมสมาธิ
แบบที่ ๑ ได้แก่การเจริญรูปฌาณ ๔ ซึ่งเป็นวิธีเสวยความสุขแบบหนึ่ง ตามหลักที่แบ่งความสุขเป็น ๑๐ ขั้น ประณีตขึ้นไปตามลำดับ คือ กามสุข สุขในรูปฌาน ๔ ขั้น สุขในอรูปฌาน ๔ ขั้น และสุขในนิโรธสมาบัติ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ส่วนมากนิยมเจริญฌาน ๔ นี้ ในโอกาสว่าง เพื่อพักผ่อนอย่างสุขสบาย เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร
แบบที่ ๒ อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงการได้ทิพยจักษุ จึงเป็นตัวอย่างการนำสมาธิไปใช้ เพื่อผลทางความสามารถพิเศษประเภทปาฏิหาริย์ต่างๆ
 แบบที่ ๓ มีความหมายชัดอยู่แล้ว
 แบบที่ ๔ คือการใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญา หรือเป็นบาทฐานของวิปัสสนาโดยตรง เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ ความหลุดพ้นสิ้นอาสวะ


 ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์หรือความมุ่งหมายในการเจริญสมาธินี้ จะช่วยป้องกันและกำจัดความเข้าใจผิดพลาด เกี่ยวกับเรื่องสมาธิ และชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้เป็นอันมาก เช่น ความเข้าใจผิดว่าการบำเพ็ญสมาธิเป็นเรื่องของการถอนตัวไม่เอาใจใส่ในกิจการของสังคม หรือว่าชีวิตพระสงฆ์เป็นชีวิตที่ปลีกตัวโดยสิ้นเชิง ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

               

 ข้อพิจารณาต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดความเข้าใจผิดที่กล่าวแล้วนั้น
 - สมาธิ เป็นวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมาย ไม่ใช่ตัวจุดหมาย ผู้เริ่มปฏิบัติ
 อาจต้องปลีกตัวออกไป มีความเกี่ยวข้องกับสังคมน้อยเป็นพิเศษ
 เพื่อการปฏิบัติฝึกอบรมช่วงพิเศษระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงออกมามีบท
 บาททางสังคมตามความเหมาะสมของตนต่อไป
 อีกประการหนึ่ง การเจริญสมาธิโดยทั่วไป ก็มิใช่จะต้องมานั่งเจริญ
 อยู่ทั้งวันทั้งคืน และวิธีปฏิบัติก็มีมากมาย เลือกใช้ได้ตามความเหมาะ
 สมกับจริยา เป็นต้น

- การดำเนินปฏิปทาของพระสงฆ์ ขึ้นต่อความถนัด ความเหมาะสมของ
 ลักษณะนิสัย และความพอใจส่วนตนด้วย บางรูปอาจพอใจและ
 เหมาะสมที่จะอยู่ป่า บางรูปถึงอยากไปอยู่ป่า ก็หาสมควรไม่ มีตัว
 อย่างที่พระพุทธจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุบางรูปไปปฏิบัติธรรมในป่า 
 และแม้ภิกษุที่อยู่ป่า ในทางพระวินัยของสงฆ์ก็หาได้อนุญาตให้ตัดขาด
 จากความรับผิดชอบทางสังคมโดยสิ้นเชิงอย่างฤาษีชีไพรไม่


  - ประโยชน์ของสมาธิและฌานที่ต้องการในพุทธธรรม ก็คือภาวะจิตที่
 เรียกว่า “นุ่มนวล ควรแก่งาน” ซึ่งจะนำมาใช้เป็นที่ปฏิบัติการของ
 ปัญญาต่อไปดังกล่าวแล้ว ส่วนการใช้สมาธิและฌานเพื่อประโยชน์
 อื่นจากนี้ ถือเป็นผลได้พิเศษ และบางกรณีกลายเป็นเรื่องไม่พึง
 ประสงค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุน


 ตัวอย่างเช่น ผู้ใดบำเพ็ญสมาธิเพื่อต้องการอิทธิปาฏิหาริย์ ผู้นั้นชื่อ
 ว่าตั้งความดำริผิด
อิทธิปาฏิหาริย์นั้นอาจก่อให้เกิดผลร้ายได้มากมาย
 เสื่อมได้ และไม่ทำให้บรรลุจุดหมายของพุทธธรรมได้เลย 
 ส่วนผู้ใดปฏิบัติเพื่อจุดหมายทางปัญญา ผ่านทางวิธีสมาธิ และได้
 อิทธิปาฏิหาริย์ด้วย ก็ถือเป็นความสามารถพิเศษที่พลอยได้ไป

                   

  - อย่างไรก็ดี แม้ในกรณีปฏิบัติด้วยความมุ่งหมายที่ถูกต้อง แต่ตราบใด
 ยังไม่บรรลุจุดหมาย การได้อิทธิปาฏิหาริย์ย่อมเป็นอันตรายได้เสมอ
 เพราะเป็นเหตุให้เกิดความหลงเพลิน และความติดหมกมุ่น ทั้งแก่ตน
 และคนอื่น เป็นปลิโพธอย่างหนึ่ง และอาจเป็นเหตุพอกพูนกิเลสจน
 ถ่วงให้ดำเนินต่อไปไม่ได้ หรือถึงกับไถลออกจากทาง
 พระพุทธเจ้า
แม้จะทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย แต่ไม่ทรงสนับสนุน
 การใช้อิทธิปาฏิหาริย์ เพราะไม่ใช่วิถีแห่งปัญญาและความหลุดพ้นเป็น
 อิสระ
ตามพุทธประวัติจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์
 ในกรณีที่ต้องกำราบผู้ลำพองในฤทธิ์ ให้หมดพยศ แล้วสงบลง และ
 พร้อมที่จะรับฟังธรรม

  - สำหรับท่านผู้ฝึกอบรมก้าวหน้าไปในมรรคแล้ว หรือสำเร็จบรรลุจุดหมาย
 แล้ว มักนิยมใช้การเจริญสมาธิขั้นฌาน เป็นเครื่องพักผ่อนอย่างเป็น
 สุขในโอกาสว่าง เช่น พระพุทธองค์เอง แม้จะเสด็จจาริกสั่งสอน
 ประชาชนเป็นอันมาก เกี่ยวข้องกับคนทุกชั้นวรรณะ และทรงปกครอง
 คณะสงฆ์หมู่ใหญ่ แต่ก็ทรงมีพระคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ ฌานสีลี
 หมายความว่า ทรงนิยมฌาน ทรงพอพระทัยเจริญฌานเป็นที่พักผ่อน
 ในโอกาสว่าง เช่นเดียวกับพระสาวกเป็นอันมาก อย่างที่เรียกว่า
 ทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ที่ปรากฏว่าทรง
 ปลีกพระองค์ไปอยู่ในที่สงัดเป็นเวลานานๆ ถึง ๓ เดือน  เพื่อเจริญสมาธิ ก็เคยมี

                           

  - การนิยมหาความสุขจากฌาน หรือเสวยสุขในสมาธิ บุคคลใดจะทำแค่
 ไหนเพียงใด ย่อมเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่สำหรับผู้ยังปฏิบัติ ยังไม่
 บรรลุจุดหมาย หากติดชอบเพลินมากไป อาจกลายเป็นความ
 ประมาท ที่กีดกั้นหรือทำลายความก้าวหน้าในการปฏิบัติ และอาจ
 เป็นเหตุละเลยความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งถูกถือเป็นเหตุตำหนิได้
ถึงแม้จะเป็นความติดหมกมุ่นในขั้นประณีตก็ตาม

 อีกทั้งระบบชีวิตของภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ว่าตามหลักบท
 บัญญัติในทางวินัย ย่อมถือเอาความรับผิดชอบต่อสงฆ์คือส่วนรวม
 เป็นหลักสำคัญ ความเจริญรุ่งเรืองก็ดี ความเสื่อมโทรมก็ดี ความตั้ง
 อยู่ได้และไม่ได้ก็ดี ของสังฆะ ย่อมขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่รับผิดชอบ
 ต่อส่วนรวมนั้น เป็นข้อสำคัญประการหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในภาคว่าด้วย
มัชฌิมาปฏิปทาในแง่ประยุกต์ต่อไป


-http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8227/
อ้างอิง หนังสือพุทธธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 17, 2013, 03:31:12 pm »



ข) สมถะ-วิปัสสนา 
 โดยนัยนี้ วิถีแห่งการเข้าถึงจุดหมายแห่งพุทธธรรมนั้น แม้จะมีสาระสำคัญว่า ต้องประกอบพร้อมด้วยองค์มรรคทั้ง ๘ ข้อเหมือนกัน แต่ก็อาจแยกได้โดยวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมาธิ เหมือนเป็น ๒ วิถี หรือวิธี คือ

 ๑. วิธีการที่มุ่งเฉพาะด้านปัญญา คือการปฏิบัติอย่างที่กล่าวไว้บ้างแล้วในเรื่องสัมมาสติ เป็นวิธีปฏิบัติที่สติมีบทบาทสำคัญ คือ ใช้สมาธิแต่เพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติ หรือใช้สมาธิเป็นเพียงตัวช่วย แต่ใช้สติเป็นหลักสำคัญ สำหรับยึดจับหรือมัดสิ่งที่ต้องการกำหนดไว้ ให้ปัญญาตรวจพิจารณา นี้คือวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนา

 แท้จริงนั้น ในการปฏิบัติวิธีที่ ๑ นี้ สมถะก็มีอยู่ คือการใช้สมาธิขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็นแก่การทำงานของปัญญาที่เป็นวิปัสสนา แต่เพราะการฝึกตามวิธีของสมถะไม่ปรากฏเด่นออกมา เมื่อพูดอย่างเทียบกันกับวิธีที่ ๒ จึงเรียกการปฏิบัติในวิธีที่ ๑ นี้ว่าเป็นแบบ วิปัสสนาล้วน

 ๒. วิธีการที่เน้นการใช้สมาธิ เป็นวิธีปฏิบัติที่สมาธิมีบทบาทสำคัญ คือบำเพ็ญสมาธิให้จิตสงบแน่วแน่ จนเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า ฌาน หรือสมาบัติ ขั้นต่างๆ เสียก่อน ทำให้จิตดื่มด่ำแน่นแฟ้นอยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้นๆ จนมีความพร้อมอยู่โดยตัวของมันเอง ที่จะใช้ปฏิบัติการต่างๆ อย่างที่เรียกว่าจิตนุ่มนวล ควรแก่การงาน โน้มไปใช้ในกิจที่ประสงค์อย่างได้ผลดีที่สุด

 ในสภาพจิตเช่นนี้ กิเลสอาสวะต่างๆ ซึ่งตามปรกติฟุ้งขึ้นรบกวนและบีบคั้นบังคับจิตใจพล่านอยู่ ก็ถูกควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ในเขตจำกัด เหมือนผงธุลีที่ตกตะกอนในเวลาน้ำนิ่ง และมองเห็นได้ชัดเพราะน้ำใส เหมาะสมอย่างยิ่งแก่การที่จะก้าวต่อไป สู่ขั้นใช้ปัญญาจัดการกำจัดตะกอนเหล่านั้นให้หมดไปโดยสิ้นเชิง การปฏิบัติในชั้นนี้ทั้งหมดเรียกว่าเป็น สมถะ

 ถ้าไม่หยุดเพียงนี้ ก็จะก้าวต่อไปสู่ขั้นใช้ปัญญากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นเชิง คือ ขั้นวิปัสสนา คล้ายกับในวิธีที่ ๑ แต่กล่าวตามหลักการว่า ทำได้ง่ายขึ้นเพราะจิตพร้อมอยู่แล้ว
 การปฏิบัติอย่างนี้ คือ วิธีที่เรียกว่าใช้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา

ค) เจโตวิมุตติ-ปัญญาวิมุตติ; ปัญญาวิมุต-อุภโตภาควิมุต 
 ผลสำเร็จของการปฏิบัติตามวิถีที่ ๑ เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้น (เป็นอิสระสิ้นอาสวะ) ด้วยปัญญา

 เมื่อปัญญาวิมุตติเกิดขึ้น สมาธิขั้นเบื้องต้นที่ใช้เป็นฐานของการปฏิบัติมาแต่เริ่มแรก ก็จะมั่นคงและบริสุทธิ์สมบูรณ์เข้าควบคู่กับปัญญา กลายเป็น เจโตวิมุตติ แต่เจโตวิมุตติในกรณีนี้ไม่โดดเด่น เพราะเป็นเพียงสมาธิขั้นต้นเท่าที่จำเป็น ซึ่งพ่วงมาด้วยแต่ต้น แล้วพลอยถึงจุดสิ้นสุดบริบูรณ์ไปด้วยเพราะปัญญาวิมุตตินั้น

 ผลสำเร็จของการปฏิบัติตามวิถีที่ ๒ แบ่งได้เป็น ๒ ตอน
 ตอนแรก ที่เป็นผลสำเร็จของสมถะ เรียกว่า เจโตวิมุตติ คือ ความหลุดพ้น (เป็นอิสระพ้นอำนาจกิเลส-ชั่วคราว-เพราะคุมไว้ได้ด้วยกำลังสมาธิ) ของจิต และ
 ตอนที่ ๒ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ เหมือนอย่างวิถีแรก  เมื่อถึงปัญญาวิมุตติแล้ว เจโตวิมุตติที่ได้มาก่อนซึ่งเสื่อมถอยได้ ก็จะพลอยมั่นคงสมบูรณ์กลายเป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กลับกลายอีกต่อไป

 เมื่อแยกโดยบุคคลผู้ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติตามวิถีทั้งสองนี้
 ๑. ผู้ได้รับผลสำเร็จตามวิถีแรก ซึ่งมีปัญญาวิมุตติเด่นชัดออกหน้าอยู่อย่างเดียว เรียกว่า “ปัญญาวิมุต” คือผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
 ๒. ส่วนผู้ได้รับผลสำเร็จตามวิถีที่ ๒ เรียกว่า “อุภโตภาควิมุต” คือผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน (ทั้งด้วยสมาบัติและอริยมรรค)

ข้อที่ควรทราบเพิ่มเติมและเน้นไว้เกี่ยวกับวิถีที่สอง คือ วิถีที่ใช้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา ซึ่งผู้ปฏิบัติได้ผลสำเร็จเป็นอุภโตภาควิมุตนั้น มีว่า
๑. ผู้ปฏิบัติตามวิถีนี้ อาจประสบผลได้พิเศษในระหว่าง คือความสามารถต่างๆ ที่เกิดจากฌานสมาบัติด้วย โดยเฉพาะที่เรียกว่า อภิญญา ซึ่งมี ๖ อย่าง  คือ
 ๑) อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้- magical powers)
 ๒) ทิพพโสต (หูทิพย์- clairaudience หรือ divine ear)
 ๓) เจโตปริยญาณ (กำหนดใจหรือความคิดผู้อื่นได้- telepathy หรือ mind-reading)
 ๔) ทิพพจักขุ หรือ จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ หรือ รู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของตน- divine eye หรือ clairvoyance หรือ knowledge of the decease and rebirth of beings)
 ๕) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (การระลึกชาติได้- reminiscence of previous lives)
 ๖) อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะ- knowledge of the extinction of all cankers)


  จะต้องทราบว่า ความรู้ความสามารถพิเศษ ที่เป็นผลได้ในระหว่าง ซึ่งท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต(อาจจะ)สำเร็จนั้น หมายถึงอภิญญา ๕ ข้อแรก อันเป็นอภิญญาขั้นโลกีย์ (โลกิยอภิญญา)
  ส่วนอภิญญา ข้อที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ข้อเดียว ซึ่งเป็นโลกุตตร- อภิญญา เป็นผลสำเร็จสุดท้ายที่เป็นจุดหมาย ทั้งของพระปัญญาวิมุต และพระอุภโตภาควิมุต อันให้สำเร็จความเป็นพุทธะ และเป็นพระอรหันต์
  ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติไม่ว่าวิถีแรก หรือวิถีที่ ๒ คือ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาวิมุต หรืออุภโตภาควิมุต  ก็ต้องได้บรรลุอภิญญา ข้อที่ ๖ ที่เป็นโลกุตตระ คือ อาสวักขยญาณ

  แต่ท่านผู้อุภโตภาควิมุต อาจจะได้อภิญญาขั้นโลกีย์ ๕ ข้อแรกด้วย
  ส่วนท่านผู้ปัญญาวิมุต (วิถีแรก) จะได้เพียงอภิญญา ข้อที่ ๖ คือความสิ้นอาสวะอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา ๕ ที่เป็นผลสำเร็จพิเศษอันเกิดจากฌาน


 โลกิยอภิญญา ๕ นั้น ฤาษีโยคีก่อนพุทธกาลได้กันมาแล้วมากมาย
 ความเป็นพุทธะ ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นผู้ประเสริฐ อยู่ที่ความสิ้นอาสวกิเลสด้วยอาสวักขยญาณ ซึ่งทั้งพระปัญญาวิมุต และพระอุภโตภาควิมุต มีเสมอเท่ากัน

๒. ผู้ปฏิบัติตามวิถีที่ ๒ จะต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๒ ขั้นของกระบวนการปฏิบัติ
 การปฏิบัติตามวิถีของสมถะอย่างเดียว แม้จะได้ฌาน ได้สมาบัติขั้นใดก็ตาม ตลอดจนสำเร็จอภิญญาขั้นโลกีย์ทั้ง ๕ ตาทิพย์ หูทิพย์ อ่านใจผู้อื่นได้ มีฤทธิ์ต่างๆ ก็เป็นได้แค่ฤาษี โยคี ก่อนพุทธกาล ที่พระโพธิสัตว์เห็นว่ามิใช่ทางแล้ว จึงเสด็จปลีกออกมา
 ถ้าไม่ก้าวหน้าต่อไปถึงขั้นวิปัสสนา หรือควบคู่ไปกับวิปัสสนาด้วยแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมเป็นอันขาด



ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 17, 2013, 03:27:52 pm »


           

วิธีเจริญสมาธิ
 การปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมาธิ จนเป็นผลสำเร็จต่างๆ อย่างที่กล่าวแล้วนั้น ย่อมมีวิธีการหรืออุบายสำหรับเหนี่ยวนำสมาธิมากมายหลายอย่าง พระอรรถกถาจารย์ได้รวบรวมข้อปฏิบัติที่เป็นวิธีการต่างๆ เหล่านี้วางไว้ มีทั้งหมดถึง ๔๐ อย่าง คือ

 ๑. กสิณ ๑๐ เป็นการใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย โดยการเพ่งเพื่อให้จิต
  รวมเป็นหนึ่ง วัตถุที่ใช้เพ่ง ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง
  สีแดง สีขาว อากาศ (ช่องว่าง) และแสงสว่าง ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อ
  ให้เหมาะกับการใช้เพ่งโดยเฉพาะ
 ๒. อสุภะ ๑๐ พิจารณาซากศพในระยะต่างๆ รวม ๑๐ ประเภท
 ๓. อนุสติ ๑๐ ระลึกถึงอารมณ์ที่สมควรชนิดต่างๆ เช่น พระ
  พุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ศีล จาคะ เป็นต้น
 ๔. อัปปมัญญา ๔ เจริญธรรมที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา
  กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยใช้วิธีแผ่ไปอย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขต
 ๕. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กำหนดความเป็นปฏิกูลในอาหาร
 ๖. ธาตุววัฏฐาน ๑ กำหนดพิจารณาธาตุ ๔
 ๗. อรูป ๔ กำหนดอารมณ์ของอรูปฌาน ๔

 วิธีปฏิบัติ ๔๐ อย่างนี้ เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐  การปฏิบัติกรรมฐานเหล่านี้ต่างกันโดยผลสำเร็จ ที่วิธีนั้นๆ สามารถให้เกิดขึ้น สูงต่ำ มากน้อยกว่ากัน และต่างโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัยความโน้มเอียงที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ที่เรียกว่า “จริยา”  ต่างๆ เช่น อสุภะเหมาะสำหรับคนหนักทางราคะ เมตตาเหมาะสำหรับคนหนักในโทสะ เป็นต้น จริยา มี ๖ คือ
๑. ราคจริยา  ลักษณะนิสัยที่หนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม
 ๒. โทสจริยา  ลักษณะนิสัยที่หนักไปทางโทสะ ใจร้อนหุนหัน
 ๓. โมหจริยา ลักษณะนิสัยที่หนักไปทางโมหะ มักหลงลืม ซึมงง
 ๔. สัทธาจริยา ลักษณะนิสัยที่มากด้วยศรัทธา ซาบซึ้ง เชื่อง่าย
 ๕. พุทธิจริยา ลักษณะนิสัยที่หนักในปัญญา คล่องแคล่ว ชอบ
    คิดพิจารณาเหตุผล
 ๖. วิตักกจริยา ลักษณะนิสัยที่มากด้วยวิตก ชอบครุ่นคิดกังวล


 บุคคลใดหนักในจริยาใด ก็เรียกว่าเป็น “จริต” นั้นๆ เช่น ราคจริต โทสจริต เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่างๆ และลักษณะนิสัยเหล่านี้ เป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายไว้ต่างหาก


ก) ประโยชน์ที่แท้ และผลจำกัดของสมาธิ
สมาธิเป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็จริง แต่ก็มีขอบเขตความสำคัญที่พึงตระหนักว่า สมาธิมีความจำเป็นแค่ไหนเพียงใด ในกระบวนการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงวิมุตติ อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม ขอบเขตความสำคัญนี้ อาจสรุปดังนี้

 ๑. ประโยชน์แท้ของสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น อยู่ที่ทำให้จิตเหมาะแก่งาน ซึ่งจะนำมาใช้เป็นที่ทำการสำหรับให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลดีที่สุด และสมาธิที่ใช้เพื่อการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูงสุด
 ในทางตรงข้าม ลำพังสมาธิอย่างเดียว แม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด หากไม่ก้าวไปสู่ขั้นการใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของพุทธธรรมได้เป็นอันขาด
 ๒. ฌานต่างๆ ทั้ง ๘ ขั้น แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้ง แต่ในเมื่อเป็นผลของกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่าสมถะอย่างเดียว ก็ยังเป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น จะนำไปปะปนกับจุดหมายของพุทธธรรมหาได้ไม่

 ๓. หลุดพ้นได้ชั่วคราว กล่าวคือ ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลสำเร็จของสมาธินั้น กิเลสต่างๆ สงบระงับไป จึงเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นเหมือนกัน แต่ความหลุดพ้นนี้มีชั่วคราวเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะนั้นเท่านั้น และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้ ไม่ยั่งยืนแน่นอน ท่านจึงเรียกความหลุดพ้นชนิดนี้ว่าเป็นโลกิยวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์) และกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบ คือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)  และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)

 จากข้อพิจารณาที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า
 - ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น องค์ธรรมหรือตัวการสำคัญที่สุดที่เป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย จะต้องเป็น ปัญญา และ
 - ปัญญาที่ใช้ปฏิบัติการในขั้นนี้ เรียกชื่อเฉพาะได้ว่า “วิปัสสนา” ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องก้าวมาถึงขั้นวิปัสสนาด้วยเสมอ
 ส่วนสมาธิ แม้จะจำเป็น แต่อาจยืดหยุ่นเลือกใช้ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้ เริ่มแต่ขั้นต้นๆ  เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ (ท่านแสดงไว้ในระดับเดียวกับ ขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ ดู หน้า ๓๓๑)



ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 17, 2013, 02:31:25 pm »


                 

องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๘. สัมมาสมาธิ)

 สัมมาสมาธิ
เป็นองค์มรรคข้อสุดท้าย และเป็นข้อที่มีเนื้อหาสำหรับศึกษามาก เพราะเป็นเรื่องของการฝึกอบรมจิตในขั้นลึกซึ้ง เป็นเรื่องละเอียดประณีต ทั้งในแง่ที่เป็นเรื่องของจิตอันเป็นของละเอียด และในแง่การปฏิบัติ ที่มีรายละเอียดกว้างขวางซับซ้อน เป็นจุดบรรจบ หรือเป็นสนามรวมของการปฏิบัติ

 ในการบรรยายเรื่องนี้ เห็นว่า ถ้าจะแสดงเนื้อหาไปตามลำดับอย่างในองค์มรรคข้อก่อนๆ จะทำให้เข้าใจยาก จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีสรุปข้อควรทราบ ให้เห็นใจความไว้ก่อน แล้วจึงแสดงเนื้อหาต่อภายหลัง
 
ความหมาย และระดับของสมาธิ
ผลสำเร็จในระดับต่างๆ ของการเจริญสมาธิ
วิธีเจริญสมาธิ
ขอบเขตความสำคัญของสมาธิ
การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ต่างๆ


ความหมาย และระดับของสมาธิ
 “สมาธิ” แปลกันว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด คำจำกัดความของสมาธิที่พบเสมอ คือ “จิตตัสเสกัคคตา”  หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เอกัคคตา” ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป

 สมาธิ นั้น แบ่งได้เป็น ๓ ระดับ คือ
 ๑. ขณิกสมาธิ  สมาธิชั่วขณะ (momentary concentration) ซึ่ง
    คนสามัญทั่วไปสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการ
    ปฏิบัติหน้าที่กิจการงาน ในชีวิตประจำวัน ให้ได้ผลดี
 ๒. อุปจารสมาธิ  สมาธิเฉียดๆ  หรือจวนจะแน่วแน่  (neighbour-
    hood concentration)
 ๓. อัปปนาสมาธิ  สมาธิที่แน่วแน่แนบสนิท  (attainment concen-
    tration) สมาธิในขั้นฌาน เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่ง
    ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ

 “สัมมาสมาธิ” ตามคำจำกัดความในพระสูตรต่างๆ เจาะจงว่าได้แก่ ฌาน ๔ อย่างไรก็ดี คำจำกัดความนี้ ถือได้ว่าเป็นการให้ความหมายโดยยกหลักใหญ่เต็มรูปขึ้นมาตั้งเป็นแบบไว้ ให้รู้ว่าการปฏิบัติสมาธิที่ถูก จะต้องดำเนินไปในแนวนี้ ดังที่ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับเดียวกับขณิก-สมาธิ และอุปจารสมาธิ (ท่านลำดับไว้ระหว่างขณิกสมาธิกับอุปจารสมาธิ)

ผลสำเร็จในระดับต่างๆ ของการเจริญสมาธิ
 การเจริญสมาธินั้น จะประณีตขึ้นไปเป็นขั้นๆ โดยลำดับ
 ภาวะจิต ที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว  เรียกว่า “ฌาน” (absorption) ฌานมีหลายขั้น ยิ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไป องค์ธรรมต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ประกอบอยู่กับสมาธิ ก็ยิ่งลดน้อยลงไป
 ฌาน
  โดยทั่วไปแบ่งเป็น ๒ ระดับใหญ่ๆ และแบ่งย่อยออกไปอีกระดับละ ๔ รวมเป็น ๘ อย่าง เรียกว่าฌาน ๘ หรือสมาบัติ ๘ คือ
๑. รูปฌาน ๔ ได้แก่
  ๑) ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ประกอบ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ
   สุข เอกัคคตา
  ๒) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
  ๓) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ประกอบ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
  ๔) จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ประกอบ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

 ๒. อรูปฌาน ๔ ได้แก่
  ๑) อากาสานัญจายตนะ (ฌานที่กำหนดอากาศ-space อันอนันต์)
  ๒) วิญญาณัญจายตนะ (ฌานที่กำหนดวิญญาณอันอนันต์)
  ๓) อากิญจัญญายตนะ (ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ)
  ๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่
   ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

 การเพียรพยายามบำเพ็ญสมาธิ โดยใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สมถะ
 มนุษย์ปุถุชนเพียรพยายามบำเพ็ญสมาธิเพียงใดก็ตาม ย่อมได้ผลสำเร็จอย่างสูงสุดเพียงเท่านี้ หมายความว่า สมถะล้วนๆ ย่อมนำไปสู่ภาวะจิตที่เป็นสมาธิได้สูงสุด ถึงฌาน เพียงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เท่านั้น

 แต่ท่านผู้บรรลุผลสำเร็จควบทั้งฝ่ายสมถะ และวิปัสสนา เป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ สามารถเข้าถึงภาวะที่ประณีตสูงสุดอีกขั้นหนึ่ง นับเป็นขั้นที่ ๙ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือนิโรธสมาบัติ เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาดับ คือหยุดปฏิบัติหน้าที่ และเป็นความสุขขั้นสูงสุด