ข้อความโดย: sithiphong
« เมื่อ: มกราคม 19, 2013, 11:50:09 am »10 สุดยอด การค้นพบทางโบราณคดีในปี 2555 (ค.ศ.2012)
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358315611&grpid=01&catid=&subcatid=-
ธนิก เลิศชาญฤทธ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 11-17 มกราคม 2556
นิตยสาร Archaeology เจ้าเก่า ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของสถาบันโบราณคดีแห่งอเมริกา (Archaeological Institute of America) ที่มีมานานนับกว่าศตวรรษและสมาชิกนับแสนคนอยู่ทั่วโลก ได้จัดอันดับการค้นพบทางโบราณคดีที่มีคนกล่าวถึงกันมากและนับได้ว่าเป็นการค้นพบที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์ในอดีตได้มากขึ้น
การค้นพบหลักฐานโบราณคดีในปี 2555 ที่ผ่านมาที่จัดว่าเป็นสุดยอดการค้นพบ 10 อย่าง
มีดังต่อไปนี้
หน้ากากสุริยเทพที่เมืองเอลซ็อตซ์
1.
หน้ากากสุริยเทพของชาวมายา ทีมนักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยแห่งฮุสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ขุดค้นพบหน้ากากปูนปั้น ประดับรอบวิหารซึ่งตั้งอยู่บนพีระมิดที่เมืองเอลซ็อตซ์ (El Zotz) อายุระหว่าง ค.ศ.350 ถึง ค.ศ.400
หน้ากากปูนปั้นดังกล่าวมีขนาดสูงถึง 5 ฟุต ตกแต่งด้วยการเขียนสีแดงสด ทำเป็นรูปเทพหลายองค์ รวมถึงสุริยเทพด้วย นอกจากนี้ ยังมีรูปเทพีวีนัสและโลก
เป็นภาพชุดเล่าเรื่องการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ข้ามท้องฟ้า ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นหน้ากากที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนฟากฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเป็นกษัตริย์ในแบบแผนความเชื่อของชาวมายา
หน้ากากปูนปั้นดังกล่าวช่วยตอกย้ำสนับสนุนว่าชาวมายามีความเชื่อเรื่องสุริยเทพอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน
2.
นีแอนเดอร์ธาลกับความสามารถทางการแพทย์ มนุษย์นีแอนเดอร์ธาล (Neanderthals) ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในทวีปยุโรปเมื่อหลายแสนปีมาแล้วและสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว มีทักษะด้านต่างๆ หลากหลายกว่ามนุษย์โบราณกลุ่มอื่นที่เคยมีปรากฏบนโลก จะแพ้ก็แต่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกเราเท่านั้น
ล่าสุดนักโบราณคดีจากสเปนและอังกฤษศึกษาวิเคราะห์ซากกระดูกมนุษย์นีแอนเดอร์ธาล 5 คน (กำหนดอายุได้ประมาณ 47,000-50,000 ปีมาแล้ว) จากถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศสเปน
และพบวัตถุคล้ายคราบหินปูนติดอยู่ซอกฟันของมนุษย์ดังกล่าว
จากการศึกษาส่วนประกอบทางเคมีของวัตถุนั้นพบว่ามีสารที่มาจากสมุนไพรบางชนิดและยังพบว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธาลสูดควันจากกองไฟและบริโภคอาหารจากพืชบางชนิดที่มีรสขมและฝาด
ทีมนักโบราณคดีสรุปว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธาลคงมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและไม้เนื้อหอมซึ่งมีสรรพคุณทางยารักษาโรค
3.
การใช้สารพิษครั้งแรกในโลก แท่งไม้ที่มีรอยบาก ที่พบร่วมกับลูกปัดทำจากเปลือกไข่นกกระจอกเทศ เขี้ยวหมูที่มีรอยสลัก หัวธนูทำจากกระดูกสัตว์ และก้อนขี้ผึ้ง จากถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่นักโบราณคดีจากฝรั่งเศสค้นพบว่ามีเศษสสารที่มาจากถั่วพิษชนิดหนึ่ง
นักโบราณคดีจึงสรุปในเบื้องต้นว่าแท่งไม้นั้นคงใช้สำหรับทาสารพิษลงบนหัวธนูที่ใช้ในการล่าสัตว์ ทำนองเดียวกับที่ชนพื้นเมืองเผ่าซาน (San) ในแอฟริกาใต้ปัจจุบันก็ใช้กัน
ว่ากันว่าลำพังหัวธนูที่ทำจากกระดูกสัตว์คงไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ ฉะนั้น การใช้หัวธนูอาบยาหรือสารพิษจึงช่วย "หยุด" สัตว์ขนาดใหญ่ได้
จากการกำหนดอายุแท่งไม้ด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน (radiocarbon dating) พบว่ามีอายุประมาณ 44,000 ปีมาแล้ว
ดังนั้น จึงนับเป็นอุปกรณ์ในการใช้สารพิษที่เก่าแก่ที่สุดในโลกในขณะนี้
4.
หลุมฝังศพของชาวแอซเต็ก นักโบราณคดีเม็กซิโกขุดค้นพบซากกระดูกและกะโหลกของมนุษย์จำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น
(ประกอบด้วย หัวกะโหลก 45 หัว กระดูกขากรรไกร 250 อัน และโครงกระดูกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกฝังอย่างปริศนาในท่าคว่ำหน้า มือซ้ายวางบนหลัง มือขวาซุกอยู่ตรงบริเวณท้องใกล้สะดือ รอบๆ ร่างของเธอมีกระดูกและกะโหลกของมนุษย์ไม่น้อยกว่า 10 คน และยังมีภาชนะดินเผาฝังร่วมอยู่ด้วย)
ถูกฝังรวมกันอย่างหนาแน่นที่เมืองโบราณแห่งหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของชาวแอซเต็กเมื่อราว ค.ศ.1479
จากลักษณะของกระดูกและการนำกระดูกของมนุษย์หลายคนมาฝังรวมกันในสถานที่เดียวกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าซากกระดูกที่พบนั้นเป็นกระดูกของนักโทษหรือเชลยศึกษาที่ถูกจับมาประกอบพิธีบูชายัญ
ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชาวแอซเต็กประกอบขึ้นเพื่อให้โลกพิภพมาบรรจบและสื่อสารกับโลกสวรรค์ตามความเชื่อที่ปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน
5.
ค่ายทหารโรมันของจักรพรรดิซีซาร์ในเยอรมนี นักโบราณคดีเยอรมันค้นพบหลักฐานสำคัญหลายอย่างที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งใกล้เมืองเฮอร์เมสคีล (Hermeskeil) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี
หลักฐานโบราณคดีที่พบประกอบด้วยหมุดหรือตะปูรองเท้า ประตูทางเข้าค่ายทหาร ก้อนหินลักษณะแบนสำหรับปูพื้นถนนหรือทางเข้าค่ายทหาร หินบดเมล็ดพืชให้เป็นแป้งสำหรับทำอาหาร
ทำให้เชื่อว่าแหล่งที่ค้นพบเคยเป็นค่ายหรือที่ตั้งชั่วของคราวของกองทหารโรมันยุคของ จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว
นอกจากนี้ จากการสำรวจด้วยอุปกรณ์เรดาร์ยังพบว่าร่องรอยที่พักของทหารโรมันกระจายในพื้นที่เกือบ 260 ตารางกิโลเมตร
หลักฐานที่พบจากการสำรวจและขุดค้นยังสอดคล้องต้องกันกับบันทึกของจักรพรรดิซีซาร์ว่าพระองค์รณรงค์ทำสงครามขับไล่ชนเผ่ากัลลิก (Gallic) ในระหว่างช่วง 58-50 ปีก่อนคริสตกาล (ราว 2,060 ปีมาแล้ว) และสามารถปราบผู้นำและชนเผ่ากัลลิกให้อยู่ใต้การปกครองได้อย่างราบคาบ
นักโบราณคดีชาวเยอรมันท่านหนึ่งกล่าวว่าค่ายทหารแห่งนี้ตั้งอยู่ชัยภูมิที่ดีและใช้งานชั่วคราวเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น แต่ก็ทิ้งหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างไว้ให้ศึกษา
6.
งานประติมากรรมหินสลักที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป นักโบราณคดีได้ศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดอายุประติกรรมรูปอวัยวะเพศหญิงชิ้นหนึ่งซึ่งสลักลงบนหินอ่อนก้อนใหญ่หนัก 1.5 ตัน และสรุปว่าประติมากรรมหินสลักชิ้นนี้อายุอย่างน้อยประมาณ 37,000 ปีมาแล้ว
และนับเป็นงานศิลปะประเภทประติมากรรมสลักบนแผ่นหินที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในทวีปยุโรป
ประติมากรรมหินดังกล่าวพบที่เพิงผาแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
กลุ่มมนุษย์ที่เป็นผู้สลักประติมากรรมหินชิ้นนี้คงจะเป็นนักเก็บของป่า-ล่าสัตว์ ส่วนค่าอายุของประติมากรรมมาจากการกำหนดอายุกระดูกสัตว์ที่พบร่วมกับประติมากรรมหินสลักด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน
ศาสตราจารย์แรนดอล ไวท์ (Randall White) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาศิลปะโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในยุโรปกล่าวว่ารูปสลักที่เป็นรูปอวัยวะเพศหญิงนั้นเป็นสิ่งพบเห็นบ่อยครั้งในงานศิลปะโบราณในยุโรป โดยเฉพาะในรูปของงานสลักบนแผ่นหิน
ซึ่งอาจจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นที่รับรู้ร่วมกันของมนุษย์ในสมัยนั้น
7.
ภาชนะดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การผลิตภาชนะดินเผาสำหรับการบรรจุ กักเก็บ และหุงต้มอาหาร นับเป็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่สำคัญในสังคมมนุษย์ เดิมนักโบราณคดีส่วนมากเชื่อกันว่าการผลิตภาชนะดินเผาเกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกพืชและตั้งถิ่นฐานถาวรเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว
แต่จากการขุดค้นในถ้ำชื่อ Xianrendong ในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยทีมนักโบราณคดีจีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ได้พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนนับร้อยชิ้น
และจากการกำหนดอายุด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอนจากถ่านและกระดูกสัตว์จากชั้นดินล่างสุดที่มีเศษภาชนะดินเผาอยู่ด้วยนั้นได้ค่าอายุระหว่าง 19,000-20,000 ปีมาแล้ว
นับเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เก่าแก่กว่าที่เคยเชื่อกันตั้งหลายพันปี
เศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบเนื้อดินหยาบ หนา และมีการตกแต่งผิวด้วยลายจุด (เกิดจากการใช้ไม้จิ้มเป็นหลุมเล็กๆ) รอบส่วนบนของภาชนะ บางชิ้นยังมีเขม่าจากควันไฟติดอยู่
ซึ่งแสดงว่าน่าจะใช้สำหรับเป็นภาชนะหุงต้มอาหาร
8.
มัมมี่ "แฟรงเก้นสไตน์" แห่งสกอตแลนด์ เมื่อเอ่ยถึงมัมมี่ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงมัมมี่อียิปต์ แทบไม่มีคิดว่าจะพบมัมมี่ในพื้นที่อื่นใดของโลก
แต่ในหลายปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีค้นพบมัมมี่หรือซากมนุษย์ที่ยังอยู่ในสภาพเดิมนั้นในพื้นที่อื่นๆ นอกจากอียิปต์ เช่น เปรู (ทวีปอเมริกาใต้) และจีน (เอเชีย)
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยสำริด (ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว) บนเกาะแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ พบโครงกระดูกเพศชายและเพศหญิงคู่หนึ่ง ฝังในท่านอนงอเข่า
และจากการศึกษาตรวจสอบโครงกระดูกพบว่าร่างกายของคนทั้งสองได้รับการสงวนรักษาโดยแช่ไว้ในพรุ (peat bogs) ในเพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อเน่าเปื่อยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกนำมาฝังรวมกัน
ซึ่งนับเป็นหลักฐานการสงวนรักษาอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไว้ในลักษณะเดียวกับมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปในขณะนี้
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจและน่าตื่นตระหนกยิ่งกว่านั้นก็คือจากการศึกษาดีเอ็นเอพบว่าโครงกระดูกเพศชายนั้นมีกระดูกของคน 3 คนเป็นส่วนประกอบ กล่าวคือ ส่วนลำตัว ส่วนกะโหลกและคอ และส่วนขากรรไกร มาจากคนสามคน แต่ถูกจัดวางให้ดูราวกับว่าเป็นของคนคนเดียว
ในขณะที่โครงกระดูกเพศหญิงนั้นก็ประกอบด้วยกระดูกจากคน 3 คนเช่นกัน (กะโหลกเป็นของผู้ชาย ส่วนร่างกายเป็นของผู้หญิง และแขนเป็นของอีกคนหนึ่งซึ่งไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน)
ยิ่งกว่านั้นยังพบว่ากะโหลกจากโครงกระดูกเพศหญิงนั้นอายุเก่ากว่ากระดูกส่วนร่างกายถึง 50-200 ปี ซึ่งแสดงว่าเป็นกระดูกที่มาจากคนละคน
ขณะนี้นักโบราณคดียังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงมีการฝังศพในรูปแบบผสมที่มีทั้งกระดูกของผู้ชายและของผู้หญิงฝังรวมกันราวกับว่าเป็นกระดูกของคนคนเดียวกัน
นักโบราณคดีบางคนเสนอความเห็นว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน กล่าวคือ โครงกระดูกที่ประกอบด้วยกระดูกของคนหลายคนและมีอายุต่างกันเป็นเสมือนบันทึกทางกฎหมายว่าสถานที่หรือพื้นที่นั้นเป็นของลูกหลานผู้ตายที่อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
9.
สมบัติ 2,000 ปีที่อิสราเอล เมื่อฤดูร้อนปี 2012 ที่ผ่านมา นักโบราณคดีอิสราเอลค้นพบสมบัติล้ำค่า ซึ่งมีทั้งเหรียญเงินทองคำและเครื่อง ฝังไว้ในหลุมหรือกรุใต้ลานโล่งของอาคารโบราณแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล
กรุดังกล่าวน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงที่ชาวยิวลุกฮือต่อต้านทหารโรมัน และคงมีสตรีผู้หนึ่งรีบห่อและฝังสมบัติและเครื่องประดับมีค่าของเธออย่างเร่งรีบเพื่อซ่อนจากสายตาผู้คน และเธอคงไม่ได้กลับมาขุดเอากลับไป
(เธออาจถูกจับหรือเสียชีวิตระหว่างสงคราม)
10.
เรือพิธีศพที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์ นักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และทีมงานได้ทำการขุดค้นหลุมฝังศพของเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่งในสังคมอียิปต์โบราณ และได้ค้นพบหลุมแนวยาวฉาบด้านข้างด้วยอิฐ ภายในมีซากเรือไม้ยาวเกือบ 20 ฟุตและอายุเก่าแก่เกือบ 5,000 ปี นับเป็นซากเรือโบราณที่เก่าแที่สุดในอียิปต์
นักโบราณคดีเชื่อว่าการที่เรือถูกฝังร่วมกับศพของชนชั้นนำและสมาชิกครอบครัวของคนในสังคมชั้นสูงนั้นย่อมแสดงว่าเรือมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมอียิปต์โบราณ
นอกจากเรือแล้ว หลุมฝังศพดังกล่าวยังมีสิ่งของต่างๆ จำนวนมากรวมอยู่ด้วย เช่น ภาชนะดินเผา ถัง/ไหใส่เบียร์ แม่พิมพ์สำหรับทำขนมปัง
ส่วนเรือที่พบก็คงเป็นวัตถุพิธีกรรมที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ กล่าวคือ เรือเป็นพาหนะนำวิญญาณของผู้ตายข้ามจากภพหนึ่งไปยังภพใหม่
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358315611&grpid=01&catid=&subcatid=-
ธนิก เลิศชาญฤทธ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 11-17 มกราคม 2556
นิตยสาร Archaeology เจ้าเก่า ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของสถาบันโบราณคดีแห่งอเมริกา (Archaeological Institute of America) ที่มีมานานนับกว่าศตวรรษและสมาชิกนับแสนคนอยู่ทั่วโลก ได้จัดอันดับการค้นพบทางโบราณคดีที่มีคนกล่าวถึงกันมากและนับได้ว่าเป็นการค้นพบที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์ในอดีตได้มากขึ้น
การค้นพบหลักฐานโบราณคดีในปี 2555 ที่ผ่านมาที่จัดว่าเป็นสุดยอดการค้นพบ 10 อย่าง
มีดังต่อไปนี้
หน้ากากสุริยเทพที่เมืองเอลซ็อตซ์
1.
หน้ากากสุริยเทพของชาวมายา ทีมนักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยแห่งฮุสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ขุดค้นพบหน้ากากปูนปั้น ประดับรอบวิหารซึ่งตั้งอยู่บนพีระมิดที่เมืองเอลซ็อตซ์ (El Zotz) อายุระหว่าง ค.ศ.350 ถึง ค.ศ.400
หน้ากากปูนปั้นดังกล่าวมีขนาดสูงถึง 5 ฟุต ตกแต่งด้วยการเขียนสีแดงสด ทำเป็นรูปเทพหลายองค์ รวมถึงสุริยเทพด้วย นอกจากนี้ ยังมีรูปเทพีวีนัสและโลก
เป็นภาพชุดเล่าเรื่องการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ข้ามท้องฟ้า ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นหน้ากากที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนฟากฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเป็นกษัตริย์ในแบบแผนความเชื่อของชาวมายา
หน้ากากปูนปั้นดังกล่าวช่วยตอกย้ำสนับสนุนว่าชาวมายามีความเชื่อเรื่องสุริยเทพอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน
2.
นีแอนเดอร์ธาลกับความสามารถทางการแพทย์ มนุษย์นีแอนเดอร์ธาล (Neanderthals) ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในทวีปยุโรปเมื่อหลายแสนปีมาแล้วและสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว มีทักษะด้านต่างๆ หลากหลายกว่ามนุษย์โบราณกลุ่มอื่นที่เคยมีปรากฏบนโลก จะแพ้ก็แต่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกเราเท่านั้น
ล่าสุดนักโบราณคดีจากสเปนและอังกฤษศึกษาวิเคราะห์ซากกระดูกมนุษย์นีแอนเดอร์ธาล 5 คน (กำหนดอายุได้ประมาณ 47,000-50,000 ปีมาแล้ว) จากถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศสเปน
และพบวัตถุคล้ายคราบหินปูนติดอยู่ซอกฟันของมนุษย์ดังกล่าว
จากการศึกษาส่วนประกอบทางเคมีของวัตถุนั้นพบว่ามีสารที่มาจากสมุนไพรบางชนิดและยังพบว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธาลสูดควันจากกองไฟและบริโภคอาหารจากพืชบางชนิดที่มีรสขมและฝาด
ทีมนักโบราณคดีสรุปว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธาลคงมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและไม้เนื้อหอมซึ่งมีสรรพคุณทางยารักษาโรค
3.
การใช้สารพิษครั้งแรกในโลก แท่งไม้ที่มีรอยบาก ที่พบร่วมกับลูกปัดทำจากเปลือกไข่นกกระจอกเทศ เขี้ยวหมูที่มีรอยสลัก หัวธนูทำจากกระดูกสัตว์ และก้อนขี้ผึ้ง จากถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่นักโบราณคดีจากฝรั่งเศสค้นพบว่ามีเศษสสารที่มาจากถั่วพิษชนิดหนึ่ง
นักโบราณคดีจึงสรุปในเบื้องต้นว่าแท่งไม้นั้นคงใช้สำหรับทาสารพิษลงบนหัวธนูที่ใช้ในการล่าสัตว์ ทำนองเดียวกับที่ชนพื้นเมืองเผ่าซาน (San) ในแอฟริกาใต้ปัจจุบันก็ใช้กัน
ว่ากันว่าลำพังหัวธนูที่ทำจากกระดูกสัตว์คงไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ ฉะนั้น การใช้หัวธนูอาบยาหรือสารพิษจึงช่วย "หยุด" สัตว์ขนาดใหญ่ได้
จากการกำหนดอายุแท่งไม้ด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน (radiocarbon dating) พบว่ามีอายุประมาณ 44,000 ปีมาแล้ว
ดังนั้น จึงนับเป็นอุปกรณ์ในการใช้สารพิษที่เก่าแก่ที่สุดในโลกในขณะนี้
4.
หลุมฝังศพของชาวแอซเต็ก นักโบราณคดีเม็กซิโกขุดค้นพบซากกระดูกและกะโหลกของมนุษย์จำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น
(ประกอบด้วย หัวกะโหลก 45 หัว กระดูกขากรรไกร 250 อัน และโครงกระดูกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกฝังอย่างปริศนาในท่าคว่ำหน้า มือซ้ายวางบนหลัง มือขวาซุกอยู่ตรงบริเวณท้องใกล้สะดือ รอบๆ ร่างของเธอมีกระดูกและกะโหลกของมนุษย์ไม่น้อยกว่า 10 คน และยังมีภาชนะดินเผาฝังร่วมอยู่ด้วย)
ถูกฝังรวมกันอย่างหนาแน่นที่เมืองโบราณแห่งหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของชาวแอซเต็กเมื่อราว ค.ศ.1479
จากลักษณะของกระดูกและการนำกระดูกของมนุษย์หลายคนมาฝังรวมกันในสถานที่เดียวกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าซากกระดูกที่พบนั้นเป็นกระดูกของนักโทษหรือเชลยศึกษาที่ถูกจับมาประกอบพิธีบูชายัญ
ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชาวแอซเต็กประกอบขึ้นเพื่อให้โลกพิภพมาบรรจบและสื่อสารกับโลกสวรรค์ตามความเชื่อที่ปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน
5.
ค่ายทหารโรมันของจักรพรรดิซีซาร์ในเยอรมนี นักโบราณคดีเยอรมันค้นพบหลักฐานสำคัญหลายอย่างที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งใกล้เมืองเฮอร์เมสคีล (Hermeskeil) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี
หลักฐานโบราณคดีที่พบประกอบด้วยหมุดหรือตะปูรองเท้า ประตูทางเข้าค่ายทหาร ก้อนหินลักษณะแบนสำหรับปูพื้นถนนหรือทางเข้าค่ายทหาร หินบดเมล็ดพืชให้เป็นแป้งสำหรับทำอาหาร
ทำให้เชื่อว่าแหล่งที่ค้นพบเคยเป็นค่ายหรือที่ตั้งชั่วของคราวของกองทหารโรมันยุคของ จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว
นอกจากนี้ จากการสำรวจด้วยอุปกรณ์เรดาร์ยังพบว่าร่องรอยที่พักของทหารโรมันกระจายในพื้นที่เกือบ 260 ตารางกิโลเมตร
หลักฐานที่พบจากการสำรวจและขุดค้นยังสอดคล้องต้องกันกับบันทึกของจักรพรรดิซีซาร์ว่าพระองค์รณรงค์ทำสงครามขับไล่ชนเผ่ากัลลิก (Gallic) ในระหว่างช่วง 58-50 ปีก่อนคริสตกาล (ราว 2,060 ปีมาแล้ว) และสามารถปราบผู้นำและชนเผ่ากัลลิกให้อยู่ใต้การปกครองได้อย่างราบคาบ
นักโบราณคดีชาวเยอรมันท่านหนึ่งกล่าวว่าค่ายทหารแห่งนี้ตั้งอยู่ชัยภูมิที่ดีและใช้งานชั่วคราวเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น แต่ก็ทิ้งหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างไว้ให้ศึกษา
6.
งานประติมากรรมหินสลักที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป นักโบราณคดีได้ศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดอายุประติกรรมรูปอวัยวะเพศหญิงชิ้นหนึ่งซึ่งสลักลงบนหินอ่อนก้อนใหญ่หนัก 1.5 ตัน และสรุปว่าประติมากรรมหินสลักชิ้นนี้อายุอย่างน้อยประมาณ 37,000 ปีมาแล้ว
และนับเป็นงานศิลปะประเภทประติมากรรมสลักบนแผ่นหินที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในทวีปยุโรป
ประติมากรรมหินดังกล่าวพบที่เพิงผาแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
กลุ่มมนุษย์ที่เป็นผู้สลักประติมากรรมหินชิ้นนี้คงจะเป็นนักเก็บของป่า-ล่าสัตว์ ส่วนค่าอายุของประติมากรรมมาจากการกำหนดอายุกระดูกสัตว์ที่พบร่วมกับประติมากรรมหินสลักด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน
ศาสตราจารย์แรนดอล ไวท์ (Randall White) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาศิลปะโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในยุโรปกล่าวว่ารูปสลักที่เป็นรูปอวัยวะเพศหญิงนั้นเป็นสิ่งพบเห็นบ่อยครั้งในงานศิลปะโบราณในยุโรป โดยเฉพาะในรูปของงานสลักบนแผ่นหิน
ซึ่งอาจจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นที่รับรู้ร่วมกันของมนุษย์ในสมัยนั้น
7.
ภาชนะดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การผลิตภาชนะดินเผาสำหรับการบรรจุ กักเก็บ และหุงต้มอาหาร นับเป็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่สำคัญในสังคมมนุษย์ เดิมนักโบราณคดีส่วนมากเชื่อกันว่าการผลิตภาชนะดินเผาเกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกพืชและตั้งถิ่นฐานถาวรเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว
แต่จากการขุดค้นในถ้ำชื่อ Xianrendong ในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยทีมนักโบราณคดีจีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ได้พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนนับร้อยชิ้น
และจากการกำหนดอายุด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอนจากถ่านและกระดูกสัตว์จากชั้นดินล่างสุดที่มีเศษภาชนะดินเผาอยู่ด้วยนั้นได้ค่าอายุระหว่าง 19,000-20,000 ปีมาแล้ว
นับเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เก่าแก่กว่าที่เคยเชื่อกันตั้งหลายพันปี
เศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบเนื้อดินหยาบ หนา และมีการตกแต่งผิวด้วยลายจุด (เกิดจากการใช้ไม้จิ้มเป็นหลุมเล็กๆ) รอบส่วนบนของภาชนะ บางชิ้นยังมีเขม่าจากควันไฟติดอยู่
ซึ่งแสดงว่าน่าจะใช้สำหรับเป็นภาชนะหุงต้มอาหาร
8.
มัมมี่ "แฟรงเก้นสไตน์" แห่งสกอตแลนด์ เมื่อเอ่ยถึงมัมมี่ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงมัมมี่อียิปต์ แทบไม่มีคิดว่าจะพบมัมมี่ในพื้นที่อื่นใดของโลก
แต่ในหลายปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีค้นพบมัมมี่หรือซากมนุษย์ที่ยังอยู่ในสภาพเดิมนั้นในพื้นที่อื่นๆ นอกจากอียิปต์ เช่น เปรู (ทวีปอเมริกาใต้) และจีน (เอเชีย)
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยสำริด (ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว) บนเกาะแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ พบโครงกระดูกเพศชายและเพศหญิงคู่หนึ่ง ฝังในท่านอนงอเข่า
และจากการศึกษาตรวจสอบโครงกระดูกพบว่าร่างกายของคนทั้งสองได้รับการสงวนรักษาโดยแช่ไว้ในพรุ (peat bogs) ในเพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อเน่าเปื่อยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกนำมาฝังรวมกัน
ซึ่งนับเป็นหลักฐานการสงวนรักษาอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไว้ในลักษณะเดียวกับมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปในขณะนี้
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจและน่าตื่นตระหนกยิ่งกว่านั้นก็คือจากการศึกษาดีเอ็นเอพบว่าโครงกระดูกเพศชายนั้นมีกระดูกของคน 3 คนเป็นส่วนประกอบ กล่าวคือ ส่วนลำตัว ส่วนกะโหลกและคอ และส่วนขากรรไกร มาจากคนสามคน แต่ถูกจัดวางให้ดูราวกับว่าเป็นของคนคนเดียว
ในขณะที่โครงกระดูกเพศหญิงนั้นก็ประกอบด้วยกระดูกจากคน 3 คนเช่นกัน (กะโหลกเป็นของผู้ชาย ส่วนร่างกายเป็นของผู้หญิง และแขนเป็นของอีกคนหนึ่งซึ่งไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน)
ยิ่งกว่านั้นยังพบว่ากะโหลกจากโครงกระดูกเพศหญิงนั้นอายุเก่ากว่ากระดูกส่วนร่างกายถึง 50-200 ปี ซึ่งแสดงว่าเป็นกระดูกที่มาจากคนละคน
ขณะนี้นักโบราณคดียังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงมีการฝังศพในรูปแบบผสมที่มีทั้งกระดูกของผู้ชายและของผู้หญิงฝังรวมกันราวกับว่าเป็นกระดูกของคนคนเดียวกัน
นักโบราณคดีบางคนเสนอความเห็นว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน กล่าวคือ โครงกระดูกที่ประกอบด้วยกระดูกของคนหลายคนและมีอายุต่างกันเป็นเสมือนบันทึกทางกฎหมายว่าสถานที่หรือพื้นที่นั้นเป็นของลูกหลานผู้ตายที่อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
9.
สมบัติ 2,000 ปีที่อิสราเอล เมื่อฤดูร้อนปี 2012 ที่ผ่านมา นักโบราณคดีอิสราเอลค้นพบสมบัติล้ำค่า ซึ่งมีทั้งเหรียญเงินทองคำและเครื่อง ฝังไว้ในหลุมหรือกรุใต้ลานโล่งของอาคารโบราณแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล
กรุดังกล่าวน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงที่ชาวยิวลุกฮือต่อต้านทหารโรมัน และคงมีสตรีผู้หนึ่งรีบห่อและฝังสมบัติและเครื่องประดับมีค่าของเธออย่างเร่งรีบเพื่อซ่อนจากสายตาผู้คน และเธอคงไม่ได้กลับมาขุดเอากลับไป
(เธออาจถูกจับหรือเสียชีวิตระหว่างสงคราม)
10.
เรือพิธีศพที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์ นักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และทีมงานได้ทำการขุดค้นหลุมฝังศพของเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่งในสังคมอียิปต์โบราณ และได้ค้นพบหลุมแนวยาวฉาบด้านข้างด้วยอิฐ ภายในมีซากเรือไม้ยาวเกือบ 20 ฟุตและอายุเก่าแก่เกือบ 5,000 ปี นับเป็นซากเรือโบราณที่เก่าแที่สุดในอียิปต์
นักโบราณคดีเชื่อว่าการที่เรือถูกฝังร่วมกับศพของชนชั้นนำและสมาชิกครอบครัวของคนในสังคมชั้นสูงนั้นย่อมแสดงว่าเรือมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมอียิปต์โบราณ
นอกจากเรือแล้ว หลุมฝังศพดังกล่าวยังมีสิ่งของต่างๆ จำนวนมากรวมอยู่ด้วย เช่น ภาชนะดินเผา ถัง/ไหใส่เบียร์ แม่พิมพ์สำหรับทำขนมปัง
ส่วนเรือที่พบก็คงเป็นวัตถุพิธีกรรมที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ กล่าวคือ เรือเป็นพาหนะนำวิญญาณของผู้ตายข้ามจากภพหนึ่งไปยังภพใหม่