ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤษภาคม 04, 2013, 02:33:19 pm »อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรมทั้งหลายเสีย
: พ ร ะ ไ พ ศ า ล วิ ส า โ ล :
ความดีงามนั้น ไม่ว่ามาในรูปของศาสนา อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ตาม มีกับดักที่เราต้องรู้เท่าทันไม่เผลอพลัดตกลงไป กับดักนั้นคือความยึดติดถือมั่นจนเกิดความหลงตัวลืมตน หรือถูกกิเลสครอบงำใจโดยเฉพาะความโกรธเกลียด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความชั่วและความทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนว่า “ระวังความดีกัดเจ้าของ”
เมื่อต้นปีที่แล้ว นักการเมืองขวาจัดชื่อดังชาวดัตช์ผู้หนึ่ง (Geert Wilders) ให้สัมภาษณ์โจมตีศาสนาอิสลามว่าเป็นอุดมการณ์ “ฟาสซิสต์แบบเบ็ดเสร็จ” ว่าแล้วเขาก็เรียกร้องให้ “กำจัด” สัญลักษณ์ของศาสนานั้น รวมทั้งปิดมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้หมด เขาไม่รู้ตัวเลยว่าในขณะที่กล่าวหาคนอื่นว่าเป็นฟาสซิสต์นั้น เขากำลังทำตัวเป็นฟาสซิสต์อย่างชัดเจน
จะว่าไปแล้วความยึดติดถือมั่นนั้นไม่ว่ากับอะไรก็ตาม แม้กระทั่งกับสิ่งที่ดีงามหรือประเสริฐ ก็สามารถผลักดันให้เราทำสิ่งที่เลวร้ายได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อเจอคนที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งเดียวกับเรา เช่น ศาสนา ศีลธรรม อุดมการณ์ หรือประเพณีพิธีกรรม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจับอาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ในนามของศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ถือว่าดีงาม
เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมั่นว่าเรากำลังยึดถือสิ่งที่ดีงาม เป็นไปได้ง่ายมากที่เราจะมองคนที่คิดหรือนับถือต่างจากเราว่าเป็นคนที่หลงผิด และเห็นเขาเป็นคนเลวในที่สุด ทันทีที่เห็นว่าเขาเป็นคนเลว ความเกลียดโกรธก็ตามมา จากนั้นการมุ่งร้ายก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เริ่มจากการประณามหยามเหยียดเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ต่อด้วยการทำร้ายเขาด้วยวิธีสกปรก โดยรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะกระทำเช่นนั้น (“คนเลว ๆ อย่างมัน สมควรแล้วที่จะต้องเจอแบบนี้”) กลายเป็นว่ายิ่งเห็นเขาเป็นคนเลวมากเท่าไร ก็ยิ่งประจานตัวเองด้วยการทำสิ่งเลวร้ายมากเท่านั้น ยิ่งคิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น ก็ยิ่งถลำเข้าสู่ความเสื่อมจนตกต่ำย่ำแย่กว่าเขา
ความดีนั้นหากยึดติดถือมั่นมาก สามารถนำไปสู่การทำชั่วได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพบว่าคนอื่นไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีตามความคิดของตน ย่อมเกิดความเกลียดและโกรธตามมา ถ้าไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันครองใจ ก็สามารถทำร้ายเขาได้ง่ายมาก ไม่ด้วยการกระทำก็ด้วยคำพูด
สำหรับชาวพุทธนั้น ย่อมถือว่าพุทธศาสนาหรือพระธรรมนั้นประเสริฐที่สุด แม้กระนั้นก็พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนไว้ว่า “ธรรมที่เราแสดงนั้น ก็เพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ เปรียบได้กับพ่วงแพ (เมื่อถึงฝั่ง ก็วางไว้ไม่แบกขึ้นไปด้วย) ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมอันเราแสดงแล้ว อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรมทั้งหลายเสีย จะกล่าวทำไมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม”
: พ ร ะ ไ พ ศ า ล วิ ส า โ ล :
F/B Life is sharing by หมอก้อย.