บทนำพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากพุทธศาสนาของอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีนในพุทธศาสนานั้น สิ่งสำคัญก็คือการไม่มีตัวตนและการอยู่เหนือสิ่งที่เป็นคู่ทั้งหลาย ส่วนปรัชญาเต๋านั้นมีความรักในธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เป็นไปเอง เมื่อกระแสธรรมทั้งสองสายมาบรรจบกันเข้า ก่อให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่สิ่งหนึ่งขึ้นมา คือ พุทธศาสนานิกายเซ็น จนเกิดคำกล่าวขึ้นมาคำหนึ่งว่า “เซ็นมีพ่อเป็นพุทธ แม่เป็นเต๋า” พุทธศาสนานิกายเซ็นนั้นเน้นชีวิตในโลกนี้ และมีหลักสำคัญคือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอันเป็นสากลกับการตรัสรู้อย่างฉับพลัน
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งสากล มีอยู่แล้วในชีวิตของคนทุกคน เป็นธรรมชาติเดิมแท้ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย “ความคิดปรุงแต่ง” เป็นสิ่งที่บดบังธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนี้ไว้ ก่อให้เกิด “ตัวตน” และความยึดติดทั้งหลายขึ้นมา แบ่งแยกตัวเรากับสิ่งภายนอกให้ออกจากกัน เมื่อความคิดปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ตัวตนและความยึดติดทั้งหลายก็สูญสิ้น ไม่มีสิ่งที่เป็นของตรงกันข้าม เช่น ตัวเรากับสิ่งภายนอก ดีกับชั่ว หญิงกับชาย ทุกข์กับสุข ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเอกภาพเดียวกับธรรมชาติ และทั้งหมดเป็นเรื่องของการตื่นขึ้นโดยตรง หรือการตรัสรู้โดยฉับพลัน
ในการขจัดความคิดปรุงแต่งนั้น “สติ” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สติเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดปรุงแต่ง เมื่อไม่มีสติ ความคิดปรุงแต่งก็เกิดขึ้น เมื่อมีสติความคิดปรุงแต่งก็หายไป การเจริญสติของเซ็นเรียกว่า “ซาเซ็น” เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นการปลุกธาตุรู้ในตัวให้ตื่นขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้นักศึกษาหลุดออกมาจากวิธีคิดแบบตรรกะและความคิดปรุงแต่งของตน อาจารย์เซ็นจะไห้ “โกอาน” หรือปริศนาธรรมแก่นักศึกษาในเวลานั่ง “ซาเซ็น” “โกอาน” เป็นสิ่งที่ไม่อาจคิดได้ด้วยเหตุผลทางสมอง ด้วยการเจริญสติกระทั่งตัวเรากับ “โกอาน” จะเปิดเผยตัวเองออก ผู้ปฏิบัติธรรมของเซ็นจะขบปริศนาธรรม “โกอาน” ในเวลานั่ง “ซาเซ็น” และจิตใจจดจ่ออยู่ที่“โกอาน”นั้นตลอดเวลา ในชีวิตประจำวัน อาจารย์เซ็นจะช่วยเหลือนักศึกษาในอีกสองทาง คือ “โดกุซาน” การชี้แนะเป็นส่วนตัว และ “เตโช” การอธิบายธรรม อาจารย์เซ็นจะให้ข้อคิดต่าง ๆ แก่นักศึกษาเป็นส่วนรวมในขณะที่มี “เตโช” และจะแนะนำนักศึกษาเป็นรายบุคคลในขณะที่มี “โดกุซาน” ถือกันว่า “ซาเซ็น โดกุซาน เตโช” เป็นสิ่งสำคัญสามสิ่งในการปฏิบัติธรรมของเซ็น
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของ “โกอาน” ที่ใช้ปฏิบัติกันจริงในเวลานี้ภิกษุรูปหนึ่งถามท่านโจชู(เชา-โจว)ว่า “ในตัวสุนัขนั้นมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ด้วยหรือไม่” โจชูตอบว่า “มู”
เมื่อนักศึกษาได้รับ “โกอาน” นี้จากอาจารย์เซ็นแล้ว สิ่งที่เขาจะต้องกระทำก็คือสำรวมความรู้สึก ทั้งชีวิตจิตใจให้มาจดจ่ออยู่ที่ “มู” แต่เพียงอย่างเดียว คำว่า “มู” เป็นภาษาญี่ปุ่น มาจากภาษาจีนว่า “วู” แปลว่าความว่าง เขาต้องละลายความรู้สึกนึกคิดของตนเองทั้งหมดให้หายไปใน “มู” จนกระทั่งภายในและภายนอกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โกอาน “มู” ก็จะแตกออก เขาจะเกิดความแจ่มแจ้งในพุทธธรรมข้อนี้ทันที เป็นญาณทัศนะที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับของท่านโจชู เมื่อท่านตอบว่า “มู” ต่อคำถามที่ภิกษุรูปนั้นถาม
ความเห็นของท่านมูมอน อีไค (วู-เหมิน ฮุย-ไค) ใน “มูมอนคาน” (วู-เหมิน-กวน) มีดังนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เธอจะสำรวมความรู้สึกทั้งชีวิตจิตใจเพ่งพินิจอยู่แต่ “มู” ได้อย่างไร จงอุทิศกำลังกายกำลังใจที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการปฏิบัติ “มู” และถ้าเธอไม่ละความพยายามไปเสียก่อน เธอจะต้องได้รับความสว่างไสวแจ่มแจ้งในฉับพลัน ดุจคบที่จุดขึ้นในความมืดฉะนั้น ช่างน่ามหัศจรรย์เสียจริง ๆ !
และโศลกของท่านมูมอน อีไค มีว่า
สุนัข ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ปรากฏการณ์อันสมบูรณ์ของสิ่งทั้งหมด ทันทีที่เธอเริ่มคิดว่า “มี” หรือ “ไม่มี” ชีวิตของเธอจะหลงออกจากทาง
ด้วยการปฏิบัติ “ซาเซ็น” และการดำเนินชีวิตประจำวันที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ บุคคลก็จะเกิด “ปรัชญา” ปัญญารู้แจ้งในสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง และด้วยการเจริญสติแก้ปริศนาธรรม “โกอาน” ไปเป็นลำดับ ปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นก็เพิ่มขึ้นทุกที จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมอย่างถึงที่สุดแล้ว บุคคลนั้นก็จะเกิด “ซาโตริ” การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พุทธศาสนานิกายเซ็น มีหลักพื้นฐาน 5 ประการ ที่พอจะกล่าวถึงได้ ดังนี้ 1. “
ความจริงสูงสุด หรือหลักการแรก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูด”
ความจริงอันสูงสุดของเซ็นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ ดังคำพูดของเซ็นที่ว่า “การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวหนังสือ” ซึ่งก็ตรงกับคำพูดในปรัชญาเต๋าที่ว่า “เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง” และ “ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด” พุทธะอันสูงสุดนั้นคือธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้เอง เมื่อคำพูดและความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดั้งเดิมก็พลันปรากฏ
เซ็นจึงมุ่งที่ประสบการณ์ความตื่นของชีวิตมากกว่าคำพูด ประสบการณ์นี้จะเรียกว่า “ความว่าง” หรือ “ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ” หรือ “ธรรมชาติดั้งเดิม” หรือ “จิตหนึ่ง” ก็ได้ ตราบเท่าที่เรายังต้องเกี่ยวข้องกับภาษา แต่ภาษาเป็นเพียงนิ้วมือที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ สิ่งสำคัญคือดวงจันทร์ หรือประสบการณ์ของความตื่น มิใช่มาติดอยู่กับเพียงนิ้วมือที่ชี้ ประสบการณ์ของความตื่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด นอกจากต้องประสบด้วยตนเองจึงจะรู้ เปรียบเหมือนคนดื่มน้ำ ร้อนหรือเย็นรู้ได้เองไม่ต้องบอก ครั้งหนึ่ง มีผู้ถามอาจารย์เวน-อี้ (มรณภาพ พ.ศ. 1501) ว่า “อะไรคือหลักการแรก” ท่านตอบว่า “ถ้าฉันบอกเธอด้วยคำพูด มันจะกลายเป็นหลักการที่สองไป”
2. “
การฝึกฝนในทางธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกฝนกันได้ (
ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง)”
ในความคิดปรุงแต่งใด ๆ ก็ตาม จะมีความรู้สึกที่มีตัวตนประสมอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก ความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่งไม่ว่าจะเป็นการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า การท่องพระสูตร การบูชาพระพุทธรูป หรือการประกอบพิธีต่าง ๆ นั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ บุคคลควรปล่อยให้จิตใจเป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสของความคิดปรุงแต่ง และจะต้องเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นกันเอง การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้
อิ-ขวน ได้กล่าวไว้ว่า “ในการที่จะบรรลุความเป็นพุทธะนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างจงใจ มีวิธีเดียวเท่านั้นคือปฏิบัติภาระหน้าที่มีอยู่ไปตามปกติธรรมดา กล่าวคือ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ใส่เสื้อผ้า กินข้าว และเมื่อเหนื่อยก็ให้พัก ปุถุชนธรรมดาจะหัวเราะเยอะเธอ แต่ผู้มีปัญญาจะเข้าใจ”
3. “
ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ได้มาใหม่”
ประสบการณ์ของความตื่น ความรู้สึกตัวถึงเอกภาพอันแบ่งแยกมิได้ของสรรพสิ่งทั้งมวล การเห็นแจ้งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะภายในตน เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าได้อะไรมาใหม่ เพียงแต่เป็นการรู้แจ้งบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเท่านั้น ปัญหามีเพียงว่าที่เราไม่รู้สึกตัวถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง ในสภาวะของความตื่น เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติในส่วนลึกอันเร้นลับจะปรากฏตัวขึ้นแทนที่ และผู้กระทำจะกระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างปราศจากตัวตนและอย่างเป็นไปเอง
ฮวง-โป กล่าวว่า “เรื่องมันเพียงแต่ตื่นและลืมตาต่อ “จิตหนึ่ง” เท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร.. ถ้าเขาเหล่านั้นจะเพียงแต่ได้ขจัดความคิดปรุงแต่งเสียชั่วแวบเดียวเท่านั้น สิ่งซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงดังที่กล่าวนั้น จะแสดงตัวมันเองออกมาทันที เหมือนดวงอาทิตย์ที่โผล่ขึ้นมาท่ามกลางที่ว่าง และส่องสว่างทั่วจักรวาลโดยปราศจากสิ่งบดบังและขอบเขต”
4.
“ไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา”แท้จริงแล้วนั้น สิ่งที่เรียกว่าแนวความคิด ลัทธิ และคำพูด ไม่มีความหมายแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวคือประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น ในทัศนะที่แท้จริงแล้ว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาวพุทธ และไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายได้อยู่ตราบนั้น เนื่องจากการเน้นเสรีภาพและความเป็นเอง ข้อนี้เอง ที่อาจารย์อิ-ซวนได้สั่งสานุศิษย์ของท่าน “ฆ่าทุก ๆ สิ่งที่อยู่ขวางหน้า ถ้าเธอพบพระพุทธเจ้าก็ให้ฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย ถ้าเธอพบพระอรหันต์ทั้งหลายบนเส้นทางของเธอก็ให้ฆ่าท่านเหล่านั้นด้วย”
5. “
ในขณะที่กำลังหาบน้ำ ผ่าฟืน นั่นแหละ เป็นขณะแห่งการสัมผัสกับชีวิตทางธรรม”
การตรัสรู้นั้นไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบใด ในขณะแห่งการทำงานในชีวิตประจำวันก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งพุทธะเป็นสิ่งสากล เราอาจพบมันได้ในทุกหนทุกแห่ง ท่านเสียง-เหยนตื่นขึ้นสู่การตรัสรู้ขณะที่ท่านกำลังกวาดพื้นอยู่ ก้อนกรวดก้อนหนึ่งที่ท่านกวาดกระเด็นไปถูกลำไผ่เสียงดังแกร๊ก จิตใจของท่านได้สว่างโพลงขึ้นในบัดดล บทเพลงของจีนบทหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจิตใจที่เป็นอิสระท่ามกลางการงานในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้น
เราเริ่มต้นทำงาน
ทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน
เราพักผ่อน
เราขุดบ่อน้ำ
และเราดื่ม
เราไถหว่านบนพื้นดิน
และเรากิน
อำนาจอะไรของเทพเจ้าจะมาเกี่ยวข้องกับเรา พุทธศาสนานิกายเซ็นมีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลาช้านาน ศิลปวัฒนธรรมอันประณีตงดงามและเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นบทกวี ภาพเขียน ดนตรี การจัดสวนหิน หรือพิธีน้ำชา เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นอย่างแยกไม่ออก และในปัจจุบันเซ็นได้แพร่หลายไปทั่วโลก
“บทเพลงแห่งเซ็น” ที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทเพลงและบทกวีที่กล่าวถึงธรรมชาติและความหลุดพ้นแบบเซ็นที่อาจารย์เซ็นผู้รู้แจ้งในอดีตได้ประพันธ์ไว้ บทเพลงและบทกวีเหล่านี้มีลีลาที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความหมายอันล้ำลึก ทุกถ้อยคำได้กล่าวออกมาจากจิตใจที่รู้แจ้ง เปิดเผยถึงวิถีทางและธรรมชาติแต่ดั้งเดิมของมนุษย์ จึงเป็นทั้งคำอุทานต่อความปราโมทย์แห่งธรรม คำแนะนำตักเตือน คำสอน คำปลอบโยนและคำเร่งเร้าให้ยินดีเฉพาะต่อความหลุดพ้น การที่จะอ่านคำประพันธ์เหล่านี้ให้เข้าใจและได้รับรสแห่งธรรมรวมทั้งรสแห่งสุนทรียะนั้น จำเป็นที่ผู้อ่านจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจและการปฏิบัติธรรมแบบเซ็นมาพอสมควร บทนำนี้ได้พยายามทำความเข้าใจและอธิบายวิธีการแบบเซ็นมาพอสังเขป หวังว่า “บทเพลงแห่งเซ็น” คงมีส่วนช่วยเกื้อกูลกำลังใจและการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในเมืองไทยบ้างไม่มากก็น้อย
By :Steffen Gliese