ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: สิงหาคม 19, 2013, 09:42:33 pm »อรรถกถาที่อธิบายคัมภีร์ทั้งสองนี้ จึงอธิบายหมายเอาเฉพาะขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ดังนี้ :-
สพฺเพ ธมฺมาติ ปญฺจกฺขนฺธา เอว อธิปฺเปตา. อนตฺตาติ มา ชีรนฺตุ มา มียนฺตูติ วเส วตฺเตตุน สกฺกาติ อวสวตฺตนตฺเถน อนตฺตา สุญฺญา อสฺสามิกา อนิสฺสราติ อตฺโถ (ธมฺม.อ. ๗/๖๒ มมร.)
แปลว่า "ข้อความว่า ธรรมทั้งปวง ทรงประสงค์เอาเฉพาะขันธ์ ๕ ข้อความว่า เป็นอนัตตา อธิบายว่า ที่เป็นอนัตตา คือ เป็นสิ่งที่ว่างเปล่า เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ เป็นสิ่งที่ไม่มีอิสระ เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ เนื่องจากไม่มีใครสามารถบังคับให้อยู่ในอำนาจได้ว่า จงอย่าแก่ จงอย่าตาย"
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพฺเพปิ จตุภูมิกา ธมฺมา อนตฺตา. อิธ ปนเตภูมิกธมฺมาว คเหตพฺพา (เถร.อ. ๒/๖๗๘/๒๘๓ มจร.)
"ข้อความว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา หมายความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมด (คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ คือ มรรค ผล นิพพาน) เป็นอนัตตา แต่ในที่นี้พึงถือเอาเฉพาะธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ เท่านั้น" ถ้าเป็นกรณีที่แสดงแต่หลักทั่วไปเป็นกลาง ๆ ก็หมายเอาธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เช่น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (สํ.ข. ๑๗/๙๐/๑๐๕๑๐๖, ขุ.จูฬ. ๓๐/๘/๔๐ มจร.) "ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพฺเพ จตุภูมิกธมฺมา อนตฺตา (สํ.อ. ๒/๙๐/๓๔๖ มจร.) "ข้อความว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา หมายความว่า ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เป็นอนัตตา"
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ นิพฺพานํ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตํ (จูฬนิ.อ. ๘/๘ มจร.) "ข้อความว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นั้นพระพุทธองค์ตรัสรวมทั้งพระนิพพานด้วย"
เหตุไรอรรถกถาจึงอธิบายไม่ตรงกัน ก็ตอบว่า ต่างกรณีกันจึงอธิบายไม่ตรงกัน สำหรับผู้มิได้ศึกษาหลักการ หรือไม่เข้าใจความแห่งพุทธพจน์กับถ้อยคำบริบทก็เกิดความสับสน ผู้มีทิฏฐิว่า "นิพพานเป็นอัตตา" ก็อ้างที่อรรถกถาหมายเอาเฉพาะธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ เท่านั้นเป็นอนัตตา ส่วนภูมิที่ ๔ คือ โลกุตตรภูมิ เป็นภูมิที่ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข จึงน่าจะเป็นอัตตา แล้วกล่าวจ้วงจาบการที่อรรถกถาอธิบายธรรมทั้งปวงหมายเอาธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ คือ มรรค ผล นิพพานด้วย เป็นอนัตตา ว่าเป็นการอธิบายที่สับสน ความจริงผู้ที่กล่าวนั้นสับสนเอง
การศึกษาอรรถกถา ถ้ายังไม่เข้าใจหลักการที่ท่านใช้ก็จะสับสน หลักการที่อรรถกถาใช้ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพฺเพปิ จตุภูมิกา ธมฺมา อนตฺตา. อิธ ปน เตภูมิกธมฺมาว คเหตพฺพา" นั้น ข้อความตอนต้นว่า "สพฺเพปิ จตุภูมิกา ธมฺมา อนตฺตา" เรียกว่า "อัตถุทธาร" คือ "การยกเนื้อความที่มีอยู่ทั้งหมดขึ้นกล่าว" ข้อความตอนท้ายว่า "อิธ ปน เตภูมิกธมฺมาว คเหตพฺพา" เรียกว่า "อัตถุทเทส" หรือ "อธิปเปตัตถะ" คือแสดงหรือระบุเนื้อความที่ประสงค์ในที่นี้
การอธิบายลักษณะนี้ ในพระไตรปิฎกก็ใช้ เช่น "สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน สิกฺขํ อปฺปจฺจกฺขาย" (วิ.มหา. ๑/๔๔/๓๐ มจร.) "ภิกษุผู้มีสิกขาและความเป็นอยู่สมบูรณ์เสมอกัน ยังมิได้บอกคืนสิกขา" ท่านอธิบายโดยกล่าวถึงสิกขาที่มีทั้งหมด แล้วชี้เฉพาะที่ประสงค์เอาในหน้าเดียวกันว่า "สิกฺขาติ ติสฺโส สิกฺขา :- อธิสีลสิกฺขา อธิจิตฺตสิกฺขา อธิปญฺญาสิกฺขา. ตตฺร ยายํ อธิสีลสิกฺขา, อยํ อิมสฺมึ อตฺเถ อธิปฺเปตา "สิกฺขาญติ (วิ.มหา. ๑/๔๕/๓๐ มจร.) "คำว่า สิกขา หมายถึงสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ในบรรดาสิกขา ๓ นั้น ในเรื่องนี้ประสงค์เอาอธิสีลสิกขา"
นี้เป็นการบอกให้ทราบว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ทั้ง ๓ เป็นสิกขา แต่ประสงค์เอาเฉพาะอธิศีล คือเป็นเรื่องของภิกษุผู้ยังมิได้ลาสีลสิกขานั่นเอง
เช่นเดียวกัน ในการอธิบาย สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา บางแห่งท่านอธิบายแบบอัตถุทธาร คือ บอกให้ทราบว่า ธรรมอะไรบ้างที่เป็นอนัตตา แล้วชี้เฉพาะที่ต้องการในกรณีนั้น บางแห่งท่านอธิบายระบุเฉพาะที่ต้องการในกรณีนั้น มิได้บอกทั้งหมดหลักการอัตถุทธารนี้ ใช้มากทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา-ฎีกา วิธีการที่ท่านแสดงไว้ที่พอจะหาดูได้มีอยู่ในคัมภีร์วิภังคมูลฎีกา และวิสุทธิมรรคมหาฎีกา ท่านเรียกว่า “อัตถุทธาร”ดั งนี้ :-
สมฺภวนฺตา นํ อตฺถานํ อุทฺธรณํ. สมฺภวนฺเต วา อตฺเถ วตฺวา อธิปฺเปตสฺส อตฺถสฺส อุทฺธรณํ อตฺถุทฺธาโร (วิภงฺคมูลฏีกา ๒/๑๘๙/๖๐, วิสุทธิ.ฏีกา ๒/๕๓๔/๒๑๖ มจร.) “การยกเนื้อความทั้งหลายที่มีอยู่ขึ้นแสดง “หรือการกล่าวเนื้อความทั้งหลายที่มีอยู่แล้วระบุเนื้อความที่ประสงค์ชื่อ ว่าอัตถุทธาร” ………ถ้าเข้าใจหลักการอัตถุทธาร ก็จะเข้าใจการอธิบายความเรื่องนี้ของอรรถกถา หลักการนี้ ปัจจุบันมีการศึกษากันอยู่ แต่หนังสือเอกสารยังไม่แพร่หลาย
ในช่วงระยะนี้ มีผู้กล่าวว่าได้มีพระภิกษุกระทำสังฆเภท เนื่องด้วยได้มีการกระทำที่ทำให้คณะสงฆ์มีความเห็นแตกเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก
ปัญหาข้อนี้ ขอตอบก่อนสอบทานเทียบเคียงพระสูตรและพระวินัยว่า “การกระทำสังฆเภทในสังฆมณฑลสยาม เกิดขึ้นยาก เนื่องด้วยสถานที่ไม่อำนวย” ก็อย่าด่วนเชื่อหรือคัดค้านคำที่กล่าว เราควรจะได้สอบทานเทียบเคียงดูในพระสูตรและพระวินัยก่อน การที่พระภิกษุแสดงการปกป้องพระพุทธศาสนา พยายามประกาศพระสัทธรรมจนทำให้ทราบว่า “ใครเป็นอลัชชี ใครบิดเบือนหลักการคณะสงฆ์ฝ่ายเถร”วาท นั้น เป็นผู้ทำสังฆเภท หรือเป็นผู้ที่ฟ้าส่งมากำจัดเสี้ยนหนามที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา แสดงเถรวาทย่ำยีอลัชชี กันแน่ เรื่องการกระทำของภิกษุสงฆ์ที่จัดเป็นสังฆเภทนั้นมีขอบเขตอย่างไร ท่านพระอุบาลีเถระได้เคยเข้ากราบทูลถามพระพุทธเจ้าแล้วว่า สงฆ์จะแตกกัน คือเป็นสังฆเภทด้วยเหตุเท่าไร
พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลายมีความคิดเห็นในธรรมวินัยขัดแย้งกัน ๑๘ ประการ แยกกันทำอุโบสถ แยกกันทำปวารณา แยกกันทำสังฆกรรม จึงจัดว่าสงฆ์แตกกัน คือเป็นสังฆเภท ถ้ายังไม่แยกกันทำก็ยังถือว่าสงฆ์เป็นผู้สามัคคีกัน” การที่ภิกษุสงฆ์มีความแตกแยกทางความคิดยังไม่เป็นสังฆเภท พระพุทธเจ้าทรงกำหนดการเป็นสังฆเภทด้วยการแยกกันทำอุโบสถ สังฆกรรมเรื่องนี้ พึงตรวจสอบดูเรื่องที่ท่านพระเทวทัตทำสังฆเภท ครั้งที่พระเทวทัตทำสังฆเภทนั้น ท่านได้บอกท่านพระอานนท์ ขณะพบกันในเวลาบิณฑบาต ในกรุงราชคฤห์ว่า “อชฺชตคฺเคทานาหํ อาวุโส อานนฺท อญฺญเตฺร ควตา อญฺญเตฺรว ภิกฺขุสํฆา อุโปสถํ กริสฺสามิ, สํฆกมฺมํ กริสฺสามิ” (วิ.จู. ๗/๓๔๓/๑๓๙ มจร.) แปลว่า “ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้ไป จะมีผู้ทำอุโบสถแยกจากพระผู้มีพระภาค จะทำสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาค” แล้วท่านก็ได้กระทำตามที่บอกท่านพระอานนท์
การกระทำของพระเทวทัตนี้ จัดเป็นสังฆเภท เพราะแยกตัวไปทำอุโบสถสังฆกรรมต่างหากจากพระพุทธเจ้า
มีปัญหาว่า ท่านพระเทวทัตแยกทำอุโบสถสังฆกรรมอย่างไร ตอบว่า แยกทำในเขตสีมาเดียวกัน ในกรุงราชคฤห์นั้นมหาวิหารทั้ง ๑๘ แห่ง รอบกรุงราชคฤห์ มีสีมาเดียวกัน ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเป็นผู้ผูกสีมา
ครั้งหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปเถระพักอยู่ที่อันธกวินทวิหาร ห่างจากกรุงราชคฤห์ ๓ คาวุต เดินทางมาลงอุโบสถที่พระเวฬุวันเพื่อให้ความสามัคคีแก่สงฆ์ ท่านข้ามแม่น้ำ ผ้าสังฆาฏิเปียก ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์สมมติติจีวราวิปปวาส คือเขตที่อยู่ปราศจากไตรจีวรได้
ภิกษุสงฆ์ เกิดความแตกแยกทางความคิด ทางข้อปฏิบัติแล้วแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมในสีมาเดียวกัน จึงจัดว่าเป็นสังฆเภท
สีมา คือเขตแดนที่ภิกษุสงฆ์กำหนดเป็นสถานที่ร่วมกันทำสังฆกรรม ในประเทศไทย ได้กำหนดเป็นของเฉพาะวัด และเขตสีมาของแต่ละวัด ก็ยังกำหนดเขตแคบเข้าไปอีก อยู่แค่เพียงบริเวณรอบโรงอุโบสถ เวลาทำอุโบสถสังฆกรรม ก็ทำวัดไหนวัดนั้น แม้ในวัดเดียวกัน ภิกษุสงฆ์กลุ่มหนึ่งทำอุปสมบทกรรมอยู่ในอุโบสถ ภิกษุสงฆ์อื่นภายในวัดมิได้เข้าร่วม กรรมก็ไม่เสีย เพราะสีมามิได้ครอบคลุมรอบวัด นี้คือเหตุผลที่กล่าวข้างต้นว่า “การกระทำสังฆเภทในสังฆมณฑลสยาม เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องด้วยสถานที่ คือ สีมาไม่อำนวย”
ที่พูดกันในขณะนี้ว่า เกิดสังฆเภทนั้น เป็นคำพูดของผู้ไม่ยึดหลักการของพระไตรปิฎก เมื่อไม่เชื่อพระไตรปิฎก ไม่ถือตามพระไตรปิฎก อันเป็นประดุจองค์แทนพระบรมศาสดาแล้ว ก็ไม่ควรจะปฏิญญาตนว่าเป็นพุทธบริษัท นี้คือการสอบทานเทียบเคียงข้อความที่ทำให้เกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันบางส่วน โดยใช้หลักมหาปเทส เมื่อสอบทานเทียบเคียงแล้วลงกันสมกันในพระสูตร ลงกันสมกันในพระวินัย ก็ลงความเห็นได้เลยว่า นี้เป็นพุทธพจน์ เป็นสัตถุศาสน์ เป็นหลักการของเถรวาท เมื่อได้อาศัยพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตรวจสอบแล้วทราบว่า คำสอนของใครเป็นสัทธรรมปฏิรูปแปลกปลอมเข้ามา เป็นอัตโนมัติ ก็พึงกำจัดออกไปเสีย แล้วเราทั้งหลายจะธำรงรักษาพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ไว้ได้.
เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก :นายรังษี สุทนต์
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 277 - 299
หนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ
An Introduction to the Study of Buddhism: A Sane Way to Live
Most Popular Books on Buddhism
Theravada Buddhism Recommended Reading
:http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=inquirer&group=11