ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 10, 2013, 04:31:01 pm »สติปัฏฐาน 4
สติปัฏฐาน 4 คือ ทางสายกลางที่ตรงที่สุด ลัดที่สุด และบริสุทธิ์หมดจดที่สุด ซึ่งบุคคลใดตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ย่อมพ้นจากการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างแน่นอน อันจะนำไปสู่ มรรค ผล นิพพาน คือ การดับทุกข์ได้จริงเฉพาะผู้ที่ทำจริงเท่านั้น
สติปัฏฐาน 4 มีกายและใจเป็นหลัก เพราะเหตุ 4 อย่างนี้แหละที่เป็นตัวเชื่อมให้เกิดทุกข์อันมี รูป เวทนา จิต ธรรม :-
- รูป หมายถึง ร่างกาย
- เวทนา หมายถึง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางกาย เช่น สุขกาย ทุกข์กาย หรือปกติเฉย ๆ
- จิต หมายถึง ความรู้สึกอันเรียกว่า ใจ นาม หรือ ธาตุรู้ก็ได้
- ธรรม หมายถึง ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนอันเป็นอารมณ์ สุข ทุกข์ หรือ เฉย ๆ ก็ได้
สรุปแล้ว สติปัฏฐาน 4 ก็คือ ให้คอยเฝ้าสังเกตดู กายและทุกข์ของกาย ใจและทุกข์ของใจ ในตนเองว่ามันเป็นอย่างไร รู้ที่พบกันครึ่งทางระหว่างกายกับใจ ที่เรียกว่า ทางสายกลาง ของธาตุรู้ที่บริสุทธิ์หมดจด หรือจิตใจที่เป็นกลางจริง ๆ เป็นรู้ที่ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีตัวตน บุคคล เรา เขา ไม่มียินดี ยินร้าย ดูดรั้ง ผลักต้าน เอา ไม่เอา ไม่มีอะไรเลย นอกจากปัจจุบันที่รู้ แล้วก็หมดไปเท่านั้นเอง
มีสติเฝ้าดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มีความเพียรเพ่งอยู่ ย่อมกำจัดความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเสียได้ ย่อมพ้นแล้วในเรื่องร้อยรัดทั้งปวง ย่อมบรรลุถึงนิพพาน เมื่อเข้าใจถึงหลักพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมว่า สภาวะธรรมทั้งหลาย ความพ้นทั้งหลาย จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยตัวเองเป็นปัจจัยสำคัญ
หลักของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แม้ใครตั้งใจปฏิบัติตามจริง ๆ แล้วย่อมพ้นทุกข์ได้ แต่ต้องไปทำที่ตนเอง แล้วก็จะรู้ผลได้ด้วยตนเอง พุทธศาสนาจึงเน้นถึงเรื่อง กรรม...ผลของกรรม คือ เหตุมี...ผลย่อมมี ผู้ใดทำ...ย่อมรู้ ใครก็ไม่สามารถทำให้ใครได้ เช่น การกิน ใครกินก็อิ่มเอง อิ่มเผื่อกันไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น นี่คือความเป็นจริงของสัจจธรรม
การปฏิบัติธรรม มิใช่เพื่อความได้ ความมี หรือความเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น จุดมุ่งหมายโดยแท้ ก็เพื่อความไม่ทุกข์ใจอย่างเดียวเท่านั้น ในที่สุดของการปฏิบัติ ก็คือ
- อยู่กับกิเลสได้ >โดยใจไม่เป็นทาสของกิเลส
- อยู่กับทุกข์กาย >โดยไม่ทุกข์ใจ
- อยู่กับงานวุ่น >โดยใจไม่วุ่น
- อยู่กับการรีบ >โดยใจสบาย
- อยู่กับความสมหวัง และผิดหวังได้ >โดยใจไม่ทุกข์
- อยู่กับโลกได้ >โดยใจเป็นธรรม
- อยู่กับหน้าที่ >โดยไม่ยึดหน้าที่ เพียงแต่ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ในขณะปัจจุบันเท่านั้น ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป
ธรรมะ เป็นเรื่องจริง แต่ต้องไปทำเอง ธรรมใดก็ไม่ได้ผล เมื่อตนไม่นำไปทำตน ที่ทำแล้วไม่เห็นผล เพราะยังไม่เข้าใจ ยังมิได้ทำจริง หรือทำเหตุยังไม่พร้อม ผลจึงไม่เกิด
สติ จับรู้อยู่กับปัจจุบัน ผลเป็น สมาธิ
สมาธิ ที่มีสติจับทันปัจจุบันอีก ผลเป็น มหาสติ
มหาสติ รู้ทันในพระไตรลักษณ์ ผลเป็น ปัญญา
ปัญญา มีสติรู้อยู่ในนั้น ผลเป็น วิสุทธิ์หรือวิมุติ
วิมุติ คือ รู้อย่างมีเหตุ - ผล เกิดจากปัญญาภายในที่เป็นผล จากการปฏิบัติ แต่จะเป็นปัญญาในแต่ละเรื่อง ๆ ก่อน จนเต็มรอบของปัญญาอีกที
ธรรมะ ของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจธรรม ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สร้างความดี ละความชั่ว ตัณหา และกิเลสทั้งปวง ความสำคัญของธรรมะนั้นอยู่ที่จิต จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน จิตเป็นหัวหน้า เมื่อเรามีสติก็สามารถควบคุมจิตให้อยู่ในกรอบที่ดี ก็คือ เสมือนหนึ่งเราได้ศึกษาธรรมะเกือบสำเร็จไปแล้ว และต้องละเว้นความโลภ โกรธ หลง ให้หมด โดยจะต้องระวังอย่างเข้มงวด ประตูตัวสร้างบาป มี 6 ทาง คือ
1. หู ฟังเสียงที่ไพเราะและนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา
2. ตา มองแต่สิ่งที่สวยงามและนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา
3. จมูก ดมกลิ่นที่หอมและนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลสและตัณหา
4. ลิ้น สัมผัสรสอาหารที่อร่อยและนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา
5. กาย มีการสัมผัสและนึกคิดแล้วหลงใหล ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา
6. ใจ นึกชอบในสิ่งที่ดีและไม่ดี ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา
ประตูสร้างตัณหาทั้ง 6 นี้ ถ้าเราสามารถรู้ทุกขณะจิต (มีสติ) ทุกขณะจิตของการกระทำ และตัดสินด้วยสติไม่ใช่อารมณ์ ไปในทางที่ดีและไม่ปฏิบัติชั่ว ละโมหะ โทสะ ด้วย ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเข้าสู่จิตที่สงบ มีสมาธิที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องไปบวช หรือธุดงคกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ
บรรดาธรรมทั้งหลาย ล้วนมีใจเป็นผู้นำ
ใจสำคัญที่สุด ใจเป็นผู้รังสรรค์
หากใจเศร้าหมอง ไม่ว่าพูดหรือทำ
ทุกข์ย่อมตามติด ประหนึ่งล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค
บรรดาธรรมทั้งหลาย ล้วนมีใจเป็นผู้นำ
ใจสำคัญที่สุด ใจเป็นผู้รังสรรค์
หากใจผ่องใส ไม่ว่าพูดหรือทำ
สุขย่อมติดตัว ประหนึ่งเงาตามตน
.เท่านี้หรือคือ...ชีวิต
เราเกิดมาบนโลก ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
แล้วจะเอาอะไรมากมาย สุดท้ายก็ทิ้งหมด
เอาแค่พอสมควรให้มีความพอดีทั้งร่างกายและจิตใจ
ที่เรียกว่า ทางสายกลาง
เราเกิดมา เพื่อใช้หนี้ และทวงหนี้
เมื่อหมดเหตุปัจจัย ผลก็คือไม่ต้องเกิด
เพราะฉะนั้น หยุดก่อหนี้เวรกรรม
ทำใจให้สงบ กลับไปบ้านเดิม ในจิตเดิมแท้ มีสุขตลอด
ข้อมูลจาก G+ sakchai kongmaneepran
อมรา เส้นทางสู่ธรรม Shared publicly - 10.9.56 - 3:21 PM