ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 06:34:34 pm »------------------.......................
------------------.......................
............ เอาปัจจุบัน แม้ว่าจะต้องเกี่ยวข้องพัวพันบ้างก็ตาม หากลงปัจจุบันในขณะนั้นก็ไม่มีอะไร เอาปัจจุบันเท่านั้น ไม่คิดอดีต อนาคต มันถึงจะเป็นไปได้ การฝึกฝนอบรมใจมันต้องไปจากกายนี้เหมือนกัน
นอกจากอบรมทางกายแล้ว ยังต้องอบรมวาจาด้วย พูดให้น้อย พูดด้วยความสำรวมระวัง การที่ว่าสำรวมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไม่ให้พูด พูดได้แต่หากว่าให้มีสติควบคุมอยู่ พูดก็รู้เรื่องว่าพูดอยู่ พูดดีชั่ว หยาบละเอียด จะพูดสักเท่าไรก็ตามแต่รู้เท่ารู้ทันอยู่ทุกขณะ เรียกว่าสำรวมวาจา จะพูดอะไรก็พูดเถอะ การทำอะไรก็ทำเถอะ แต่รู้เรื่องอยู่ทุกขณะ สติควบคุมอยู่อย่างนี้ เรียกว่า มีสติระวังกายวาจา
ส่วนการสำรวมระวังใจ ถ้าอยู่เฉยๆ ใจไม่มีเครื่องอยู่ ให้เอาคำบริกรรมอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องอยู่มาเป็นหลักผูกใจ เช่น พุทโธ อานาปานสติ ตามลมหายใจเข้าออก ยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหังก็ได้ เอาอันนั้นมาเป็นเครื่องอยู่เสียก่อน นึกคิดอยู่เสมอๆจนเป็นอารมณ์ มีสติควบคุมจิตอยู่ตรงนั้นแหละ จิตอยู่ที่ใดให้เอาสติไปตั้งตรงไว้ในที่นั่น จึงจะเรียกว่าควบคุมจิต รักษาจิต ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่ให้นึกนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด ธรรมดาของจิตมันต้องมีคิดมีนึก แต่หากมีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ คิดนึกอะไรก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะ เรียกว่า บริกรรมภาวนา
การบริกรรมภาวนานี้ มิใช่ของเลว คนบางคนเข้าใจว่าเป็นของเลว เป็นเบื้องต้น ที่จริงไม่ใช่เบื้องต้น ธรรมไม่มีเบื้องตน ท่ามกลาง ที่สุดหรอก ธรรมะอันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าหากสติอ่อนเมื่อไรก็เป็นเบื้องต้นเมื่อนั้น สติแก่กล้าเมื่อไรก็เป็นท่ามกลางและที่สุดเมื่อนั้น คือหมายความว่าสติคุมจิตอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งเป็นมหาสติปัฏฐาน จะยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถใดๆทั้งหมด มีสติรอบตัวอยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ แต่มันเป็นของมันเอง สติ ควบคุมจิตไปในตัว เมื่อมีสติเช่นนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกันกับสิ่งต่างๆ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นลิ้มรสต่างๆ กายได้สัมผัส มันก็เป็นสักแต่ว่า สัมผัสแล้วก็หายไปๆ ไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์ ไม่เอามาคำนึงถึงใจ อันนั้นเป็น มหาสติ แท้ทีเดียว
ถ้าจิตอ่อนเมื่อไร จิตจะส่งไปตามอายตนะทั้ง ๖ เมื่อนั้น เช่น ตาได้เห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร มันก็จะพุ่งไปตามรูปที่ เห็น เสียงที่ได้ยินนั้นแหละ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องเอาบริกรรมมาใช้อีก ให้จิตมันอยู่กับบริกรรมนั้นอีก บริกรรม คือ สัมมาอรหัง พุทโธ อานาปานสติ อะไรต่างๆก็ตาม ที่ท่านสอนแต่ละสำนักนั้น มันเป็นไปตาม ความชำนาญของแต่ละท่าน มันเป็นนโยบายของท่านต่างหาก แท้ที่จริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ ใครจะเลือกภาวนาบริกรรม อันใดก็ได้ ความต้องการคือ มุ่งหมายเอาสติอย่างเดียว เพื่อตั้งสติให้มั่นคง จึงว่าคำบริกรรมเป็นคู่กับการฝึกหัดจิต คำบริกรรมเปรียบเหมือนกับเครื่องล่อจิต เหมือนกับเด็กเล็กๆที่มันร้องไห้ เราเอาขนมมาล่อให้มันกิน มันก็หยุดร้อง จิตของเราก็ยังเป็นเด็กอยู่เหมือนกัน คือว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่ ยังรักษาตัวเองไม่ได้ ยังต้องอาศัยคำบริกรรมอยู่ จึงเรียกว่าเป็นเด็ก คน เฒ่าคนแก่กระทั่งผมหงอกผมขาวก็ตาม ถ้ายังควบคุมจิตของตนไม่ได้ก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ ถ้าหากควบคุมจิตได้แล้ว แม้จะเป็นเด็กก็ตามนับเป็นผู้ใหญ่ได้ ในพุทธศาสนา ผู้บวชตั้งร้อยพรรษา โดยธรรมแล้ว ถ้าควบคุมจิตไม่ได้ก็เรียกว่ายังเป็นเด็กอยู่ องค์ใดบวชในพรรษานั้นแต่ว่าควบคุมจิตได้ ก็เรียกว่าเป็นเถระ การรักษาจิตควบคุมจิตจึงต้องมีเครื่องอยู่ ได้แก่ การบริกรรม
จิต เป็นของสูงๆตํ่าๆ คือ ฝึกหัดไม่สมํ่าเสมอ สูงหมายถึงว่าเจริญขึ้นไป คือ มีสติควบคุมอยู่ ขณะที่มีสติควบคุมอยู่ก็กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ต่อสู้กับอารมณ์ได้ อะไรมาก็ไม่กลัว พอสัมผัสมากระทบเข้าจริงๆจังๆ อ่อนปวกลงไปเลย นั่นมันตํ่าลงไปแล้ว มันไม่เป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงต้องหัดสติตัวนี้ให้แก่กล้า ให้แข็งแรงที่สุด
--------------------...........................
--------------------...........................
กราบพระพุทธองค์ กราบพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ กราบพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนาสาธุค่ะ...