ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 21, 2013, 04:21:35 pm »ต่อค่ะ
[๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา-
*กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่
หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย
เมื่ออทินนาทานถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึง
ความแพร่หลาย ปาณาติบาตก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตถึงความแพร่
หลาย มุสาวาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุ
ของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจาก
อายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุ
ถอยลง เหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี
บุรุษคนหนึ่งขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป เขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงแสดง
แก่พระราชาผู้กษัตริย์ ซึ่งได้มูรธาภิเษกพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า
บุรุษผู้นี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาพากันกราบทูลอย่าง
นี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษนั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ยินว่า เธอขโมยเอาทรัพย์ของ
คนอื่นไปจริงหรือ บุรุษนั้นได้กราบทูล คำเท็จทั้งรู้อยู่ว่า ไม่จริงเลยพระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา-
*กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่
หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย
เมื่ออทินนาทานถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึง
ความแพร่หลาย ปาณาติบาตก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตถึงความแพร่
หลาย มุสาวาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุ
ของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจาก
อายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มี
อายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งขโมย
เอาทรัพย์ของคนอื่นไป บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลแก่พระราชาผู้กษัตริย์ซึ่งได้
มูรธาภิเษกเป็นการส่อเสียดว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษชื่อนี้ ขโมยเอาทรัพย์
ของคนอื่นไป ฯ
[๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา-
*กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่
หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็ได้ถึงความแพร่หลาย
เมื่อปิสุณาวาจาถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้
วรรณก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง
บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี สัตว์บางพวกมีวรรณะ
ดี สัตว์บางพวกมีวรรณะไม่ดี ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีวรรณะไม่ดี
ก็เพ่งเล็งสัตว์พวกที่มีวรรณดี ถึงความประพฤติล่วงในภรรยาของคนอื่น ฯ
[๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา-
*กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่
หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย
เมื่ออทินนาทานถึงความแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อ
กาเมสุมิจฉาจารถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้
วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง
บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๕,๐๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๕,๐๐๐ ปี ธรรม ๒ ประการคือ
ผรุสวาจาและสัมผัปปลาปะก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการถึงความ
แพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวก
เขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ
๕,๐๐๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒,๕๐๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒,๐๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌาและพยาบาท
ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุของ
สัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุ
บ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลง
เหลือ ๑,๐๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฐิก็ได้ถึงความ
แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฐิถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย
แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะ
บ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการคือ
อธรรมราคะ ๑- วิสมโลภ ๒- มิจฉาธรรม ๓- ก็ได้ถึงแก่ความแพร่หลาย เมื่อธรรม
๓ ประการถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็
เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตร
ของมนุษย์ที่มีอายุ ๕๐๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒๕๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒๐๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้คือ ความ
ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ
ความไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็ได้
ถึงความแพร่หลาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงแก่ความแพร่หลาย
เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อ
อทินนาทานถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึงความ
แพร่หลาย ปาณาติบาตถึงความแพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตถึงความแพร่หลาย
มุสาวาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็ได้
ถึงความแพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาถึงความแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ถึงความ
แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารถึงความแพร่หลาย ธรรม ๒ ประการคือ ผรุสวาจา
และสัมผัปปลาปะก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการถึงความแพร่หลาย
อภิชฌาและพยาบาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทถึงความ
แพร่หลาย มิจฉาทิฐิก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฐิถึงความแพร่หลาย
ธรรม ๓ ประการคือ อธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉาธรรม ก็ได้ถึงความแพร่หลาย
@(๑) ความกำหนัดในฐานะอันไม่ชอบธรรม (๒) ความโลภไม่เลือก (๓) ความ
@กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจผิดธรรมดา
เมื่อธรรม ๓ ประการถึงความแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่ปฏิบัติชอบใน
มารดา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ความไม่ปฏิบัติ
ชอบในพราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็ได้ถึงความแพร่หลาย
เมื่อธรรมเหล่านี้ถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้
วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อสัตว์เหล่านั้นเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะ
บ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒๕๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี ฯ
[๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี ใน
เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ปี จักสมควรมีสามีได้ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี รสเหล่านี้คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธานไปสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลายในเมื่อมนุษย์ มีอายุ
๑๐ ปี หญ้ากับแก้ ๑- จักเป็นอาหารอย่างดี ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนข้าวสุก
ข้าวสาลีระคนกับเนื้อสัตว์ จักเป็นอาหารอย่างดี ในบัดนี้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมด
สิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักรุ่งเรืองเหลือเกิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ
๑๐ ปี แม้แต่ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคนทำกุศลจักมีแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลายจักไม่ปฏิบัติชอบในมารดา จักไม่ปฏิบัติ
ชอบในบิดา จักไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ จักไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ จักไม่
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล เขาเหล่านั้นก็จักได้รับการบูชา และ
ได้รับการสรรเสริญ เหมือนคนปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติ
ชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ใน
ตระกูล ในบัดนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพ
ยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยา
ของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เปรียบเหมือน
แพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ
๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความ
คิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับ
บุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักเกิดความ
อาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า นายพราน
เนื้อเห็นเนื้อเข้าเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่า
อย่างแรงกล้าฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัป
สิ้น ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักกลับได้ความสำคัญกันเองว่าเป็นเนื้อ ศัสตราทั้ง
หลายอันคมจักปรากฏมีในมือของพวกเขา พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคม
นั้นโดยสำคัญว่า นี้เนื้อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้น บางพวกมี
ความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราอย่าฆ่าใครๆ และใครๆ ก็อย่าฆ่าเรา อย่ากระนั้น
เลย เราควรเข้าไปตามป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะ หรือซอกเขา มีรากไม้
และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตอยู่ เขาพากันเข้าไปตามป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้
ระหว่างเกาะหรือซอกเขา มีรากไม้และผลไม้ ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตอยู่ตลอด
๗ วัน เมื่อล่วง ๗ วันไป เขาพากันออกจากป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะ
ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน จักขับร้องดีใจอย่างเหลือเกินในที่ประชุม
ว่า สัตว์ผู้เจริญ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือๆ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น สัตว์เหล่านั้น จักมีความคิดอย่างนี้ว่า เรา
ถึงความสิ้นญาติอย่างใหญ่เห็นปานนี้ เหตุเพราะสมาทานธรรมที่เป็นอกุศล อย่ากระ
นั้นเลยเราควรทำกุศล ควรทำกุศลอะไร เราควรงดเว้นปาณาติบาต ควรสมาทาน
กุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เขาจักงดเว้นจากปาณาติบาต จักสมาทานกุศล
ธรรมนี้แล้วประพฤติ เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม เขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง
จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตร
ของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุ ๑๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นสัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่า เรา
เจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม อย่า
กระนั้นเลย เราควรทำกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอะไร เราควรงดเว้นจาก
อทินนาทาน ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา ควรงดเว้น
จากผรุสวาจา ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ควรละอภิชฌา ควรละพยาบาท
ควรละมิจฉาทิฐิ ควรละธรรม ๓ ประการ คืออธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉาธรรม
อย่ากระนั้นเลยเราควรปฏิบัติชอบในมารดา ควรปฏิบัติชอบในบิดา ควรปฏิบัติชอบ
ในสมณะ ควรปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ควรประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ใน
ตระกูล ควรสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เขาเหล่านั้นจักปฏิบัติชอบในมารดา
ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติ
อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เพราะ
เหตุที่สมาทานกุศลธรรมเหล่านั้น เขาเหล่านั้นจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วย
วรรณะบ้าง เมื่อเขาเหล่านั้นเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของคน
ผู้มีอายุ ๒๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๔๐ ปี จักมีอายุ
เจริญขึ้นถึง ๘๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๘๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๑๖๐ ปี บุตร
ของคนผู้มีอายุ ๑๖๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๓๒๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๓๒๐ ปี
จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๖๔๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๖๔๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง
๒,๐๐๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔,๐๐๐ ปี บุตร
ของคนผู้มีอายุ ๔,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๘,๐๐๐ ปี บุตรของคนมีอายุ
๘,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐,๐๐๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี
จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔๐,๐๐๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญ
ขึ้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี ฯ
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมี
อายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ
๘๐,๐๐๐ ปี จักเกิดมีอาพาธ ๓ อย่าง คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑
ความแก่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้จัก
มั่งคั่งและรุ่งเรือง มีบ้านนิคมและราชธานีพอชั่วไก่บินตก ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ประหนึ่งว่าอเวจีนรก จักยัดเยียดไป
ด้วยผู้คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าสาลพฤกษ์ฉะนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เมืองพาราณสีนี้ จัก
เป็นราชธานีมีนามว่า เกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรืองมีพลเมืองมาก มีผู้คน
คับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี
ในชมพูทวีปนี้จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นประมุข ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักร-
*พรรดิ์ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขะ ทรงอุบัติขึ้น ณ เกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรง
ธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต
ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ๑
ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้วเป็น
ที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์
สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรมมิต้องใช้อาชญา มิต้อง
ใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรง
พระนามว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เอง
โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้
เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้
เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้ง
โลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระผู้มีพระภาคพระนามว่า
เมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้
แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-
*พราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคตในบัดนี้ ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตถาคตเองแล้ว สอนหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาคพระนามว่า
เมตไตรย์พระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งาม
ในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้ แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง
งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์สิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงบริหาร
ภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะจักทรงให้ยกขึ้นซึ่งปราสาทที่
พระเจ้ามหาปนาทะทรงสร้างไว้ แล้วประทับอยู่ แล้วจักทรงสละ จักทรงบำเพ็ญ
ทาน แก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งหลาย จัก
ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากเรือน ทรง
ผนวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์อรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้า ท้าวเธอทรงผนวชอย่างนี้แล้ว ทรงปลีกพระองค์อยู่แต่ผู้เดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านักก็จักทรงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลาย พากันออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง ใน
ทิฐธรรมเทียว เข้าถึงอยู่ ฯ
[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มี
ธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไรเล่า ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
เสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มี
ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
เสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่
พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างนี้แล ฯ
[๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัย
อันสืบมาจากบิดาของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร
ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน จักเจริญทั้งด้วยอายุ จักเจริญทั้งด้วยวรรณะ
จักเจริญทั้งด้วยสุข จักเจริญทั้งด้วยโภคะ จักเจริญทั้งด้วยพละ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องอายุของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยฉันทะสมาธิปธาน
สังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิริยะสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาท
ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธาน
สังขาร เธอนั้น เพราะเจริญอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เพราะกระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท
๔ เหล่านี้ เมื่อปรารถนาก็พึงตั้งอยู่ได้ถึงกัป ๑ หรือเกินกว่ากัป ๑ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์
ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องวรรณะ
ของภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องสุขของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ
ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแก่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มี
ความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มี
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุ
จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ
ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายใน
เรื่องสุขของภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่
ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง
เบื้องขวาง ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณ
มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก
สถาน ด้วยมีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิต
ประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มี
ความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยมีจิต
ประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือน
กัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิตประกอบด้วยมุทิตา
อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่
ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยมีจิตประกอบด้วยอุเบกขา
แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้ง
เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิตประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความ
เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องโภคะ
ของภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องพละของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ อันหา
อาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในทิฐธรรมเทียว
เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องพละของภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นแม้กำลังสักอย่างหนึ่งอื่น อันข่มได้
แสนยาก เหมือนกำลังของมารนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้
อย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วดังนี้แล ฯ
จบ จักกวัตติสูตร ที่ ๓
>>> F/B รินไซเซน RINZAIZEN