ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 25, 2013, 03:10:44 pm »


จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์
คำว่า สภาพประภัสสรผ่องใส นี้ ได้เป็นจุดที่นักศึกษาธรรมะนำมาสนทนาถกเถียงโต้แย้งกันมากว่า ถ้าสภาพเดิมของจิตบริสุทธิ์จริงแล้ว ก็ต้องเป็นจิตพระอรหันต์ จึงย่อมไม่มาเกิดอีกต่อไป

ความจริงแล้ว สภาพประภัสสร หมายถึง ความผ่องใสเลื่อมพราย ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของจิต ที่เรียกว่า ภวังคจิต นั่นเอง สภาพประภัสสรนี้จะปรากฏที่จิต หลังจากที่รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว กับก่อนที่จะเปลี่ยนไปรับรู้อารมณ์อีกอย่างหนึ่งต่อไป ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่สั้นมาก ถ้าจิตไม่มีสมาธิจริงๆแล้ว จะไม่เห็นจิตประภัสสรของตนเอง

ส่วนคำว่า จิตบริสุทธิ์ หมายถึง ความผ่องใสของจิต ชั้นพุทโธ ธัมโม สังโฆ เพราะได้รับการศึกษาอบรมและปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ มาสมบูรณ์ดีแล้ว จนรู้จักอารมณ์ทั้งหลายดีว่าเป็นทุกข์ ไม่มีแก่นสาร จึงสิ้นเยื่อใยที่จะยึดถือไว้อีกต่อไป

จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์ มีสภาพธรรมเหมือนกัน แต่แตกต่างกันโดยภาวะ คือ
จิตประภัสสรไม่มีสติควบคุมอยู่ ดังนั้น จึงถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำปรุงแต่งตลอดเวลา

แต่ จิตบริสุทธิ์ นั้น มีสติตื่นควบคุมอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนสามารถดำรงตนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ได้ โดยไม่เสียคุณภาพอันบริสุทธิ์ผ่องใสดังสามัญชนอีกต่อไป ดุจใบบัวที่อยู่รวมกับน้ำได้ โดยตนเองไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น.
※ ธรรมประทีป ๗ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๘๕-๘๖

จิตกลับกลอก ไม่ใช่หมายว่าจิตเกิดดับ
มีพระบาลีใน จิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท แสดงไว้ดังนี้ “ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุง กโรติ เมธาวี อุสุกาโร ว เตชนํ” แปลว่า “ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น”

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้ใช้ ฌาน (ความเพ่ง) แก้ความกลับกลอกของจิต ตามมรรค ๘
ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ดิ้นรน กลับกลอก ว่องไว ปราดเปรียว ในขณะที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ แต่สามารถฝึกฝนอบรมให้สงบได้โดยใช้สติเพ่งอยู่อย่างต่อเนื่อง.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๒

จิตกับอารมณ์
จิตคือธาตุรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย ส่วน อารมณ์ ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกัน หรืออาศัยธาตุทั้ง ๔ เป็นแดนเกิด เช่น รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส เป็นต้น

       อารมณ์ เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ จิต รับรู้ เมื่อกระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เกิดจักขุวิญญาณ,โสตวิญญาณ,ฆานวิญญาณ,ชิวหาวิญญาณ, กายวิญญาณ และมโนวิญญาณขึ้น
       เมื่อจิตกับอารมณ์กระทบกัน ก็ย่อมส่งผลให้จิตเกิดความฟุ้งซ่าน หวั่นไหว เกิดความนึกคิด ความยินดี-ยินร้าย และทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นตามมาด้วย

      ถ้าอุปมา จิต เหมือน น้ำ ในมหาสมุทรแล้ว อารมณ์ ก็ย่อมต้องอุปมาเหมือน ลม พายุที่พัดมากระทบผิวน้ำในมหาสมุทร ซึ่งทำให้เกิดเป็นลูกคลื่นน้อยใหญ่กลิ้งตัวตามกำลังลมพายุที่พัดนั้นด้วย
      ลูกคลื่นลูกหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ทยอยตัวดับตามๆกันไป ทั่วท้องมหาสมุทรตลอดเวลาที่ลมพายุพัดอยู่ ถ้าลมพายุหยุดพัดเสียเมื่อไหร่ ลูกคลื่นทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ก็ย่อมลดขนาดเล็กลงๆ ตามลำดับเมื่อนั้นด้วย จนกระทั่งเหลือแต่ผิวน้ำที่เป็นเส้นระดับราบเรียบในที่สุด

   ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สภาพเดิมที่แท้จริงของ น้ำ ในท้องมหาสมุทรนั้น สงบ ราบเรียบ ไม่ปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ที่เกิดมีคลื่นน้อยใหญ่วุ่นวายนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายหลัง เพราะมีลมพายุพัดมากระทบผิวน้ำ
   ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับ จิต ที่มีสภาพเดิมอันสงบราบเรียบ แต่ที่ได้วุ่นวาย กระสับกระส่ายไปมาในภายหลังเพราะมีอารมณ์เข้ามากระทบ ฉะนั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราสามารถสรุปกล่าวให้เป็นสัจธรรมได้ว่า
มีน้ำ โดยไม่มีลูกคลื่น เลย  —> ย่อมได้
แต่จะมีลูกคลื่น โดยไม่มีน้ำ นั้น —> ย่อมไม่ได้
หรือมีจิต โดยไม่มีอาการหวั่นไหวจากอารมณ์เลย —> ก็ย่อมได้
แต่จะมีอาการหวั่นไหวจากอารมณ์ โดยไม่มีจิต นั้น —> ย่อมไม่ได้ เป็นธรรมดา

ดังนั้น น้ำ กับ ลูกคลื่น จึงแยกออกจากกันได้ และ จิต กับ อารมณ์ จึงแยกออกจากกันได้ จิตไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นโดยปรมัตถ์ เช่น วิมุตติจิต (จิตหลุดพ้น).
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๓-๑๔
.
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 25, 2013, 03:09:24 pm »


จิตเกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรม
ด้วยเหตุที่ จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติ กฎแห่งกรรม ลงที่จิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ถ้าหากจิตเกิดดับจริง กฎแห่งกรรมที่ทรงบัญญัติไว้ก็ย่อมผิดหมด หรือถ้าขืนอธิบายว่า กรรมตั้งอยู่กับอะไรก็ได้และสามารถถ่ายทอดกรรมจากจิตดวงหนึ่ง ซึ่งดับไปแล้วไปให้จิตอีกดวงหนึ่ง รับกรรมแทนกันเป็นทอดๆไป ย่อมเป็นสิ่งที่ขาดเหตุผลไม่ควรเชื่อถืออย่างยิ่ง

มีพระบาลีในพระธรรมบท รับรองอยู่ดังนี้คือ “มโน ปุพพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ผู้ที่กล่าววาจาหรือ กระทำการสิ่งใดด้วยใจคิดร้าย กรรมย่อมตามผู้นั้นไป เหมือนดังล้อที่หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น”

ทั้งนี้แสดงว่า บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มี จิต เป็นประธานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น นั่นคือ บรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นทุกอย่างนั้น ก็เพราะ จิต เป็นผู้สั่งให้ลงมือกระทำ ทั้งทางกายและวาจาทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รับผลของกรรมนั้น ก็คือ จิตดวงนั้น นั่นเอง.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๙

จิตเป็นหลัก เป็นประธานของธรรมฝ่ายโลกียะทั้งปวง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพิจารณาอย่างสุขุมถ่องแท้เห็นชัดเจนแล้วว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย และเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น จึงทรงเชิดเอา จิตเป็นหลัก เป็นประธานของบรรดาธรรมะที่มีอยู่ในโลก

ดังพระบาลีในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้ “จิตฺเตน นิยติโลโก, จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอก ธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู” แปลว่า “โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว คือ จิต เท่านั้น”

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นหลักเป็นประธานของธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งหลาย) จิตจึงไม่มีการดับตายหายสูญตามโลก (อารมณ์) ไปด้วย

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ธรรมทั้งปวง คือ อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารมั่นคงเลย.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๐

จิตเดิมประภัสสรผ่องใส
จิตเมื่อยังไม่ได้ผสมหรือกระทบกับอารมณ์ ย่อมมีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่เมื่อมีอารมณ์มาผสมหรือกระทบเข้า ก็กลายเป็นจิตผสมกับอารมณ์ไป ทำให้ถูกปรุงแต่ง และเกิดความยินดียินร้ายขึ้น จนเสียสภาพประภัสสรผ่องใสที่มีอยู่เดิมไปหมดสิ้น

มีพระบาลีรับรอง ดังนี้ “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง”

ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อยังไม่มีอารมณ์เป็นแขกจรเข้ามานั้น จิตมีสภาพประภัสสร ผ่องใส สงบ ไม่วุ่นวายเลย แต่ถ้ามีแขกจรเข้ามาแล้ว ก็ปรุงแต่งครอบงำให้จิตหวั่นไหว เศร้าหมองเสียคุณภาพที่มีอยู่เดิมไป

อาการปรุงแต่งหวั่นไหวนี้ แสดงออกมาในรูปของความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง สลับกันไปมา ตลอดเวลาที่มีอารมณ์จรเข้ามากระทบ (คือ อาการของจิตเกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต) แล้วก็กลับคืนสู่สภาพประภัสสรผ่องใสอีกชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีอารมณ์ชนิดอื่นจรเข้ามา ปรุงแต่งในลำดับต่อไปอีกเสมอ

สภาพที่จิตแสดงออกหลังจากกระทบอารมณ์แล้วนี้ เมื่อดำเนินไปบ่อยๆครั้ง และเป็นระยะเวลานาน สั่งสมกันมากๆเข้า ก็ย่อมกลายเป็น นิสัย-อุปนิสัย จนเกิดความเคยชิน ทำให้เกิดเป็น อนุสัย นอนเนื่องติดอยู่ที่จิต ตามชนิดของอารมณ์ที่เข้ามากระทบ

ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นต่ออารมณ์นั้นๆ มากขึ้นโดยลำดับ เพราะเข้าใจผิดว่า อารมณ์เป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร จึงปรารถนาจะครอบครองไว้ถ้าถูกใจ หรือผลักไสออกไปเสียให้พ้นถ้าไม่ถูกใจ ทั้งนี้เนื่องจากความโง่เขลาเพราะไม่รู้จักสภาพประภัสสรผ่องใสของตนที่มีอยู่เดิม.
※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑๑-๑๒
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2011, 10:17:45 am »


จิตทรงไว้ซึ่งความรู้ ไม่มีการเกิดดับ
เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่าง ให้สัมผัสหรือให้แลเห็นได้เลย นอกจากจะแสดง ความรู้ ออกมาให้รู้สึกเท่านั้น อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ พอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ เฉยๆก็รู้ มีจิตอยู่ที่ใด ย่อมรู้อยู่ที่นั้นตลอดกาล ไม่มีการเกิดดับ กล่าวคือ ไม่มีการรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง

มีพระบาลีในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานรับรอง ไว้ดังนี้:
“สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ” แปลว่า
“เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่าราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะหายไปจากจิต”

ทั้งนี้แสดงว่า เมื่อมีกิเลสอย่างใดเกิดขึ้นก็รู้ (ในที่นี้คือ ราคะ) เมื่อกิเลสอย่างนั้นๆ ดับไปก็รู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ สิ่งที่เกิดดับนั้น ไม่ใช่จิตแน่นอน จิตไม่มีการเกิดดับ แต่จิตทรงไว้ซึ่ง “ความรู้” ตลอดเวลา.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๕

วิธีสาธิตว่าจิตไม่มีการเกิดดับ
เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราเรียนท่องจำธรรมะจาก ตำราหรือครูอาจารย์ที่สอนว่า จิตเกิดดับ เป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้เฉลียวใจว่า ขัดกับเหตุผลและหลักของกรรมกันเลย นั่นก็คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งทำกรรมไว้อย่างหนึ่งแล้วดับไป จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง จะต้องรับกรรมต่อจากจิตดวงเก่า ดังนี้ ซึ่งจะเป็นผลให้รู้จักธรรมะข้ออื่นที่เกี่ยวข้อง ผิดตามไปด้วยตลอดสาย

ถ้าจิตเกิดดับเช่นนี้จริง เหมือนดังที่เรียนกันอยู่ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต ในวันมาฆะบูชานั้น รวมทั้งข้อบัญญัติเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามนำไปปฏิบัตินานเพียงไรก็ตาม

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือสาธิตนั้น เราจะต้องทราบเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า จิตคือธาตุรู้
หมายความว่า ที่ใดมีธาตุรู้ยืนทรงตัวอยู่ ก็ต้องแปลว่าที่นั้นมีจิตอยู่
ถ้าธาตุรู้นั้น รู้อยู่โดยตลอดเวลาแล้ว แต่เรากลับพูดว่า จิตเกิดดับ (รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง)
ก็ย่อมพูดผิดจากความจริง

เพราะว่า ถ้าพูดว่า จิตเกิด ก็ย่อมแปลว่า เดิมไม่มีจิตอยู่ แต่เพิ่งจะมีจิตขึ้นมา และถ้าพูดว่า
จิตดับ ก็แปลว่า จิตนั้นได้หายไปแล้ว ขณะนี้ไม่มีธาตุรู้เหลืออยู่อีกแล้ว


ดังนั้น ขอให้ใช้ความเป็นธรรมสังเกตดูว่า “ธาตุรู้” ได้บกพร่องขาดหายไปในขณะใดหรือไม่ แล้วกล่าวออกมาตามความเป็นจริงเท่านั้น ก็จะทำให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และนี่คือสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง พระบรมศาสดาย่อมไม่ทรงสั่งสอนสิ่งใดที่ผิดไปจากความจริงเป็นอันขาด

สมมุติว่า เรายกวัตถุชิ้นหนึ่ง ออกมาตั้ง ณ จุดๆหนึ่ง แล้วเพ่งดูอยู่ ณ จุดๆนั้น โดยไม่ให้สายตาที่เพ่งดู เคลื่อนออกไปเพ่งดูที่จุดอื่นนอกจากที่จุดนั้นเพียงจุดเดียวเท่านั้น เราย่อม “รู้” ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ตั้งอยู่ที่จุดนั้น
ทีนี้ เรายกเอาวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้น โดยใช้สายตาเพ่งดูอยู่ที่จุดที่กำหนดไว้ตามเดิม เราก็ย่อม “รู้” ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นแล้ว

ต่อจากนี้ ก็ยกเอาวัตถุชิ้นเดิมนั้นกลับเข้ามาตั้ง ณ จุดที่กำหนดไว้เดิมอีก เราก็ย่อม “รู้”ว่า วัตถุชิ้นนั้น ได้กลับมาตั้งอยู่ในที่เดิมอีกแล้ว และเมื่อเรายกวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้นอีกครั้งหนึ่ง เราก็ย่อม “รู้” ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นอีกแล้ว ดังนี้
ทำเช่นนี้ไม่ว่ากี่ครั้งก็ตาม ย่อมสรุปผลได้ว่า เราย่อม “รู้” อยู่ทุกขณะและตลอดเวลา ว่าวัตถุชิ้นนั้นได้เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และวัตถุชิ้นนั้นได้หายไปจากจุดนั้น ไม่ว่าจะมีวัตถุตั้งอยู่หรือไม่ได้ตั้งอยู่ ณ จุดที่กำหนดให้นั้นก็ตาม

ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตของเราไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน คือ ไม่ได้เกิดดับ ดังที่เรียนท่องจำกันอยู่ในปัจจุบันนี้เลย แต่วัตถุ คือ “สิ่งที่ถูกจิตรู้” ต่างหาก ได้เกิดขึ้นที่การรับรู้ของจิต เมื่อยกไปตั้งที่จุดนั้น และดับไปจากการรับรู้ของจิต เมื่อยกออกไปเสียจากจุดนั้น วัตถุต่างๆหรือเรื่องที่จิตรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความนึกคิดทางใจ ซึ่งเรียกว่า อารมณ์ นั้น ต่างหากที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อย่างนับครั้งไม่ถ้วนในระยะวันหนึ่งๆ

มีพระบาลี ในมหาสติปัฏฐานสูตรรับรองอยู่ ดังนี้ คือ
“สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ, วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ”
แปลว่า “เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า ราคะเกิดขึ้นที่จิต
เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะหายไปจากจิต ดังนี้”

ทั้งนี้ เราย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า สิ่งที่เกิดดับตามพระบาลีนี้คือราคะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับตามอารมณ์จากภายนอก แต่ ธาตุรู้คือจิต นั้น รู้ทรงตัวอยู่เสมอ ไม่ได้เกิดดับตามราคะไปด้วย อาการรัก-ชังของจิตเท่านั้น ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปจากจิต จิตไม่ได้เกิดดับเลย.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๖-๘
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2011, 09:53:16 am »


จิตไม่เคยดับตายหายสูญ
มีพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้ :

“จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ” แปลว่า
“ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลาย
อันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้”

หมายความว่า จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่ง ติดต่อกันไปหลายพระชาติ เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนทรงตรัสรู้ และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธานทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกายซึ่งถือกำเนิดเป็นพระชาติต่างๆนั้นต่างหากที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือเปลี่ยนไปทุกพระชาติใหม่ทุกชาติ

ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง หรือเปลี่ยนตามรูปร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น,ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ จิตชั้นสัมมาสัมพุทโธยืน รู้ อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติเกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆ โดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๔
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2011, 08:18:40 am »


สภาพเดิมของจิต
ตามพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ดังนี้

“ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา” แปลว่า
“ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆได้
ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร(คือกิเลส)ได้”

ทั้งนี้แสดงว่า จิตของแต่ละคนมีดวงเดียว ไม่มีรูปร่างให้แลเห็นด้วยตา นอกจากจะแสดง “ความรู้” ออกมาให้รู้สึก โดยผ่านช่องทางซึ่งจิตใช้อาศัยสำหรับติดต่อกับอารมณ์เท่านั้น จิตมีสภาพว่องไวปราดเปรียวในการออกไปรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไปรับรู้อารมณ์อย่างอื่นอีกต่อไปตามลำดับ ตลอดเวลาที่ตื่นนอนอยู่.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๓

ต้นกำเนิดของจิต
ตามพระบาลีในอนมตัคคสูตร กล่าวไว้ดังนี้

“อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ” แปลว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว
ซึ่งผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้ว่ามาจากไหน? และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อใด”

ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ไม่มีผู้ใดเป็นผู้สร้างขึ้น และไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆทั้งสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

กล่าวให้ชัดก็คือ จิตมีอยู่นานแล้ว โดยไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๓-๔
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2011, 08:12:14 am »


พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง ชำระจิตให้บริสุทธิ์
คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลายนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประการ ดังนี้ คือ

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง อันได้แก่ คำสั่งสอนเกี่ยวกับศีล วินัย ข้อห้ามต่างๆ ซึ่งจะป้องกันพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติตาม ไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว หรือได้รับความเดือดร้อนนานาประการจากการอยู่ร่วมกันในสังคม
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ คำสั่งสอนที่เกี่ยวกับการทำความดี ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสต่างๆ ที่จะทำให้จิตเศร้าหมอง


คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ ทรงแบ่งออกเป็นขั้นๆดังนี้ คือ ใน ๒ ข้อแรก ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับการรักษากายกับวาจา และทรงสอนเรื่อง การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ในข้อสุดท้าย เพื่อให้พุทธบริษัทปฏิบัติตาม

แต่เนื่องจากทั้งกายและวาจานั้นอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดังนั้นเรื่องใหญ่ใจความก็ไปตกที่ข้อสุดท้ายทั้งหมด เพราะว่า ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมจะทำให้กายและวาจา ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดีตามไปด้วยในตัว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมเรื่อง การชำระจิตให้บริสุทธิ์ นี้ มีอยู่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ถึงแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีตหรือที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตทั้งหลาย อีกกี่พระองค์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีคำสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า “อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ” แปลว่า “การทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”.

จิต คือ ตัวพระพุทธศาสนา
เนื่องจากพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ที่เราอาจกล่าวให้ชัดว่า จิต คือ ตัวพระพุทธศาสนา ก็ได้

แต่จิตไม่มีรูปร่างหน้าตาให้แลเห็น ทั้งๆที่เรารู้ว่ามีจิตอยู่ด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องศึกษาให้รู้จักจิตพร้อมทั้งคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหลาย ให้รู้จักตามความเป็นจริงเสียก่อน จึงจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๑-๒
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2011, 08:04:09 am »


ธรรมประทีป ๙
อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ ผู้เรียบเรียงหนังสือ ธรรมประทีป ๙

จิตคือธาตุรู้ ไม่เคยดับตายหายสูญ
โดย
อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
ท่านอาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง หลังเกษียณ,ได้ทุ่มเทกับงานเผยแพร่ธรรมะมาโดยตลอด เป็นวิทยากรรับเชิญไปบรรยายธรรมตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่เคยคิดค่าใช้จ่ายใดๆ และจัดพิมพ์หนังสือธรรมประทีป ธรรมะภาคปฏิบัติ ไปแจกผู้เข้าร่วมอบรมเสมอ

ท่านอาจารย์ได้เขียนหนังสือธรรมประทีป และ หัวใจพระพุทธศาสนาไว้,หลายเล่มทีเดียว แต่ละเล่มพิมพ์แจกไปยังวัด หอสมุด ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา จะมีผู้สนใจอ่านแล้วได้รับประโยชน์ เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม เขียนจดหมายขอหนังสือของท่านอาจารย์เข้ามาเป็นระยะๆ หลายคนจดหมายมาขอบคุณที่ทำให้เขามีหลักในการปฏิบัติธรรม

ข้าพเจ้าค่อนข้างโชคดีที่มีหนังสือของท่านอาจารย์เกือบทุกเล่ม เนื้อหาแต่ละเล่มแตกต่างกันไป แจ่มแจ้ง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ตามหลักเหตุผล เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม และยังประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนามากทีเดียว และยิ่งอ่านมากรอบก็ยิ่งซาบซึ้งในพระธรรมแห่งองค์พระศาสดา

ข้าพเจ้าจึงได้ขออนุญาตท่านอาจารย์ รวบรวมงานเขียนของท่าน เป็นธรรมประทีป ๙ เล่มนี้ขึ้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา อ่านง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษา และลงมือปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง หากท่านทำใจให้เป็นกลาง อ่านด้วยความพินิจพิจารณา ย่อมจับหลักการและน้อมเข้าสู่การปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน

ในการรวบรวมหนังสือเล่มนี้ จนเสร็จสมบูรณ์ ท่านอาจารย์ได้กรุณาตรวจทาน แก้ไข แต่งเติมข้อความทั้งหมด ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านจะอ่านในเวลาที่อำนวยให้ และได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ต่อไป.

เภสัชกรหญิงณัฏฐิยา ปันภัทรทรัพย์   nuthiya04@hotmail.com
คำนำจาก หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
อ่านเรื่องจิต จากหนังสือธรรมประทีป ๙ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์

: http://dhamaprateep.wordpress.com/2010/07/17/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/
เรียนขออนุญาตนำมาเเบ่งปันค่ะ..
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมาย...