ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 17, 2013, 11:22:45 am »๖. ภูริทัตตชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัต ได้ตั้งความปรารถนาอยากไปเกิดในเทวโลก จึงไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่งในถิ่นมนุษย์ แต่ถูกพราหมณ์หมองูผู้รู้มนตร์อาลัมพายนะจับตัวไปเที่ยวแสดงละครหาเงินตามสถานที่ต่าง ๆ
ต่อมานาคพี่น้องชาย ๓ ตัวได้มาช่วยเหลือพญานาคภูริทัตให้รอดพ้นจากพราหมณ์หมองูไปได้ นาคพี่ชายมีความแค้นเคืองจึงคิดจะทำลายชีวิตพราหมณ์หมองูนั้น แต่ถูกนาคน้องชายซึ่งกลัวตกนรกห้ามปรามไว้ เพราะพราหมณ์หมองูผู้น ี้เป็นผู้รู้พระเวทและเป็นผู้สาธยายมนตร์ ใคร ๆ ไม่ควรทำลาย พญานาคภูริทัตได้ชี้แจงให้นาคน้องชายได้ทราบว่า ความเข้าใจเช่นนั้นเป็นความเข้าใจผิด การปฏิบัติตามลัทธิของพราหมณ์เช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
พญานาคภูริทัตได้มุ่งมั่นรักษาอุโบสถศีลจนตลอดชีวิตแล้วจึงไปเกิดในเทวโลกตามความปรารถนาพร้อมด้วยบริษัทอีกเป็นจำนวนมาก
๗. จันทกุมารชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมารราชโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองบุปผวดี ถูกพราหมณ์ปุโรหิตชื่อขัณฑหาละ ผู้มีจิตริษยาออกอุบายยุยงให้พระเจ้าเอกราชปลงพระชนม์เพื่อทำการบูชายัญด้วยสิ่งที่สละได้ยากแล้วไปเกิดในสวรรค์
พระเจ้าเอกราชทรงหลงเชื่อจึงรับสั่งให้จับพระจันทกุมารพร้อมด้วยคนอื่นอีกเป็นจำนวนมากแล้วให้นำไปมัดไว้ที่ปากหลุมบูชายัญ แม้พระมเหสีจะทูลวิงวอนขอชีวิตพระจันทกุมาร แต่พระเจ้าเอกราชก็ไม่ทรงยินยอม ท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จลงมาช่วยชีวิตพระจันทกุมาร และทรงตำหนิการกระทำของพระเจ้าเอกราชว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง
เมื่อพระจันทกุมารทรงรอดพ้นจากความตายแล้ว ประชาชนพากันรุมประชาทัณฑ์ขัณฑหาละปุโรหิตด้วยก้อนดินจนถึงแก่ความตาย และปลดพระเจ้าเอกราชออกจากตำแหน่งพระราชาแล้วขับไล่ให้ไปเป็นคนจัณฑาลอยู่นอกเมือง พร้อมทั้งอภิเษกพระจันทกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชย์ต่อไป
พระจันทกุมารทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงยึดมั่นอยู่ในกุศล และเสด็จไปบำรุงพระบิดาซึ่งถูกขับไล่ให้ไปอยู่นอกเมืองเป็นประจำ เมื่อสวรรคตแล้วจึงไปเกิดในสวรรค์
๘. มหานารทกัสสปชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม ชื่อนารทะ เห็นพระราชธิดาพระนามว่า รุจาของพระเจ้าอังคติที่ทรงพยายามเปลื้องพระราชบิดาให้พ้นจากความเห็นผิด เพราะพระเจ้าอังคติทรงเชื่อถือคำสอนของคุณาชีวกที่ว่านรกไม่มี โลกหน้าไม่มี บิดามารดาไม่มี บุญบาปไม่มี สัตว์จะดีจะชั่วก็ดีเอง ชั่วเอง จากนั้นพระองค์ทรงละเว้นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแล้วหันมาเสวยสุราเมรัยและบริโภคกามคุณอย่างเดียว
พระราชธิดารุจาทรงพยายามชี้แจงให้เห็นว่า ความเชื่อเช่นนั้นเเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะนรกมี สวรรค์มี โลกนี้มี โลกหน้ามี บิดามารดามี บุญบาปมี ฯลฯ เพราะพระองค์เคยประสบมาแล้ว เมื่อพระเจ้าอังคติทรงสดับแล้วพอพระทัยในคำชี้แจงของพระราชธิดา แต่ยังหาคลายทิฏฐิไม่ พระราชธิดารุจาจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานให้สมณพราหมณ์หรือเทวดา พระอินทร์ พระพรหมลงมาช่วย
เมื่อท้าวมหาพรหมทราบสัตยาธิษฐานแล้ว จึงลงมาแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติสดับ ทำให้พระองค์ ๕ทรงคลายจากมิจฉาทิฏฐิแล้วทรงบำเพ็ญกุศลมีการให้ทานเป็นต้น และเมื่อสวรรคตแล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์
๙. วิธุรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ชื่อวิธุระผู้สอนอรรถธรรมแด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะแห่งกรุงอินทปัตถ์ แคว้นกุรุ พระนางวิมลาเทวีมเหสีของพญานาควรุณได้ฟังกิตติศัพท์ของวิธุรบัณฑิตแล้วอยากจะฟังธรรมของท่านจึงออกอุบายลวงพญานาคผู้สามีว่า แพ้ท้องอยากกินหัวใจของวิธุรบัณฑิต
พญานาควรุณจึงขอให้นางอิรันทดีบุตรีไปเที่ยวแสวงหาชายหนุ่มที่สามารถนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมายังนาคพิภพได้ แล้วจะยกนางให้เป็นภรรยา ปุณณกยักษ์เสนาบดีผู้หลงรักนางอิรันทดีมาเป็นเวลานานได้ทราบข่าว จึงรับอาสาจะไปนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้ จากนั้นจึงเหาะไปที่กรุงอินทปัตถ์ แล้วท้าพนันเล่นสกากับพระเจ้าธนัญโกรัพยะว่า ถ้าตนแพ้ก็จะยกลูกแก้ววิเศษให้ แต่ถ้าพระองค์แพ้ก็ต้องยกวิธุรบัณฑิตให้ข้าพระองค์ ผลการเล่นพนันสกาปรากฏว่าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะทรงพ่ายแพ้จึงต้องยกวิธุรบัณฑิตให้แก่ปุณณกยักษ์เสนาบดีตามสัญญา
วิธุรบัณฑิตได้ขอร้องปุณณกยักษ์เสนาบดีให้พักอยู่ที่กรุงอินทปัตถ์ต่ออีกเป็นเวลา ๓ วัน เพื่อจะได้แสดงราชวสตีธรรม (คุณสมบัติของความเป็นข้าราชการที่ดี) แก่บุตรธิดา วงศาคณาญาติและมิตรสหายที่กำลังรับราชการ หรือมีความประสงค์จะเข้ารับราชการในราชสำนักของพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ เพื่อให้นำไปประพฤติปฏิบัติสำหรับเตรียมตัวเป็นข้าราชการที่ดีต่อไป เมื่อครบกำหนด ๓ วันแล้ววิธุรบัณฑิตจึงไปทูลลาพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ออกเดินทางไปกับปุณณกยักษ์เสนาบดี
ปุณณกยักษ์เสนาบดีให้วิธุรบัณฑิตจับหางม้าสินธพมโนมัยพาเหาะไปจนถึงกาฬคิรีบรรพตแล้วคิดหาอุบายต่าง ๆ นานา ที่จะฆ่าวิธุรบัณฑิตแล้วควักเอาเฉพาะหัวใจไป แต่วิธุรบัณฑิตได้แสดงสาธุนรธรรม ให้ปุณณกยักษ์เสนาบดีฟังจนยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะฆ่า จากนั้นจึงพาวิธุรบัณฑิตเหาะไปมอบแก่พญานาควรุณถึงนาคพิภพโดยปลอดภัย
วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่พญานาควรุณและพระนางวิมลาเทวี ทำให้ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงทำสักการะนานัปการแก่วิธุรบัณฑิตแล้วรับสั่งให้ปุณณกยักษ์เสนาบดีและนางอิรันทดีผู้ภรรยานำวิธุรบัณฑิตไปส่งที่กรุงอินทปัตถ์ แคว้นกุรุ พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะรับสั่งให้มีงานมหรสพที่กรุงอินทปัตถ์เป็นเวลา ๑ เดือน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของวิธุรบัณฑิต
วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่ประชาชน ถวายอนุสาสน์แด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะให้บำเพ็ญบุญมีการให้ทานและรักษาศีลอุโบสถ เป็นต้น จนตลอดชีวิตแล้วไปสู่เทวโลก
๑๐. เวสสันตรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระองค์ประสูติในวันที่พระราชบิดาทรงทำประทักษิณพระนคร และพระราชมารดากำลังเสด็จชมร้านตลาด จึงทรงได้นามว่า เวสสันดร พระองค์ทรงพอพระทัยในการบริจาคทานโดยที่สุดแม้ร่างกายและชีวิตก็ทรงบริจาคให้เป็นทานได้
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วได้ทรงบริจาคพญาช้างปัจจัยนาคให้แก่พราหมณ์ ๘ คนที่มาทูลขอ ทำให้ชาวเมืองโกรธแค้นจึงรวมตัวกันขับไล่ให้ไปอยู่ที่เขาวงกต แต่ก่อนที่จะเสด็จไปก็ทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน แม้ในขณะที่กำลังเสด็จออกจากพระนคร มีผู้มาขอราชรถพร้อมทั้งม้าทรง พระองค์ก็ทรงบริจาคให้เป็นทานอีก
พระเวสสันดรทรงพาพระนางมัทรี พระโอรส และพระธิดา ดำเนินด้วยพระบาทผ่านเมืองเจตราชไปถือเพศเป็นฤาษีอยู่ ณ บรรณศาลาที่เขาวงกต เสวยผลหมากรากไม้เป็นอาหาร เวลาผ่านไป ๗ เดือน พราหมณ์ขอทานชื่อชูชกได้เดินทางไปขอพระโอรสและพระธิดา คือ ชาลีและกัณหาเพื่อนำไปเป็นทาสรับใช้ พระองค์ก็ทรงบริจาคให้ วันรุ่งขึ้นท้าวสักกเทวราชแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี พระองค์ก็ทรงบริจาคให้อีก
พราหมณ์ชูชกพา ๒ กุมาร เดินทางไปถึงเมืองเชตุดร พระเจ้าสญชัยทรงเห็นเข้า จึงโปรดให้นำพระราชทรัพย์มาไถ่พระราชนัดดาทั้ง ๒ องค์ ไว้ ต่อมาได้ให้พระราชนัดดานำทางไปรับพระเวสสันดรกลับพระนคร
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จกลับมาถึงพระนคร ฝนแก้ว ๗ ประการได้ตกลงมาทั่วพระนคร พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงบริจาคมหาทานและรักษาอุโบสถตลอดพระชนมายุ หลังจากสวรรคตแล้วจึงไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต
สรุปชาดก
เรื่องในชาดกทั้งหมดเป็นเรื่องที่กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ บารมีที่บำเพ็ญนั้นคือ ทานบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี รวมเรียกว่าบารมี ๓๐ (๓ x ๑๐) โดยแบ่งเป็นบารมีชั้นธรรมดา ๑๐ (บารมี) บารมี ชั้นกลาง ๑๐ (อุปบารมี) และ บารมีชั้นสูง ๑๐ (ปรมัตถบารมี) รวมเป็นบารมี ๓๐ ประการ
ในอรรถกถาจริยาปิฎกพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ ได้จัดชาดกเรื่องต่างๆ ลงในบารมีทั้ง ๓๐ ประการ มีนัยโดยสังเขปที่น่าศึกษา ดังนี้
๑. ทานบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีวิราช (๒๗/๔๙๙) ทรงบำเพ็ญทานอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร (๒๘/๕๔๗) และทรงบำเพ็ญทานปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกระต่ายป่าสสบัณฑิต (๒๗/๓๑๖)
๒. ศีลบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญศีลบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัตทันต์เลี้ยงมารดา (๒๗/๗๒) ทรงบำเพ็ญศีลอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญานาคภูริทัต (๒๘/๕๔๓)
๓. เนกขัมมบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นอโยฆรราชกุมาร (๒๗/๕๑๐) ทรงบำเพ็ญเนกขัมมอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นหัตถิปาลกุมาร (๒๗/๕๐๙) และทรงบำเพ็ญเนกขัมมปรมัตถบารมี ในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจูฬสุตโสม (๒๗/๕๒๗)
๔. ปัญญาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นสัมภวกุมาร (๒๗/๕๑๕) ทรงบำเพ็ญปัญญาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์วิธุรบัญฑิต (๒๘/๕๔๖) และทรงบำเพ็ญปัญญาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นเสนกบัณฑิต (๒๗/๔๐๒)
๕. วิริยบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญากปิ (๒๗/๕๑๖) ทรงบำเพ็ญวิริยอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีลวมหาราช (๒๗/๕๑) และทรงบำเพ็ญวิริยปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก (๒๘/๕๓๙)
๖. ขันติบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญขันติบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นจูฬธัมมปาลราชกุมาร (๒๗/๓๕๘) ทรงบำเพ็ญขันติอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นธัมมิกเทพบุตร (๒๗/๔๕๗) และทรงบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส (๒๗/๓๑๓)
๗. สัจจบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญสัจจบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นวัฏฏกะ (ลูกนกคุ่ม (๒๗/๓๕) ทรงบำเพ็ญสัจจอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน (๒๗/๗๕) และทรงบำเพ็ญสัจจปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุตโสม (๒๘/๕๓๗)
๘. อธิษฐานบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญากุกกุระ (๒๗/๒๒) ทรงบำเพ็ญอธิษฐานอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นมาตังคบัณฑิต (๒๗/๔๙๗) และทรงบำเพ็ญอธิษฐานปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเตมิยราชกุมาร (๒๘/๕๓๘)
๙. เมตตาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสามดาบส (๒๘/๕๔๐) ทรงบำเพ็ญเมตตาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกัณหาทีปายนดาบส (๒๗/๔๔๔) และทรงบำเพ็ญเมตตาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเอกราช
๑๐. อุเบกขาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกัจฉปบัณฑิต (๒๗/๒๗๓) ทรงบำเพ็ญอุเบกขาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญามหิส (๒๗/๒๗๘) และทรงบำเพ็ญอุเบกขาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นโลมหังสบัณฑิต (๒๗/๙๔)
หมายเหตุ เลขหน้าเป็นลำดับเล่มพระไตรปิฎก เลขหลังเป็นลำดับชาดก
เช่น (๒๗/๒๗๓) หมายถึง พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ชาดกเรื่องที่ ๒๗๓)
การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติหนึ่ง ๆ มิใช่ว่าจะทรงบำเพ็ญบารมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทรงบำเพ็ญทานบารมี หรือทรงบำเพ็ญศีลบารมีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในชาติเดียวกันนั้น ได้บำเพ็ญบารมีหลายอย่างควบคู่กันไป แต่อาจเด่นเพียงบารมีเดียว ที่เหลือนอกนั้นเป็นบารมีระดับรอง ๆ ลงไป
เช่น ในชาติที่เป็นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ บารมี คือ
เมื่อพระเวสสันดรประสูติได้ไม่นาน พระองค์ได้กราบทูลพระมารดาว่า จะให้ทาน ขณะมีพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ทรงดำริที่จะบริจาคอวัยวะทั้งหมดให้เป็นทาน (อัชฌัตติกทาน) เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วได้รับพระราชทานพญาช้างปัจจัยนาคราชแก่พวกพราหมณ์ และทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน ต่อมาเมื่อถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่เขาวงกตก็ได้ทรงบริจาคพระโอรส พระธิดา และมเหสี และเมื่อเสด็จกลับมาครองราชสมบัติอีกก็ได้บริจาคทานตลอดพระชนมายุ การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นทานบารมี
ในฐานะเป็นฆราวาส พระเวสสันดร สมาทานรักษาเบญจศีลเป็นนิตย์ และทรงสมาทานรักษาอุโบสถศีลทุกวันอุโบสถกึ่งเดือน การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นศีลบารมี
ขณะที่ถือเพศเป็นดาบสอยู่ที่เขาวงกต พระเวสสันดรทรงละกามคุณอย่างเด็ดขาด การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นเนกขัมมบารมี
การดำริที่จะบริจาคอวัยวะทั้งหมดให้เป็นทานก็ตาม การบรรเทาความเศร้าโศกอันเกิดจากการบริจาคพระโอรส พระธิดาด้วยปัญญาก็ตาม การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นปัญญาบารมี
ขณะที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จออกโรงทานทั้ง ๖ แห่ง ทุกกึ่งเดือน และขณะที่ทรงถือเพศเป็นดาบสอยู่ที่เขาวงกตนั้น พระองค์ทรงตั้งพระทัยบูชาเพลิง และบำเพ็ญเตโชกสิณอยู่เป็นนิตย์ การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นวิริยบารมี
เมื่อพระราชบิดาทรงเนรเทศให้ออกจากพระนครตามความประสงค์ของชาวเมือง และเมื่อพราหมณ์ชูชกเฆี่ยนตีพระโอรสพระธิดา ณ เบื้องพระพักตร์ พระองค์ก็ทรงอดกลั้นความรู้สึกเหล่านี้ได้ การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นขันติบารมี
พระเวสสันดรทรงปฏิญาณที่จะบริจาคอวัยวะทั้งหมดและพระโอรสพระธิดาให้เป็นทาน การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นสัจจบารมี
เมื่อทรงปฏิญาณอย่างแน่วแน่ ไม่ทำความอาลัยในพระโอรสพระธิดาที่จะทรงบริจาคให้เป็นทาน แม้จะทรงสะดุ้งกลัวต่อเสียงตำหนิติเตียนของหมู่เสวกามาตย์จนต้องเสด็จขึ้นไปบนภูเขา แต่เมื่อพระนางมัทรีเสด็จขึ้นไปปลอบแล้ว พระองค์ก็ทรงอธิษฐานใจอย่างมั่นคง การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นอธิษฐานบารมี
การแผ่เมตตาให้แก่ชาวกาลิงคราษฎร์ที่มาขอพระราชทานพญาช้างปัจจัยนาคก็ตาม การแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ในระหว่างทรงถือเพศเป็นดาบสประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่เขาวงกตก็ตาม การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นเมตตาบารมี
พระเวสสันดรทรงตัดความเสน่หาในพระโอรสพระธิดาโดยมิได้โกรธแค้นพราหมณ์ชูชกที่มาขอ พร้อมทั้งทรงตั้งพระทัยเป็นกลางโดยมิได้รักหรือชังผู้ใด การบำเพ็ญบารมีในส่วนนี้จัดเป็นอุเบกขาบารมี
บารมี ๓๐ ประการนี้เป็นขุมทรัพย์ในชาดก
:http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_10.htm