ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 09, 2014, 03:56:43 pm »ผู้ได้ชื่อว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
อานนท์ ! อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา)
ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ – ไม่เป็นที่ชอบใจ
– ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะเห็นรูปด้วยตา.
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า
“อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต)
เป็นของหยาบ ๆ (โอฬาริก)
เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน);
แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้.
(เมื่อรู้ชัดอย่างนี้)
อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ – ไม่เป็นที่ชอบใจ
- ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ – ไม่เป็นที่ชอบใจ
- ทั้งเป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป เร็วเหมือน
การกระพริบตาของคน อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย
ในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.
(ในกรณีแห่ง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ
รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหาโผฎฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และ
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ทรงตรัสอย่างเดียวกัน
ต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้น ๆ, คือ
กรณีเสียง เปรียบด้วยความเร็วแห่งการดีดนิ้วมือ,
กรณีกลิ่น เปรียบด้วยความเร็วแห่งหยดน้ำตกจากใบบัว,
กรณีรส เปรียบด้วยความเร็วแห่งน้ำลาย
ที่ถ่มจากปลายลิ้นของคนแข็งแรง,
กรณีโผฏฐัพพะ เปรียบด้วยความเร็วแห่งการเหยียดแขน
พับแขนของคนแข็งแรง,
กรณีธรรมารมณ์ เปรียบด้วยความเร็วแห่งการแห้งของหยดน้ำ
บนกระทะเหล็ก ที่ร้อนแดงอยู่ตลอดวัน)
อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๒–๕๔๕/๘๕๖–๘๖๑.
>>> F/B >> พระพุทธเจ้า