ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 14, 2014, 01:33:54 pm »๖. หลักสันติภาพสากล และสันติสุขส่วนบุคคล พุทธปรัชญาเกิดจากการตระหนักอย่างลึกซึ้งต่อความทุกข์อันใหญ่หลวงที่มนุษย์ทุกคนเผชิญอยู่ สิทธัตถะจึงได้ออกแสวงหาทางแก้ได้ด้วยการค้นพบสัจจธรรม หรือพุทธปรัชญา แม้ในช่วงนี้ก็ด้วยทรงตระหนักถึงความรักสากลในชาวโลก ดังนั้น ด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยมหากรุณาธิคุณจึงตัดสินพระทัยประกาศหลักธรรม และในหลักจริยธรรมขั้นต้น พุทธปรัชญาก็ประกาศว่าบุคคลควรทำชีวิตของตน
ให้เป็นอุปมา ไม่ควรฆ่าหรือเบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่น
หรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งความคิด การพูด และการกระทำ
เพราะการไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก
พระพุทธองค์ทรงย้ำอยู่เสมอ และในเบญจธรรมข้อแรกก็ทรงเน้นถึง
การพัฒนาคุณสมบัติของจิตใจพิเศษ คือเมตตาธรรม (Loving indness)
หรือความรักสากล(Universal Love)
ต่อทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกทางชนชั้น หรือด้วยเหตุ คือ สถานภาพอื่นใด
ในสุตตนิบาต และอิติวุตตกะ พระสุตตันตปิฎก พระองค์ตรัสว่า
"เสมือนมารดารักบุตรน้อยของตนยิ่งกว่าชีวิต เธอทั้งหลาย
จงแผ่เมตตาจิตอันหาขอบเขตมิได้ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น"
"สหายทั้งหลาย ไม่มีการประกอบกุศลกรรมใดแล้ว
จะมีค่าถึงเสี้ยวหนึ่งของเมตตาธรรม"
และในมัชฌิมนิกาย ได้ทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าประทับใจว่า
"ถ้าหากบุรุษใจร้าย จับเธอตัดแขน ตัดขาของเธอ
และเพราะเหตุนั้น ถ้าเธอแม้เพียงความคิดโกรธต่อบุรุษนั้นเพียงน้อยหนึ่ง
ก็ชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา"
อนึ่ง แม้ในเรื่องสงครามก็ทรงห้ามพระสงฆ์ดูกองทัพ หรือการสวนสนาม ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงการเข้าร่วมสงครามประเด็นนี้นายคริสมาส ฮัมเฟรย์ ประธานผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมในลอนดอน กล่าวว่า เหตุผลทั้งหลายที่ทำให้ท่านตัดสินใจผละจากคริสตศาสนาก็เพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง น้องชายของท่านถูกฆ่าตายในการรับใช้พระมหากษัตริย์และประเทศชาติ พระสงฆ์แห่งคริสตศาสนาทั้งประเทศอังกฤษและประเทศเยอรมันต่างก็เอ่ยอ้างพระนามของพระเจ้าองค์เดียว ในการทำทหารออกรบทำลายฆ่าห้ำหั่นกัน และให้กำลังใจทหารให้ทำการต่อสู้เพื่อชัยชนะ
นอกจากนี้ท่านอธิการอินจ์ แห่งวัดเซ็นปอล ณ ลอนดอน ยังกล่าวไว้ในผลงานของท่านชื่อ Christian Ethics and Modern Problem (๑๙๕๒) ว่า
"ถ้าเราคริสตเตียนเป็นผู้รักสันติเช่นเดียวกับชาวพุทธ หรือถ้าหากยุโรปตะวันตกมีกำลังมามากเหมือนผึ้งแตกรังอย่างรัสเซีย หรือฮังการี เป็นที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า "มรดก" ของ กรีก โรม และปาเลสไตน์ ย่อมจะสูญสิ้นไปอย่างไม่เหลือเลย"
"มีการติเตียนคริสตศาสนาว่า มีการกระทำน้อยเหลือเกิน ในการนำมนุษย์ออกจากความชั่วร้ายอันใหญ่หลวงนี้ (สงคราม) เราได้รับคำบอกเล่าว่าพุทธศาสนานั้นย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องอหิงสธรรม"
ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า พุทธปรัชญาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดอันเป็นความหมายแท้จริงของชีวิต คือ ความมีศานติและความสุข แต่ทั้งนี้ต้องโดยวิธีที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่นเท่านั้น นั่นคือ จุดมุ่งหมาย (end) และวิธีการ (means) จะต้องบริสุทธิ์ถูกต้องเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าผิดพลาดที่จะกล่าวว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงประกาศหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์ (Peaceful Co-existence) ขึ้นในโลกก่อนที่ผู้นำของการเมืองในโลกค่ายเสรี หรือคอมมิวนิสต์กล่าวอ้างโดยไม่จริงใจ
อนึ่ง ในประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์ว่า "พุทธปรัชญาสอนให้คนขลาด ไม่กล้าหาญในการต่อสู้ เพราะเน้นแต่ความเมตตา" ข้อนี้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะพุทธปรัชญาเน้นถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญอย่างยิ่ง แม้ในการศึกษาปฏิบัติ และการทำงานก็แนะให้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ในการกระทำความชั่วร้ายต่างๆ ทั้งแก่ตนเอง และคนอื่นในรูปลักษณะต่างๆ นั้น แนะให้งดเว้น แม้ในเรื่องการต่อสู้เอาแพ้เอาชนะแบบการพนัน หรือการสงครามก็มีหลักชี้ว่า : -
"ชัยชนะนำมาซึ่งความเกลียดชัง การแพ้นำมาซึ่งความทุกข์
ผู้มีปัญญาไม่ปรารถนาทั้งการแพ้ และชนะ
ไม่ปรารถนาความโกรธหรือการทำให้โกรธ"
"ชัยชนะที่ไม่มีการแพ้ที่อยู่เหนือชัยชนะทั้งปวง
คือ การเอาชนะความชั่วร้ายในความคิดของตนเอง
เพราะเป็นชัยชนะที่สุดท้าย และสูงสุด"
ประการสำคัญเราจะตระหนักถึงความเข้าใจผิด และการกระทำผิดอย่างใหญ่หลวงของ ผู้นำทางการเมือง และการทหารที่ตัดสินทำสงคราม อาทิ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งครั้งที่สอง และครั้งหลังสุด คือ สงครามอินโดจีน ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือการรักษาอำนาจทางการเมืองก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้นมีเหตุผลมูลฐานของคู่กรณีอยู่ที่การไม่ตระหนักถึงความรักสากล และอหิงสธรรมของพระศาสดา เช่น พระพุทธเจ้าหรือแม้ของพระเยซูคริสต์เจ้า หากแต่ยอมปฏิบัติการไปด้วยหวังผลอันจะเกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่จะเกิดตามมาจากการปฏิบัติการนั้นๆ เหนือสิ่งอื่นใด พุทธปรัชญายังคงเรียกร้องให้มวลชนทุกประเทศในโลกมีความรัก และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติอยู่อย่างเดิมตลอดไป เพราะหลักการนี้เท่านั้นถูกต้องเป็นสัจจธรรม