ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 04:05:36 pm »แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (จบ)
๕. การป้องกันความผิดพลาดในการภาวนา
การปฏิบัตินั้น ถ้าจะป้องกันความผิดพลาด
ก็ควรจับหลักให้แม่นๆ ว่า
“เราปฏิบัติเพื่อรู้ทันกิเลสตัณหา ที่คอยแต่จะครอบงำจิตใจ
ปฏิบัติไปจนจิตฉลาด พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา”
ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสิ่งอื่น
หากปฏิบัติโดยแฝงสิ่งอื่นเข้าไป
เช่นความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้
อยากเด่น อยากดัง อยากหลุดพ้น
โอกาสพลาดก็มีสูง เพราะจิตมักจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา
แทนที่จะรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง
แล้วก็ควรสังเกตจิตใจตนเองไว้บ้าง
หากรู้สึกว่า จิตใจเกิดความหนักที่แตกต่าง
หรือแปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อม
ก็แสดงว่าจิตไปหลงยึดอะไรเข้าให้แล้ว
เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งภายในภายนอกนั้น มันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย
ที่มีน้ำหนักขึ้นมา ก็เพราะเราไปแบกไปถือไว้เท่านั้นเอง
ลองสังเกตดูตอนนี้ก็ได้ครับ
ลองทำใจให้สบายๆ สังเกตไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก
เช่นอาคารบ้านเรือน โต๊ะเก้าอี้ ต้นหมากรากไม้
จะเห็นว่า สิ่งภายนอกนั้นโปร่ง เบา ไม่มีน้ำหนัก
เพราะเราไม่ได้เข้าไปแบกหามเอาไว้
ส่วนจิตใจของเรานั้น มองย้อนเข้ามาจะเห็นว่ามันหนักมากบ้างน้อยบ้าง
ถ้ายึดมากก็หนักมาก ยึดน้อยก็หนักน้อย
มันยังแปลกแยกออกจากธรรมชาติ ธรรมดา
สิ่งที่แปลกแยกนั่นแหละครับ
คือส่วนเกินที่เราหลงสร้างขึ้นมาโดยรู้ไม่เท่าทันมายาของกิเลส
เมื่อรู้แล้ว ก็สังเกตจิตตนเองต่อไปว่า
มันยินดียินร้ายต่อสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามานั้นหรือไม่
แล้วก็รู้เรื่อยไป จนจิตเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
ธรรมชาติภายใน กับธรรมชาติภายนอกก็จะเสมอกัน
คือไม่มีน้ำหนักให้ต้องแบกหามต่อไป
พระศาสดาทรงสอนว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก
บุคคลแบกของหนักพาไป เขาย่อมไม่พบความสุขเลย
คำสอนของพระองค์นั้น คำไหนก็เป็นคำนั้น
ขันธ์เป็นของหนักจริงๆ สำหรับคนที่มีตาที่จะดูออกได้
โดยคุณ สันตินันท์
(นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
>>> F/B Trader Hunter พบธรรม