ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 05, 2014, 09:21:00 pm »๔. มีความรู้สึกเป็นเราเป็นเขาน้อยลงไปอีก จนมีความรู้สึกเป็นเรา เป็นพวกเราสูงขึ้นและกระจายออกไปโดยอาศัยจุดเหนี่ยวหลายๆอย่าง เช่นการยอมรับความเป็นคนของคนอื่นเช่นเดียวกับตน อย่างที่ท่านแต่งเป็นคำกลอนไว้ว่า
"คนเห็นคน คือคน นั่นแหละคน
คนเห็นคน ไม่ใช่คน ใช่คนไม่
เกิดเป็นคน ต้องเป็นคน ทุกคนไป
จนหรือมี ผู้ดีไพร่ ไม่พ้นคน"
๕. การยอมรับทุกคนล้วนมาจากแหล่งเดียวกัน เช่นความเชื่อของศาสนาประเภทเทวนิยมทั้งหลาย ความรู้สึกเหล่านี้ถ้าสร้างให้เกิดขึ้นได้จริงๆ จะสามารถเป็นจุดยึดเหนี่ยวอย่างดีได้ประการหนึ่ง เพราะจะทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างพวกเดียวกัน ด้วยเหตุที่มีความรู้สึกว่าตนมาจากแหล่งเดียวกัน ทำนองเดียวกับลูกพ่อแม่เดียวกัน ซึ่งนอกจากจะสามารถเป็นจุดยึดเหนี่ยวให้เว้นจากการเบียดเบียนกันได้แล้ว ยังจะช่วยให้เกิดความเอื้ออาทรต่อกันจนถึงสงเคราะห์กันได้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้อีกด้วย
๖. มีความรู้สึกว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นญาติกัน เป็นมิตรสหายกัน จนกระจายออกไปเป็นคนชาติเดียวกัน มีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันมีศาสนาเดียวกันเป็นต้น ทำให้คนอาศัยสายใยแห่งชีวิตแต่ละอย่างดังกล่าวผูกโยงไว้ด้วยกัน แม้บางครั้งจะมีความรู้สึกเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะนึกถึงคนอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับตน อันสามารถยับยั้งชั่งใจในกรณีที่อยากจะทำอะไรที่รุนแรงไว้ได้
๗. มีความรู้สึกว่า ทุกชีวิตในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จนเกิดความปรารถนาและการกระทำในลักษณะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ อันมีผลเกื้อกูลเป็นความสุข ความสงบ ทั้งแก่ตนและคนอื่น โดยมีความคิดว่าเราและพวกเราจะได้อะไรจากการกระทำของเรา คนที่มีความคิดระดับนี้ชื่อว่าดำเนินชีวิตเข้าสู่ "วิถีแห่งบุญ" จะให้ความสำคัญแก่วัตถุสิ่งของต่างๆน้อยลงมากจนพร้อมที่จะเสียสละผลประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เพื่อนร่วมโลก คนประเภทนี้เองที่ตระหนักถึงความจริงที่ว่า
"ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่
มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล
ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน
แม้ร่างตน เขายังเอา ไปเผาไฟ"
เนื่องจากเขาตระหนักถึงสัจจะแห่งชีวิตที่จะต้องจบลงที่ความตาย รู้ว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร จึงพยายามใช้กาลปัจจุบันให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น อย่างเต็มความสามารถอันเป็นการปฏิบัติตนตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้ทราบไว้ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตน และประโยชน์บุคคลอื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
๘. เนื่องจากในแง่ของความจริงแล้ว โลกนี้ไม่มีทั้งเรา ไม่มีทั้งเขา พระพุทธศาสนาจึงแสดงความจริงอีกขั้นหนึ่งที่คนระดับพระอริยสาวกสามารถสัมผัสได้อย่างแท้จริง นั่นคือ ความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย อันถือว่าใครก็ตามที่เข้าถึงธรรมเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ ย่อมไม่มีความรู้สึกว่า "มีอะไรเป็นของเรา มีใครเป็นเรา และไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนของเรา" ท่านที่เข้าถึงจุดนี้จะมองโลกด้วยปัญญา มีความกรุณาอย่างเปี่ยมล้นต่อชาวโลกที่ยังหลงผิดด้วยอวิชา จึงพยายามชี้แจงแนะนำสั่งสอน ให้เขาเข้าถึงความจริงในขั้นใดขั้นหนึ่งซึ่งอยู่ในวิสัยที่เขาสามารถเข้าถึงได้ อย่างน้อยก็ในขั้นของ "ศีลธรรม" ที่มีการยอมรับ นับถือ ของตนเองและผู้อี่น จนมีความสำรวมระวังเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต ทรัพย์สิน คู่ครอง ผลประโยชน์ของคนอื่น ไม่มีพฤติกรรมอันใดที่เป็นการเบียดเบียนกัน
มีความเคารพในสิทธิ หน้าที่ ผลประโยชน์ของกันและกัน ซึ่งสามารถช่วยให้การอยู่ร่วมกันของคนเหล่านั้น ปราศจากการสร้างเวร ภัย ความทุกข์ ให้แก่กันและกัน อันเป็นผลให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ตามสมควร โดยมีหลักกฏหมาย ศีล ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นหลักในการอยู่ร่วมกัน และตัดสินความผิดของตน พวกตน คนอื่น และพวกอื่น
มีต่อค่ะ