ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 03, 2014, 12:06:43 pm »คุณสมบัติของครูและศิษย์นั้นมีหลายข้อด้วยกัน แต่อาจสรุปได้เป็นสามข้อสำหรับครู และสี่ข้อสำหรับศิษย์
คุณสมบัติของครู
- ครูต้องมีความเข้าใจที่ดีในยานทั้งสาม (หินยาน มหายาน วัชรยาน) ในบริบทของวัชรยาน ครูต้องได้รับคำสอนผ่านพิธีอภิเษกและการชี้แสดงธรรมชาติแห่งจิต อีกทั้งฝึกฝนจนประสบผลสำเร็จอย่างน้อยก็บางการปฏิบัติ
- ครูต้องมีความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็ก เมื่อครูสอน การสอนจะออกมาจากแรงดลใจในการช่วยเหลือศิษย์ทั้งหลายบนหนทางแห่งการรู้แจ้ง
- ครูต้องสนใจเพียงการช่วยเหลือและยังประโยชน์แก่ศิษย์ โดยไม่คิดแสวงหาประโยชน์จากศิษย์ คำสอนที่ให้ไปจะต้องไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกเสียจากการชี้แนะศิษย์บนเส้นทาง
คุณสมบัติของศิษย์
- ศิษย์ต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมและไม่สั่นคลอนในครูและในรัตนตรัย อันได้แก่ พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ
- ศิษย์ต้องมีความพากเพียรในการนำคำสอนและคำชี้แนะที่ได้รับจากครูมาทดลองปฏิบัติ
- ในยานเล็ก ศิษย์ต้องมีความปรารถนาอันเข้มข้นต่อการหลุดพ้น ในยานอันยิ่งใหญ่ ศิษย์ต้องขยายความปรารถนานี้ไปสู่สรรพสัตว์ทั้งปวง และพึงตระหนักว่า "ไม่เพียงพอที่ฉันจะปลดปล่อยเพียงตัวเองออกจากความทุกข์ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการหลุดพ้นของเพื่อนมนุษย์และสรรพส้ตว์ ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมทุกข์ร่วมสุข ฉันขอมุ่งมั่นเดินบนเส้นทางแห่งการรู้แจ้ง"
- ในวัชรยาน (โดยเฉพาะ) ศิษย์จะต้องปฏิบัติตามคำสอนของครูโดยปราศจากความลังเลสงสัยแม้เพียงน้อยนิด หากครูบอกว่าไฟคือน้ำ ศิษย์ก็ต้องคิดว่า "ฉันว่านั่นคือไฟ แต่เมื่อครูบอกว่าเป็นน้ำ มันก็ต้องเป็นน้ำ"
ครูคนเดียวหรือหลายคน
บางคนเลือกที่จะติดตามครูเพียงคนเดียว แต่บางคนเลือกครูหลายคน ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งสอง
เมื่อติดตามครูเพียงคนเดียว ผู้ปฏิบัติเชื่อมั่นว่าครูผู้นี้คือพุทธะวัชรดารา ผู้ปฏิบัติไว้วางใจทุกสิ่งทุกอย่างในถ้อยคำของครู และไม่ปรารถนาคำสั่งสอนชี้แนะจากครูคนอื่นอีก
เมื่อติดตามครูหลายคน หนึ่งในนั้นที่ผู้ปฏิบัติมีศรัทธาสูงสุดถือเป็นครูหลัก ผู้ปฏิบัติตระหนักว่าโดยแก่นแท้ครูทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียว
ทัศนะที่ถูกต้อง
ในบางครั้งศิษย์ก็มีความเข้าใจผิดต่อคำว่า "ครู" แม้พวกเขาจะติดตามครูที่ไม่มีความรู้และความกรุณา ก็ยังคิดไปว่า "เขาหรือเธอคือครูชื่อดังและเก่งกาจของฉัน ฉันไม่ต้องการรับคำสอนจากใครอื่น" หรือบางคนอาจเรียนกับครูคนหนึ่ง แต่ตัดสินครูว่าไม่ดี จากนั้นก็ผละไปหาครูคนอื่น แล้วก็ทำแบบนี้อีกครั้งและอีกครั้งเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจในตัวครูแต่ละคน แนวทางเช่นนี้ไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าใดๆ เลย
ชั่วขณะที่ผู้ปฏิบัติยอมรับใครสักคนเป็นครูและรับคำสอนมาปฏิบัติ ทัศนคติแบบวิพากษ์วิจารณ์ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติสงสัยในความรู้ ความสามารถ หรือพฤติกรรมของครู จำเป็นต้องคิดว่า "ข้อบกพร่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของครูแต่อย่างใดเลย แต่มันเป็นปัญหาที่วิธีการมองของตัวฉันเองต่างหาก" แม้ผู้ปฏิบัติจะสูญเสียความมั่นใจในตัวครู ก็จำเป็นต้อหลีกเลี่ยงทัศนคติลบๆ และวางใจโดยไม่ตัดสิน ดังคำกล่าวที่ว่า "เมื่อผู้ปฏิบัติรับคำสอนจากครูมาแม้เพียงคำเดียว หากไม่เคารพครูคนนั้น ก็จะไปเกิดใหม่เป็นหมาห้าร้อยชาติ แล้วจึงกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ผู้ทนทุกข์ทรมาน"
พลังของครู
สำหรับผู้ปฏิบัติวัชรยาน ไม่ว่าในขั้นสร้างหรือขั้นสำเร็จ หรือแม้แต่มหามุทราก็ดี สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดใจต่อพลังของครู ครูถูกมองเป็นการประสานเป็นหนึ่งของรากทั้งสามและรัตนะทั้งสาม
ครูคือพุทธะ ครูคือธรรมะ ครูคือสังฆะ
ต่อหน้าครู ผู้เป็นการหลอมรวมเป็นหนึ่งของรัตนะทั้งสาม
ข้าขอน้อมกราบ
หรือ
กายของครู คือสังฆะ
วาจาของครู คือธรรมะ
จิตของครู คือพุทธะ
กายของครู คือครูทั้งหลาย
วาจาของครู คือทาคินีและธรรมบาลทั้งหลาย
จิตของครู คือยิดัมทั้งหลาย
ทำไมวัชรยานจึงให้ความสำคัญกับครูมากขนาดนี้? ดวงอาทิตย์ส่องแสงและความร้อน แต่ความร้อนก็กระจัดกระจายเกินกว่าที่กระดาษแผ่นนึงจะลุกเป็นไฟได้ แต่หากใครสักคนใช้แว่นขยายรวมแสงเข้า มันก็มีพลังที่พอจะเผากระดาษให้ลุกไหม้ได้ แต่ธรรมชาติของแสงอาทิตย์นั้นก็หาได้เปลี่ยนแปลงไม่ ครูมุ่งมั่นบนเส้นทางแห่งการรู้แจ้งเพื่อถ่ายทอดพลังนั้นให้แก่ศิษย์ เมื่อผู้ปฏิบัติเคารพครูในฐานะการประสานกันเป็นหนึ่งของรากทั้งสามกับรัตนะทั้งสาม เมื่อผู้ปฏิบัติสวดอ้อนวอนจากส่วนลึกของจิตใจ พลังของครูจะปัดเป่าอวิชชา อารมณ์อันปั่นป่วน ความผิดพลาด และสิ่งปกคลุมใจทั้งหลายให้หมดไป
ความสำคัญของครู
ครูในภาษาธิเบต คือ ลามะ ซึ่งประกอบด้วยสองพยางค์
ลา หมายถึง "สูงสุด" หรือ "ไม่อาจเทียบเทียม" สำหรับศิษย์แล้ว ครูคือสิ่งสูงสุด
มะ หมายถึง แม่ ให้ความหมายว่า ลามะโอบอุ้มดูแลสรรพสัตว์ด้วยรักของมารดาที่มีต่อลูกคนเดียวของเธอ
สำหรับศิษย์ ลามะมีความสำคัญมากกว่าพระพุทธเจ้าทั้งปวง หากผู้ปฏิบัติพึ่งพาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเพื่อเข้าถึงการรู้แจ้ง มันจะต้องอาศัยเวลามาก แต่หากสวดภาวนาต่อครูบาอาจารย์จากส่วนลึกของหัวใจ ผู้ปฏิบัติจะบรรลุการรู้แจ้งได้อย่างรวดเร็ว พลังของพุทธะและโพธิสัตว์ทั้งปวงเสมือนแสงอาทิตย์ แม้แต่ฤดูร้อน แสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถทำให้เศษกระดาษบนพื้นลุกไหม้ได้ แต่หากมีแว่นขยาย กระดาษจะติดไฟได้อย่างรวดเร็ว วัชรยานเปรียบได้กับการนำเอาแว่นขยายแห่งครูมาไว้ระหว่างพลังของครูและโพธิสัตว์ กับ จิตของศิษย์ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโยคีผู้รู้แจ้งที่ชื่อ เล็กยี เรปะ หลังจากใช้เวลาสวดภาวนาถึงครูของเขาเป็นเวลานานหกเดือนอย่างต่อเนื่อง เขาก็บรรลุการรู้แจ้งแห่งมหามุทราและพลังอื่นๆ เช่น ความสามารถในการเดินทะลุผ่านก้อนหิน
เมื่อผู้ปฏิบัติประสบผลสำเร็จในการฝึก ยิดัม ผู้ปฏิบัติต้องจำไว้เสมอว่า ยิดัมเป็นหนึ่งเดียวกับครูต้น ดังนั้นผู้ปฏิบัติได้รับทั้งพลังแห่งยิดัมและพลังแห่งครู ซึ่งทำให้เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วบนเส้นทางสู่การปลดปล่อย
ความสำคัญของ ครูต้น นั้นยิ่งใหญ่มาก อาจกล่าวได้ว่าผู้ปฏิบัติสามารถเลิกสักการะพระพุทธเจ้าทั้งหลายและแสดงความเคารพอย่างสุดหัวใจต่อครูเท่านั้นก็เพียงพอ การแสดงความเคารพต่อครูด้วยกาย วาจา ใจ มีพลังอันยิ่งใหญ่ในการสะสมบุญกุศลและปัญญา
ในแต่ละสายปฏิบัติมีรูปแบบการภาวนาที่สัมพันธ์อยู่กับครูบาอาจารย์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นปัทมสัมภาวะ ในสายนิงมา มาร์ปะ มิลาเรปะ และกัมโปปะในสายคากิว หรือซงคาปะในสายเกลุค เมื่อผู้ปฏิบัติฝึกการภาวนาเหล่านั้น โดยแก่นแท้แล้ว ครูบาอาจารย์ในอดีตทั้งหลายไม่มีความแตกต่างใดๆ จากครูต้น
ชื่อวัชรดารา
เพื่อแสดงสัจธรรมแห่งตันตระ พระพุทธะแสดงตนในรูปวัชรดารา (ดอร์เจ ชาง) ชื่อนี้หมายถึง "ผู้ถือวัชระ" วัชระ คือความมั่นคง และภาวะอันไม่อาจถูกทำลายได้ แสดงถึงการรู้แจ้งในความว่าง โดยธรรมชาติไม่อาจถุกทำลายได้ ดารา (ผู้ถิอ) หมายถึง พุทธะมีความรู้แจ้งอยู่โดยสมบูรณ์ วัชรดาราถือระฆังในมือขวา เป็นสัญลักษณ์ถึงปัญญาญาอันรู้แจ้งในความว่าง ถือวัชระในมือซ้าย เป็นสัญลักษณ์แห่งอุบายวิธี อันส่งเสริมการช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้ตระหนักถึงความว่าง นั่นคือสาเหตุที่วัชรดาราถูกเรียกว่า "การประสานเป็นหนึ่งของปัญญาญาณและอุปายะ"
จาก https://www.facebook.com/tilopahouse
https://th-th.facebook.com/tilopahouse/notes?ref=page_internal#
เนื้อหา ตามลำดับ
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๑) รากฐานของวัชรยาน (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9987.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๒): หลักการและวิธีการ (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9988.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๓): อำนาจแปรเปลี่ยนภายใน (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9989.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๔): ครูกับศิษย์ (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9990.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๕): วัชรยานในโลกทัศน์แบบไตรยาน http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9991.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ(๖): วัชรยานในโลกทัศน์แบบไตรยาน (ต่อ) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11613.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๗): ตันตระในธิเบต (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11614.0.html