ลำดับนั้น
อุปติสสะ บุตรของนางสารี และ โกลิตะ บุตรของนางโมคคัลลี บวชอยู่สำนักสัญชัยปริพาชก สองสหายมิได้บรรลุธรรมวิเศษให้พึงพอใจ จึงชวนกันออกหา
โมกขธรรม สัญญากันว่า หากใครได้พบก่อน จักรีบมาบอกอีกฝ่ายหนึ่ง อุปติสสะได้มาพบ พระอัสสชิ มีผิวพรรณหมดจด จริยาสงบน่าเลื่อมใส จึงถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านสอนว่าอะไร พระอัสสชิตอบว่า “
เย ธมฺมา เหตุ ปปฺภวา เตสํเหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณติ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า่
ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับไปแห่งธรรมนั้น พระองค์มีปกติตรัสอย่างนี้ อุปติสสะ ฟังแล้ว
ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล จึงนำธรรมไปกล่าวแก่ โกลิตะ ก็บรรลุธรรมเช่นกัน แล้วจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นได้อุปสมบทแล้ว อุปติสสะ ได้ชื่อว่า
พระสารีบุตร โกลิตะ ได้ชื่อว่า
พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะ บวชได้ ๗ วัน บรรลุอรหัตตผล ทรงตั้งให้เป็นพระอัครสาวกเบื้อง
ซ้าย ผู้เอตทัคคะด้าน
ฤทธิ์ ระหว่างบำเพ็ญเพียร เกิดความง่วง
พระพุทธเจ้าเสด็จแสดง
อุบาย ๘ ประการ เพื่อระงับความง่วง
ได้แก่ มีสัญญาอย่างไร ใส่ใจสัญญานั้นให้มาก ๑, พิจารณาธรรมที่ฟังมาแล้ว ๑, ท่องบ่นธรรมนั้น ๑, ยอนหูทั้งสอง เอามือลูบตัว ๑, ยืนขึ้น เอาน้ำลูบตัว เหลียวซ้ายแลขวา ๑, ใส่ใจถึงแสงสว่าง ๑, เดินจงกรม ๑,และ สำเร็จสีหไสยาสน์ ๑ พร้อมทั้งตรัสสอนให้
สำเหนียกในใจอีก ๓ ข้อ คือ
เราจักไม่ชูงวง เข้าไปสู่สกุล ๑, เราจักไม่พูดส่อเสียด ๑ และเราจักไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ส่วนพระสารีบุตรบวชได้ ๑๕ วัน ขณะกำลังถวายงานพัดพระพุทธเจ้า
ทีฆนขปริพาชกมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์
อวดอ้างอย่างมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ ได้แก่ คนบางพวกว่า สิ่งทั้งหลายควรแก่เรา เราชอบทั้งหมด๑, คนบางพวกว่า สิ่งทั้งหลายไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบทั้งหมด๑, และ คนบางพวกว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ๑ พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรม
เวทนาปริคคหสูตร ทีฆนขปริพาชก
บรรลุโสดาปัตติผล พระสารีบุตรบรรลุ
อรหัตตผล ทรงตั้งให้เป็นพระอัครสาวกเบื้อง
ขวา เอตทัคคะด้านปัญญาครั้งนั้น
ปิปผลิมาณพ ตกอยู่ในข่ายพระญาณ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จประทับรอที่ใต้ต้นไทรชื่อว่า พหุปุตตนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา เมื่อได้พบพระพุทธองค์จึงได้ขออุปสมบท พระองค์จึงทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยการประทาน
โอวาท ๓ ข้อว่า
กัสสปะ ท่านพึงศึกษาเถิดว่า
เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า, เป็นผู้ปานกลาง และเป็นผู้บวชใหม่ อย่างแรงกล้า ๑, ธรรมใดประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูตั้งใจสดับ และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น ๑,เราจักไม่ละสติออกจากกาย ๑ เรียกอุปสมบทวิธีนี้ว่า
โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา บวชได้ ๘ วันก็บรรลุอรหัตตผล ทรงตั้งให้เป็นผู้
เอตทัคคะด้านยินดีธุดงควัตร ครั้นทรงประกาศพระศาสนาอยู่ได้ ๙ เดือน หลังตรัสรู้ พอถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งตรงกับ
วันมาฆบูชา จึงได้แสดง
โอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ มีใจความว่า
สพฺพปาปสฺสอกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสฺสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลทั้งปวง
สจิตฺตปริโยทปนํ การรักษาจิตให้ผ่องแผ้วอยู่เสมอ การประชุมครั้งนั้นชื่อว่า
จาตุรงคสันนิบาต หมายถึง การประชุมที่ประกอบด้วย
องค์ ๔ ได้แก่ วันนั้นเป็น
วันเพ็ญเดือนสาม ๑, ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๑, ภิกษุทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ๑ และ ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุสัมปทา ๑ กาลต่อมา เมื่อเห็นว่า มีผู้ออกบวชมากมาย พระศาสนาเป็นปึกแผ่นมากแล้ว จึงโอนอำนาจทั้งหมดให้สงฆ์ปกครองกันเอง แลทรงอนุญาตการบวชแบบใหม่ชื่อ
ญัตติจตุตถกัมมวาจาอุปสัมปทา ผู้บวชด้วยวิธีนี้คนแรกคือ
พระราธะ มี
พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ การบวชแบบนี้ใช้กันมาจนปัจจุบัน แลทรงยกการบวชแบบ
ติสรณคมนูปสัมปทามาใช้บวช
สามเณรแทน
เช้าวันหนึ่ง สิงคาลมาณพ กำลังไหว้ทิศต่าง ๆ อยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถาม ทราบความแล้วจึงตรัสแสดงธรรมว่า
ทิศทั้ง ๖ นั้น แท้จริงแล้ว เป็นดังนี้ คือ ทิศเบื้องหน้า หมายถึง บิดามารดา ทิศเบื้องขวา หมายถึง ครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องซ้ายหมายถึง เพื่อน มิตรสหาย ทิศเบื้องหลัง หมายถึง ลูก ภรรยา ทิศเบื้องล่าง หมายถึงบริวาร ทิศเบื้องบน หมายถึง สมณพราหมณ์
สิงคาลมาณพได้สดับแล้วเกิดความเลื่อมใส ขอถึง
พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ครั้นพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนาได้ระยะหนึ่ง กิตติศัพท์ระบือไกลไปถึง
พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ จึงแต่งตั้งให้
กาฬุทายีอำมาตย์พร้อมคณะ ไปทูลเชิญพระพุทธองค์ให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ กาฬุทายีเดินทางไปถึง
วัดเวฬุวัน พร้อมคณะ ขณะพระพุทธองค์กำลังแสดงธรรมอยู่ สดับธรรมนั้นแล้ว
บรรลุอรหัตตผลทั้งหมด แล้วทูลเชิญสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเสด็จเดินทางวันละ ๑ โยชน์เป็นเวลา ๒ เดือน รวมระยะทาง ๖๐ โยชน์
เมื่อไปถึงเหล่าประยูรญาติ บ้าง
ถือทิฏฐิว่าอาวุโสกว่า บ้างไม่แสดงความเคารพ พระพุทธองค์จึงแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศ โปรยธุลีดินจากพระบาทลงบนศีรษะของประยูรญาติเหล่านั้น
เพื่อทำลายความมานะถือตัว แลยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นแล้วพระพุทธบิดาเห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็ประนมถวายอภิวาท ๓ ครั้ง เหล่าประยูรญาติก็สิ้นทิฏฐิก้มลงกราบตาม ขณะนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์มี “
ฝนโบกขรพรรษ” ตกโปรยปราย มีสีแดง ตกลงพื้นก็ไม่เปียกเฉอะแฉะ ผู้ปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนาให้เปียก ก็ไม่เปียกเลย พระพุทธองค์จึงได้อธิบายว่า
ฝนนี้ก็เคยตกลงมาครั้งหนึ่งแล้ว สมัยพระเวสสันดร พระประยูรญาติได้ฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใส แยกย้ายกันกลับ
วันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสาวก ก็ออกเที่ยวบิณฑบาตตามปกติชาวเมืองราชคฤห์บางคนไม่เข้าใจเห็นเป็นการเสียเกียรติที่ลูกกษัตริย์จะมาขอทาน จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าสุทโธทนะทราบความจึงรีบเสด็จมาห้าม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “
การบิณฑบาตนี้ ถือเป็นธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ปฏิบัติสืบ ๆ กันมา การเป็นสมณะที่แท้นั้น ต้องไม่ประมาทในบิณฑบาต คือยินดีตามที่ได้มา และพึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่ควรประพฤติธรรมที่ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า” ตรัสจบ พระเจ้าสุทโธทนะ
บรรลุโสดาปัตติผล ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมสงฆ์สาวกเข้าไปในพระราชวังถวายภัตตาหารด้วยความบันเทิงใจ ครั้นเทศนาโปรดพระประยูรญาติได้ ๗ วัน ก็เสด็จกลับกรุงราชคฤห์ ประทับแรมอยู่ ณ สีตวัน